กะดอม

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

กะดอม

ชื่อเครื่องยา กะดอม
ชื่ออื่นๆของเครื่องยา ลูกกะดอม
ได้จาก ผลอ่อนกะดอม
ชื่อพืชที่ให้เครื่องยา กะดอม
ชื่ออื่น (ของพืชที่ให้เครื่องยา) ขี้กาดง ขี้กาน้อย(สระบุรี) ขี้กาเหลี่ยม (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ขี้กาลาย (นครราชสีมา) ผักแคบป่า (น่าน) มะนอยจา (ภาคเหนือ) มะนอยหก มะนอยหกฟ้า (แม่ฮ่องสอน) ผักขาว (เชียงใหม่) ดอม (นครศรีธรรมราช)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Gymnopetalum chinensis (Lour.) Merr.
ชื่อพ้อง Bryonia cochinchinensis Lour., Cucumis tubiflorus Roxb. ex Wight & Arn., Euonymus chinensis Lour., Gymnopetalum chinensis (Lour.) Merr., Gymnopetalum cochinchinense (Lour.) Kurz, Gymnopetalum cochinchinense var. incisa Gagnep., Gymnopetalum cochinchinensis (Lour.) Kurz, Gymnopetalum heterophyllum Kurz, Gymnopetalum quinquelobatum Merr., Gymnopetalum quinquelobum Miq., Momordica tubiflora Roxb., Tripodanthera cochinchinensis (Lour.) M. Roem.
ชื่อวงศ์ Cucurbitaceae

ลักษณะภายนอกของเครื่องยา:
           ผลอ่อนแห้งสีน้ำตาล มีลักษณะภายนอกเป็นผลรูปคล้ายกระสวยหรือรูปรี แหลมหัวท้าย ยาวประมาณ 6 มิลลิเมตร เส้นรอบวง 5-7 เซนติเมตร ผิวสาก มีสัน 10 สัน มีเนื้อสีน้ำตาล เมล็ดรูปรี ยาวประมาณ 6 มิลลิเมตร มีจำนวนมาก เป็นริ้ว ๆ สีน้ำตาลไหม้ มีกลิ่นฉุน

 

เครื่องยา ลูกกระดอม

 

เครื่องยา ลูกกระดอม

 

ลักษณะทางกายภาพและเคมีที่ดี:
            ปริมาณความชื้น ไม่เกิน 9.0% w/w ปริมาณเถ้ารวม ไม่เกิน 11.0% w/w   ปริมาณเถ้าที่ไม่ละลายในกรด ไม่เกิน 1.0% w/w ปริมาณสารสกัด ethanol ไม่ต่ำกว่า 11.0% w/w  ปริมาณสารสกัดน้ำ ไม่ต่ำกว่า 26.0% w/w (Department of Medical Sciences, 2018)

 

สรรพคุณ:       

           ตำรายาไทย: น้ำต้ม เมล็ด รับประมานเป็นยาลดไข้ แก้พิษสำแลง เป็นยาถอนพิษจากการกินผลไม้ที่เป็นพิษบางชนิด ถอนพิษจากพืชพิษ ขับน้ำลาย ช่วยย่อยอาหาร ขับน้ำดี บำรุงธาตุ รักษาโรคในการแท้งลูก  ผล บำรุงน้ำดี ผลอ่อน รสขม บำรุงน้ำดี แก้ดีแห้ง ดีฝ่อ คลั่งเพ้อ คุ้มดีคุ้มร้าย เจริญอาหาร แก้สะอึก ดับพิษโลหิต บำรุงมดลูก แก้ไข้ รักษามดลูกหลังการแท้ง หรือการคลอดบุตร แก้มดลูกอักเสบ ถอนพิษผิดสำแดง ต้มน้ำดื่ม บำรุงโลหิต ทั้งห้าส่วน (ราก ลำต้น ใบ ดอก ผล)บำรุงธาตุ เจริญอาหาร ถอนพิษผิดสำแดง แก้ไข้กลับไข้ซ้ำ รักษามดลูกหลังจากการคลอดบุตร เจริญอาหาร บำรุงน้ำดี บำรุงน้ำนม แก้ไข้ แก้ไข้จับสั่น ดับพิษร้อน
           ตำรายาพื้นบ้านอีสาน: ใช้ ผล ต้มน้ำดื่ม บำรุงโลหิต เป็นส่วนประกอบในตำรับยาหอมนวโกฐ, ยาหอมอินทจักร์ และตำรับยาแก้ไข้จันทน์ลีลา

ข้อควรระวัง:
           ผลอ่อนกินได้ ผลแก่และผลสุกมีพิษห้ามรับประทาน


รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา:
           แก้ไข้ ใช้ผลแห้งครั้งละ 15-16 ผล หรือหนักประมาณ 10 กรัม ต้มกับน้ำพอประมาณ เคี่ยวให้เหลือ 1 ใน 3 เอาน้ำดื่ม ก่อนอาหารเช้า และเย็น หรือเวลามีอาการ

องค์ประกอบทางเคมี:
           สารขม: cucurbitane monodesmodidic diglyceride
           สารกลุ่มอื่นๆ: neolignan, nucleic acids, terpenoids, cerebroside, fatty acids และสารกลุ่ม phenolic

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:
           ยับยั้งการจับตัวของเกล็ดเลือด ทำให้กล้ามเนื้อเรียบหดตัว

การศึกษาทางพิษวิทยา:
           เมื่อฉีดเข้าใต้ผิวหนัง หรือป้อนสารสกัดผลแห้งด้วยแอลกอฮอล์:น้ำ (1:1) ในขนาด 10 กรัม/กิโลกรัม แก่หนูถีบจักร ไม่พบพิษ

 

เอกสารอ้างอิง:

Department of Medical Sciences, Ministry of Public Health, Thailand. 2018. Thai Herbal Compendium on physico-chemical specifications volume II. MiraCulous Company Limited:Pathumtani.

จำนวนครั้งที่มีการอ้างอิงหน้าเว็บไซต์นี้: 73
เกี่ยวกับระบบ:

ระบบนี้ถูกพัฒนาต่อยอดมาจาก ระบบฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐาน โดยผู้พัฒนาได้ดำเนินการสร้างหน้า UX/UI ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เป็นรูปแบบเดียวกันกับเว็บไซต์ของคณะเภสัชศาสตร์ มอบ. แต่ยังคงใช้ฐานข้อมูล Database ของฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐานเดิมอยู่