บอระเพ็ด
ชื่อเครื่องยา | บอระเพ็ด |
ชื่ออื่นๆของเครื่องยา | |
ได้จาก | เถาที่โตเต็มที่ |
ชื่อพืชที่ให้เครื่องยา | บอระเพ็ด |
ชื่ออื่น (ของพืชที่ให้เครื่องยา) | เครือเขาฮอ (หนองคาย) จุ่งจิง (เหนือ) เจตมูลหนาม (หนองคาย) ตัวเจตมูลยาน เถาหัวด้วน(สระบุรี) หางหนู(สระบุรี อุบลราชธานี) จุ้งจาลิงตัวแม่ เจตมูลย่าน |
ชื่อวิทยาศาสตร์ | Tinospora crispa (L.) Miers ex Hook.f. & Thomson |
ชื่อพ้อง | Tinospora tuberculata Miers, Tinospora rumphii Boerl., Tinospora nudiflora |
ชื่อวงศ์ | Menispermaceae |
ลักษณะภายนอกของเครื่องยา:
เถามีเนื้อแข็ง ไม่มีขน ยาวได้ถึง 15 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 1-2 เซนติเมตร เปลือกเถาหนา 1.5-2.5 มิลลิเมตร ผิวนอกสีน้ำตาล เนื้อในสีเทาแกมเหลือง เถากลม ผิวเถาขรุขระไม่เรียบ เป็นปุ่มกระจายทั่วไป เมื่อแก่เห็นปุ่มปมเหล่านี้หนาแน่น และชัดเจนมาก เปลือกเถาคล้ายเยื่อกระดาษ มียางขาว ใส เปลือกบางลอกออกได้ บางตอนของเถาพบรากอากาศคล้ายเส้นด้าย กลมยาว สีน้ำตาลเข้ม เมื่อตัดเถาตามขวางพบแนวเส้นเป็นรัศมี ออกจากจุดศูนย์กลาง ประมาณ 15-20 เส้นระหว่างเส้นเป็นรูพรุน เถามีมีกลิ่นเฉพาะ รสขมจัดเย็น
เครื่องยา บอระเพ็ด
เครื่องยา บอระเพ็ด
เครื่องยา บอระเพ็ด
บอระเพ็ด(สด)
ลักษณะทางกายภาพและเคมีที่ดี:
ปริมาณความชื้นไม่เกิน 11% w/w ปริมาณสิ่งแปลกปลอมไม่เกิน 2% w/w ปริมาณเถ้ารวมไม่เกิน 7% w/w ปริมาณเถ้าที่ไม่ละลายในกรด ไม่เกิน 0.5% w/w ปริมาณสารสกัดเอทานอล ไม่น้อยกว่า 5% w/w สารสกัดน้ำ ไม่น้อยกว่า 10% w/w ปริมาณสารขม โดยคำนวณเทียบกับ quinine hydrochloride ไม่น้อยกว่า 210 units ต่อกรัม
สรรพคุณ:
ตำรายาไทย: เถา มีรสขมจัดเย็น แก้ไข้ทุกชนิด แก้พิษฝีดาษ เป็นยาขมเจริญอาหาร ต้มดื่มเพื่อให้เจริญอาหาร ช่วยย่อย บำรุงน้ำดี บำรุงไฟธาตุ แก้โรคกระเพาะอาหาร บำรุงร่างกาย แก้สะอึก แก้มาลาเรีย เป็นยาขับเหงื่อ ดับกระหาย แก้ร้อนในดีมาก ลดน้ำตาลในเลือด ขับพยาธิ แก้อหิวาตกโรค แก้ท้องเสีย ไข้จับสั่น ระงับความร้อน ทำให้เนื้อเย็น ทำให้เลือดเย็น แก้โลหิตพิการ ใช้ภายนอกใช้ล้างตา ล้างแผลที่เกิดจากโรคซิฟิลิส ทุกส่วนของพืช ใช้แก้ไข้ เป็นยาบำรุง แก้บาดทะยัก โรคดีซ่าน ยาเจริญอาหาร แก้มาลาเรีย
ตำรายาไทย บอระเพ็ดจัดอยู่ใน “พิกัดตรีญาณรส” คือการจำกัดจำนวนตัวยาที่ทำให้รู้รสอาหาร 3 อย่าง มี ไส้หมาก รากสะเดา เถาบอระเพ็ด มีสรรพคุณ แก้ไข้ ดับพิษร้อน ขับปัสสาวะ ขับเสมหะ บำรุงไฟธาตุ บำรุงกำลัง “พิกัดยาแก้ไข้ 5 ชนิด” คือการจำกัดจำนวนตัวยาแก้ไข้ 5 อย่าง มี รากย่านาง รากคนทา รากชิงชี่ ขี้เหล็กทั้ง 5 และเถาบอระเพ็ด สรรพคุณแก้ไข้พิษร้อน
ตำราอายุรเวทของอินเดีย: ใช้ เถา เป็นยาแก้ไข้ เช่นเดียวกับชิงช้าชาลี กล่าวไว้ว่า แก้ไข้ดีเท่ากับซิงโคนา แก้ธาตุไม่ปกติ โรคเกี่ยวกับทางเดินปัสสาวะ แก้อาการอักเสบ แก้อาการเกร็ง
รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา:
รักษาอาการไข้: ประมาณ 1- 1 1/2 ฟุต (2.5 คืบ) น้ำหนัก 30-40 กรัม โดยตำ เติมน้ำเล็กน้อย คั้นเอาน้ำดื่ม หรือต้มกับน้ำ 3 ส่วน เคี่ยวให้เหลือ 1 ส่วน หรือบดเป็นผง ทำให้เป็นลูกกลอนรับประทานวันละ 2 ครั้ง ก่อนอาหาร เช้า เย็น
รักษาอาการเบื่ออาหาร: ใช้เถาที่โตเต็มที่ ประมาณ 1- 1 1/2 ฟุต (2.5 คืบ) น้ำหนัก 30-40 กรัม โดยตำ เติมน้ำเล็กน้อย คั้นเอาน้ำ หรือต้มกับน้ำ 3 ส่วน เคี่ยวให้เหลือ 1 ส่วน หรือบดเป็นผง ทำให้เป็นลูกกลอนรับประทานวันละ 2 ครั้ง ก่อนอาหาร เช้า เย็น
องค์ประกอบทางเคมี :
เถามีสารขมกลุ่มอัลคาลอยด์ picroretin, columbin, picroretroside, tinosporine, tinosporidine ไดเทอร์ปีนอยด์ชื่อ tinosporan, columbin สารประเภทเอมีนที่พบคือ N-trans-feruloyl tyramine, N-cis-feruloyl tyramine สารฟีโนลิค ไกลโคไซด์ คือ tinoluberide
การศึกษาทางเภสัชวิทยา:
กระตุ้นการเต้นของหัวใจ ลดไข้ ต้านการอักเสบ ลดน้ำตาลในเลือด ต้านมาลาเรีย ฤทธิ์ต้านออกซิเดชั่น ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย
การศึกษาทางคลินิก:
ไม่มีข้อมูล
การศึกษาทางพิษวิทยา:
การทดสอบพิษเฉียบพลันของสารสกัดเถาด้วยเอทานอล 50% โดยให้หนูกินในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม (คิดเป็น 1,786 เท่า เปรียบเทียบกับขนาดรักษาในคน) และให้โดยการฉีดเข้าใต้ผิวหนังหนู ในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ตรวจไม่พบอาการเป็นพิษ
ผลการศึกษาพิษเรื้อรังของสารสกัดด้วยเอทานอลของเถาบอระเพ็ดในหนูขาว พบว่าเมื่อให้สารสกัดในขนาดสูงและเป็นระยะเวลานาน อาจทำให้เกิดอาการผิดปกติของการทำงานของตับและไตได้ ดังนั้นหากนำบอระเพ็ดมาใช้และพบอาการผิดปกติของการทำงานตับและไต ควรหยุดการใช้สมุนไพรนี้ และห้ามใช้ในผู้ที่มีภาวะเอนไซม์ตับบกพร่อง หรือผู้ป่วยที่มีประวัติเป็นโรคตับ หรือโรคไต
ค้นหาข้อมูลพืชที่ให้เครื่องยา : phar.ubu.ac.th/herb-phargarden/
ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง : phar.ubu.ac.th/herb-thaiherbarium/