โกฐหัวบัว

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

โกฐหัวบัว

ชื่อเครื่องยา โกฐหัวบัว
ชื่ออื่นๆของเครื่องยา
ได้จาก เหง้าแห้ง
ชื่อพืชที่ให้เครื่องยา โกฐหัวบัว
ชื่ออื่น (ของพืชที่ให้เครื่องยา)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Ligusticum sinense Oliv.
ชื่อพ้อง Ligusticum harrysmithii M.Hiroe, Ligusticum markgrafianum Fedde ex H.Wolff, Ligusticum pilgerianum Fedde ex H.Wolff, Ligusticum silvaticum H.Wolff, Ligusticum sinense var. sinense
ชื่อวงศ์ Apiaceae

ลักษณะภายนอกของเครื่องยา:
           เหง้าหนา ค่อนข้างกลม ข้อป่อง ปล้องสั้น ตัดเอารากแขนงออกหมด จะได้เหง้ารูปคล้ายกำปั้น ผิวตะปุ่มตะป่ำไม่สม่ำเสมอ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2-7 เซนติเมตร ผิวนอกสีน้ำตาลอมเหลือง สาก เหี่ยวย่น เนื้อแน่น หักยาก รอยหักสีขาวอมเหลืองหรือสีเหลืองอมเทา มีท่อน้ำมันสีน้ำตาลอมเหลืองกระจายอยู่ทั่วไป มีกลิ่นหอมรุนแรง ฉุน รสขม มัน แต่จะหวานภายหลัง และชาเล็กน้อย

 

เครื่องยา โกฐหัวบัว

 

เครื่องยา โกฐหัวบัว

 

เครื่องยา โกฐหัวบัว

 

เครื่องยา โกฐหัวบัว

 

 


ลักษณะทางกายภาพและเคมีที่ดี:
           
ปริมาณน้ำไม่เกิน 12% v/w  ปริมาณสิ่งแปลกปลอมไม่เกิน 2 % w/w  ปริมาณเถ้ารวมไม่เกิน 6% w/w ปริมาณเถ้าที่ไม่ละลายในกรด ไม่เกิน 2.0% w/w ปริมาณสารสกัดเอทานอลไม่น้อยกว่า 18% w/w ปริมาณสารสกัดน้ำไม่น้อยกว่า 35% w/w (THP)

            ปริมาณน้ำไม่เกิน 12%, ปริมาณเถ้ารวม ไม่เกิน 6%, ปริมาณเถ้าที่ไม่ละลายในกรด ไม่เกิน 2%, ปริมาณสารสกัดเอทานอล ไม่น้อยกว่า 12%,  ปริมาณ ferulic acid ไม่น้อยกว่า 0.1% (ข้อกำหนดเภสัชตำรับจีน)

 

สรรพคุณ:
           ตำรายาไทย: เหง้า แก้ลมในกองริดสีดวง กระจายลมทั้งปวง (หมายถึงลมที่คั่งอยู่ในลำไส้เป็นตอนๆทำให้ผายออกมา) ขับลม แก้ปวดศีรษะ ปวดข้อ ปวดกระดูก จีนใช้โกฐหัวบัวเป็นยาแก้หวัด แก้ปวดศีรษะ  แก้โรคโลหิตจาง แก้ปวดประจำเดือน แก้ประจำเดือนมาไม่ปรกติ ปวดเจ็บต่างๆรวมทั้งปวดฟัน อาเจียนเป็นเลือด ไอ วัณโรค โรคเข้าข้อ ตกเลือด
           นอกจากนี้บัญชียาจากสมุนไพร: ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศ คณะกรรมการแห่งชาติด้านยา  ปรากฏการใช้โกฐหัวบัวในยารักษากลุ่มอาการทางระบบไหลเวียนโลหิต (แก้ลม) ปรากฏตำรับ”ยาหอมเทพจิตร” และตำรับ ”ยาหอมนวโกฐ” มีส่วนประกอบของโกฐหัวบัวอยู่ในพิกัดโกฐทั้ง 9 ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณในการแก้ลมวิงเวียน แก้อาการหน้ามืด ตาลาย ใจสั่น คลื่นเหียน อาเจียน แก้ลมจุกแน่นในท้อง
           โกฐหัวบัวเป็นสมุนไพรที่มีการนำมาใช้ในตำรับยาแผนโบราณของไทยหลายตำรับ พืชชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดแถบมนฑลเสฉวนของประเทศจีน และได้มีการนำมาใช้ในเครื่องยาไทย ที่เรียกว่า “พิกัดโกฐ” โกฐหัวบัวจัดอยู่ใน โกฐทั้งห้า(เบญจโกฐ) สรรพคุณโดยรวม ของยาที่ใช้ในพิกัดโกฐ คือ แก้ไข้ แก้ไข้ร่วมกับมีเสมหะ แก้หืดไอ แก้หอบ แก้ลมในกองธาตุ ชูกำลัง ขับลม แก้สะอึก บำรุงเลือด บำรุงกระดูก
           เครื่องยา“พิกัดโกฐ” ประกอบด้วย “พิกัดโกฐทั้ง 5” ได้แก่ โกฐหัวบัว โกฐสอ โกฐเขมา โกฐเชียง โกฐจุฬาลำพา มีสรรพคุณแก้ไข้เพื่อเสมหะ หืดไอ แก้โรคปอด โรคในปากคอ แก้ลมในกองธาตุ ชูกำลัง บำรุงโลหิต “พิกัดโกฐทั้ง 7” (มีโกฐกระดูก และโกฐก้านพร้าว เพิ่มเข้ามา) สรรพคุณ แก้ไข้จับสั่น แก้ไข้เพื่อเสมหะ แก้หืดไอ แก้โรคในปอด แก้ลมในกองธาตุ ชูกำลัง บำรุงโลหิต แก้ไข้เรื้อรัง แก้หอบ แก้สะอึก “พิกัดโกฐทั้ง 9”  (มีโกฐพุงปลา และโกฐชฎามังษี เพิ่มเข้ามา) สรรพคุณแก้ไข้จับ แก้ไข้เพื่อเสมหะ แก้หืดไอ แก้โรคปอด แก้โรคในปากคอ แก้ลมในกองธาตุ ชูกำลัง บำรุงโลหิต แก้ไข้เรื้อรัง แก้หอบ แก้สะอึก บำรุงกระดูก แก้ไข้ในกองธาตุอติสาร แก้ไส้ด้วนไส้ลาม ขับระดูร้าย
           ตำรายาไทย: มีการใช้โกฐหัวบัวใน “พิกัดจตุวาตะผล” คือการจำกัดจำนวนตัวยาแก้ลม ประกอบด้วยผล 4 อย่าง คือ เหง้าขิงแห้ง กระลำพัก อบเชยเทศ และโกฐหัวบัว มีสรรพคุณแก้ไข้ แก้พรรดึก แก้ตรีสมุฏฐาน ขับผายลม บำรุงธาตุ แก้ลมกองริดสีดวง
           ตำราพระโอสถพระนารายณ์: ตำรับ “มโหสถธิจันทน์” มีส่วนประกอบรวม 16 สิ่ง รวมทั้งโกฐหัวบัวด้วย มีสรรพคุณแก้ไข้ทุกชนิด ตำรับ “ยาทรงนัตถุ์” ขนานหนึ่งประกอบด้วยสมุนไพร 15 ชนิด รวมทั้งโกฐหัวบัวด้วย โดยนำตัวยาทั้งหมดบดเป็นผงละเอียดรวมกัน ใช้สำหรับนัตถุ์ ใช้ดมแก้ปวดหัว แก้วิงเวียน แก้สลบ แก้ริดสีดวงจมูก คอ และตา

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา:
           ขนาดการใช้ทั่วไปกำหนดในเภสัชตำรับจีน 3-10 กรัม

           เภสัชตำรับไทยระบุขนาด 3-9 กรัม ในรูปแบบยาต้ม ต่อวัน


องค์ประกอบทางเคมี:
           โกฐหัวบัวมีน้ำมันระเหยง่ายอยู่ราวร้อยละ ๒ ในน้ำมันนี้มี cnidium lactone , cnidic acid และมีชันที่มีรสเปรี้ยว นอกจากนั้นยังมีสารพวก phthalide อีกหลายชนิด เช่น ligustilide , neocni-dilide , wallichilide , 3-butylidine-7-hydroxyphthalide , senkyunolide A , butylidenephthalide , butylpthalide, ferulic acid, tetramethylpyrazine, perlolyrine, spathulenol, crysophanol, sedanonic acid

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:
           มีรายงานการวิจัย พบว่าลดการบีบตัวของกล้ามเนื้อลำไส้และมดลูก ป้องกันการขาดออกซิเจนในเลือด ต้านปวด ต้านการอักเสบ ขับประจำเดือน ขับเหงื่อ และช่วยทำให้ระยะเวลานอนหลับได้นานขึ้น

การศึกษาทางคลินิก:
           ไม่มีข้อมูล

การศึกษาทางพิษวิทยา:
           ไม่มีข้อมูล

จำนวนครั้งที่มีการอ้างอิงหน้าเว็บไซต์นี้: 148
เกี่ยวกับระบบ:

ระบบนี้ถูกพัฒนาต่อยอดมาจาก ระบบฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐาน โดยผู้พัฒนาได้ดำเนินการสร้างหน้า UX/UI ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เป็นรูปแบบเดียวกันกับเว็บไซต์ของคณะเภสัชศาสตร์ มอบ. แต่ยังคงใช้ฐานข้อมูล Database ของฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐานเดิมอยู่