เทียนแดง

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

เทียนแดง

ชื่อเครื่องยา เทียนแดง
ชื่ออื่นๆของเครื่องยา
ได้จาก เมล็ด
ชื่อพืชที่ให้เครื่องยา เทียนแดง
ชื่ออื่น (ของพืชที่ให้เครื่องยา)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Lepidium sativum L.
ชื่อพ้อง Arabis chinensis Rottler ex Wight, Cardamon sativum (L.) Fourr., Crucifera nasturtium E.H.L.Krause, Lepia sativa (L.) Desv., Lepidium hortense Forssk., Lepidium spinescens DC., Nasturtium crispum Medik., Nasturtium sativum (L.) Moench, Nasturtium spinescens (DC.) Kuntze, Thlaspi sativum (L.) Crantz, Thlaspidium sativum (L.) Spach
ชื่อวงศ์ Cruciferae

ลักษณะภายนอกของเครื่องยา:
           เมล็ดแก่แห้ง มีสีน้ำตาลแดง หรือแดงอมน้ำตาล ขนาดเล็ก กว้าง 1-1.4 มิลลิเมตร ยาว 2.5-2.8 มิลลิเมตร รูปไข่ ผิวมันลื่น เรียบไม่มีขน ปลายข้างที่เรียบมีลักษณะเป็นร่องตามแนวยาวสั้นๆ เปลือกเมล็ดจะพองตัวเมื่อถูกความชื้น  เมล็ด มีรสชาติเผ็ดร้อน ขมเล็กน้อย มีกลิ่นหอมหอม

 

เครื่องยา เทียนแดง

 

เครื่องยา เทียนแดง

 

เครื่องยา เทียนแดง

 


ลักษณะทางกายภาพและเคมีที่ดี:
           ปริมาณความชื้นไม่เกิน 10% w/w  ปริมาณสิ่งแปลกปลอมไม่เกิน 2% w/w  ปริมาณเถ้ารวมไม่เกิน 6% w/w  ปริมาณเถ้าที่ไม่ละลายในกรดไม่เกิน 0.4% w/w ปริมาณสารสกัดเอทานอล ไม่น้อยกว่า 15% w/w  ปริมาณน้ำมันระเหยง่าย (volatile oil) ไม่น้อยกว่า 0.15% w/w  ดัชนีการพองตัว (swelling index) ไม่ต่ำกว่า 20 (THP III)

สรรพคุณ:
           การใช้แบบพื้นบ้านของไทย: เมล็ด ใช้แก้เสมหะ แก้ลม แก้น้ำดีพิการ แก้คลื่นเหียนอาเจียน แก้ลมเสียดแทงสองราวข้าง  ขับน้ำนม  แก้ลักปิดลักเปิด ฟอกโลหิต
           ในตำรายาไทย: มีการใช้เมล็ดเทียนแดง ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ปรากฏการใช้ในบัญชียาจากสมุนไพร ตามประกาศ คณะกรรมการแห่งชาติด้านยา ในการรักษาอาการโรคในระบบต่างๆของร่างกาย หลายกลุ่มอาการคือ
                   1.ยารักษากลุ่มอาการทางระบบไหลเวียนโลหิต (แก้ลม) ปรากฏตำรับ”ยาหอมเทพจิตร” และตำรับ ”ยาหอมนวโกฐ” มีส่วนประกอบของเทียนแดง อยู่ในพิกัดเทียนทั้ง 9 ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณในการแก้ลมวิงเวียน แก้อาการหน้ามืด ตาลาย ใจสั่น คลื่นเหียน อาเจียน แก้ลมจุกแน่นในท้อง
                   2.ยารักษากลุ่มอาการทางระบบทางเดินอาหาร ปรากฏตำรับ “ยาธาตุบรรจบ” มีส่วนประกอบของ เทียนแดง เทียนดำ เทียนขาว เทียนสัตตบุษย์ และเทียนเยาวพาณี ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณ บรรเทาอาการท้องอืดเฟ้อ  อาการอุจจาระธาตุพิการ ท้องเสียที่ไม่เกิดจากการติดเชื้อ
           ตำรายาไทยมีการนำมาสมุนไพรมาเข้าใน “พิกัดยาไทย” คือ การจำกัดจำนวนตัวยาหลายสิ่งหลายอย่าง นำมารวมกันเข้าเป็นหมวด โดยมีน้ำหนักของตัวยาในพิกัดนั้นเท่ากัน เทียนแดงจัดอยู่ใน “พิกัดเทียน”  ที่ประกอบด้วย“พิกัดเทียนทั้ง 5” ได้แก่ เทียนดำ เทียนแดง เทียนขาว เทียนข้าวเปลือก และเทียนตาตั๊กแตน “พิกัดเทียนทั้ง 7” (มีเทียนเยาวพาณี และเทียนสัตตบุษย์ เพิ่มเข้ามา) “พิกัดเทียนทั้ง 9” (มีเทียนตากบ และเทียนเกล็ดหอย เพิ่มเข้ามา) สรรพคุณโดยรวม ของยาที่ใช้ในพิกัดเทียน คือ ช่วยขับลม แก้อาเจียน บำรุงโลหิต และใช้ในตำรับยาหอม
           ถึงแม้ว่าเทียนแดงเป็นสมุนไพรที่มีการนำมาใช้ในตำรับยาแผนโบราณของไทยหลายตำรับ แต่เทียนแดง เป็นสมุนไพรที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ เนื่องจากเป็นพืชพื้นเมืองของประเทศเอธิโอเปีย และมีการปลูกมากที่ประเทศอินเดีย
           ในแถบอินเดีย จะใช้ทั้งใบ ราก และเมล็ดเพื่อเป็นยา  ในทางยาพื้นบ้าน แถบอินเดีย และโมรอคโค ใช้เมล็ดในการรักษาหอบหืด โรคผิวหนัง โรคเบาหวาน และช่วยขับน้ำนม ในหญิงให้นมบุตร

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา:
           ยาผง ขนาด 3-6 กรัม  

องค์ประกอบทางเคมี:
           ส่วนเมล็ดพบน้ำมันระเหยยาก ประมาณ 23%  โดยมีกรดไขมันชนิดแอลฟา ไลโนเลอิก (ALA) คิดเป็น 34% ของกรดไขมันทั้งหมด วิตามินซี 37% นอกจากนี้ยังพบสารเมือก (mucilage) และเลคติน (lectin) เป็นองค์ประกอบของเมล็ดด้วย สารสำคัญที่พบแยกตามกลุ่มสารดังนี้
           Imidazole alkaloid เช่น lepidine B, lepidine C, lepidine D, lepidine E, lepidine F, semilepidinoside A, semilepidinoside B        Glucosinolate พบประมาณ 1.2% ในส่วนประกอบของน้ำมันระเหยง่าย จากใบ และเมล็ด เช่น N,N-dibenzylurea N,N-dibenzylthiourea, benzylthiocyanate, benzylisothiocyanate, benzylcyanide, sinapic acid ethyl ester

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:
          ฤทธิ์ระบาย เพิ่มการขับเคลื่อนอาหารผ่านลำไส้

          การศึกษาพบว่าสารสกัดด้วย 70% เมทานอล จากเมล็ดเทียนแดงที่ความเข้มข้น 30 และ 100 mg/kg สามารถทำให้อุจจาระของหนู mice เปียกและนุ่มลง คิดเป็น 53.8±9.2% และ 63.2±5.3% ตามลำดับ ในขณะที่สารมาตรฐาน carbamylcholine (CCh )ขนาด 1 mg/kgทำให้อุจจาระเปียก 73.6±6.8% และในขณะเดียวกันพบว่าสารสกัดของเทียนแดงมีผลต่อการเพิ่มการขับเคลื่อนอาหารผ่านลำไส้เล็ก โดยการทดสอบกับอาหารที่ผสม charcoal ป้อนให้หนูเม้าส์ หลังจากนั้น 30 นาที นำลำไส้หนูมาตรวจสอบ พบว่าสารสกัดในขนาด 30 และ 100 mg/kg, สารมาตรฐาน CCh 1 mg/kg, และ negative contol ด้วย salineมีผลเพิ่มการขับเคลื่อนของอาหารผ่านลำไส้เล็กได้เท่ากับ 73.9±1.8% (p < 0.01), 86.7±2.8% (p < 0.001), 96.3±2.9% และ 57.1±2.6% ของความยาวลำไส้เล็ก ตามลำดับ การเพิ่มความสามารถในการเคลื่อนที่ของลำไส้ได้มากขึ้น ทำให้อาหารไม่ตกค้าง ลดอาการคลื่นไส้อาเจียน หรือท้องอืดเฟ้อ (Rehmana, et al., 2011)

          ฤทธิ์ลดความดันโลหิต 

          สารสกัดเมล็ดด้วยน้ำ เมื่อให้หนูที่มีความดันโลหิตสูงกิน ในขนาด 20 มิลลิกรัม ต่อกิโลกรัม เป็นเวลา 3 สัปดาห์ มีผลลดความดันได้ในวันที่ 7 ของการได้รับสารสกัด โดยไม่มีผลต่ออัตราการเต้นของหัวใจ และไม่มีฤทธิ์ขับปัสสาวะ แต่ในหนูปกติจะเพิ่มการขับปัสสาวะ  (Maghrani, et al., 2005)

          ฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด

          สารสกัดเมล็ดด้วยน้ำ เมื่อให้หนูกิน ขนาดสูงครั้งเดียว หรือให้ต่อเนื่องกันเป็นเวลา 15 วัน สามารถลดระดับน้ำตาลในหนูเบาหวาน และหนูปกติ โดยไม่ทำให้ระดับอินซูลินในเลือดเปลี่ยนแปลง และทำให้น้ำหนักตัวหนูลดลง (Eddouks, et al., 2005)

          ฤทธิ์ลดคลอเรสเตอรอล

          การให้น้ำมันจากเมล็ด ในขนาด 10% แก่หนู เป็นเวลา 8 สัปดาห์ พบว่าลดระดับคลอเรสเตอรอลที่ตับได้ 12.3% ลดระดับไตรกลีเซอไรด์ได้ 40.4% ลดระดับ LDL 9.45% แต่ระดับ HDL ไม่เปลี่ยนแปลง น้ำหนักตัว และน้ำหนักของอวัยวะ ไม่มีการเปลี่ยนแปลง    ระดับ ALA, EPA, DHA ในตับ และซีรัมเพิ่มขึ้น (Diwakar, et al., 2008)

          ฤทธิ์ขยายหลอดลม

          สารสกัดบิวทานอลจากเมล็ด เมื่อให้หนูที่ถูกเหนี่ยวนำให้หลอดลมหดตัว ด้วยสารฮีสตามีน และอะเซทิลโคลีน พบว่าสามารถป้องกันหลอดลมหดตัวได้ เมื่อเปรียบเทียบกับยามาตรฐาน ketotifen (1 มก./กก.) และ atropine sulphate (2 มก./กก.) (Mali, et al., 2008)


การศึกษาทางคลินิก:
           ไม่มีข้อมูล

การศึกษาทางพิษวิทยา:
           สารสกัดผลแห้งด้วย 50% เอทานอล ขนาด 10 กรัม/กิโลกรัม ไม่มีพิษไม่ว่าจะให้หนูถีบจักรกิน หรือฉีดเข้าใต้ผิวหนัง และสารสกัดเมล็ดด้วย 95% เอทานอล ไม่มีพิษ เมื่อให้หนูถีบจักรกินขนาด 3 กรัม/กิโลกรัม ครั้งเดียว หรือให้กินขนาด 100 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/วัน ทุกวันติดต่อกัน เป็นเวลา 90 วัน  (นันทวัน และอรนุช, 2541)
           เทียนแดงมีส่วนประกอบของ mustard oil  การกินในขนาดสูงเกินไป อาจทำให้เกิดการระคายเคืองกระเพาะอาหาร ทำให้เนื้อเยื่ออักเสบได้ (Duke, et al., 2002)

 

เอกสารอ้างอิง:

1. นันทวัน บุณยะประภัศร, อรนุช โชคชัยเจริญพร. สมุนไพรไม้พื้นบ้าน 2. บริษัท ประชาชน จำกัด:กรุงเทพมหานคร, 2541.

2. Diwakar BT, Duttaa PK, Lokesh BR, Naidu KA.Bio-availability and metabolism of n-3 fatty acid rich garden cress (Lepidium sativum) seed oil in albino rats. Prostaglandins, Leukotrienes and Essential Fatty Acids 2008:78; 123–130.

3. Duke JA, Bogenschutz-Godwin MJ, duCellier J, Duke P-A. Handbook of Medicinal  Herbs. 2nd. CRC Press: Washinton D.C., 2002.

4. Eddouks M, Maghrani M, Zeggwagh N-A, Michel JB.Study of the hypoglycaemic activity of Lepidium sativum L. aqueous extract in normal and diabetic rats.J  Ethnopharmacology  2005:97;391-395.

5. Maghrani M, Zeggwagh N-A, Michel J-B, Eddouks M. Antihypertensive effect of Lepidium sativum L. in spontaneously hypertensive rats. J  Ethnopharmacology  2005:100;193–197.

6. Mali RG, Shailaja G. Mehta AA, Mehta MA. Studies on bronchodilatory effect of Lepidium sativum against allergen induced bronchospasm in guinea pig.Phcog Mag 2008:4(15);189-192.

7. Rehmana N, Mehmooda MH, Alkharfy KM, Gilania A-H.Prokinetic and laxative activities of Lepidium sativumseed extract with speciesand tissue selective gut stimulatory actions. J Ethnopharmacology. 2011;134:878–883.

 

ข้อมูลตำรับยาธาตุบรรจบ: phar.ubu.ac.th/herb-thairemedy/

จำนวนครั้งที่มีการอ้างอิงหน้าเว็บไซต์นี้: 109
เกี่ยวกับระบบ:

ระบบนี้ถูกพัฒนาต่อยอดมาจาก ระบบฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐาน โดยผู้พัฒนาได้ดำเนินการสร้างหน้า UX/UI ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เป็นรูปแบบเดียวกันกับเว็บไซต์ของคณะเภสัชศาสตร์ มอบ. แต่ยังคงใช้ฐานข้อมูล Database ของฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐานเดิมอยู่