โกฐเชียง

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

โกฐเชียง

ชื่อเครื่องยา โกฐเชียง
ชื่ออื่นๆของเครื่องยา ตังกุย
ได้จาก ราก
ชื่อพืชที่ให้เครื่องยา โกฐเชียง
ชื่ออื่น (ของพืชที่ให้เครื่องยา)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Angelica sinensis (Oliv.) Diels
ชื่อพ้อง Angelica polymorpha var. sinensis Oliv.
ชื่อวงศ์ Apiaceae

ลักษณะภายนอกของเครื่องยา:
           ไม้ล้มลุก รากสดอวบหนา รูปทรงกระบอก แยกเป็นรากแขนงหลายราก รากแห้งรูปแกมทรงกระบอก ปลายแยกเป็นแขนง 3-5 แขนง หรือมากกว่า ยาว 15-25 เซนติเมตร ผิวนอกสีน้ำตาลอมเหลืองถึงน้ำตาล รากมีรอยย่นเป็นแนวตามยาว รอยช่องอากาศตามแนวขวาง ผิวไม่เรียบ มีรอยควั่นเป็นวงๆ มีขนาด 6-7 ซม.ยาวราว 4 ซม. มีรอยแผลเป็นของใบปรากฏอยู่ตอนบน มีรากแขนงยาวราว 10 ซม. และขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางราว 1.5 ซม.ตอนบนหนาตอนล่างเรียวเล็ก ส่วนมากบิด เนื้อเหนียว รอยหักสั้นและนิ่ม รอยหักของเหง้าแสดงว่ามีผิวหนามากเกือบถึงครึ่งเหง้า มีต่อมน้ำยางสีน้ำตาลหรือสีเหลืองแกมแดงออกเป็นแนวรัศมีจากกลางเหง้า ส่วนที่เป็นเนื้อมีสีเหลือง มีรูพรุน มีแกนสีขาว มีกลิ่นหอมแรงเฉพาะ ฉุน รสหวาน ขมและเผ็ดเล็กน้อย

 

เครื่องยา โกฐเชียง

 

เครื่องยา โกฐเชียง

 

เครื่องยา โกฐเชียง

 


ลักษณะทางกายภาพและเคมีที่ดี:
           ปริมาณความชื้นไม่เกิน 14% v/w  ปริมาณสิ่งแปลกปลอมไม่เกิน 2% w/w  ปริมาณเถ้ารวมไม่เกิน 7% w/w  ปริมาณเถ้าที่ไม่ละลายในกรด ไม่เกิน 2% w/w  ปริมาณสารสกัดเอทานอล ไม่น้อยกว่า 12% w/w  สารสกัดน้ำ ไม่น้อยกว่า 52% w/w  (ข้อกำหนดเภสัชตำรับไทย)

          ปริมาณน้ำไม่เกิน 15%,ปริมาณเถ้ารวม ไม่เกิน 7%, ปริมาณเถ้าที่ไม่ละลายในกรด ไม่เกิน 2%, ปริมาณสารสกัดด้วย 70%เอทานอล ไม่น้อยกว่า 45%,  ปริมาณ ferulic acid ไม่น้อยกว่า 0.05% (ข้อกำหนดเภสัชตำรับจีน)


สรรพคุณ:
           ตำรายาไทย: ใช้แก้ไข้ แก้สะอึก แก้ไอ แก้หอบ แก้เสียดแทงสองราวข้าง รักษาความผิดปกติของประจำเดือน ปวดประจำเดือน ใช้รักษาอาการปวดท้อง ปวดข้อ และอาการปวดหลังจากการผ่าตัด แก้ท้องผูก ตับอักเสบเรื้อรัง บำรุงโลหิต กระจายโลหิต จีนนิยมใช้โกฐเชียงมาก “รากแก้วส่วนบน” จีนเรียก “ตังกุยเท้า” ใช้เป็นยาบำรุงกำลัง ส่วนรากแขนงนั้นจีนเรียก (ตัง)กุยบ๊วย ใช้เป็นยาขับระดู แพทย์แผนจีนใช้เครื่องยาชนิดนี้ในยาเกี่ยวกับโรคเฉพาะสตรี เช่น อาการปวดเอว ประจำเดือนผิดปกติ ภาวะขาดประจำเดือน เช่น อาการร้อนวูบวาบ เป็นยาขับประจำเดือน แก้รกตีขึ้น แก้ไข้บนกระดานไฟ เกี่ยวกับอาการเลือดออกทุกชนิด แก้หวัด แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ตกมูกเลือด สตรีจีนนิยมใช้โกฐเชียงเป็นยากระตุ้นอวัยวะเพศ เพื่อให้ปรนนิบัติสามีได้ดีและเพื่อให้มีลูกดก ใช้ในภาวะขาดน้ำ ความผิดปกติของเส้นประสาท
           นอกจากนี้บัญชียาจากสมุนไพร: ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศ คณะกรรมการแห่งชาติด้านยา ปรากฏการใช้โกฐเชียงในยารักษาอาการโรคในระบบต่างๆของร่างกาย ได้แก่
                1. ยารักษากลุ่มอาการทางระบบไหลเวียนโลหิต (แก้ลม) ปรากฏตำรับ”ยาหอมเทพจิตร” และตำรับ ”ยาหอมนวโกฐ” มีส่วนประกอบของโกฐเชียงอยู่ในพิกัดโกฐทั้ง 9 ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณในการแก้ลมวิงเวียน แก้อาการหน้ามืด ตาลาย ใจสั่น คลื่นเหียน อาเจียน แก้ลมจุกแน่นในท้อง
                2. ยารักษากลุ่มอาการทางระบบอาหาร ปรากฏตำรับ “ยาธาตุบรรจบ” มีส่วนประกอบของโกฐเชียงร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้บรรเทาอาการท้องอืดเฟ้อ อาการอุจจาระธาตุพิการ ท้องเสียชนิดที่ไม่เกิดจากการติดเชื้อ
           โกฐเชียงเป็นสมุนไพรที่มีการนำมาใช้ในตำรับยาแผนโบราณของไทยหลายตำรับ พืชชนิดนี้ปลูกมากในประเทศจีน โดยเฉพาะในป่าดิบตามภูเขาสูงของมณฑลไต้หวัน มณฑลส่านซี และมณฑลยูนนาน และได้มีการนำมาใช้ในเครื่องยาไทย ที่เรียกว่า “พิกัดโกฐ” โกฐเชียงจัดอยู่ใน โกฐทั้งห้า(เบญจโกฐ) สรรพคุณโดยรวม ของยาที่ใช้ในพิกัดโกฐ คือ แก้ไข้ แก้ไข้ร่วมกับมีเสมหะ แก้หืดไอ แก้หอบ แก้ลมในกองธาตุ ชูกำลัง ขับลม แก้สะอึก บำรุงเลือด บำรุงกระดูก
           เครื่องยา“พิกัดโกฐ” ประกอบด้วย “พิกัดโกฐทั้ง 5” ได้แก่ โกฐหัวบัว โกฐสอ โกฐเขมา โกฐเชียง โกฐจุฬาลำพา มีสรรพคุณแก้ไข้เพื่อเสมหะ หืดไอ แก้โรคปอด โรคในปากคอ แก้ลมในกองธาตุ ชูกำลัง บำรุงโลหิต “พิกัดโกฐทั้ง 7” (มีโกฐกระดูก และโกฐก้านพร้าว เพิ่มเข้ามา) สรรพคุณ แก้ไข้จับสั่น แก้ไข้เพื่อเสมหะ แก้หืดไอ แก้โรคในปอด แก้ลมในกองธาตุ ชูกำลัง บำรุงโลหิต แก้ไข้เรื้อรัง แก้หอบ แก้สะอึก “พิกัดโกฐทั้ง 9”  (มีโกฐพุงปลา และโกฐชฎามังษี เพิ่มเข้ามา) สรรพคุณแก้ไข้จับ แก้ไข้เพื่อเสมหะ แก้หืดไอ แก้โรคปอด แก้โรคในปากคอ แก้ลมในกองธาตุ ชูกำลัง บำรุงโลหิต แก้ไข้เรื้อรัง แก้หอบ แก้สะอึก บำรุงกระดูก แก้ไข้ในกองธาตุอติสาร แก้ไส้ด้วนไส้ลาม ขับระดูร้าย
           ในตำรับยาพระโอสถพระนารายณ์: มีตำรับ “ยาทรงนัตถุ์” ขนานหนึ่งประกอบด้วยสมุนไพร 15 ชนิด รวมทั้งโกฐเชียงด้วย โดยนำตัวยาทั้งหมดบดเป็นผงละเอียดรวมกัน ใช้สำหรับนัตถุ์ ใช้ดมแก้ปวดหัว แก้วิงเวียน แก้สลบ แก้ริดสีดวงจมูก คอ และตา

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา:
           พืชแห้งขนาดวันละ 6-12 กรัม เตรียมโดยวิธีการต้ม หรือสารสกัดของเหลวขนาดวันละ 4.5-9 กรัม

องค์ประกอบทางเคมี:
           น้ำมันระเหยง่ายราวร้อยละ 0.4-0.7 สารหลักคือ alkylphthalides ในน้ำมันระเหยง่ายมีสารแซฟโรล(safrole) สารไอโซแซฟโรล (isosalfrole) สารคาร์วาครอล (carvacrol) เป็นต้น นอกจากน้ำมันระเหยง่ายแล้วยังมีสารอื่นๆอีกหลายชนิด เช่น สารไลกัสติไลด์ (ligustilide) กรดเฟรูลิก (ferulic acid) กรดเอ็น-วาเลอโรฟีโนน-โอ-คาร์บอกซิลิก (n-valerophenone-o-carboxylic acid) นอกจากนี้ยังพบสารกลุ่มเทอร์ปีนอยด์  ฟีนิลโพรพานอยด์  คูมาริน  โพลีอะเซทิลีน

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:
     ฤทธิ์รักษาแผลในกระเพาะอาหาร

    การศึกษาฤทธิ์สมานแผลของสารโพลีแซคคาไรด์ที่แยกได้จากรากโกฐเชียง โดยทำการทดลองในหนูแรทเพศผู้ สายพันธุ์ Sprague-Dawley ที่เหนี่ยวนำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารด้วยกรด acetic acid จากนั้นให้สารสกัดของโกฐเชียงขนาด 25 และ 50 มิลลิกรัม/กิโลกรัม วันละหนึ่งครั้ง เมื่อครบสามวันพบว่า สารสกัดของโกฐเชียงสามารถลดขนาดแผลในกระเพาะอาหารลงได้ 95% และ 62%ตามลำดับ นอกจากนี้พบว่าหลังผ่านไปเจ็ดวันสามารถลดขนาดแผลในกระเพาะอาหารลงได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (57%, p< 0.01) ส่วนผลการทดลองการเพิ่มการสร้างเยื่อเมือกในกระเพาะอาหารพบว่าหลังจากให้สารสกัดโกฐเชียงครบแปดวัน สามารถเพิ่มการสร้างเยื่อเมือกในกระเพาะอาหารได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ การทดสอบฤทธิ์ยับยั้งการสร้างเส้นเลือดใหม่ (antiangiogenesis) ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ในระหว่างขบวนการสมานแผลในกระเพาะอาหาร ในกรณีเกิดแผลเรื้อรัง จนมีพยาธิสภาพของเนื้องอก หรือมะเร็งเส้นเลือดใหม่จะส่งสารอาหารและออกซิเจน ไปยังเซลล์เหล่านี้ การทดสอบพบว่า สารโพลีแซคคาไรด์ที่แยกได้จากรากโกฐเชียง ขนาด 50 mg/kg เมื่อให้แก่หนูในวันที่ 8 สามารถลดการสร้างเส้นเลือดใหม่ได้ (Ye, et al., 2003)

 

การศึกษาทางคลินิก:

     ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ   

     การศึกษาฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ, ฤทธิ์ยับยั้งการเกิดออกซิเดชันของไขมัน (lipid peroxidation) และฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกันของสารสกัด polysaccharidesของโกฐเชียงโดยการสกัดสารสำคัญ และทำการแยกองค์ประกอบทางเคมีโดยใช้เทคนิค HPLC พบว่าสารสกัด polysaccharidesของโกฐเชียงมีองค์ประกอบเป็น monosaccharides แปดชนิดคือ mannose, rhamnose, glucuronic acid, galacturonic acid, glucose, galactose, arabinose และ fucoseในอัตราส่วน 1.2:4.5:1:10.5:17.8:37.5:8.7:4.9ทำการทดลองในอาสารสมัครหญิงอายุ ≥ 55 ปี ที่มีสุขภาพดีจำนวน 90 คน แบ่งออกเป็นสามกลุ่ม กลุ่มแรกเป็นกลุ่มควบคุม กลุ่มที่สองเป็นกลุ่มที่รับประทานสารสกัด polysaccharidesของโกฐเชียง ขนาด 150 มิลลิกรัม/กิโลกรัม 3 ครั้งต่อวัน เป็นเวลา 3 เดือน กลุ่มที่สามได้รับการออกกำลังกายแบบไทชิวันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 30 นาที ทำการศึกษาเป็นเวลาสามเดือน และทำการเก็บตัวอย่างเลือดเพื่อวัดระดับเอนไซม์ต้านอนุมูลอิสระ พบว่าระดับเอนไซม์ superoxide dismutase (SOD), catalase (CAT), glutathione peroxidase (GPx) และ reduced glutathione (GSH) ในกลุ่มที่ได้รับสารสกัด polysaccharidesของโกฐเชียง และกลุ่มที่ได้รับการออกกำลังกายแบบไทชิ พบว่ามีค่าเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P < 0.01) (Juan, et al., 2009)

 

การศึกษาทางพิษวิทยา:

     การศึกษาการเกิดพิษกึ่งเฉียบพลัน โดยทำการทดลองในหนูแรทเพศเมีย สายพันธุ์ Sprague-Dawleyอายุ 12 สัปดาห์ ที่ถูกตัดรังไข่จำนวน 15 ตัว แบ่งออกเป็นสามกลุ่ม กลุ่มที่หนึ่งเป็นกลุ่มควบคุม กลุ่มที่สองและสามจะได้รับสารสกัด 70%เอทานอลจากรากโกฐเชียงในขนาด 1,000 มิลลิกรัม/กิโลกรัม และ 2000 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ตามลำดับ ป้อนสารสกัดทุกวัน เป็นเวลา 28 วัน ผลการทดลองพบว่าน้ำหนักตัว, น้ำหนักของอวัยวะ และค่าพารามิเตอร์ทางชีวภาพ ได้แก่ aspartate aminotransferase (AST), alanine transaminase (ALT), gamma-glutamyltransferase (GGT), glucose, BUN, alkaline phosphatase (ALP), creatinine,total proteinของสัตว์ทดลองไม่เปลี่ยนแปลง หรือไม่แสดงความผิดปกติ จึงเป็นข้อมูลเบื้องต้นในการนำรากโกฐเชียงมาใช้เป็นอาหารเสริมสำหรับหญิงวัยหมดประจำเดือน เพื่อรักษาภาวะกระดูกพรุนได้อย่างปลอดภัยในขนาดที่ใช้ทดลอง  (Lim and Kim, 2014)

 

ข้อควรระวัง:

            ควรระมัดระวังในการใช้ร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือด เนื่องจากเสริมฤทธิ์กัน อาจทำให้เลือดแข็งตัวช้า และเลือดไหลหยุดยากได้

 

เอกสารอ้างอิง:

1. Juan J, YingJie G, AiJun N. Extraction, characterization of Angelica sinensis polysaccharides and modulatory effect of the polysaccharides and Tai Chi exercise on oxidative injury in middle-aged women subjects. Carbohydrate polymers. 2009;77:384-388.

2. Lim DW, Kim YT. Anti-osteoporotic effects of Angelica sinensis (Oliv.) Diels extract on ovariectomized rats and its oral toxicity in rats. Nutrients. 2014;6:4362-4372.

3. Ye YN, So HL, Liu ESL, Shin VY, Cho CH. Effect of polysaccharides from Angelica sinensis on gastric ulcer healing. Life Sciences. 2003;72:925-932.

 

 ข้อมูลตำรับยาธาตุบรรจบ : phar.ubu.ac.th/herb-thairemedy/

จำนวนครั้งที่มีการอ้างอิงหน้าเว็บไซต์นี้: 185
เกี่ยวกับระบบ:

ระบบนี้ถูกพัฒนาต่อยอดมาจาก ระบบฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐาน โดยผู้พัฒนาได้ดำเนินการสร้างหน้า UX/UI ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เป็นรูปแบบเดียวกันกับเว็บไซต์ของคณะเภสัชศาสตร์ มอบ. แต่ยังคงใช้ฐานข้อมูล Database ของฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐานเดิมอยู่