เทียนตาตั๊กแตน
ชื่อเครื่องยา | เทียนตาตั๊กแตน |
ชื่ออื่นๆของเครื่องยา | |
ได้จาก | ผลแก่แห้ง |
ชื่อพืชที่ให้เครื่องยา | เทียนตาตั๊กแตน |
ชื่ออื่น (ของพืชที่ให้เครื่องยา) | ผักชีลาว, มะแหลม |
ชื่อวิทยาศาสตร์ | Anethum graveolens L. |
ชื่อพ้อง | Anethum arvense Salisb., Angelica graveolens (L.) Steud., Ferula graveolens (L.) Spreng., Peucedanum graveolens (L.) Hiern, Peucedanum sowa (Roxb. ex Fleming) Kurz, Selinum anethum Roth, Selinum graveolens |
ชื่อวงศ์ | Apiaceae (Umbelliferae) |
ลักษณะภายนอกของเครื่องยา:
เมล็ดแห้ง รูปไข่ คล้ายตาตั๊กแตน ด้านข้างแบน ไม่มีขน ขนาดกว้างประมาณ 2-3 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 3-4 มิลลิเมตร ผิวเรียบ ผลแห้งแยกเป็น 2 ส่วน แต่ละส่วนเป็น 1 เมล็ด ผลแห้งส่วนมากมักไม่ค่อยแตกเป็น 2 ซีก เมล็ดหรือซีกผลมีลักษณะด้านนอกนูน ด้านในที่ประกบกันของเมล็ดหรือด้านแนวเชื่อมแบน ด้านข้างของเมล็ดมีลักษณะยื่นออกไปคล้ายปีก ด้านที่นูนมีสันตามแนวยาวของเมล็ดจำนวน 3 เส้น สันมีลักษณะยื่นนูนจากผิว สีน้ำตาลอ่อน เมล็ดมีสีน้ำตาลเข้ม บดเป็นผงมีสีน้ำตาล มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว มีรสขม เผ็ดเล็กน้อย
เครื่องยา เทียนตาตั๊กแตน
เครื่องยา เทียนตาตั๊กแตน
เครื่องยา เทียนตาตั๊กแตน
เครื่องยา เทียนตาตั๊กแตน
ลักษณะทางกายภาพและเคมีที่ดี:
ปริมาณน้ำไม่เกิน 9% v/w ปริมาณสิ่งแปลกปลอมไม่เกิน 4% w/w ปริมาณเถ้ารวมไม่เกิน 10% w/w ปริมาณเถ้าที่ไม่ละลายในกรด ไม่เกิน 1.5% w/w ปริมาณสารสกัดเอทานอล ไม่น้อยกว่า 4% w/w ปริมาณน้ำมันระเหยง่าย (volatile oil) ไม่น้อยกว่า 2% v/w
สรรพคุณ:
ตำรายาไทย: ระบุว่า เทียนตาตั๊กแตนมีรสขม เผ็ดเล็กน้อย ใช้เป็นยาขับลม บำรุงกำลัง บำรุงธาตุ ช่วยย่อยอาหาร แก้ท้องอืดเฟ้อในเด็ก แก้เสมหะพิการ แก้โรคกำเดา น้ำมันเทียนตาตั๊กแตน ระงับอาการเกร็งของกล้ามเนื้อเรียบ แก้เส้นท้องพิการ แก้นอนสะดุ้ง คลุ้มคลั่ง เพิ่มปริมาณการหายใจ แต่ลดความดันโลหิต
บัญชียาจากสมุนไพร: ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศ คณะกรรมการแห่งชาติด้านยา (ฉบับที่ 5) ปรากฏการใช้เมล็ดเทียนตาตั๊กแตน ในยารักษากลุ่มอาการทางระบบไหลเวียนโลหิต (แก้ลม) ปรากฏตำรับ”ยาหอมเทพจิตร” และตำรับ ”ยาหอมนวโกฐ” มีส่วนประกอบของเทียนตาตั๊กแตน อยู่ในพิกัดเทียนทั้ง 9 ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณในการแก้ลมวิงเวียน แก้อาการหน้ามืด ตาลาย ใจสั่น คลื่นเหียน อาเจียน แก้ลมจุกแน่นในท้อง
เทียนตาตั๊กแตนเป็นสมุนไพรที่มีการนำมาใช้ในตำรับยาแผนโบราณของไทยหลายตำรับ มีแหล่งกำเนิด แถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ปลูกมากในยุโรป ปัจจุบันแพร่หลายไปทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย และได้มีการนำมาใช้ในเครื่องยาไทย ที่เรียกว่า “พิกัดเทียน”
เครื่องยาพิกัดเทียน เทียนตาตั๊กแตน จัดอยู่ใน “พิกัดเทียน” ที่ประกอบด้วย“พิกัดเทียนทั้ง 5” ได้แก่ เทียนดำ เทียนแดง เทียนขาว เทียนข้าวเปลือก และเทียนตาตั๊กแตน “พิกัดเทียนทั้ง 7” (มีเทียนเยาวพาณี และเทียนสัตตบุษย์ เพิ่มเข้ามา) “พิกัดเทียนทั้ง 9” (มีเทียนตากบ และเทียนเกล็ดหอย เพิ่มเข้ามา) สรรพคุณโดยรวม ของยาที่ใช้ในพิกัดเทียน คือ ช่วยขับลม แก้อาเจียน บำรุงโลหิต และใช้ในตำรับยาหอม
ตำรับยา “น้ำมันมหาจักร” ในคำอธิบายพระตำราพระโอสถพระนารายณ์ ระบุว่าน้ำมันขนานนี้ ประกอบด้วย น้ำมันงา ผิวมะกรูดสด เทียนทั้ง 5 ดีปลี และการบูร สรรพคุณ แก้ลม แก้ริดสีดวง แก้เปื่อยคัน ทาแก้เมื่อยขบ และใส่บาดแผล ที่มีอาการปวด ที่เกิดจากเสี้ยน จากหนาม จากหอกดาบ ถ้าระวังไม่ให้แผลถูกน้ำ ก็จะไม่เป็นหนอง
รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา:
ยาผง ขนาด 1-4 กรัม
องค์ประกอบทางเคมี:
น้ำมันระเหยง่ายเรียก น้ำมันเทียนตาตั๊กแตน (dill seed oil) ร้อยละ 1.2-7.7 น้ำมันระเหยง่ายนี้มีองค์ประกอบหลักทางเคมีเป็น สารกลุ่มคาร์โวนประมาณ 35-60%, (+)-d-limonene (10%) และ α-phellandrene (6%), α-terpinene (6%), isoeugenol (2.3%) และพบสารคูมาริน, ฟีนิลโพรพานอยด์, แซนโทน, ฟลาโวนอยด์ ตัวอย่าง dihydrocarvone (12%), carvone (34.5%), carvelol (4%), dihydrocarvecrol (3.5%), petroselinic acid, vicenin, fatty acids, oilgomycin A and C, β-phellandrene, β-myrcene, 3,6-dimethyl-3a,4,5,7a-tetrahydrocoumaran, 3,6-dimethylcoumaran, flavonol glycosides, persicarin, quercetin-3-sulphate, kaemferol, dillanoside, methyl benzoate, 1,5-cineole, p-cymene, safrole, α-pinene, imporatorin, umbelliprenin, bergapten, 4-methylesculetin, umbelliferone, scopoletin, esculetin, anethofuran
การศึกษาทางเภสัชวิทยา:
ขับลม แก้ไอ แก้ปวดท้อง ต้านเชื้อรา ยับยั้งการเกิดสารก่อกลายพันธุ์ ขับปัสสาวะ ลดความดันโลหิต ลดไขมันและน้ำตาลในเลือด ฆ่าตัวอสุจิในหลอดทดลอง ฆ่าเชื้อบิดมีตัว และเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้ท้องเสีย
ฤทธิ์ปกป้องกระเพาะอาหาร: สารสกัดน้ำและแอลกอฮอล์มีฤทธิ์ปกป้องกระเพาะอาหารจากการถูกทำลายด้วยกรดเกลือ และแอลกอฮอล์ โดยมีผลลดการหลั่งกรด และปกป้องเยื่อบุกระเพาะอาหาร
ฤทธิ์ต้านจุลชีพ: น้ำมันหอมระเหยมีฤทธิ์ต้านเชื้อราและแบคทีเรียหลายชนิด ซึ่งสารสำคัญ คือ carvone
ฤทธิ์ต้านออกซิเดชั่น: สารสกัดน้ำมีฤทธิ์ต้านออกซิเดชั่นได้ดี
ฤทธิ์ต่อระบบฮอร์โมนเพศหญิง: สารสกัดน้ำและสารสกัดแอลกอฮอล์มีผลต่อระบบฮอร์โมนเพศหญิง ทำให้รอบเดือนมาปกติ
ฤทธิ์ต้านมะเร็ง: น้ำมันหอมระเหยมีฤทธิ์ป้องกันการเกิดมะเร็ง สารสำคัญ คือ anethofuran, carvone และ limonene น้ำมันหอมระเหยมีฤทธิ์เป็นพิษต่อเม็ดเลือดขาวของคนในหลอดทดลอง
การศึกษาทางคลินิก:
ไม่มีข้อมูล
การศึกษาทางพิษวิทยา:
สารสกัดน้ำ และสารสกัดแอลกฮอล์-น้ำ มีผลก่อกลายพันธุ์ สารที่ทำให้เกิดการกลายพันธุ์ คือ Iso-rhamnetin 3-sulfate (persicarin) และ quercetin 3-sulfate แต่การให้เทียนตาตั๊กแตนปริมาณ 33% ในอาหารเป็นเวลา 410 วัน ไม่พบการก่อเกิดมะเร็งในหนู
น้ำมันในความแรง 5% ฉีดเข้าใต้ผิวหนังหนูตะเภาขนาด 35 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม จะทำให้เกิดอาการแพ้ถึงขนาดหมดสติ
การทดสอบพิษเฉียบพลันของสารสกัดผลด้วยเอทานอล 50% โดยให้หนูกินในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม (คิดเป็น 2,500 เท่า เปรียบเทียบกับขนาดรักษาในคน) และให้โดยการฉีดเข้าใต้ผิวหนังหนู ในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ไม่ตรวจพบอาการเป็นพิษ
ค้นหาข้อมูลพืชที่ให้เครื่องยา : phar.ubu.ac.th/herb-phargarden/
ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง : phar.ubu.ac.th/herb-thaiherbarium/