โกฐก้านพร้าว
ชื่อเครื่องยา | โกฐก้านพร้าว |
ชื่ออื่นๆของเครื่องยา | โกฐก้านมะพร้าว |
ได้จาก | เหง้าแห้ง |
ชื่อพืชที่ให้เครื่องยา | |
ชื่ออื่น (ของพืชที่ให้เครื่องยา) | กะฎุกะ, กฏุโรหินี, กฏุกะโรหินี, โอ่วไน้ |
ชื่อวิทยาศาสตร์ | Neopicrorhiza scrophulariiflora (Pennell) D.Y.Hong |
ชื่อพ้อง | Picrorhiza scrophulariiflora |
ชื่อวงศ์ | Plantaginaceae |
ลักษณะภายนอกของเครื่องยา:
เหง้าแห้ง มีลักษณะกลมยาว ยาวประมาณ 3-6 ซม. ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.5 - 1 ซม. มีลักษณะคล้ายก้านย่อยของช่อดอกมะพร้าวเมื่อช่อดอกนั้นติดลูก ที่เรียกกันว่า “หางหนูมะพร้าว” มี 5-8 ข้อ แต่ละข้อมีขน ผิวนอกมีสีน้ำตาลแกมเทาเข้ม มีวง ๆ อันเป็นแผลเป็นของตา มีตาและมีส่วนของลำต้นติดอยู่บ้าง เนื้อนิ่ม รากมีรอยย่นตามแนวยาว มีรอยแตกตามขวาง และมีรอยแผลเป็นสีเทาหรือสีน้ำตาลเป็นจุด ๆ ที่รอยหักแข็ง เนื้อในสีดำ มีรสขมจัด มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว
เครื่องยา โกฐก้านพร้าว
เครื่องยา โกฐก้านพร้าว
เครื่องยา โกฐก้านพร้าว
ลักษณะทางกายภาพและเคมีที่ดี:
ปริมาณความชื้นไม่เกิน 11% w/w ปริมาณสิ่งแปลกปลอมไม่เกิน 2% w/w ปริมาณเถ้ารวมไม่เกิน 5% w/w ปริมาณเถ้าที่ไม่ละลายในกรด ไม่เกิน 2.0% w/w ปริมาณสารสกัดเอทานอลไม่น้อยกว่า 30% w/w (THP)
สรรพคุณ:
ตำราสรรพคุณยาโบราณของไทย: ใช้แก้ไข้เรื้อรัง และแก้ไข้ซึ่งมีอาการให้สะอึก แก้หอบ แก้เสมหะเป็นพิษ โกศก้านพร้าวเป็นโกศชนิดหนึ่งในพิกัดโกศทั้ง 7 และโกศทั้ง 9 ตำราอายุรเวทของอินเดียกล่าวว่า ถ้าใช้ในขนาดต่ำ ๆ จะมีสรรพคุณบำรุงธาตุทำให้เจริญอาหาร และเป็นยาระบายอ่อน ๆ แต่ถ้าใช้มากจะเป็นยาบำรุง และเชื่อกันว่าเป็นยาแก้ไข้จับสั่น และเป็นยาขับน้ำดี ราก แก้ไข้ แก้ไข้ซึ่งมีอาการให้สะอึก แก้สะอึก แก้หอบเพราะเสมหะเป็นพิษ แก้อาเจียน แก้ลม แก้กำเดา
นอกจากนี้บัญชียาจากสมุนไพร: ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศ คณะกรรมการแห่งชาติด้านยา ปรากฏการใช้โกฐก้านพร้าวในยารักษากลุ่มอาการทางระบบไหลเวียนโลหิต (แก้ลม) ปรากฏตำรับ”ยาหอมเทพจิตร” และตำรับ ”ยาหอมนวโกฐ” มีส่วนประกอบของโกฐก้านพร้าวอยู่ในพิกัดโกฐทั้ง 9 ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณในการแก้ลมวิงเวียน แก้อาการหน้ามืด ตาลาย ใจสั่น คลื่นเหียน อาเจียน แก้ลมจุกแน่นในท้อง และ “ยาธาตุบรรจบ” ใช้บรรเทาอาการท้องอืดเฟ้อ และอาการอุจจาระธาตุพิการ ท้องเสียที่ไม่ติดเชื้อ
โกฐก้านพร้าวเป็นสมุนไพรที่มีการนำมาใช้ในตำรับยาแผนโบราณของไทยหลายตำรับ มีถิ่นกำเนิดทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของป่าหิมพานต์จากแคชเมียร์ถึงแคว้นสิกขิมของประเทศอินเดีย มีการปลูกที่ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน เขตปกครองตนเองทิเบต เนปาล และศรีลังกา และได้มีการนำมาใช้ในเครื่องยาไทย ที่เรียกว่า “พิกัดโกฐ” โกฐก้านพร้าว จัดอยู่ใน โกฐทั้งเจ็ด (สัตตโกฐ) และโกฐทั้งเก้า (เนาวโกฐ)
เครื่องยา“พิกัดโกฐ” ประกอบด้วย “พิกัดโกฐทั้ง 5” ได้แก่ โกฐหัวบัว โกฐสอ โกฐเขมา โกฐเชียง โกฐจุฬาลำพา “พิกัดโกฐทั้ง 7” (มีโกฐกระดูก และโกฐก้านพร้าว เพิ่มเข้ามา) “พิกัดโกฐทั้ง 9” (มีโกฐพุงปลา และโกฐชฎามังษี เพิ่มเข้ามา สรรพคุณโดยรวม ของยาที่ใช้ในพิกัดโกฐ คือ แก้ไข้ แก้ไข้ร่วมกับมีเสมหะ แก้หืดไอ แก้หอบ แก้ลมในกองธาตุ ชูกำลัง ขับลม แก้สะอึก บำรุงเลือด บำรุงกระดูก
รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา:
ผงยา 1-3 กรัม ต่อวัน
องค์ประกอบทางเคมี:
โกฐก้านพร้าวมีสารขมชื่อ picrorrhizin อยู่ในปริมาณสูง นอกนั้นยังมีสารที่แสดงฤทธิ์ต่อหัวใจหลายชนิด และสารอื่น ๆ เช่น aucubin, สารกลุ่ม iridoid glycosides
สารสำคัญกลุ่ม iridoid glucosides ได้แก่ picroside I, picroside II, picroside III, picroside IV, kutkoside, pikuroside สารกลุ่ม flavonoids ได้แก่ apocynin และ vanillic acid (Krupashree, et al., 2014)
การศึกษาทางเภสัชวิทยา:
ฤทธิ์ยับยั้งการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร
การศึกษาฤทธิ์ในการยับยั้งการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร ของสารสกัดเอทานอลจากเหง้า และรากของโกฐก้านพร้าวโดยทำการทดลองในหนูแรทเพศผู้ สายพันธุ์ wistar ป้อนสารสกัดขนาด 100 mg/kg เป็นเวลา 10 วัน ก่อนได้รับสารเหนี่ยวนำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารคือกรดไฮโดรคลอริก (0.15 N HCl ละลายใน 70% v/v เอทานอล) บันทึกค่า acid/pepsin, lipid peroxidation, antioxidant status, proteins และ glycoproteins ผลการทดลองพบว่า สารสกัดสามารถยับยั้งการเกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ และทำให้ค่าพารามิเตอร์ต่างๆ อยู่ในระดับใกล้เคียงกับค่าปกติ เนื่องจากการได้รับสารละลายกรดที่ละลายในเอทานอล ทำให้มีจำนวนแผลในกระเพาะอาหารเพิ่มขึ้น เพิ่มปริมาตรน้ำย่อย เพิ่มความเป็นกรด ลดการทำงานของ pepsin (เอนไซม์ที่ย่อยโปรตีน) ลดระดับเอนไซม์ต้านอนุมูลอิสระหลายชนิด ได้แก่ SOD, CAT, GSH, โปรตีน, ไกลโคโปรตีน ในหนูที่มีแผลในกระเพาะอาหาร สารสกัดเอทานอลจากเหง้า และรากโกฐก้านพร้าว สามารถยับยั้งการเกิดผลเหล่านี้ ทั้งนี้อาจเกิดจากการทำให้ระดับเอนไซม์ต้านอนุมูลอิสระชนิดต่างๆ ทำงานได้ตามปกติ จึงปกป้องเนื้อเยื่อบริเวณผนังของกระเพาะอาหาร ไม่ให้ถูกทำลายด้วยอนุมูลอิสระ โดยลดการเกิด lipid peroxidation ทำให้ผนังกระเพาะอาหารแข็งแรง นับเป็นกลไกในการปกป้องสิ่งกระตุ้นทั้งจากภายใน และภายนอกที่จะเหนี่ยวนำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ (Anandan, et al., 1999)
ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ
การศึกษาฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของโกฐก้านพร้าวโดยสกัดสารสำคัญจากเหง้าของโกฐก้านพร้าวด้วยวิธีการหมักด้วย 70% เอทานอล เป็นเวลา 2 วัน และทำการทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ DPPH ( 1,1-diphenyl-2-picrylhydrazyl) โดยเปรียบเทียบกับสารมาตรฐาน BHA (Butylated Hydroxyanisole) และความสามารถในการคีเลตไอออนของโลหะ (metal chelator) เป็นการทดสอบความสามารถในการแย่งจับกับโลหะไอออน Fe2+เนื่องจากโลหะไอออนเป็นตัวการสำคัญในการเร่งปฏิกิริยา ให้เกิดสารอนุมูลอิสระต่างๆ หลายชนิด การทดสอบความสามารถในการรีดิวซ์ของสารต้านอนุมูลอิสระด้วยวิธี FRAP assay หรือความสามารถในการให้อิเล็กตรอน โดยศึกษากลไกการเกิดปฎิกิริยารีดักชั่นของ Fe3+-TPTZ ไปเป็น Fe2+ -TPTZ การทดสอบฤทธิ์ยับยั้งออกซิเดชันของไขมัน (antilipid peroxidation)ด้วยวิธี thiobarbituric acid โดยใช้ AAPH (2,2′-azobis-2-methyl-propanimidamide, dihydrochloride)เหนี่ยวนำการเกิดออกซิเดชัน ในเซลล์ตับหนู ในหลอดทดลอง และนอกจากนี้ยังศึกษาฤทธิ์ในการป้องกันการทำลายสารกลุ่ม macromolecule เช่น DNA,protein และ lipid ผลการทดลองพบว่าฤทธิ์ต้านปฏิกิริยาออกซิเดชัน ด้วยวิธีต่างๆ ได้แก่ วิธี DPPH, metal chelator, FRAP, antilipid peroxidation ของสารสกัดเหง้าโกฐก้านพร้าวด้วย 70% เอทานอล มี่ค่า IC50 เท่ากับ 75.16±3.2, 55.5±4.8, 41±2.4 และ 40±3.8 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร ตามลำดับ และสามารถยับยั้งการเกิดความเสียหายของ macromolecule ใน DNA ที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดความเสียหายโดยไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (H2O2) และในโปรตีนอัลบูมินในเลือดวัว ที่ถูกออกซิไดส์ เมื่อเหนี่ยวนำด้วย AAPH จึงสรุปได้ว่าสารสกัดเหง้าโกฐก้านพร้าวมีฤทธิ์ต้านปฏิกิริยาออกซิเดชัน โดยปกป้องการทำลาย DNA, protein, lipid จากการทำลายของสารอนุมูลอิสระ โดยพบปริมาณสารโพลีฟีนอล และฟลาโวนอยด์ปริมาณสูงในสารสกัด (Krupashree, et al., 2014)
ฤทธิ์ปกป้องตับ
การศึกษาฤทธิ์ในการปกป้องตับของโกฐก้านพร้าว ทำในสัตว์ทดลอง โดยใช้ galactosamine เหนี่ยวนำให้ตับหนูแรทอักเสบ พบว่าการป้อนผงรากขนาด 200 mg/kg ทำให้ปริมาณไขมันในตับ ระดับเอนไซม์ GOT, GPT ลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P<0.05) จากการทดลองนี้จึงแสดงว่าสารสกัดของโกฐก้านพร้าวมีฤทธิ์รักษาภาวะตับอักเสบจากไวรัส และมีฤทธิ์ต่อการปกป้องตับได้ (Vaidya, et al., 1996)
การศึกษาทางคลินิก:
การศึกษาฤทธิ์ในการปกป้องตับของโกฐก้านพร้าว โดยทำการทดลองแบบ randomised, doubleblind placebo controlled trialในผู้ป่วยที่ถูกวินิจฉัยว่าเป็นตับอักเสบเฉียบพลันจากไวรัส (HBsAg negative) จำนวน 33 คน โดยทำการแบ่งผู้ป่วยออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรก (n=18) จะได้รับยาหลอก ส่วนกลุ่มที่สอง (n=15) จะได้รับผงรากโกฐก้านพร้าวขนาด375 มิลลิกรัม สามครั้งต่อวัน เป็นเวลาสองสัปดาห์ ผลการทดลองพบว่าระดับเอนไซม์ตับ ได้แก่ SGPT, SGOT และ bilirubinมีค่าแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในกลุ่มที่ได้รับสารสกัดโกฐก้านพร้าว และกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (p<0.05)และเวลาที่ใช้ในการทำให้ระดับของ bilirubin ของผู้ป่วยมีค่าลดลงสู่ระดับปกติ (2.5 mg %)พบว่าในกลุ่มที่ได้รับสารสกัดของโกฐก้านพร้าวใช้เวลาต่ำกว่า เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอกเป็น 27.44วันและ 75.9 วัน ตามลำดับ (Vaidya, et al., 1996)
การศึกษาทางพิษวิทยา:
การทดสอบพิษเฉียบพลันของสารสกัดเหง้าด้วยเอทานอล 50% โดยให้หนูกินในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม (คิดเป็น 12,500 เท่า เปรียบเทียบกับขนาดรักษาในคน) และให้โดยการฉีดเข้าใต้ผิวหนังหนู ในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ไม่ตรวจพบอาการเป็นพิษ (กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, 2546)
เอกสารอ้างอิง:
1. กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. 2546. ประมวลผลงานวิจัยด้านพิษวิทยา ของสถาบันวิจัยสมุนไพร เล่ม 1.โรงพิมพ์การศาสนา:กรุงเทพมหานคร.
2. Anandan R, Deepa Rekha R, Saravanan N, Devaki T. Protective effects of Picrorrhiza kurroa against HCl/ethanol-induced ulceration in rats. Fitoterapia. 1999;70:498-501.
3. Krupashree K, Hemanth Kumar K, Rachitha P, Jayashree GV, Khanum F. Chemical composition, antioxidant and macromolecule damage protective effects of Picrorhiza kurroa Royle ex Benth. South African Journal of Botany. 2014;94:249-254.
4. Vaidya AB, Antarkar DS, Doshi JC, Bhatt AD, Ramesh VV, Vora PV, et al. Picrorhiza kurroa (Kutaki) Royle ex Benth as a hepatoprotective agent-experimental & clinical studies. Journal of postgraduate medicine. 1996;42(4):105-108.
ข้อมูลตำรับยาธาตุบรรจบ : phar.ubu.ac.th/herb-thairemedy/