โกฐพุงปลา
ชื่อเครื่องยา | โกฐพุงปลา |
ชื่ออื่นๆของเครื่องยา | |
ได้จาก | ก้อนแข็ง ปูด (gall) จากใบ และยอดอ่อนของสมอไทย |
ชื่อพืชที่ให้เครื่องยา | สมอไทย |
ชื่ออื่น (ของพืชที่ให้เครื่องยา) | กกส้มมอ สมอ มาแน่ สมออัพยา หมากแน่ะ |
ชื่อวิทยาศาสตร์ | Terminalia chebula Retz. var chebula |
ชื่อพ้อง | T. acuta Walp., T. gangetica Roxb., T. parviflora Thwaites, T. reticulata Roth, T. zeylanica Van Heurck & Müll. Arg., Buceras chebula (Retz.) Lyons, Myrobalanus chebula (Retz.) Gaertn., M. gangetica |
ชื่อวงศ์ | Combretaceae |
ลักษณะภายนอกของเครื่องยา:
โกฐพุงปลามีลัษณะคล้ายกระเพาะปลาขนาดเล็ก ลักษณะคล้ายถุงแบน กลวง ปากแคบคือมีคอคอดคล้ายมีขั้ว ก้นป่อง แบน ผิวสีน้ำตาลปนนวล บางตอนเรียบ บางตอนเป็นตะปุ่มตะป่ำ ส่วนที่เสมือนปลิ้นออกอาจมีสีแดงเรื่อ ผิวนอกย่น สีน้ำตาล ผิวในขรุขระสีดำ ความกว้างราว 1 -3 ซม. ขนาดความยาว 1.5-3 ซม. ความหนา 0.4-1.5 ซม. ปูด (gall) เป็นก้อนแข็งที่เกิดขึ้นจากส่วนของพืช เช่น ใบ กิ่ง ที่ถูกแมลงเจาะและหยอดไข่ลงไป แล้วสร้างสารขึ้นมาป้องกัน โกฐพุงปลามีรสฝาด ขมจัด เป็นยาฝาดสมานอย่างแรง
เครื่องยา โกฐพุงปลา
เครื่องยา โกฐพุงปลา
เครื่องยา โกฐพุงปลา
เครื่องยา โกฐพุงปลา
ใบสมอไทย ที่กำลังเกิดโกฐพุงปลา ที่ขอบใบ (จำนวน 2 ใบ)
โกฐพุงปลา เกิดขึ้นที่ใบสมอไทย
โกฐพุงปลา เกิดขึ้นที่ใบสมอไทย
โกฐพุงปลา เกิดขึ้นที่ใบสมอไทย
ลักษณะทางกายภาพและเคมีที่ดี:
ปริมาณความชื้นไม่เกิน 13% w/w ปริมาณสิ่งแปลกปลอมไม่เกิน 1 % w/w ปริมาณเถ้ารวมไม่เกิน 4% w/w ปริมาณสารสกัดเอทานอลไม่น้อยกว่า 42% w/w ปริมาณสารสกัดน้ำไม่น้อยกว่า 50% w/w ปริมาณสารแทนนิน ไม่น้อยกว่า 30% w/w (THP)
สรรพคุณ:
ตำราสรรพคุณยาโบราณของไทย: แก้อุจจาระธาตุพิการ แก้อติสาร แก้บิดมูกเลือด คุมธาตุ แก้ไข้จากลำไส้อักเสบ แก้ไข้พิษ แก้พิษทำให้ร้อน แก้อาเจียน แก้เสมหะพิการ แก้เม็ดยอดภายใน สมานแผล แก้ฝีภายใน แก้โรคอุจจาระธาตุลงอติสาร ลงแดง เป็นยาฝาดสมาน
โกฐพุงปลาเป็นสมุนไพรที่มีการนำมาใช้ในตำรับยาแผนโบราณของไทยหลายตำรับ ในเครื่องยาไทย ที่เรียกว่า “พิกัดโกฐ” โกฐพุงปลาจัดอยู่ใน โกฐทั้งเก้า (เนาวโกฐ) สรรพคุณโดยรวม ของยาที่ใช้ในพิกัดโกฐ คือ แก้ไข้ แก้ไข้ร่วมกับมีเสมหะ แก้หืดไอ แก้หอบ แก้ลมในกองธาตุ ชูกำลัง ขับลม แก้สะอึก บำรุงเลือด บำรุงกระดูก
เครื่องยา“พิกัดโกฐ” ประกอบด้วย “พิกัดโกฐทั้ง 5” ได้แก่ โกฐหัวบัว โกฐสอ โกฐเขมา โกฐเชียง โกฐจุฬาลำพา มีสรรพคุณแก้ไข้เพื่อเสมหะ หืดไอ แก้โรคปอด โรคในปากคอ แก้ลมในกองธาตุ ชูกำลัง บำรุงโลหิต “พิกัดโกฐทั้ง 7” (มีโกฐกระดูก และโกฐก้านพร้าว เพิ่มเข้ามา) สรรพคุณ แก้ไข้จับสั่น แก้ไข้เพื่อเสมหะ แก้หืดไอ แก้โรคในปอด แก้ลมในกองธาตุ ชูกำลัง บำรุงโลหิต แก้ไข้เรื้อรัง แก้หอบ แก้สะอึก “พิกัดโกฐทั้ง 9” (มีโกฐพุงปลา และโกฐชฎามังษี เพิ่มเข้ามา) สรรพคุณแก้ไข้จับ แก้ไข้เพื่อเสมหะ แก้หืดไอ แก้โรคปอด แก้โรคในปากคอ แก้ลมในกองธาตุ ชูกำลัง บำรุงโลหิต แก้ไข้เรื้อรัง แก้หอบ แก้สะอึก บำรุงกระดูก แก้ไข้ในกองธาตุอติสาร แก้ไส้ด้วนไส้ลาม ขับระดูร้าย
บัญชียาจากสมุนไพร: ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศคณะกรรมการแห่งชาติด้านยา ปรากฏการใช้โกฐพุงปลาในยารักษาอาการโรคในระบบต่างๆของร่างกาย ได้แก่
1. ยารักษากลุ่มอาการทางระบบไหลเวียนโลหิต (แก้ลม) ปรากฏตำรับ”ยาหอมเทพจิตร” และตำรับ ”ยาหอมนวโกฐ” มีส่วนประกอบของโกฐพุงปลาอยู่ในพิกัดโกฐทั้ง 9 ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณในการแก้ลมวิงเวียน แก้อาการหน้ามืด ตาลาย ใจสั่น คลื่นเหียน อาเจียน แก้ลมจุกแน่นในท้อง
2. ยารักษากลุ่มอาการทางระบบอาหาร ปรากฏตำรับ “ยาธาตุบรรจบ” มีส่วนประกอบของโกฐพุงปลาร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆในตำรับ ใช้บรรเทาอาการท้องอืดเฟ้อ อาการอุจจาระธาตุพิการ ท้องเสียชนิดที่ไม่เกิดจากการติดเชื้อ ตำรับ“ยาประสะกานพลู” มีส่วนประกอบของโกฐพุงปลาร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้บรรเทาอาการปวดท้อง จุกเสียด แน่นเฟ้อจากอาหารไม่ย่อย เนื่องจากธาตุไม่ปกติ
3. ยาแก้ไข้ ปรากฏตำรับ “ยาจันทน์ลีลา” และตำรับ มีส่วนประกอบของโกฐพุงปลาร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้บรรเทาอาการไข้ตัวร้อน ไข้เปลี่ยนฤดู
รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา:
ไม่มีข้อมูล
องค์ประกอบทางเคมี:
สารกลุ่ม tannins : เช่น chebulinic acid , gallic acid , tannic acid
การศึกษาทางเภสัชวิทยา:
ฤทธิ์ชะลอวัย
การศึกษาฤทธิ์ในการชะลอวัย (anti-aging) ในหลอดทดลอง โดยใช้สารสกัดพืช 15 ชนิด รวมทั้งสารสกัดของโกฐพุงปลา สกัดพืช 4 วิธี คือ hot aqueous processes (HW), cold aqueous processes (CW), hot methanol processes (HM) และ cold methanol processes (CM)และทำการทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระด้วยวิธี DPPH โดยเปรียบเทียบกับวิตามินซี (ascorbic acid), วิตามินอี (α-tocopherol) และ BHT (butylated hydroxyl toluene), ฤทธิ์กระตุ้นการเจริญของเซลล์ fibroblast (ซึ่งทำหน้าที่สร้างคอลลาเจน องค์ประกอบสำคัญของผิวหนัง), ฤทธิ์ยับยั้ง gelatinase A (MMP-2)ในเซลล์ fibroblast ของผิวหนังมนุษย์ที่มีความชราในระยะเริ่มต้น ผลการทดลองพบว่าสารสกัดด้วยน้ำที่ไม่ผ่านความร้อน (CW) ของโกฐพุงปลา ขนาด 0.1mg/mL มีฤทธิ์ในการต่อต้านอนุมูลอิสระDPPH สูงที่สุด เท่ากับ 84.64%±2.22% ในขณะที่ ascorbic acid, α-tocopherol และ BHT มีค่า 96.50%±0.1%, 35.74%±0.2% และ 27.43%±0.1% ตามลำดับ นอกจากนี้สารสกัด CW ยังสามารถกระตุ้นการเจริญของเซลล์ fibroblast ได้ดีกว่าวิตามินซี โดยมีค่า stimulation index (SI) เท่ากับ 1.441 และ วิตามินซี SI เท่ากับ 1.21 และจากการทดลองยังพบว่าสารสกัดจากโกฐพุงปลาสามารถยับยั้ง MMP-2 ได้ดีกว่าวิตามินซี 1.37 เท่า ดังนั้นจากการทดลองนี้ จึงสรุปได้ว่าสารสกัดของโกฐพุงปลามีฤทธิ์ในการชะลอวัยของเซลล์ได้ (Manosroi, et al., 2010)
ฤทธิ์ต่อต้านอนุมูลอิสระและยับยั้งเม็ดสีเมลานิน
