ชุมเห็ดไทย

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

ชุมเห็ดไทย

ชื่อเครื่องยา ชุมเห็ดไทย
ชื่ออื่นๆของเครื่องยา
ได้จาก เมล็ด
ชื่อพืชที่ให้เครื่องยา ชุมเห็ดไทย
ชื่ออื่น (ของพืชที่ให้เครื่องยา) ชุมเห็ดเขาควาย ชุมเห็ดควาย ชุมเห็ดเล็ก ชุมเห็ดนา พรมดาน ลับมืนน้อย เล็บหมื่นน้อย หญ้าลักลืน เล็นเค็ด
ชื่อวิทยาศาสตร์ Cassia tora L.
ชื่อพ้อง Senna tora
ชื่อวงศ์ Leguminosae-Caesalpinoideae

ลักษณะภายนอกของเครื่องยา:
           ใน1 ฝัก มีประมาณ 20-30 เมล็ด เมล็ดผิวเรียบ เงาเป็นมัน ผิวเมล็ดสีน้ำตาลเหลือง เมล็ดแข็ง แบน หน้าตัดเฉียงเป็นรูปร่างสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน มองเห็นเหมือนเป็นจงอยที่ด้านหนึ่งของเมล็ด ขนาดกว้างประมาณ 2-3 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 3-6 มิลลิเมตร มีกลิ่นเฉพาะตัว รสชาติขมเมา หอมเล็กน้อย

 

เครื่องยา ชุมเห็ดไทย

 

เครื่องยา ชุมเห็ดไทย

 

เครื่องยา ชุมเห็ดไทย

 


ลักษณะทางกายภาพและเคมีที่ดี:
           ความชื้นไม่เกิน 12% w/w  สิ่งแปลกปลอม ไม่เกิน 2% w/w  ปริมาณเถ้ารวมไม่เกิน 6% w/w  ปริมาณเถ้าที่ไม่ละลายในกรดไม่เกิน 0.2% และปริมาณสารสกัด แอลกอฮอล์ และน้ำ ไม่ต่ำกว่า 8 และ 20% w/w  ตามลำดับ (THPIII)

สรรพคุณ:
           ตำรายาไทย: เมล็ด รสขมเมา เป็นยาระบายอ่อนๆ ขับอุจจาระ รู้ถ่ายรู้ปิดเอง แก้ไอ รักษาโรคผิวหนัง บำรุงประสาท เป็นยาระงับประสาท แก้นอนไม่หลับ แก้กระษัย แก้ตาแดง ตามัว แก้ตับอักเสบ ตับแข็ง บำรุงกำลัง ลดความดันเลือดชั่วคราว บดผสมน้ำมันพืชทาแก้หิด กลากเกลื้อน     ใช้เมล็ด คั่วชงน้ำดื่ม บำรุงหัวใจ ทำให้ชุ่มชื่น ทำให้หลับสบาย ขับปัสสาวะ แต่ห้ามใช้นานๆเพราะจะทำให้ตามัว  ทั้งต้น มีรสเมา แก้ไข้ ขับพยาธิในท้อง แก้ไข้หวัด กล่อมตับ ทำให้ตาสว่าง

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา:
           1.ใช้เป็นยาระบาย แก้อาการท้องผูก
                  เมล็ดแก่แห้ง คั่วจนเหลือง ขนาด 10-13 กรัมต่อวัน (2-2.5 ช้อนคาว) ต้มเอาน้ำดื่ม
           2. ขับปัสสาวะ
                  ใช้เมล็ดแห้งคั่ววันละ 5-15 กรัม (1-3 ช้อนคาว) ต้มกับน้ำ 1 ลิตร ต้มให้เหลือ 600 มิลลิลิตร แบ่งรับประทานวันละ 3 เวลา หลังอาหาร

องค์ประกอบทางเคมี:
           เมล็ดประกอบด้วยสารกลุ่ม anthraquinone glycoside เช่น emodin aloe-emodin chrysophanol chrysophanic acid-9-anthrone physicone rhein alaternin cassiaside  rubrofusarin-gentiobioside aurantio-obtusin, obtusin 1-desmethylaurantio-obtusin, chryso-obtusin 1-desmethylchryso-obtusin เมล็ดให้สีน้ำเงินใช้ย้อมผ้า

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:
           การทดสอบในสัตว์ทดลอง พบว่าน้ำสกัดของเมล็ดมีฤทธิ์ขับปัสสาวะ และบีบมดลูก สารสกัดเบนซีน มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อราที่ทำให้เกิดโรคผิวหนังในหลอดทดลอง
           สารสกัดน้ำจากเมล็ด เสริมฤทธิ์ของยานอนหลับ และทำให้สัตว์ทดลองง่วงนอน
           สารสกัดน้ำ หรือแอลกอฮอล์จากเมล็ด มีฤทธิ์ลดความดันโลหิตของสุนัข แมว และกระต่ายที่ทำให้สลบ
           สารสกัดเอทานอลจากเมล็ด ลดระดับ total cholesterol ได้ 42.07% และเพิ่มระดับ HDL ได้ 6.72% ลดระดับไตรกลีเซอไรด์ได้ 26.84% และลดระดับ LDL ได้ 69.25% (Journal of Ethnopharmacology 90 (2004) 249–252)

การศึกษาทางคลินิก:
           ไม่มีข้อมูล
    
การศึกษาทางพิษวิทยา:
           การใช้ในขนาดสูงเกินไปอาจทำให้เกิดไตอักเสบ ควรระมัดระวังการใช้ในเด็ก สตรีตั้งครรภ์ และผู้ป่วยโรคลำไส้อักเสบ (inflammatory bowel diseases)
           รายงานจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบว่าไม่มีพิษเฉียบพลัน

จำนวนครั้งที่มีการอ้างอิงหน้าเว็บไซต์นี้: 6
เกี่ยวกับระบบ:

ระบบนี้ถูกพัฒนาต่อยอดมาจาก ระบบฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐาน โดยผู้พัฒนาได้ดำเนินการสร้างหน้า UX/UI ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เป็นรูปแบบเดียวกันกับเว็บไซต์ของคณะเภสัชศาสตร์ มอบ. แต่ยังคงใช้ฐานข้อมูล Database ของฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐานเดิมอยู่