เทียนเกล็ดหอย

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

เทียนเกล็ดหอย

ชื่อเครื่องยา เทียนเกล็ดหอย
ชื่ออื่นๆของเครื่องยา
ได้จาก เมล็ดแก่แห้ง
ชื่อพืชที่ให้เครื่องยา เทียนเกล็ดหอย (Ispaghula seed)
ชื่ออื่น (ของพืชที่ให้เครื่องยา)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Plantago ovata Forssk.
ชื่อพ้อง P. ispaghula
ชื่อวงศ์ Plantaginaceae

ลักษณะภายนอกของเครื่องยา:
           เมล็ดรูปไข่หรือรูปรี แบนคล้ายเรือ ลักษณะด้านนอกนูนด้านในเว้า ผิวมัน ลื่น เรียบไม่มีขน มีสีน้ำตาล หรือน้ำตาลอมชมพู ขนาดกว้าง 1.1-1.7 มิลลิเมตร ยาว 2.2 -3.1 มิลลิเมตร เปลือกเมล็ดจะพองตัวมีลักษณะเป็นเมือกเมื่อถูกความชื้น เป็นผงสีน้ำตาลอ่อนหรือน้ำตาลอมชมพู มีรสร้อน ขม หอม เมื่อถูกน้ำจะพองตัวมีลักษณะเป็นเมือก เหมือนเมล็ดแมงลัก

 

เครื่องยา เทียนเกล็ดหอย

 

เครื่องยา เทียนเกล็ดหอย

 

ลักษณะวิสัย ต้นเทียนเกล็ดหอย (Plantago sp.)

 

ดอก และ ใบ

 


ลักษณะทางกายภาพและเคมีที่ดี:
           ความชื้นไม่เกิน 12% v/w  ปริมาณสิ่งแปลกปลอมไม่เกิน 3% w/w  ปริมาณเถ้ารวมไม่เกิน 3% w/w  ปริมาณเถ้าที่ไม่ละลายในกรด ไม่เกิน 1% w/w  ดัชนีการพองตัว (swelling index) ไม่น้อยกว่า 9 (Thai Herbal Pharmacopoeia III)

สรรพคุณ:
           ตำรายาไทย: ใช้แก้ลมวิงเวียน แก้หน้ามืดตาลาย แก้โลหิตจาง บำรุงโลหิต แก้เลือดเดินไม่สะดวกที่ทำให้ปลายมือปลายเท้าเย็น แก้ลมขึ้นเบื้องสูง แก้บิดเรื้อรัง บำรุงกำลังและเส้นเอ็น แก้คลื่นเหียน ขับเสมหะ บำรุงเลือด เป็นยาระบายชนิดเพิ่มกากอาหาร
           บัญชียาจากสมุนไพร: ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศ คณะกรรมการแห่งชาติด้านยา (ฉบับที่ 5)    ปรากฏการใช้เมล็ดเทียนเกล็ดหอย ในยารักษากลุ่มอาการทางระบบไหลเวียนโลหิต (แก้ลม) ปรากฏตำรับ”ยาหอมเทพจิตร” และตำรับ ”ยาหอมนวโกฐ” มีส่วนประกอบของเทียนเกล็ดหอย อยู่ในพิกัดเทียนทั้ง 9 ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณในการแก้ลมวิงเวียน แก้อาการหน้ามืด ตาลาย ใจสั่น คลื่นเหียน อาเจียน แก้ลมจุกแน่นในท้อง
           เทียนเกล็ดหอย เป็นสมุนไพรที่มีการนำมาใช้ในตำรับยาแผนโบราณของไทยหลายตำรับ มีแหล่งกำเนิด แถบทวีปอเมริกาเหนือ ประเทศนิวซีแลนด์ ปัจจุบันแพร่หลายไปทั่วโลก และได้มีการนำมาใช้ในเครื่องยาไทย ที่เรียกว่า “พิกัดเทียน
           เครื่องยาพิกัดเทียน เทียนเกล็ดหอย จัดอยู่ใน “พิกัดเทียน”  ที่ประกอบด้วย“พิกัดเทียนทั้ง 5” ได้แก่ เทียนดำ เทียนแดง เทียนขาว เทียนข้าวเปลือก และเทียนตาตั๊กแตน “พิกัดเทียนทั้ง 7” (มีเทียนเยาวพาณี และเทียนสัตตบุษย์ เพิ่มเข้ามา) “พิกัดเทียนทั้ง 9” (มีเทียนตากบ และเทียนเกล็ดหอย เพิ่มเข้ามา) สรรพคุณโดยรวม ของยาที่ใช้ในพิกัดเทียน คือ ช่วยขับลม แก้อาเจียน บำรุงโลหิต และใช้ในตำรับยาหอม