การศึกษาฤทธิ์ในการต่อต้านอนุมูลอิสระและยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนส ในการสร้างเม็ดสีเมลานินที่ทำให้ผิวคล้ำ ของสารสกัดน้ำจากโกฐพุงปลาโดยแยกสารสำคัญจากสารสกัดน้ำได้ 6 ชนิด คือ gallic acid (1), punicalagin (2), isoterchebulin (3), 1,3,6-tri-O-galloyl-β-D-glucopyranose (4), chebulagic acid (5) และ chebulinic acid (6) ผลการทดลองพบว่าสารทั้ง 6 ชนิด ออกฤทธิ์แรงในการจับอนุมูลอิสระ 2,2-diphenyl-1-picrylhydrazyl (DPPH) โดยออกฤทธิ์ได้ดีกว่าสารมาตรฐาน ค่า EC50 ของสาร 6, 3, 2, 4, 5, 1 เท่ากับ 0.94, 0.97, 1.00, 1.07, 3.54 และ 5.17 μmol ตามลำดับ ค่า EC50 ของสารมาตรฐาน α-tocopherol, butylated hydroxytoluene (BHT) และ ascorbic acid เท่ากับ 11.86, 17.83 และ 24.41 μmol ตามลำดับ ผลการยับยั้งการสร้างเม็ดสีเมลานินพบว่า สาร 5 และ 6 ในขนาด 500 μmol ยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนสได้เท่ากับ 28.8±0.41% และ 46.8±2.86% ตามลำดับ โดยออกฤทธิ์ได้น้อยกว่าสารมาตรฐาน arbutin (IC50 เท่ากับ 170.0 μmol) และ kojic acid (IC50 เท่ากับ 16.2 μmol) ซึ่งยับยั้งได้เท่ากับ 54.7±1.08% และ 66.4±0.22% ตามลำดับ จากการศึกษานี้แสดงว่าสารสกัดของโกฐพุงปลามีฤทธิ์ในการต่อต้านอนุมูลอิสระ และสามารถยับยั้งการสร้างเม็ดสีได้ (Manosroi, et al., 2010)
การศึกษาทางคลินิก:
ไม่มีข้อมูล
การศึกษาทางพิษวิทยา:
การทดสอบความเป็นพิษของสารสกัด petroleum ether, chloroform, ethanol และน้ำ ของโกฐพุงปลา ต่อไรทะเล (Brine shrimp : Artemia salina) ผลการทดลองพบว่า สารสกัดของ petroleum ether และ chloroformไม่เป็นพิษต่อไรทะเล ค่า LC50 เท่ากับ 4,356.76 และ 1,462.2 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร ตามลำดับ นอกจากนี้พบว่าสารสกัด ethanolมีความเป็นพิษต่อเซลล์สูง โดยมีค่า LC50 เท่ากับ 68.64 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร การตรวจสอบปริมาณของสาร phenolicและ flavonoids ของสารสกัดเอทานอล พบปริมาณสูงเท่ากับ 136±1.5 มิลลิกรัมของ gallic acid equivalent/g น้ำหนักแห้ง (dry weight) และ 113±1.6 มิลลิกรัมของ quercetin equivalent/g น้ำหนักแห้ง (dry weight) (Eshwarappa, et al., 2016)
เอกสารอ้างอิง:
1. Manosroi A, Jantrawut P, Akazawa H, Akihisa T, Manosroi J. Biological activities of phenolic compounds isolated from galls of Terminalia chebula Retz. (Combretaceae). Natural Product Research. 2010;24(20):1915-1926.
2. Manosroi A, Jantrawut P, Akihisa T, Manosroi W, Manosroi J. In vitro anti-aging activities of Terminalia chebula gall extract. Pharmaceutical Biology. 2010;48(4):469-481.
3. Eshwarappa RSB, Ramachandra YL, Subaramaihha SR, Subbaiah SGP, Austin RS, Dhananjaya BL. In vivo Toxicity Studies on Gall Extracts of Terminalia chebula (Gaertn.) Retz. (Combretaceae). Pharmacogn Res. 2016;8:199-201.
ค้นหาข้อมูลพืชที่ให้เครื่องยา: phar.ubu.ac.th/herb-phargarden/
ข้อมูลตำรับยาธาตุบรรจบ : phar.ubu.ac.th/herb-thairemedy/