ขิง
ชื่อเครื่องยา | ขิง |
ชื่ออื่นๆของเครื่องยา | |
ได้จาก | เหง้าแก่ |
ชื่อพืชที่ให้เครื่องยา | ขิง |
ชื่ออื่น (ของพืชที่ให้เครื่องยา) | ขิงแกลง ขิงแดง ขิงเผือก สะเอ |
ชื่อวิทยาศาสตร์ | Zingiber officinale Roscoe |
ชื่อพ้อง | Amomum zingiber L., Curcuma longifolia Wall., Zingiber cholmondeleyi (F.M.Bailey) K.Schum., Zingiber majus Rumph., Zingiber missionis Wall., Zingiber sichuanense |
ชื่อวงศ์ | Zingiberaceae |
ลักษณะภายนอกของเครื่องยา:
เหง้ามีลักษณะเป็นข้อๆ แบนในแนวนอน แตกแขนง รูปร่างเหมือนฝ่ามือประกอบด้วยแง่งเล็กๆ เปรียบเสมือนนิ้ว ขนาดยาว 3-16 เซนติเมตร กว้าง 3-4 เซนติเมตร และหนา มากกว่า 2 เซนติเมตร ผิวนอกสีเหลือง หรือน้ำตาลอ่อน มีแนวย่นตามยาว ภายในมีสีเหลืองอ่อนถึงสีน้ำตาล เป็นเสี้ยน มีเส้นใย (fiber) มาก กลิ่นหอมเฉพาะ ผงสีเหลืองอ่อน รสหวาน เผ็ดจัด ร้อน
เครื่องยา ขิง
เครื่องยา ขิง
เครื่องยา ขิง
เหง้า ขิงสด
เหง้า ขิงสด
ลักษณะทางกายภาพและเคมีที่ดี:
ปริมาณความชื้นไม่เกิน 10% w/w ปริมาณสิ่งแปลกปลอมไม่เกิน 2% w/w ปริมาณเถ้ารวมไม่เกิน 8% w/w ปริมาณเถ้าที่ไม่ละลายในกรด ไม่เกิน 2% w/w ปริมาณสารสกัดเอทานอล ไม่น้อยกว่า 4.5% w/w ปริมาณสารสกัดน้ำ ไม่น้อยกว่า 10% w/w ปริมาณน้ำมันระเหยง่าย (volatile oil) ไม่น้อยกว่า 1.8% v/w ปริมาณ gingerol และ gingerdiones ไม่น้อยกว่า 0.8%ปริมาณ shogaols ไม่น้อยกว่า 0.2%
สรรพคุณ:
ตำรายาไทย: ใช้เหง้า รักษาอาการท้องอืด เฟ้อ เสียดท้อง อาหารไม่ย่อย ปวดเกร็งช่องท้อง แก้คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ช่วยกระตุ้นความอยากอาหาร รักษาอาการหวัด รักษาอาการปวดศีรษะเนื่องจากไมเกรน และรักษาอาการปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ บำรุงธาตุไฟ ฆ่าพยาธิ สรรพคุณโบราณ ขิงแห้ง แก้ไข้ แก้ไอ ขับเสมหะ ขับเหงื่อ แก้หอบ แก้ลม แก้จุกเสียด แก้เสมหะ บำรุงธาตุ แก้คลื่นเหียน อาเจียน ส่วนขิงสด ใช้แก้ปวดท้อง บำรุงธาตุ ขับลมในลำไส้ให้ผายลมและเรอ แก้อาเจียน ยาขมเจริญอาหาร ขับน้ำดีช่วยย่อยอาหาร แก้ปากคอเปื่อย แก้ท้องผูก ลดความดัน
ตำราเภสัชกรรมไทย: มีการใช้เหง้าขิงใน ”พิกัดตรีรัตตะกุลา (ตรีสัตกุลา)” คือการจำกัด ตัวยาอันสามารถ 3 อย่าง ประกอบด้วย เหง้าขิงสด ผลผักชีลา และเทียนดำ ใช้อย่างละเท่าๆ กัน ในการบำรุงธาตุไฟ ขับลมในลำไส้ แก้อาการธาตุ
บัญชียาจากสมุนไพร: ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ระบุการใช้ยารักษากลุ่มอาการทางระบบทางเดินอาหาร ปรากฏตำรับ “ยาธาตุบรรจบ” มีส่วนประกอบของขิง ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณ บรรเทาอาการท้องอืดเฟ้อ และอาการอุจจาระธาตุพิการ ท้องเสียที่ไม่ติดเชื้อ ตำรับ "ยาประสะไพล" มีส่วนประกอบของเหง้าขิงร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณรักษาระดูมาไม่สม่ำเสมอหรือมาน้อยกว่าปกติ บรรเทาอาการปวดประจำเดือน และขับน้ำคาวปลาในหญิงหลังคลอดบุตร นอกจากนี้เหง้าขิงยังจัดอยู่ในบัญชียาพัฒนาจากสมุนไพรที่สามารถใช้เดี่ยว เพื่อบรรเทาอาการท้องอืด จุกเสียด แน่นท้อง ป้องกันและบรรเทาอาการคลื่นไส้ อาเจียนจากการเมารถ เมาเรือ ป้องกันอาการคลื่นไส้ อาเจียน หลังการผ่าตัด
ทางสุคนธบำบัด ใช้น้ำมันหอมระเหยจากขิง บรรเทาอาการเหนื่อยล้าของจิตใจโดยจะทำให้เกิดอาการตื่นตัว และรู้สึกอบอุ่น ช่วยเพิ่มความจำ กระตุ้นการไหลเวียนเลือด บรรเทาอาการปวดรูมาตอยด์ ปวดกล้ามเนื้อ เคล็ดขัดยอก
รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา:
ยาแคปซูลที่มีผงเหง้าขิง(แห้ง) 250 มิลลิกรัม และ 500 มิลลิกรัม และ 500 มิลลิกรัมหรือ ยาผงที่มีเหง้าขิง (แห้ง) ซองละ 1 กรัม มีขนาดใช้ดังนี้
1. บรรเทาอาการท้องอืด ขับลม จุกเสียด แน่นท้อง รับประทาน 2-4 กรัม ต่อวัน
2. ป้องกันและบรรเทาอาการคลื่นไส้ อาเจียนจากการเมารถ เมาเรือ รับประทานวันละ 1-2 กรัม ก่อนเดินทาง 30 นาที - 1 ชั่วโมง หรือเมื่อมีอาการ
3. ป้องกันอาการคลื่นไส้ อาเจียน หลังการผ่าตัด รับประทานครั้งละ 1 กรัม ก่อนการผ่าตัด 1 ชั่วโมง (คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ, 2559)
กรณีใช้เหง้าแก่สด:
1. บรรเทาอาการท้องอืด ขับลม จุกเสียด แน่นท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ใช้ขิงแก่สดขนาด 2 หัวแม่มือ หรือน้ำหนัก 5 กรัม ล้างให้สะอาด ทุบให้แตก ต้มเอาน้ำดื่มครั้งละ 1/3 ถ้วยแก้ว วันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร
2. บรรเทาอาการไอระคายคอจากเสมหะ
- เหง้าขิงแก่ 2 หัวแม่มือ หรือน้ำหนัก 5 กรัม ฝนกับน้ำมะนาวกวาดคอถ้าจะใช้จิบบ่อย ๆ ให้เติมน้ำพอควร
- เหง้าขิงแก่ 2 หัวแม่มือ หรือน้ำหนัก 5 กรัม ตำ เติมน้ำ คั้นเอาแต่น้ำแทรกเกลือ ใช้กวาดคอถ้าจะใช้จิบบ่อย ๆ ให้เติมน้ำพอควร
องค์ประกอบทางเคมี:
สารที่ให้รสเผ็ดร้อน gingerols. สาร shogaols, น้ำมันหอมระเหยและชัน (oleoresin) 4.0-7.5% ประกอบด้วยน้ำมันหอมระเหย 1.0-3.3% สารประกอบหลักคือ sesquiphellandrene hydrocarbon 30-70% (เป็นสารที่ให้กลิ่นหอม) ได้แก่ (-)-zingiberene, (+)-ar-curcumene, (-)-beta-sesquiphellandrene, beta-bisabolene, camphene, alpha-pinene, nerol, geranyl acetate, linalool, borneol
การศึกษาทางเภสัชวิทยา:
ฤทธิ์บรรเทาอาการท้องอืดท้องเฟ้อ
ฤทธิ์ขับลมเกิดจากสาร menthol, cineole, shogaol และ gingerol กระตุ้นการทํางานของกล้ามเนื้อที่ระบบทางเดินอาหารให้มีการบีบตัวมากขึ้น จึงเกิดการขับลมออกมา ฤทธิ์เพิ่มการหลั่งน้ำดี ในลําไส้เล็กส่วนต้นของหนูถีบจักร โดยสารสกัดอะซิโตนของเหง้าขิง แต่สารสกัดน้ำของเหง้าขิงไม่มีฤทธิ์เพิ่มการหลั่งน้ำดี ซึ่งสารที่ออกฤทธิ์คือ 6- และ 10-gingerol นอกจากนี้สารสกัดเหง้าขิงขนาด 75 mg/kg ในหนูมีฤทธิ์กระตุ้นการเคลื่อนไหวของกระเพาะและลําไส้ โดยมีฤทธิ์ใกล้เคียงกับ metoclopramide ขนาด 10 mg/kg และ domperidone นอกจากนี้สารสกัดเอทานอลของขิง ความเข้มข้น 50 และ 200 ug/ml และสารสกัดน้ำของเหง้าขิงความเข้มข้น 200 ug/ml มีฤทธิ์ลดการบีบตัวของลําไส้เล็กของหนูตะเภาที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดการหดเกร็งลำไส้ด้วย acetylcholine, histamine และ barium (ลักษณา, 2551)
สารสกัดเหง้าขิงด้วยอะซีโตน มีฤทธิ์ทําให้เพิ่มการหลั่งน้ำดี ในลําไส้เล็กส่วนต้นของหนู หลังจากได้รับสารสกัดเหง้าขิง 3 ชั่วโมง โดยสารสกัดเหง้าขิงด้วยน้ำ ไม่มีฤทธิ์เพิ่มการหลั่งน้ำดี พบว่าสารที่ออกฤทธิ์คือ [6]- และ [10]-gingerol (Yamahara, et al., 1985)
การป้อนสารสกัดเหง้าขิงด้วยอะซิโตน ในขนาด 75 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม (ซึ่งประกอบไปด้วยน้ำมันระเหยง่าย และสารที่มีรสขม), สาร [6]-shogaol ขนาด 2.5 mg/kg, สาร [6] -[8] หรือ [10]-gingerol ขนาด 5 mg/kg แก่หนูถีบจักรเพศผู้ สามารถเพิ่มการเคลื่อนไหวของกระเพาะและลําไส้ได้ โดยมีฤทธิ์เทียบเท่าหรือน้อยกว่าฤทธิ์ของ metoclopramide ในขนาด 10 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และ domperidone เพียงเล็กน้อยเท่านั้น (Yamahara, et al., 1990)
ฤทธิ์ลดการอักเสบของลำไส้ใหญ่
เมื่อป้อนหนูขาวเพศผู้ สายพันธุ์ wistar ด้วยสารสกัดเอทานอลจากเหง้าขิง ขนาด 100, 200 และ 400 มก./กก. และยามาตรฐาน sulfasalazine ขนาด 500 มก./กก. ก่อนเป็นเวลา 3 วัน จากนั้นเหนี่ยวนำให้หนูเกิดการอักเสบ และเป็นแผลที่ลำไส้ใหญ่ด้วยกรดอะซีติก 3% แล้วทำการศึกษาต่อไปอีก 7 วัน พบว่าสารสกัดจากเหง้าขิงที่ขนาด 200 และ 400 มก./กก. และยา sulfasalazine มีผลลดอาการบวม และอักเสบของลำไส้ โดยดูจากจำนวน และขนาดของแผลที่ลำไส้ใหญ่ที่ลดลง ซึ่งสารสกัดจากเหง้าขิงที่ขนาด 400 มก./กก., ยา sulfasalazine สามารถลดการอักเสบได้เท่ากับ 59.1 และ 48.1% ตามลำดับ สารสกัดจากเหง้าขิงทั้ง 3 ขนาด และยา sulfasalazine มีผลทำให้เอนไซม์ และสารที่หลั่งออกมาเมื่อเกิดการอักเสบลดลง ได้แก่ myeloperoxidase (MPO), tumor necrosis factor-α (TNF- α) และ prostaglandine E2 (PEG2) เมื่อเพิ่มขนาดยาทำให้การออกฤทธิ์เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังมีผลต่อกระบวนการต้านอนุมูลอิสระ โดยสารสกัดที่ขนาด 400 มก./กก. ทำให้ระดับเอนไซม์ต้านอนุมูลอิสระได้แก่ catalase, superoxide dismutase และ glutathione เพิ่มขึ้นจนกลับมาสู่ระดับปกติได้ และลดระดับของสาร malondehyde (เกิดขึ้นเมื่อมีการเกิดออกซิเดชันของไขมัน) แสดงว่าผลในการรักษาลำไส้ใหญ่อักเสบของสารสกัดจากเหง้าขิงเนื่องมาจากฤทธิ์ในการลดการอักเสบ และฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ (El-Abhar, et al., 2008)
ฤทธิ์แก้ท้องเสีย
การศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของขิงต่อการเคลื่อนไหวของลำไส้ใหญ่ โดยให้สาร zingerone ซึ่งเป็นสารที่มีรสเผ็ดร้อน แยกมาจากน้ำมันหอมระเหยจากเหง้าขิง แก่หนูแรทเพศผู้ สายพันธุ์ wistar โดยให้สาร zingerone บริเวณช่องว่างของลำไส้ เพื่อให้ซึมผ่านไปยังผนังลำไส้ บันทึกผลโดยดูการหดตัวของลำไส้ใหญ่จากลำไส้หนูที่แยกออกมานอกร่างกาย และศึกษาฤทธิ์เมื่อให้สารทดสอบแก่หนูโดยตรง (in vivo) โดยวัดการเปลี่ยนแปลงของความดันในลำไส้ และปริมาตรการขับของเหลวออกจากลำไส้ใหญ่ ผลการทดลองพบว่าสาร zingerone ขนาด 30 และ 50 mM สามารถยับยั้งการเคลื่อนไหวของลำไส้ใหญ่ ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยไม่มีผลต่อความดันเลือด และอัตราการเต้นของหัวใจ เมื่อให้ zingerone ขนาด 10 mg/kg สามารถลดความดันในลำไส้ และลดการขับของเหลวออกจากลำไส้ (control: 2.8 ± 0.8, zingerone: 0.8 ± 0.2 ml/10 min, n = 4) นอกจากนี้ยังได้ทดสอบว่าผลของการยับยั้ง เกิดผ่านระบบประสาทหรือไม่ โดยให้สาร capsazepine และ tetrodotoxin ซึ่งมีกลไกการยับยั้งผ่าน neuron ก่อนให้สาร zingerone พบว่าไม่มีผลกดการทำงานของ zingerone แสดงว่ากลไกการยับยั้งของ zingerone ออกฤทธิ์โดยตรงต่อกล้ามเนื้อเรียบจากการศึกษานี้จึงสรุปได้ว่าสารสกัดจากขิงสามารถใช้เป็นยาแก้อาการท้องเสียที่เกิดจากการเคลื่อนไหวของลำไส้ที่มากเกินไปโดยสามารถลดอัตราการคลื่อนไหวของลำไส้ได้ (Iwami, et al., 2011)
ฤทธิ์ลดการหดเกร็งของลำไส้
การศึกษาฤทธิ์ต่อการเคลื่อนไหวของลำไส้ในหนูแรทเพศผู้ สายพันธุ์ wistar โดยการตัดลำไส้เล็กส่วน Ileum ของหนู และกระตุ้นให้เกิดการหดตัวของลำไส้เล็กโดยใช้กระแสไฟฟ้า (electrical stimulation ; EFS) หรือ acetylcholine แล้วทำการให้สารสกัดขิงในขนาด 0.01–1000 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร หลังจากนั้น 15 นาที บันทึกผลการทดสอบพบว่าสารสกัดขิงสามารถยับยั้งการหดตัวของลำไส้เล็กจากการกระตุ้นด้วยกระแสไฟฟ้า (EPS) และ acetylcholineได้ โดยจะมีฤทธิ์ยับยั้งการหดตัวที่แรงกว่าในกรณีที่ถูกกระตุ้นด้วยกระแสไฟฟ้า (EPS) แสดงว่าสารสกัดขิงสามารถลดการหดตัวของลำไส้เล็กโดยยับยั้ง acetylcholine ที่ปล่อยจากระบบประสาท (enteric nerve) เมื่อทดสอบด้วย EPS และออกฤทธิ์โดยตรงต่อ muscarinic receptor ที่อยู่ภายในกล้ามเนื้อเรียบ เมื่อทดสอบด้วย acetylcholine จากภายนอก หรือออกฤทธิ์เป็นแบบ direct antispasmodic effect ขิงจึงมีศักยภาพในการนำมาใช้รักษาการหดเกร็งของลำไส้ในกรณี ท้องเสีย หรือคลื่นไส้อาเจียน เป็นต้น (Borrelli, et al., 2004)
ฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว และเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่
การทดสอบความเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว (myeloma) และเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ (WiDr) ในหลอดทดลอง โดยใช้เซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวที่แยกได้จากหนู และเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ที่ได้จากคน โดยใช้สารสกัดเอทานอลที่ได้จากขิง, ดีปลี, และสารสกัดผสมระหว่างสารสกัดเอทานอลที่ได้จากขิงกับสารสกัดเอทานอลที่ได้จากดีปลีในอัตราส่วน 1:1ตรวจสอบโดยวิธี MTT cytotoxic assay ใช้ยา doxorubicin เป็นสารมาตรฐาน ผลการทดสอบพบว่าขิง, ดีปลี, สารสกัดผสม และยา doxorubicinมีความเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 28, 36, 55 และ 2 µg/ml ตามลำดับ และมีความเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 74, 158, 64 และ 1µg/ml ตามลำดับ (ค่า IC50 < 1,000 µg/ml ภายหลังสัมผัสสารทดสอบแล้ว 24 ชม.จึงแปลผลว่ามีฤทธิ์ต้านมะเร็ง) แสดงว่าสารทดสอบทั้งหมดมีฤทธิ์ต้านมะเร็งทั้งสองชนิด การศึกษาความสามารถเหนี่ยวนำให้เกิด apoptosis ซึ่งเป็นขบวนการในการกำจัดเซลล์ผิดปกติ และเซลล์มะเร็งภายในร่างกาย พบว่าทั้งสารสกัดเอทานอลที่ได้ดีจากดีปลี, ขิง และสารสกัดผสม สามารถเหนี่ยวนำขบวนการ apoptosis โดยการศึกษาภายใต้กล้องจุลทรรศน์พบว่าทำให้เซลล์มะเร็งทั้งสองชนิดมีการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน ได้แก่ มีขนาดหดเล็กลง เยื่อหุ้มเซลล์ปูดพอง DNA และเซลล์มะเร็งแตกออกเป็นชิ้น (Ekowati, et al., 2012)
ฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียก่อโรคที่กระเพาะอาหาร
การศึกษาฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย Helicobacter pylori ซึ่งเป็นเชื้อที่มีความสัมพันธ์กับการเกิดอาการท้องอืดเฟ้อ แผลในกระเพาะอาหาร และอาการที่รุนแรงอาจทำให้เกิดมะเร็งในกระเพาะอาหาร และลำไส้ การทดสอบใช้เชื้อ H. pylori ทั้งหมด 19 สายพันธุ์ รวมทั้งสายพันธุ์ CagA+5 (ซึ่ง Cag เป็นสายพันธุ์ที่มีความจำเพาะในการทำให้เกิดแผลแบบ premalignant และ malignant ที่สัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งในกระเพาะอาหาร) ขั้นตอนการสกัดใช้เหง้าขิงสกัดด้วยเมทานอล และทำการสกัดแยกสารบริสุทธิ์โดยใช้เทคนิค high performance liquid chromatography (HPLC) ได้สารสำคัญ 2 ชนิด คือ 6-,8-, 10-gingerol และ 6-shogoal ซึ่งเป็นสารกลุ่มโพลีฟีนอล และทำการทดสอบฤทธิ์ยับยั้งเชื้อโดยใช้เทคนิค agar diffusion test เปรียบเทียบกับยามาตรฐาน amoxicillin ผลการทดลองพบว่าสารสกัดจากเหง้าขิงสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อ H. pylori ได้ 14 สายพันธุ์ รวมทั้งสายพันธ์ุ CagA+ 4 สายพันธุ์ และสายพันธ์ุ ATCC-43504 1 สายพันธุ์ โดยมีค่าความเข้มข้นต่ำสุดที่สามารถยับยั้งเชื้อได้ (MIC) เท่ากับ 25 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร (6.25–50 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร) ในขณะที่ยาฆ่าเชื้อ amoxicillin มีค่าความเข้มข้นต่ำสุดที่สามารถยับยั้งเชื้อได้ (MIC) เท่ากับ 0.0039-0.25 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร นอกจากนี้ยังพบว่าสารสกัดขิงส่วนสกัดย่อยที่มีองค์ประกอบหลักเป็นสาร 10-gingerols รองลงมาคือ 6-gingerol, 6-shogoal และ 8-gingerol คิดเป็น 7.6%, 1%, 13.3% และ 2% ตามลำดับ สามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อ H. pylori ในทุกสายพันธุ์ โดยมีค่า MIC อยู่ระหว่าง 0.78-12.5 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร และมีฤทธิ์ต้านเชื้อ H. pyroli สายพันธ์ุ CagA+ ได้สูงกว่าเชื้อ H. pyroli สายพันธุ์อื่นด้วย เมื่อให้ในขนาด 6.25ไมโครกรัม/มิลลิลิตร สามารถยับยั้งเชื้อได้ 100% จากผลการทดลองนี้สรุปได้ว่า สารสกัดเหง้าขิงมีสารที่ชื่อว่า gingerols เป็นองค์ประกอบที่สามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อ H. pyroli สายพันธ์ุ CagA+ ได้ (Mahady, et al., 2003)
ฤทธิ์ต้านการอักเสบเซลล์ในระบบประสาท
การศึกษาฤทธิ์ปกป้องเซลล์ในระบบประสาทชนิด astrocytes ในหนูขาว ของสาร [6]-shogaol ซึ่งเป็นสารสำคัญที่อยู่ในเหง้าขิง จากการเหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบด้วยสาร lipopolysaccharide (LPS) พบว่าสาร [6]-shogaol สามารถยับยั้งการหลั่งสารก่อการอักเสบชนิดต่างๆ รวมทั้งลดระดับของ nitric oxide syntheses (iNOS), cyclooxygenase-2 (COX-2) และ phospho-NF-κB ที่เพิ่มขึ้นจากการเหนี่ยวนำด้วย lipopolysaccharide (LPS) นอกจากนี้สาร [6]-shogaol ยังเพิ่มการแสดงออกของ histone H3 acetylation และ heat-shock protein (HSP)70 รวมทั้งยับยั้งการแสดงออกของ histone deacetylase (HDAC)1 ด้วย ซึ่งกระบวนการดังกล่าวเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยในการปกป้องเซลล์ในระบบประสาท เช่นเดียวกับยามาตรฐาน trichostatin A และ MS275 ซึ่งเป็น HDAC inhibitors จากผลการทดลองดังกล่าวทำให้สรุปได้ว่าสาร [6]-shogaol สามารถบรรเทาการอักเสบที่เกิดในเซลล์ astrocytes ด้วยกลไกในการเพิ่ม HSP70 ร่วมกับการยับยั้ง HDAC (Shim, et al., 2011)
ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และฤทธิ์ต้านการอักเสบ
การทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและฤทธิ์ต้านการอักเสบในหลอดทดลอง ของสาร 4 ชนิด ได้แก่ hexahydrocurcumin, 1-dehydro-[6]-gingerdione, 6-dehydroshogaol และ 6-shogaol ที่แยกได้จากเหง้าขิง พบว่าเมื่อทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระด้วยวิธี 1,1-diphenyl-2-picyrlhydrazyl (DPPH) radical-scavenging และ trolox equivalent antioxidant capacity (TEAC) assays ลำดับความแรงของฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระเป็นดังนี้ 1-dehydro-[6]-gingerdione, hexahydrocurcumin > 6-shogaol > 6-dehydroshogaol นอกจากนี้สารทุกตัวสามารถยับยั้งการเพิ่มขึ้นของ prostaglandin E2 (PGE2) ในเซลล์ murine macrophages (RAW 264.7) ที่ถูกเหนี่ยวนำให้อักเสบด้วย lipopolysaccharide (LPS) ได้ ซึ่งประสิทธิภาพในการยับยั้งจะขึ้นกับขนาดความเข้มข้นที่ให้ ยกเว้นสาร hexahydrocurcumin และ 6-shogaol ในขนาด 7 ไมโครโมลาร์ พบว่าไม่มีผลยับยั้งการสร้าง PGE2 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยที่สาร 6-dehydroshogaol และ 6-shogaol ขนาด 14 ไมโครโมลาร์ แสดงฤทธิ์แรงที่สุด โดยสามารถยับยั้งได้ 53.3% และ 48.9% ตามลำดับ นอกจากนี้ สาร 6-dehydroshogaol และ 1-dehydro-[6]-gingerdione ยังยับยั้งการแสดงออกของโปรตีน inducible nitric oxide synthase (iNOS) และ cyclooxygenase-2 (COX-2) ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบ โดยความแรงของการออกฤทธิ์จะขึ้นกับขนาดที่ให้ จากผลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า การบริโภคขิงไม่ว่าจะในรูปแบบของอาหาร หรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ก็น่าจะเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ (Li, et al., 2012)
การทดสอบฤทธิ์ในการยับยั้งการหลั่งไนตริกออกไซด์ในหลอดทดลอง พบว่าสารสกัดเอทานอลของขิงด้วยวิธีการหมัก ยับยั้งการสร้างไนตริกออกไซด์ (NO) ซึ่งเป็นสารที่ทำให้เกิดการอักเสบ ซึ่งหลั่งจาก macrophage ของหนูที่ถูกกระตุ้นด้วย lipopolysaccharide (LPS) พบว่าสารสกัดเอทานอลของเหง้าขิง และสารบริสุทธิ์ 6-gingerol ซึ่งเป็นองค์ประกอบทางเคมีหลักในขิง มีฤทธิ์ยับยั้งการสร้าง NO โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 11.93±1.29 และ 44.57±1.32 มคก./มล. ตามลำดับ (ยามาตราฐาน Indomethacin ค่า IC50 เท่ากับ 20.32±3.28 มคก./มล.) (อินทัช และคณะ, 2557)
ฤทธิ์ต้านเชื้อปรสิต
การศึกษาฤทธิ์ในการต้านเชื้อปรสิต Toxoplasma gondii ซึ่งทำให้เกิดการติดเชื้อทั้งในคนปกติและคนที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (HIV) เป็นปรสิตเซลล์เดียวที่อาศัยอยู่ภายในเซลล์บุลำไส้ของแมว หรือสัตว์ในตระกูลแมว ปล่อยเชื้อระยะโอโอซิสต์ (oocyst) ออกมากับอุจจาระสัตว์ การกินโอโอซิสต์ระยะติดต่อ หรือกินเนื้อสัตว์ที่มีซิสต์เนื้อเยื่อดิบๆ สุกๆ เข้าไป นอกจากนี้เชื้อยังมีโอกาสผ่านรกไปยังตัวอ่อนในครรภ์ทำให้แท้งบุตรได้ เชื้อจะแพร่กระจายไปในสมองและทั่วร่างกาย แต่ส่วนใหญ่เชื้อจะไปที่สมอง ทำให้เกิดอาการสมองอักเสบ (toxoplasmic encephalitis) และเสียชีวิตได้ การทดสอบสารสกัดเมทานอลจากรากขิง (GE) และทำการแยกสาร ด้วยเทคนิค silica gel column chromatography ได้ส่วนสกัดย่อย ที่ 1(GE/F1) จากนั้นนำมาศึกษาทั้งในหลอดทดลอง และในสัตว์ทดลอง การศึกษาในหลอดทดลอง โดยใช้เซลล์ C6 glioma cells ของหนูแรท ที่ถูกทำให้ติดเชื้อ T. gondii และให้สารสกัดขิง เปรียบเทียบกับยามาตรฐาน sulfadiazine พบว่าเมื่อเซลล์ติดเชื้อ จะกระตุ้นการสร้าง caspase-3, bax, p53 และ p21 ซึ่งเป็นโปรตีนที่เกี่ยวข้องในกระบวนการตายของเซลล์ (programmed cell death) แต่ผลการทดลองพบว่า GE/F1 ในขนาด 240 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร สามารถยับยั้งการเกิด caspase-3, bax, p53 และ p21ที่ก่อให้เกิดการตายของเซลล์ได้ เมื่อเวลาผ่านไป 24 ชั่วโมง โดยมีค่าความเข้มข้นในการยับยั้งได้ 50% ของ GE, GE/F1 และ sulfadiazine เท่ากับ 220.83, 205.56 และ 276.81 μg/ml ตามลำดับ การศึกษาในสัตว์ทดลอง ในหนูถีบจักรที่ทำให้ติดเชื้อ T. gondii และได้รับ GE/F1 ในขนาด 500 µg/ml เมื่อเวลาผ่านไป 24 ชั่วโมง พบว่าสามารถยับยั้งการหลั่งสารที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบ ได้แก่ INF-g, IL-8 ได้ และทำให้หนูมีชีวิตรอด (Choi, et al., 2013)
การศึกษาทางคลินิก:
ฤทธิ์แก้คลื่นไส้ อาเจียน จากการเมารถ เมาเรือ
ขิงผงขนาด 940 มิลลิกรัม มีประสิทธิผลดีกว่ายามาตรฐาน dimemhydrinate ขนาด 100 มิลลิกรัม ในการป้องกันการเกิด motion sickness จากการนั่งเก้าอี้หมุน จากการออกฤทธิ์ผ่านทางเดินอาหาร โดยการเพิ่มการเคลื่อนไหวของกระเพาะอาหาร จากการศึกษาในนักเรียนนายเรือ พบว่าขิงผงขนาด 1 กรัม สามารถลดแนวโน้ม ในการเกิดการอาเจียน และอาการเหงื่อออกตัวเย็น (cold sweat ) จากการเมาเรือได้ดีกว่ายาหลอกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติหลังรับประทานยา 4 ชั่วโมง (คณะกรรมการแห่งชาติด้านยา, 2549)
ในการเปรียบเทียบประสิทธิผลในการป้องกันการเมาเรือของยา 7 ชนิด ได้แก่ cinnarizine, cinnarizine + domperidone, cyclizine, dimenhydrinate + caffeine, เหง้าขิง, meclozine + caffeineและ scopolamine TTS ในอาสาสมัคร 1,489 ราย ในการทดลองแบบ double-blind, randomized controlled trial พบว่าขิงมีประสิทธิผลไม่แตกต่างกับยาอื่น (คณะกรรมการแห่งชาติด้านยา, 2549)
มีการศึกษาพบว่าขิงผงขนาด 1 กรัมต่อวัน สามารถป้องกันอาการคลื่นไส้ จากการเมารถเมาเรือได้ และการเพิ่มขนาดใช้เป็น 2 กรัมต่อวัน ไม่ทำให้ประสิทธิผลในการป้องกันเพิ่มขึ้น (คณะกรรมการแห่งชาติด้านยา, 2549)
ฤทธิ์แก้คลื่นไส้ อาเจียนในผู้ป่วยหลังการผ่าตัด
การศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิผลในการบรรเทาอาการคลื่นไส้ อาเจียนของขิงกับยาหลอก และ ยามาตรฐาน metoclopramide ในหญิงที่ได้รับการผ่าตัดแบบ gynecological surgery 60 ราย พบว่าประสิทธิผลในการบรรเทาอาการคลื่นไส้ อาเจียนของขิง และ metoclopramide ไม่ต่างกัน แต่ให้ประสิทธิผลดีกว่ายาหลอกอย่างมีนัยสำคัญ เช่นเดียวกับการศึกษาในผู้ป่วยหญิงที่ได้รับการผ่าตัดแบบ laparoscopic gynecological 120 ราย เปรียบเทียบระหว่างขิง, metoclopramide และยาหลอก การเกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียนในผู้ป่วยที่ได้รับขิงกับ metoclopramide ใกล้เคียงกัน และเกิดน้อยกว่าผู้ป่วยที่ได้รับยาหลอก ความต้องการยาแก้คลื่นไส้ อาเจียนในผู้ป่วยที่ได้รับขิงมีน้อยกว่า และอาการข้างเคียง เช่น การสงบประสาท (sedation), การเคลื่อนไหวผิดปกติ (abnormal movement), อาการคัน (itch) และการรบกวนการเห็น (visual disturbance) ระหว่างผู้ป่วยทั้ง 3 กลุ่ม ไม่แตกต่างกัน นอกจากนี้การศึกษาในประเทศไทยในผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดแบบ laparoscopic gynecological surgery 80 ราย แบ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับขิง 2 แคปซูล (1 แคปซูลบรรจุขิงผง 500 มิลลิกรัม) และกลุ่มที่ได้รับยาหลอก 2 แคปซูล ก่อนดำเนินการ (ก่อนผ่าตัด 1 ชั่วโมง โดยประเมินจากค่า visual analog nausea score (VANS) และจำนวนครั้งในการเกิด (incidence) อาการอาเจียนที่ 2, 4 และ 24 ชั่วโมง หลังการผ่าตัด พบว่าค่า VANS ในกลุ่มที่ได้รับขิงน้อยกว่ากลุ่มที่ได้รับยาหลอกอย่างมีนัยสำคัญที่ 2 และ 4 ชั่วโมงหลังการผ่าตัด แต่ไม่แตกต่างกันที่ 24 ชั่วโมง ส่วนการเกิด (incidence) และความถี่ (frequency) ของการอาเจียนในกลุ่มที่ได้รับขิงน้อยกว่ากลุ่มที่ได้รับยาหลอก แต่ไม่แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ ในช่วงแรกแม้ผลการศึกษาแบบ systematic review พบว่า การใช้ขิงในผู้ป่วยหลังการผ่าตัด ไม่ได้ผล และไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดในการบรรเทาอาการคลื่นไส้ อาเจียนหลังการผ่าตัด แต่ในระยะต่อมาได้มีการศึกษาแบบ meta – analysis ที่โต้แย้งผลดังกล่าว ซึ่งมีความแตกต่างของการศึกษาที่นำมาวิเคราะห์ลดลงโดยเฉพาะขนาดยาและการวัดประสิทธิผล รวมทั้งได้นำผลการศึกษา randomized placebo-controlled trial อีก 1 รายงานเข้าไว้ด้วย ผลการศึกษาพบว่า ขิงขนาดไม่น้อยกว่า 1 กรัม มีประสิทธิภาพมากกว่ายาหลอก ในการป้องกันอาการคลื่นไส้ อาเจียนหลังการผ่าตัด หรืออาการอาเจียนหลังการผ่าตัด (คณะกรรมการแห่งชาติด้านยา, 2549)
ฤทธิ์บรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียน ในผู้ป่วยที่ได้รับเคมีบําบัด
การรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งด้วยเคมีบําบัดมีผลข้างเคียงที่พบบ่อยที่สุดคืออาการคลื่นไส้อาเจียน ซึ่งค่อนข้างรุนแรง จึงได้มีการศึกษาโดยให้ผู้ป่วยมะเร็งนรีเวชจํานวน 48 คน ที่ได้รับยา cisplatin เพื่อการรักษามะเร็ง โดยผู้ป่วยจะได้รับยาแก้คลื่นไส้อาเจียนมาตรฐานในวันแรก (standard antiemetic) กลุ่มที่ได้รับยาขิง จะรับประทานขิงผงแคปซูลขนาด 1 กรัม ต่อวัน นาน 5 วัน เริ่มรับประทานตั้งแต่วันแรกที่ได้รับการรักษามะเร็ง สําหรับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก และ metoclopramide จะได้รับยาหลอกในวันแรกของการรักษามะเร็ง หลังจากนั้น จึงได้รับ metoclopramide นาน 4 วัน และมีการสลับระหว่างกลุ่มทั้งสองในรอบการรักษาถัดไป (next cycle) พบว่าการควบคุมอาการคลื่นไส้อาเจียนไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสําคัญทั้งใน acute phase และ delay phase พบอาการกระสับกระส่าย (restlessness) ในกลุ่มที่ได้รับยาหลอก และ metoclopramide เกิดขึ้นได้มากกว่าในกลุ่มที่ได้รับยาขิง ดังนั้นยาขิง ใน acute phase ไม่สามารถบรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียนได้ ส่วนใน delay phase มีประสิทธิผลไม่แตกต่างจากการให้ metoclopramide อย่างมีนัยสําคัญ (Manusirivithaya, et al., 2004)
ฤทธิ์แก้คลื่นไส้ อาจียน ในหญิงมีครรภ์
จากการศึกษาในหญิงตั้งครรภ์ 3 เดือนแรก จำนวน 27 ราย พบว่าขิงผงในขนาด 1 กรัมต่อวัน แบ่งให้วันละ 4 ครั้ง รับประทานติดต่อกัน 4 วัน ให้ผลบรรเทาอาการคลื่นไส้ได้ดีกว่ายาหลอก ส่วนการศึกษาในประเทศไทย ในสตรีมีครรภ์ 70 ราย พบว่ากลุ่มที่รับประทานขิงขนาด 1 กรัม ต่อวัน นาน 4 วัน มีความรุนแรงของอาการคลื่นไส้ และจำนวนครั้งของอาการอาเจียนน้อยกว่ากลุ่มที่ได้รับยาหลอก นอกจากนี้ยังมีการศึกษาโดยให้หญิงที่ตั้งครรภ์ไม่เกิน 20 สัปดาห์ จำนวน 120 คน รับประทานสารสกัดขิงขนาด 125 มิลลิกรัม (เทียบเท่าขิงแห้ง 1.5 กรัม) วันละ 4 ครั้ง นาน 4 วัน พบว่ากลุ่มที่ได้รับสารสกัดขิงมีอาการคลื่นไส้ และ retching (การขย้อน) น้อยกว่ากลุ่มที่ได้รับยาหลอก ส่วนการศึกษาประสิทธิผลของยาน้ำเชื่อมขิง (ginger syrup) 1 ช้อนโต๊ะ ผสมในน้ำร้อนหรือน้ำเย็น 4-8 ออนซ์ วันละ 4 ครั้ง พบว่า 67% (8 ใน 12 ราย) ของกลุ่มที่รับประทานยาน้ำเชื่อมขิงหยุดอาเจียนในวันที่ 6 เทียบกับ 20% (2 ใน 10 ราย) ในกลุ่มที่ได้รับยาหลอก อย่างไรก็ตาม มีหลายหน่วยงาน เช่น Commission E, The American Herbal Products Association (AHPA), Health Canada ได้ระบุห้ามใช้เหง้าขิง (แห้ง) ในสตรีมีครรภ์ (คณะกรรมการแห่งชาติด้านยา, 2549)
บรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้ออันเนื่องมาจากการออกกำลังกาย
การศึกษาแบบ double-blind, placebo controlled, randomized ในอาสาสมัครที่ออกกำลังกายแบบยืดกล้ามเนื้อ (eccentric exercise) จนทำให้เกิดอาการปวดและอักเสบบริเวณข้อศอก แบ่งการศึกษาออกเป็น 2 ส่วน เพื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพของขิงสด และขิงที่ผ่านความร้อน (heat-treated ginger) เพื่อบรรเทาอาการปวดและอักเสบ โดยการทดลองที่ 1 ให้อาสามัคร 34 คน รับประทานแคปซูลขิงสดขนาด 2 ก. เทียบกับยาหลอก นาน 11 วัน และการทดลองที่ 2 ทดสอบในอาสาสมัคร 40 คน ให้รับประทานแคปซูลขิงที่ผ่านความร้อน ขนาด 2 ก. หรือยาหลอก เป็นเวลา 11 วัน ทำการประเมินอาการปวด ปริมาณสารที่หลั่งออกมาเมื่อมีอาการปวดอักเสบ ได้แก่ prostaglandin E2 (PGE2) ปริมาตรต้นแขน (arm volume) และความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ทั้งก่อนและหลังออกกำลังกาย 3 วัน จากผลการศึกษาพบว่าทั้งขิงสด และขิงที่ผ่านความร้อนสามารถบรรเทาอาการปวดหลังออกกำลังกาย 24 ชั่วโมงได้ดีกว่ายาหลอก การใช้ขิงสดและขิงที่ผ่านความร้อนสามารถลดอาการปวดได้ใกล้เคียงกัน คือ 25% และ 23% ตามลำดับ นอกจากนี้ยังพบว่าปริมาณ PGE2 ปริมาตรต้นแขน และความแข็งแรงของกล้ามเนื้อของทั้ง 2 กลุ่มไม่แตกต่างกัน แสดงให้เห็นว่าการรับประทานขิงเป็นประจำจะช่วยบรรเทาอาการปวดจากการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อที่เกิดจากการออกกำลังกายได้ และการใช้ความร้อนไม่มีผลในเพิ่มฤทธิ์บรรเทาปวดของขิง (Black, et al., 2010)
ฤทธิ์ลดการอักเสบในผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อม
การให้ผงเหง้าขิง แก่ผู้ป่วยที่มีอาการข้อเข่าเสื่อม ที่มีอาการปวดระดับปานกลาง จำนวน 120 คน ในการทดลองแบบ double-blind randomized placebo-controlled clinical trial แบ่งผู้ป่วยเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่รับประทานแคปซูลผงเหง้าขิง จำนวน 2 แคปซูล ต่อวัน (500 มิลลิกรัมต่อแคปซูล) และกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (ผงแป้งในขนาดเดียวกัน) ทดลองเป็นเวลา 3 เดือน จากนั้นวัดระดับ nitric oxide (NO) และ hs-C reactive protein (hs-CRP) ในเลือด ซึ่งเป็นสิ่งบ่งบอกภาวะการอักเสบ ตรวจวัดด้วยวิธี enzyme-linked immunosorbentassay kits ผลการทดสอบพบว่าระดับ NO และ hs-CRP ของผู้ป่วยที่ได้รับแคปซูลผงขิงลดลงมากกว่ากลุ่มที่ได้รับยาหลอกอย่างมีนัยสำคัญ จึงอาจให้ผงขิงเสริมในผู้ที่มีอาการข้อเข่าเสื่อมได้ (Naderi, et al., 2015)
ฤทธิ์ลดการสูญเสียเลือดประจำเดือน
การศึกษาในวัยรุ่นผู้หญิงที่มีปัญหาประจำเดือนมามาก อายุระหว่าง 15-18 ปี จำนวน 90 คน โดยแบ่งออกเป็นกลุ่มที่ได้รับแคปซูลผงเหง้าขิง ขนาด 250 มก. วันละสามครั้ง รับประทานติดต่อกัน 4 วัน เริ่มจากวันก่อนที่จะมีประจำเดือนจนถึงวันที่สามของการมีประจำเดือน เปรียบเทียบผลกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก ทำการวัดผลในช่วง 3 รอบประจำเดือน โดยการประเมินด้วย Pictorial blood loss assessment chart ผลการทดสอบพบว่ากลุ่มที่ได้รับขิงจะมีการสูญเสียเลือดประจำเดือนลดลง และมีผลข้างเคียงน้อย ค่าการลดลงของการสูญเสียเลือดประจำเดือนเมื่อได้รับแคปซูลเหง้าขิง และยาหลอกคิดเป็น 46.6% และ 2.1% ตามลำดับ สรุปว่าขิงมีประสิทธิภาพในการช่วยลดการสูญเสียเลือดประจำเดือนในผู้หญิงที่มีปัญหาประจำเดือนมามากได้ (Kashefi, et al, 2015)
ฤทธิ์ในการรักษาไมเกรน
การศึกษาทางคลินิกแบบสุ่มและปกปิดทั้งสองฝ่าย (double-blinded randomized clinical trial) ในการรักษาไมเกรนของขิง เปรียบเทียบกับยา sumatriptan (ยารักษาอาการไมเกรน) ในผู้ป่วย จำนวน 100 คน ที่เป็นไมเกรนแบบไม่มีอาการนำหรือออร่า (common migraine) โดยแบ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับแคปซูลขิง (ซึ่งประกอบด้วยผงเหง้าขิง 250 มก.) ขนาด 1 แคปซูล และยา sumatriptan (50 มก.) ขนาด 1 แคปซูล เมื่อเริ่มมีอาการปวดศีรษะ พบว่าความรุนแรงของอาการปวดจะลดลงในทั้ง 2 กลุ่ม หลังจากได้รับยา 2 ชั่วโมง โดยประสิทธิภาพในการลดอาการปวดของขิง และยา sumatriptan จะไม่แตกต่างกัน แต่อาการไม่พึงประสงค์ของขิงจะน้อยกว่า โดยพบเพียงอาการอาหารไม่ย่อย ส่วนอาการข้างเคียงของยา sumatriptan ที่พบได้แก่ มึนงง ง่วงนอน เวียนศรีษะ ปวดแสบปวดร้อนที่ลิ้นปี่ เป็นต้น ขณะที่ความพึงพอใจในการรักษา และความสมัครใจที่จะรับการรักษาต่อของทั้ง 2 กลุ่ม ไม่แตกต่างกัน สรุปว่าขิงมีผลรักษาไมเกรนแบบไม่มีอาการนำได้เหมือนกับยา sumatriptan แต่มีอาการไม่พึงประสงค์น้อยกว่า (Maghbooli, et al, 2014)
ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ
การศึกษาฤทธิ์ของขิง และการออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อโดยเพิ่มน้ำหนักที่สามารถยกได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆตามสัดส่วน ในอาสาสมัครชายที่มีภาวะอ้วน โดยศึกษาปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระในเลือด, malondialdehyde (MDA), สารที่บ่งชี้ภาวะออกซิเดชัน โดยออกแบบการทดลองแบบ randomized double-blind, placebo-controlled trial ทำการทดลองในอาสารสมัครชาย 32 คน ที่มี BMI ≥30 อายุ18-30 ปี โดยแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม กลุ่มแรกได้รับยาหลอก (n=8) กลุ่มที่สองได้รับการออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ โดยเพิ่มน้ำหนักขึ้นเรื่อยๆ ตามสัดส่วน (progressive resistance training :PRT)(n=8) กลุ่มที่สามได้รับแคปซูลขิงขนาด 250 มิลลิกรัม สี่ครั้งต่อวัน (n=8) กลุ่มที่สี่ได้รับการออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อโดยเพิ่มน้ำหนักขึ้นเรื่อยๆ ตามสัดส่วน (progressive resistance training :PRT) ร่วมกับได้รับแคปซูลขิงขนาด 250 มิลลิกรัม สี่ครั้งต่อวัน (n=8) ทำการศึกษาเป็นเวลา 10 สัปดาห์ และทำการเก็บตัวอย่างเลือดที่เริ่มต้นการทดลอง และเมื่อครบระยะเวลาการศึกษา และทำการวัดความสามารถในการต่อต้านอนุมูลอิสระ (total antioxidant capacity :TAC) และระดับของ malondialdehyde (MDA) ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ทางชีวภาพ (biomarker) ของการเกิดภาวะ oxidative stress ผลการทดลองพบว่าระดับของ TAC ในเลือดเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.008) และระดับ MDA มีค่าลดลงในระหว่างที่ทำการศึกษา (p<0.001) ในกลุ่มที่ได้รับการออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อโดยเพิ่มน้ำหนักขึ้นเรื่อยๆ ตามสัดส่วน (progressive resistance training :PRT) และในกลุ่มที่ได้รับแคปซูลขิง จากการศึกษานี้แสดงว่า progressive resistance training:PRT และสารสกัดขิงสามารถต่อต้านอนุมูลอิสระได้ แต่การให้ร่วมกันมิได้เพิ่มฤทธิ์ของทั้ง 2 วิธี (Atashak, et al., 2014)
การศึกษาทางพิษวิทยา:
การศึกษาพิษเฉียบพลัน และพิษกึ่งเฉียบพลัน ของขิงในหนูขาวเพศผู้ และศึกษากลไลการเกิดพิษ การศึกษานี้ทดสอบในหนู 84 ตัว แบ่งออกเป็น 7 กลุ่ม กลุ่มละ 12 ตัว แบ่งเป็นกลุ่มควบคุม 2 กลุ่ม (negative และ positive control ) สำหรับการศึกษาพิษเฉียบพลัน จะป้อนผงเหง้าขิงในขนาด 2,500 mg/kgให้หนูเพียงครั้งเดียว ส่วนการศึกษาพิษกึ่งเฉียบพลัน หนูจะได้รับผงเหง้าขิงในขนาด 50 mg/kg และ 500 mg/ kg นาน 28 วัน หลังจาก 24 ชั่วโมง ในการศึกษาพิษเฉียบพลัน และ 28 วัน ในการศึกษาพิษกึ่งเฉียบพลัน หนูจำนวน 6 ตัว ในแต่ละกลุ่ม จะถูกสุ่มมาวัดความดันเลือด และอัตราการเต้นของหัวใจ อีก 6 ตัว จะถูกตรวจเนื้อเยื่อกล้ามเนื้อหัวใจ ผลการทดสอบพบว่าผงขิงในขนาด 2,500 mg/kg ที่ให้วันละครั้ง ทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ และหัวใจเต้นช้า (bradycardia) และเหนี่ยวนำให้เกิดการตายของกล้ามเนื้อหัวใจได้ การให้สารสกัดขิงในขนาด 50 mg/kg นาน 28 วันทำให้หัวใจเต้นช้า (bradycardia) สารสกัดขิงขนาด 500 mg/kg ทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ และหัวใจเต้นช้า (bradycardia) และมีการเสื่อมสภาพของกล้ามเนื้อหัวใจ การเกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ และหัวใจเต้นช้าเป็นผลมาจากสารสกัดขิงทำให้เกิดการขยายตัวของหลอดเลือด โดยเพิ่มการปลดปล่อย หรือเพิ่มการสังเคราะห์ nitric oxide หรืออาจเกิดจากผลของ calcium channel blocking (Elkhishin and Awwad, 2009)
ข้อควรระวัง:
1. ระวังการใช้ร่วมกับสารกันเลือดเป็นลิ่ม (anticoagulants) และยาต้านการจับตัวของเกล็ดเลือด (antiplatelets) เนื่องจากอาจทำให้เลือดแข็งตัวช้า และทำให้เลือดไหลหยุดยาก
2. ระวังการใช้ในผู้ป่วยโรคนิ่วในถุงน้ำดี ยกเว้นภายใต้การดูแลของแพทย์
3. ไม่แนะนำให้รับประทานในเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี
อาการไม่พึงประสงค์:
อาการแสบร้อนบริเวณทางเดินอาหาร อาการระคายเคืองบริเวณปากและคอ ผู้ป่วยที่ไวต่อขิง อาจจะมีผิวหนังอักเสบ
เอกสารอ้างอิง:
1. คณะกรรมการแห่งชาติด้านยา. บัญชียาจากสมุนไพร พ.ศ. 2549. พิมพ์ครั้งที่2. โรงพิมพ์ชุนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย:กรุงเทพมหานคร, 2551.
2. ลักษณา เจริญใจ. ขิง สมุนไพรในครัวเรือน. บทความสวนสมุนไพร จาก phar.ubu.ac.th/herb-phargarden/ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, 2551.
3. อินทัช ศักดิ์ภักดีเจริญ, สุนิตา มากชูชิต, อรุณพร อิฐรัตน์. การทดสอบฤทธิ์ยับยั้งการหลั่งไนตริกออกไซด์ของสารสกัดสมุนไพรผสม. ธรรมศาสตร์เวชสาร 2557;14(1):7-11.
4. Atashak S, Peeri M, Azarbayjani MA, Stannard SR. Effects of ginger (Zingiber officinale Roscoe) supplementation and resistance training on some blood oxidative stress markers in obese men. Journal of Exercise Science & Fitness. 2014;12:26-30.
5. Black CD, Herring MP, Hurley DJ, O'Connor PJ. Ginger (Zingiber officinale) reduces muscle pain caused by eccentric exercise. J Pain. 2010;11(9): 894-903.
6. Borrelli F, Capasso R, Pinto A, Izzo AA. Inhibitory effect of ginger (Zingiber officinale) on rat ileal motility in vitro. Life Sciences. 2004;74:2889-28896.
7. Choi WH, Jiang M, Chu J. Antiparasitic effects of Zingiber officinale (Ginger) extract against Toxoplasma gondii. J Appl Biomed. 2013;11:15-26.
8. El-Abhar HS, HammadLNA, Gawad HSA. Modulating effect of ginger extract on rats with ulcerative colitis. J Ethnopharmacology. 2008;118:367-372.
9. Elkhishin IA, Awwad IA. A study of the cardiovascular toxic effects of Zingiber officinale(ginger) in adult male albino rats and its possible mechanisms of action. Mansoura J Forensic Med Clin Toxicol. 2009;17(2):109-127.
10. Ekowati H, Achmad A, Prasasti E, Wasito H,Sri K, Hidayati Z, et al. Zingiber officinale, Piper retrofractum and combination inducedapoptosis and p53 expression in myeloma and WiDr cell lines. HAYATI J Biosci. 2012;19(3):137-140.
11. Iwami M, Shiina T, Hirayama H, Shima T, Takewaki T, Shimizu Y. Inhibitory effects of zingerone, a pungent component of Zingiber officinale Roscoe, on colonic motility in rats. J Nat Med. 2011;65:89-94.
12. Kashefi F, Khajehei M, Alavinia M, Golmakani E, Asili J. Effect of Ginger (Zingiber officinale) on heavy menstrual bleeding: A placebo-controlled, randomized clinical trial. Phytother Res. 2015;29(1):114-119.
13. Li F, Nitteranon V, Tang X, Liang J, Zhang G, Parkin KL, et al. In vitro antioxidant and anti-inflammatory activities of 1-dehydro-[6]-gingerdione, 6-shogaol, 6-dehydroshogaol and hexahydrocurcumin. Food chemistry. 2012;135:332-337.
14. Maghbooli M, Golipour F, Esfandabadi AM, Yousefi M. Comparison between the efficacy of ginger and sumatriptan in the ablative treatment of the common migraine. Phytother Res. 2014;28:412-415.
15. Mahady GB, Pendland SL, Yun GS, Lu Z-Z, Stoia A. Ginger (Zingiber officinale Roscoe) and the Gingerols Inhibit the Growth of Cag A+ Strains of Helicobacter pylori. Anticancer Res. 2003;23(0):3699-3702.
16. Manusirivithaya S, Sripramote M, Tangjitgamol S, Sheanakul C, Leelahakorn S, Thavaramara T, et al. Antiemetic effect of ginger in gynecologic oncology patients receiving cisplatin.Int J Gynecol Cancer. 2004;14(6):1063-1069.
17. Naderi Z. Mozaffari-Khosravi H, Dehghan A, Nadjarzadeh A, Husein HF. Effect of ginger powder supplementation on nitric oxide and C-reactive protein in elderly knee osteoarthritis patients: A 12-week double-blind randomized placebo-controlled clinical trial. Journal of Traditional and Complementary Medicine. 2016;6:199-203.
18. Shim S, Kim S, Choi D-S, Kwon Y-B, Kwon J. Anti-inflammatory effects of [6]-shogaol: Potential roles of HDAC inhibition and HSP70 induction. Food and chemical toxicology. 2011;49:2734-2740.
19. Yamahara J, Huang Q, Li Y, Xu L, Fujimura H. Gastrointestinal motility enhancing effect of ginger and its active constituents. Chem Pharma Bull. 1990;38(2):430-431.
20. Yamahara J, Miki K, Chisaka T, Sawada T, Fujimura H, Tomimatsu T, et al. Cholagogic effect of ginger and its active constituents. J Ethnopharmacology. 1985;13(2):217-225.
ข้อมูลตำรับยาธาตุบรรจบ : phar.ubu.ac.th/herb-thairemedy/
ข้อมูลตำรับยาประสะไพล : phar.ubu.ac.th/herb-thairemedy/