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา:
           ผู้ใหญ่ ครั้งละ 5-10 กรัม วันละ 3 ครั้ง
           เด็ก ครั้งละ 3 กรัม วันละ 3 ครั้ง  โดยแช่ในน้ำอุ่น ให้เมล็ดพองตัวเต็มที่ก่อนรับประทาน

องค์ประกอบทางเคมี:
           สารเมือก(mucilage): 20-30% ประกอบด้วยน้ำตาลเชิงซ้อนที่มีน้ำตาลเชิงเดี่ยวหลายชนิด(galactose, glucose, xylose, arabinose, rhamnose, galacturonic acid, plantiobiose, sucrose, fructose) ส่วนใหญ่เป็น arabinoxylan กรดไขมันหลายชนิด: palmitic acid, stearic acid, linoleic acid, oleic acid
           สารกลุ่มอื่นๆ: total fiber 85 %, soluble fiber 67-71%, ?-sitosterol, aucubin (irridoid), indicaine (alkaloid)    

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:
           ฤทธิ์ต่อระบบทางเดินอาหาร: เทียนเกล็ดหอยเป็นยาระบายแบบเพิ่มกาก และต้านการอักเสบของลำไส้หนู
           ฤทธิ์ลดไขมันในเลือด: เทียนเกล็ดหอยมีฤทธิ์ลดไขมันทั้งชนิดคอเลสเตอรอลและไตรกลีเอไรด์ในเลือดสัตว์ทดลอง
           ฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด: เปลือกเทียนเกล็ดหอยมีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดหนู
           ฤทธิ์ต่อระบบเลือด: เปลือกเทียนเกล็ดหอยมีฤทธิ์ลดความดันโลหิตในหนู

การศึกษาทางคลินิก:
           กรณีผู้ป่วยที่มีระดับไขมันในเลือดสูง: เทียนเกล็ดหอยเป็น non-systemic cholesterol lowering agent ที่มีข้อมูลทางคลินิกสนับสนุน โดยสามารถลดได้ทั้งคอเลสเตอรอลรวม, LDLและLDL/HDL ratio ลดลงได้อย่างมีนัยสำคัญในเวลา 8สัปดาห์
           กรณีผู้ป่วยท้องผูกเรื้อรัง: เทียนเกล็ดหอยใช้รักษาผู้ป่วยที่มีอาการท้องผูกเรื้อรัง ผู้ป่วยโรค irritable bowel syndrome (IBS) และผู้ป่วยโรคริดสีดวงทวาร
           กรณีผู้ป่วยท้องเสีย: เทียนเกล็ดหอยใช้รักษาผุ้ป่วยที่มีอาการท้องเสีย โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ให้อาหารทางสาย เทียนเกล็ดหอยจะช่วยลดอาการท้องเสียและอุจจาระที่เป็นไขมัน
           กรณีผู้ป่วยเบาหวาน : การรับประทานเทียนเกล็ดหอยก่อนอาหารจะช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ทั้งผุ้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 (ต้องพึ่งอินซูลิน) และแบบที่ 2 (ไม่ต้องพึ่งอินซูลิน)
           กรณีผู้ป่วยหัวใจขาดเลือด : การรับประทานเทียนเกล็ดหอยจะช่วยลดระดับไขมันในเลือดผู้ป่วยหัวใจขาดเลือดได้
           กรณีผู้ป่วยริดสีดวงทวาร : การรับประทานเทียนเกล็ดหอยจะช่วยผู้ป่วยริดสีดวงทวารที่ได้รับการผ่าตัด ทำให้อาการปวด และระยะเวลาอยู่โรงพยาบาลลดลง
           กรณีผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ : การออกกำลัง และการรับประทานเทียนเกล็ดหอยร่วมด้วย จะช่วยลดความเสี่ยงการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่  (นพมาศ และนงลักษณ์, 2551)

การศึกษาทางพิษวิทยา:
           ไม่มีข้อมูล

ข้อห้ามใช้:
           ห้ามใช้ในผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของทางเดินอาหาร เช่น การบีบตัวผิดปกติ หรือมีการผ่าตัดทางเดินอาหาร ผู้ป่วยลำไส้อุดตัน

จำนวนครั้งที่มีการอ้างอิงหน้าเว็บไซต์นี้: 84
เกี่ยวกับระบบ:

ระบบนี้ถูกพัฒนาต่อยอดมาจาก ระบบฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐาน โดยผู้พัฒนาได้ดำเนินการสร้างหน้า UX/UI ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เป็นรูปแบบเดียวกันกับเว็บไซต์ของคณะเภสัชศาสตร์ มอบ. แต่ยังคงใช้ฐานข้อมูล Database ของฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐานเดิมอยู่