กระชายดำ
ชื่อเครื่องยา | กระชายดำ |
ชื่ออื่นๆของเครื่องยา | |
ได้จาก | เหง้า |
ชื่อพืชที่ให้เครื่องยา | กระชายดำ |
ชื่ออื่น (ของพืชที่ให้เครื่องยา) | ว่านจังงัง ว่านพญานกยูง ว่านกั้นบัง ว่านกำบัง ว่านกำบังภัย กะแอน ระแอน (ภาคเหนือ) ขิงทราย (มหาสารคาม) |
ชื่อวิทยาศาสตร์ | Kaempferia parviflora Wallich. ex Baker. |
ชื่อพ้อง | K. rubromarginata (S.Q. Tong) R.J. Searle, Stahlianthus rubromarginatus |
ชื่อวงศ์ | Zingiberaceae |
ลักษณะภายนอกของเครื่องยา:
เหง้ารูปทรงกลม เรียงต่อกัน มักมีขนาดเท่าๆกัน หลายเหง้า อวบน้ำ ผิวเหง้าสีน้ำตาลอ่อนถึงน้ำตาลเข้ม อาจพบรอยที่ผิวเหง้าเป็นบริเวณที่จะงอกของต้นใหม่ เนื้อภายในสีม่วงอ่อน ม่วงเข้ม จนถึงสีม่วงดำ มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว รสชาติขมเล็กน้อย
เครื่องยากระชายดำ
เครื่องยากระชายดำ
เครื่องยากระชายดำ
ลักษณะวิสัยต้นกระชายดำ
ดอกกระชายดำ
ลักษณะทั้งต้นของกระชายดำ
เหง้ากระชายดำ
ลักษณะทางกายภาพและเคมีที่ดี
ปริมาณน้ำไม่เกิน 10% w/w ปริมาณสิ่งแปลกปลอมไม่เกิน 2% w/w ปริมาณเถ้ารวมไม่เกิน 6% w/w ปริมาณเถ้าที่ไม่ละลายในกรดไม่เกิน 2% w/w ปริมาณสารสกัดด้วยเอทานอล ไม่น้อยกว่า 8% w/w ปริมาณสารสกัดด้วยน้ำ ไม่น้อยกว่า 17% w/w (THP III)
สรรพคุณ
ตำรายาไทย: ใช้บำรุงกำลัง แก้ปวดเมื่อยและอาการเหนื่อยล้า และเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ ขับลม เป็นยาอายุวัฒนะ (เชื่อว่าช่วยบำรุงสมรรถภาพทางเพศชาย) แก้จุกเสียด แก้ปวดท้อง หรือโขลกกับเหล้าขาวคั้นน้ำดื่ม แก้โรคมดลูกพิการ มดลูกหย่อน ใช้กวาดคอเด็ก แก้โรคตานซางในเด็ก หรือต้มดื่มแก้โรคตา
รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา
การใช้เป็นยาแก้ปวดท้อง และยาอายุวัฒนะ ตามภูมิปัญญาไทย
ใช้เหง้า (หัวสด) ประมาณ 4-5 ขีด ต่อสุราขาว 1 ขวด ดองสุราขาวดื่มก่อนรับประทานอาหารเย็น ปริมาณ 30 ซีซี หรือฝานเป็นแว่นบางๆ แช่น้ำดื่ม หรือดองน้ำผึ้งในอัตราส่วน 1:1
ใช้เหง้าแห้งดองกับน้ำผึ้งในอัตราส่วน 1:1 นาน 7 วัน และนำมาดื่มก่อนนอน
ข้อควรระวัง
การรับประทานติดต่อกันนาน อาจทำให้เหงือกร่น และห้ามใช้ในผู้ป่วยโรคตับ และในเด็ก การรับประทานในขนาดสูง ทำให้เกิดอาการใจสั่นได้
องค์ประกอบทางเคมี
เหง้า ประกอบด้วยน้ำมันหอมระเหย โดยมี borneol เป็นองค์ประกอบหลัก และยังพบสารกลุ่ม flavonoid, chalcone, anthocyanin เป็นต้น
การศึกษาทางเภสัชวิทยา
ฤทธิ์ต้านอักเสบ:
สาร 5,7 –ไดเมธอกซีฟลาโวน (5,7-DMF) ที่แยกได้จากเหง้ากระชายดำ มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ และมีฤทธิ์ลดไข้จากการศึกษาฤทธิ์ต้านอักเสบของสารนี้ในสัตว์ทดลองด้วยวิธีการต่าง ๆ พบว่าสาร 5,7-DMF สามารถต้านการอักเสบแบบเฉียบพลันได้ดีกว่าแบบเรื้อรัง โดยแสดงฤทธิ์ยับยั้งการบวมของอุ้งเท้าหนูขาวจากสารคาราจีแนน (carrageenan) และคาโอลิน (kaolin) ได้ 16.0-48.0% และ 43.7-80.9% ตามลำดับ นอกจากนี้ พบว่า สาร 5,7-DMF มีฤทธิ์ยับยั้งการสร้างสาร prostaglandin G อย่างมีนัยสำคัญ
ฤทธิ์ต้านเชื้อจุลินทรีย์:
สาร 5,7,4’-trimethoxyflavone และ 5,7,3’,4’ –tetramethoxyflavone แสดงฤทธิ์ต้านเชื้อ Plasmodium falciparum ที่เป็นสาเหตุของโรคมาลาเรีย ส่วนสาร 3,5,7,4’-tetramethoxyflavone และ 5,7,4’-trimethoxyflavone แสดงฤทธิ์ต้านเชื้อ Candida albicans และแสดงฤทธิ์ต้านเชื้อ Mycobacterium อย่างอ่อน
ฤทธิ์ต่อระบบสืบพันธุ์:
สารสกัดกระชายดำด้วยเอทานอล โดยการกรอกสารเข้าสายในกระเพาะอาหาร พบว่าสามารถเพิ่มการไหลเวียนของเลือดไปยังอวัยวะเพศผู้ของหนูขาวและสุนัขได้ นอกจากนี้การป้อนสารสกัดกระชายดำ ยังมีผลเพิ่มความหนาแน่นของอสุจิ และระดับ testosterone แต่ไม่ทำให้พฤติกรรมทางเพศเปลี่ยนแปลง สำหรับหนูขาวซึ่งได้รับสารสกัดแอลกอฮอล์ความเข้มข้นสูงขนาด 1,000 มก./กก. น้ำหนักตัว/วัน เป็นเวลา 4 สัปดาห์ สามารถป้องกันภาวะการผสมไข่ไม่ติดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่สารสกัดขนาดดังกล่าวมีผลทำให้ตับโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
การศึกษาทางคลินิก:
ไม่มีข้อมูล
การศึกษาทางพิษวิทยา:
การศึกษาพิษเรื้อรังระยะเวลา 6 เดือน ของผงกระชายดำในหนูขาว ในขนาด 20, 200, 1000 และ 2000 มก/กก./วัน เทียบกับกลุ่มควบคุม พบว่าหนูที่ได้รับกระชายดำทุกกลุ่มมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น อาการและสุขภาพไม่แตกต่างจากลุ่มควบคุม และพบว่าหนูที่ได้รับกระชายดำขนาด 2,000 มก./กก./วัน มีน้ำหนักสัมพัทธ์ของตับสูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ และมีเม็ดเลือดขาวอิโอสิโนฟิลต่ำกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ แต่ยังคงอยู่ในช่วงค่าปกติ ในหนูเพศเมียที่ได้รับกระชายดำขนาด 2,000 มก./กก./วัน มีระดับโคเลสเตอรอลสูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ และทุกกลุ่มไม่พบความเป็นพิษของกระชายดำเมื่อตรวจอวัยวะภายในโดยวิธีทางจุลพยาธิวิทยา
ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง : phar.ubu.ac.th/herb-thaiherbarium/