จันทน์แดง
ชื่อเครื่องยา | จันทน์แดง |
ชื่ออื่นๆของเครื่องยา | ลักจั่น จันทน์ผา แก่นจันทน์แดง |
ได้จาก | แก่นที่มีราลงจนเป็นสีแดง |
ชื่อพืชที่ให้เครื่องยา | จันทน์แดง |
ชื่ออื่น (ของพืชที่ให้เครื่องยา) | ลักกะจันทน์ ลักจั่น(กลาง) จันทน์ผา |
ชื่อวิทยาศาสตร์ | Dracaena loureiroi Gagnep. |
ชื่อพ้อง | Aletris cochinchinensis Lour., Dracaena saposchnikowii Regel., Draco saposchnikowii (Regel) Kuntze., Pleomele cochinchinensis Merr. ex Gagnep., Dracaena cochinchinensis |
ชื่อวงศ์ | Dracaenaceae |
ลักษณะภายนอกของเครื่องยา:
แก่น ที่มีเชื้อราลง จนทำให้แก่นมีสีน้ำตาลแดงและมีกลิ่นหอม มีรสขมเย็น ฝาดเล็กน้อย
เครื่องยา จันทน์แดง
เครื่องยา จันทน์แดง
เครื่องยา จันทน์แดง
เครื่องยา จันทน์แดง
ลักษณะทางกายภาพและเคมีที่ดี:
ปริมาณความชื้นไม่เกิน 9% w/w ปริมาณสิ่งแปลกปลอมไม่เกิน 0.5% w/w ปริมาณเถ้ารวมไม่เกิน 1.2% w/w ปริมาณสารสกัดเอทานอล ไม่น้อยกว่า 17% w/w สารสกัดน้ำ ไม่น้อยกว่า 2% w/w
สรรพคุณ:
ตำรายาไทย: ใช้ แก่น ที่มีเชื้อราลง จนทำให้แก่นมีสีแดง แก้พิษไข้ภายนอกและภายใน แก้ไข้ทุกชนิด แก้ไข้อันเกิดจากซางและดี แก้ซางเด็ก แก้กระสับกระส่าย แก้ร้อนดับพิษไข้ทุกชนิดแก้ร้อนในกระหายน้ำ ลดความร้อน ทำให้หัวใจชุ่มชื่น แก้เหงื่อตก กระสับกระส่าย แก้ไออันเกิดจากซางและดี แก้ไข้เพื่อดีพิการ บำรุงหัวใจ แก้พิษฝีที่มีอาการอักเสบและปวดบวม แก้บาดแผล แก้เลือดออกตามไรฟัน ฝนทาแก้ฟกบวม แก้ฝี
ตำรายาไทย: มีการใช้จันทน์แดงใน “พิกัดเบญจโลธิกะ”คือการจำกัดจำนวนตัวยาที่มีคุณทำให้ชื่นใจ 5 อย่าง มี แก่นจันทน์ชะมด ต้นเนระพูสี ต้นมหาสะดำ แก่นจันทน์ขาว และแก่นจันทน์แดง สรรพคุณ แก้ไข้เพื่อดี แก้รัตตะปิตตะโรค แก้ลมวิงเวียน กล่อมพิษทั้งปวง และมีการใช้ใน “พิกัดจันทน์ทั้ง 5 “ คือการจำกัดจำนวนแก่นไม้จันทน์ 5 อย่าง มี แก่นจันทน์ชะมด แก่นจันทน์เทศ แก่นจันทน์ทนา แก่นจันทน์ขาว และแก่นจันทน์แดง สรรพคุณ แก้ไข้เพื่อโลหิตและดี แก้ร้อนในกระหายน้ำ บำรุงตับปอดหัวใจ แก้พยาธิบาดแผล
ตำรับยาพระโอสถพระนารายณ์: ปรากฏตำรับ “มโหสถธิจันทน์” ประกอบด้วย จันทน์ทั้ง 2 (จันทน์แดงและจันทน์ขาว) ร่วมกับสมุนไพรอื่นอีก 13 ชนิด สรรพคุณแก้ไข้ทั้งปวง ที่มีอาการตัวร้อน อาเจียนร่วมด้วยก็ได้
นอกจากนี้บัญชียาจากสมุนไพร: ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศ คณะกรรมการแห่งชาติด้านยา ปรากฏการใช้จันทน์แดงในยารักษากลุ่มอาการทางระบบไหลเวียนโลหิต (แก้ลม) ปรากฏตำรับ”ยาหอมเทพจิตร” และตำรับ ”ยาหอมนวโกฐ” มีส่วนประกอบของจันทน์แดง ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณในการแก้ลมวิงเวียน แก้อาการหน้ามืด ตาลาย ใจสั่น คลื่นเหียน อาเจียน แก้ลมจุกแน่นในท้อง ยาแก้ไข้ปรากฏตำรับ “ยาจันทน์ลีลา” มีส่วนประกอบของจันทน์แดงร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้บรรเทาอาการไข้ตัวร้อน ไข้เปลี่ยนฤดู “ตำรับยาเขียวหอม” บรรเทาอาการไข้ ร้อนในกระหายน้ำ แก้พิษหัด พิษสุกใส (บรรเทาอาการไข้จากหัดและสุกใส)
รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา:
ไม่มีข้อมูล
องค์ประกอบทางเคมี:
สารกลุ่ม homoisoflavanones, retrodihydrochalcone, stilbenes
การศึกษาทางเภสัชวิทยา:
ฤทธิ์ในการรักษาแผล
ใช้สารสกัดเอทานอลของจันทน์แดง ในหนูแรทเพศผู้สายพันธุ์ Sprague Dawley ที่มีแผลผ่าตัด (excision wound) และแผลเปิดที่เกิดจากการตัดผิวหนังส่วน full thickness ออกไป (incision wound) ทำการแบ่งหนูทดลองออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกได้รับการรักษาด้วยยาพื้น (ointment base) เป็นกลุ่มควบคุม กลุ่มที่สองได้รับการรักษาด้วยยามาตรฐานคือ moist exposed burn ointment (MEBO) ส่วนกลุ่มสามได้รับสารสกัดเอทานอลของจันทน์แดงและติดตามเปอร์เซ็นต์ของการเกิดการหดตัวของแผล (wound contraction), ระยะเวลาการสร้างเนื้อเยื่อใหม่ (epithelialization period) ผลการทดลองพบว่ากลุ่มที่ได้รับการรักษาด้วยสารสกัดเอทานอล ของจันทน์แดงและ MEBOมีการหดตัวของแผล และการสมานแผลดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ มีการสร้าง bloodcapillaries, collagen fibres และ fibroblasts cellsได้ตั้งแต่วันที่ 7 หลังเกิดแผล และมีการสร้างเนื้อเยื่อสมบูรณ์ในวันที่ 21(Liu, et al., 2013)
ฤทธิ์ต้านการเกิดลิ่มเลือด
สกัดสารสำคัญจากจันทน์แดง ด้วยethanol (EA) และ precipitate B (PB) fraction ให้หนูแรทสายพันธุ์วิสตาร์ ที่ถูกกระตุ้นให้เกิดก้อนลิ่มเลือด (thrombosis) ซึ่งแบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม คือ กลุ่ม 1 เป็นกลุ่มควบคุม (control group), กลุ่ม 2 ได้รับ 0.5% CMC-Na, กลุ่ม 3 เป็นตัวควบคุมเชิงบวก (positive group) ได้รับ Xuesaitong tabletsขนาด 0.10 กรัม/กิโลกรัม/วัน, กลุ่ม 4 ได้รับสารสกัดเอทานอลของจันทน์แดง และกลุ่ม 5 ได้รับ precipitate B (PB) ขนาดสารทดสอบ กลุ่ม 4 และ 5 คือ 0.10, 1.07 และ 0.82 g/kg/วันเป็นเวลา 7 วัน ผลการทดลองพบว่าสารสกัดเอทานอลของจันทน์แดง มีฤทธิ์ในการยับยั้งการเกิดก้อนลิ่มเลือด (thrombosis) (p < 0.05), ยับยั้งการเกาะกลุ่มกันของเกล็ดเลือด (p < 0.01) และมีฤทธิ์ต้านการแข็งตัวของเลือด (p < 0.05–0.01) ที่ดีกว่า precipitate B (PB) fraction อย่างมีนัยสำคัญ(Xin, et al., 2011)
ฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย
ฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย Staphylococcus aureus, Diphtheria bacilli และ Bacillus anthracis พบว่าสารสกัดที่ความเข้มข้น 0.25 มิลลิกรัม/มิลลิลิตรสามารถยับยั้งเชื้อได้ และเมื่อเพิ่มความเข้มข้นจนถึง 50mg/ml จะสามารถยับยั้งเชื้อแบคทีเรียCandida albicans และ Cryptococcus neoformansได้ นอกจากนี้ยังพบฤทธิ์ต่อการยับยั้งเชื้อ Staphylococcus aureus, S. lemon, S. diphtheria มีค่า MIC50 เท่ากับ 3.12 mg/kgและฤทธิ์ต่อการยับยังเชื้อ Escherichia coli, Salmonella typhi, Pseudomonas aeruginosa, Nessler cocci และShigella flexneri โดยมีค่า MICน้อยกว่า 50 mg/kg นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าสารฟลาโวนอยด์ที่แยกได้ คือ 6,7- และ (2S)-4',7-dihydroxy-8-methylflavan ออกฤทธิ์แรงในการยับยั้งเชื้อ H. pylori โดยมีค่า MIC เท่ากับ 29.5, 29.5 และ 31.3 μM ตามลำดับ สาร Pterostilbene มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อราหลายชนิด ได้แก่ Trichophyton rubrum, T. mentogrophtes, Candida albican, C. parapsilosis, Cryptococcus neoformans และ Aspergrillus fumigates (Fan, et al., 2014)
การศึกษาทางคลินิก:
ไม่มีข้อมูล
การศึกษาทางพิษวิทยา:
การทดสอบพิษเฉียบพลันของสารสกัดเนื้อไม้ด้วยเอทานอล 50% โดยให้หนูกินในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม (คิดเป็น 1,111 เท่า เปรียบเทียบกับขนาดรักษาในคน) และให้โดยการฉีดเข้าใต้ผิวหนังหนู ในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ตรวจไม่พบอาการเป็นพิษ (กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, 2546)
การศึกษาความเป็นพิษต่อเซลล์ในระยะยาวของจันทน์แดง โดยการให้สารสกัดจันทน์แดงในขนาด 3 กรัม/กิโลกรัม และ 1.5 กรัม/กิโลกรัม วันละครั้ง ในกระต่าย เป็นเวลา 90 วัน ผลการทดลองพบว่าสารสกัดจันทน์แดงไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของพยาธิสภาพ เช่น จำนวน erythrocytes, leukocytes, เอนไซม์ alanine aminotransferase (ALT), urea nitrogen และน้ำหนักตัวในสัตว์ทดลอง ไม่มีการทำลายไตหรือตับ ส่วนการศึกษาพยาธิโดยใช้กล้องจุลทรรศน์ พบเพียงการขยายตัวของหลอดเลือดขนาดเล็กบริเวณกล้ามเนื้อหัวใจ (Fan, et al., 2014)
เอกสารอ้างอิง:
1. กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. 2546. ประมวลผลงานวิจัยด้านพิษวิทยา ของสถาบันวิจัยสมุนไพร เล่ม 1.โรงพิมพ์การศาสนา:กรุงเทพมหานคร.
2. Fan J-Y, Yi T, Sze-To C-M, Zhu L, Peng W-L, Zhang Y-Z, et al. A systematic review of the botanical, phytochemical and pharmacological profile of Dracaena cochinchinensis, a plant source of the ethnomedicine “Dragon’s Blood”. Molecules. 2014;19:10650-10669.
3. Liu H, Lin S, Xiao D, Zheng X, Gu Y, Guo S. Evaluation of the wound healing potential of resina draconis (Dracaena cochinchinensis) in animal models. Evidence-Based Complementary and Alternative Medicine. 2013;page 1-10.
4. Xin N, Li Y-J, Li Y, Dai R-J, Meng W-W, Chen Y, et al. Dragon's Blood extract has antithrombotic properties, affecting platelet aggregation functions and anticoagulation activities. J Ethnopharmacology. 2011;135:510-514.
ค้นหาข้อมูลพืชที่ให้เครื่องยา : phar.ubu.ac.th/herb-phargarden/
ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง : phar.ubu.ac.th/herb-thaiherbarium/
ข้อมูลตำรับยาเขียวหอม : phar.ubu.ac.th/herb-thairemedy/