โกฐกระดูก

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

โกฐกระดูก

ชื่อเครื่องยา โกฐกระดูก
ชื่ออื่นๆของเครื่องยา
ได้จาก รากแห้ง
ชื่อพืชที่ให้เครื่องยา โกฐกระดูก
ชื่ออื่น (ของพืชที่ให้เครื่องยา) บักเฮียง (จีนแต้จิ๋ว), มู่เชียง (จีนกลาง)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Aucklandia lappa DC.
ชื่อพ้อง -
ชื่อวงศ์ Compositae

ลักษณะภายนอกของเครื่องยา:
           รากสีเทาถึงสีน้ำตาล ลักษณะแข็ง รูปทรงกระสวย หรือรูปทรงกระบอก คล้ายกระดูก ขนาดความยาว 5-10 เซนติเมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 0.5-5 เซนติเมตร ผิวนอกสีน้ำตาลอมเหลืองถึงสีน้ำตาลอมเทา มีรอยย่นชัดเจน มีร่องตามยาว ผิวนอกมีร่องไขว้ไปมาคล้ายร่างแห ด้านข้างมีรอยแผลเป็นรากแขนง เนื้อแข็ง หักยาก รอยหักสีน้ำตาลอมเทาถึงสีน้ำตาลเข้ม พบรากแขนงได้บ้างเล็กน้อย เมื่อผ่าตามแนวขวาง เนื้อรากจะแบ่งเป็นสองส่วน คือ ส่วนนอกที่บางกว่า และส่วนในซึ่งเป็นเนื้อรากจะมีสีจางกว่า วงแคมเบียมสีน้ำตาล และมีลายเส้นตามแนวรัศมี เนื้อตรงกลางจะยุบตัวลง มีรูพรุน ตำราสรรพคุณยาโบราณของไทยว่าโกฐกระดูกมีรสขม หวาน มัน ระคนกัน มีกลิ่นหอมเฉพาะ ตำรายาโบราณบางเล่มเรียกว่า “โกฐหอม” เพราะมีกลิ่นหอมชวนดม

เครื่องยา โกฐกระดูก

 

เครื่องยา โกฐกระดูก

 

เครื่องยา โกฐกระดูก

 

เครื่องยา โกฐกระดูก

 

เครื่องยา โกฐกระดูก (เนื้อภายในราก)

 

เครื่องยา โกฐกระดูก (เนื้อภายในราก)

 


ลักษณะทางกายภาพและเคมีที่ดี:
            
ปริมาณน้ำไม่เกิน 11% v/w  ปริมาณสิ่งแปลกปลอมไม่เกิน 2 % w/w  ปริมาณเถ้ารวมไม่เกิน 6% w/w ปริมาณเถ้าที่ไม่ละลายในกรด ไม่เกิน 1.0% w/w ปริมาณสารสกัดเอทานอลไม่น้อยกว่า 11% w/w ปริมาณสารสกัดน้ำไม่น้อยกว่า 27% w/w ปริมาณน้ำมันระเหยง่าย ไม่น้อยกว่า 0.7% v/w (ข้อกำหนดเภสัชตำรับไทย)

             ปริมาณสิ่งแปลกปลอมไม่เกิน 2% w/w  ปริมาณเถ้ารวมไม่เกิน 4% w/w  ปริมาณเถ้าที่ไม่ละลายในกรด ไม่เกิน 1.0% w/w  ปริมาณสารสกัดเอทานอล ไม่น้อยกว่า 12% w/w ปริมาณสารสกัดน้ำ ไม่น้อยกว่า 20% w/w  (ข้อกำหนดเภสัชตำรับอินเดีย)


สรรพคุณ:
           รากแก้เสมหะและลม แก้หืด หอบ แก้ลมในกองเสมหะ บำรุงหัวใจให้ชุ่มชื้น บำรุงกระดูก แก้ลมวิงเวียน หน้ามืด ตาลาย แก้ปวด ตำรายาไทยใช้ปรุงเป็นยาหอมรับประทานแก้ลมวิงเวียนหน้ามืดตาลายขับลมในลำไส้ แก้โรคโลหิตจาง
           ตำรายาไทย: มีการนำโกฐกระดูกมาใช้ในหลายตำรับ เช่น “พิกัดตรีทิพย์รส” คือการจำกัดจำนวนของที่มีรสดี 3 อย่าง คือโกฐกระดูก เนื้อไม้ และอบเชยไทย มีสรรพคุณบำรุงธาตุ บำรุงกระดูก บำรุงตับปอดให้เป็นปกติ แก้ลมในกองเสมหะ บำรุงโลหิต “พิกัดสัตตะปะระเมหะ” คือการจำกัดจำนวนตัวยาแก้เสมหะมีกลิ่น 7 อย่าง คือ ต้นตำแยทั้ง 2 ต้นก้นปิด ลูกกระวาน ผลรักเทศ ตรีผลาวะสัง และโกฐกระดูก มีสรรพคุณชำระมลทินโทษให้ตกไป แก้อุจจาระธาตุลามก ชำระเมือกมันในลำไส้
           นอกจากนี้บัญชียาจากสมุนไพร: ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศ คณะกรรมการแห่งชาติด้านยา ปรากฏการใช้โกฐกระดูกในยารักษาอาการโรคในระบบต่างๆ ของร่างกาย ได้แก่
                1.ยารักษากลุ่มอาการทางระบบไหลเวียนโลหิต (แก้ลม) ปรากฏตำรับ”ยาหอมเทพจิตร” และตำรับ ”ยาหอมนวโกฐ” มีส่วนประกอบของโกฐกระดูกอยู่ในพิกัดโกฐทั้ง 9 ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณในการแก้ลมวิงเวียน แก้อาการหน้ามืด ตาลาย ใจสั่น คลื่นเหียน อาเจียน แก้ลมจุกแน่นในท้อง
                2.ยารักษากลุ่มอาการทางระบบอาหาร ปรากฏตำรับ “ยาประสะกานพลู” มีส่วนประกอบของโกฐกระดูกร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้บรรเทาอาการปวดท้อง จุกเสียด แน่นเฟ้อจากอาหารไม่ย่อย เนื่องจากธาตุไม่ปกติ
           โกฐกระดูกเป็นสมุนไพรที่มีการนำมาใช้ในตำรับยาแผนโบราณของไทยหลายตำรับ เป็นพืชเฉพาะถิ่นในที่ชื้นทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของเทือกเขาหิมาลัย ปัจจุบันปลูกมากที่อินเดีย เนปาล ภูฎาน ญี่ปุ่น เกาหลี เวียดนาม ไทยสั่งนำเข้ามาจากอินเดียและจีน และได้มีการนำมาใช้ในเครื่องยาไทย ที่เรียกว่า “พิกัดโกฐ”     โกฐกระดูก จัดอยู่ใน โกฐทั้งเจ็ด(สัตตโกฐ) และโกฐทั้งเก้า(เนาวโกฐ)
           เครื่องยา“พิกัดโกฐ” ประกอบด้วย “พิกัดโกฐทั้ง 5” ได้แก่ โกฐหัวบัว โกฐสอ โกฐเขมา โกฐเชียง โกฐจุฬาลำพา “พิกัดโกฐทั้ง 7” (มีโกฐกระดูก และโกฐก้านพร้าว เพิ่มเข้ามา) “พิกัดโกฐทั้ง 9”  (มีโกฐพุงปลา และโกฐชฎามังษี เพิ่มเข้ามา) สรรพคุณโดยรวม ของยาที่ใช้ในพิกัดโกฐ คือ แก้ไข้ แก้ไข้ร่วมกับมีเสมหะ แก้หืดไอ แก้หอบ แก้ลมในกองธาตุ ชูกำลัง ขับลม แก้สะอึก บำรุงเลือด บำรุงกระดูก

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา:
           
ผงยา 200 มิลลิกรัม ถึง 1 กรัม ต่อวัน

องค์ประกอบทางเคมี:
           มีองค์ประกอบเป็นน้ำมันระเหยง่าย องค์ประกอบหลักเป็นสารกลุ่ม sesquiterpene lactone และพบ สารกลุ่ม อัลคาลอยด์  ฟลาโวนอยด์ แอนทราควิโนน เป็นต้น

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:
           ขับพยาธิ ต้านเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา คลายกล้ามเนื้อเรียบ ฤทธิ์ต้านการเกิดแผลในกระเพาะอาการ กระตุ้นการบีบตัวของกระเพาะและลำไส้ ต้านการอักเสบ ต้านมะเร็ง  ต้านการเกิดออกซิเดชั่น ขับน้ำดี ต้านการเกิดพิษต่อตับ ฯลฯ

การศึกษาทางคลินิก:
           ไม่มีข้อมูล

การศึกษาทางพิษวิทยา:
           การทดสอบพิษเฉียบพลันของสารสกัดรากด้วยเอทานอล 50% โดยให้หนูกินในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม (คิดเป็น 3,333 เท่า เปรียบเทียบกับขนาดรักษาในคน) และให้โดยการฉีดเข้าใต้ผิวหนังหนู ในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ไม่ตรวจพบอาการเป็นพิษ

จำนวนครั้งที่มีการอ้างอิงหน้าเว็บไซต์นี้: 72
เกี่ยวกับระบบ:

ระบบนี้ถูกพัฒนาต่อยอดมาจาก ระบบฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐาน โดยผู้พัฒนาได้ดำเนินการสร้างหน้า UX/UI ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เป็นรูปแบบเดียวกันกับเว็บไซต์ของคณะเภสัชศาสตร์ มอบ. แต่ยังคงใช้ฐานข้อมูล Database ของฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐานเดิมอยู่