โป๊ยกั๊ก

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

โป๊ยกั๊ก

ชื่อเครื่องยา โป๊ยกั๊ก
ชื่ออื่นๆของเครื่องยา จันทร์แปดกลีบ (Chinese star anise)
ได้จาก ผลแก่
ชื่อพืชที่ให้เครื่องยา โป๊ยกั๊ก
ชื่ออื่น (ของพืชที่ให้เครื่องยา)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Illicium verum Hook. f.
ชื่อพ้อง
ชื่อวงศ์ Illiciaceae

ลักษณะภายนอกของเครื่องยา:
          ผลเป็นกลีบโดยรอบ ทำให้มองเห็นเป็นรูปดาว มี 5-13 พู แต่ที่พบมากมักเป็น 8 พู ผลแห้งมีกลีบหนาแข็ง สีน้ำตาลเข้ม กว้าง 0.3-0.5 เซนติเมตร ยาว 1-2 เซนติเมตร หนา 0.6-1 เซนติเมตร ผิวนอกไม่เรียบ สีน้ำตาลแดง ผิวด้านในเรียบ สีน้ำตาลอ่อน มันเงา ก้านผลโค้ง ยาว 3-4 เซนติเมตร ติดที่ฐานผลตรงกลาง แต่มักหลุดไป เมล็ดรูปไข่แบน สีน้ำตาล เรียบ และเป็นเงา แต่ละพูมีเมล็ด 1 เมล็ด ยาวประมาณ 6 มิลลิเมตร ผลมีกลิ่นหอม รสชาติเผ็ดร้อน และหวาน

 

เครื่องยา โป๊ยกั๊ก

 

เครื่องยา โป๊ยกั๊ก

 

เครื่องยา โป๊ยกั๊ก

 


ลักษณะทางกายภาพและเคมีที่ดี:
             ปริมาณความชื้นไม่เกิน 11% w/w, ปริมาณเถ้ารวมไม่เกิน 4% w/w, ปริมาณสิ่งสกัดด้วย 50%เอทานอล ไม่น้อยกว่า 15% w/w, ปริมาณน้ำมันระเหยง่ายไม่น้อยกว่า 0.4 มิลลิลิตร (ใช้เครื่องยา 10 กรัม) (เภสัชตำรับเกาหลี)
 
สรรพคุณ:
              ตำรายาไทย ผลใช้ขับลม เป็นยากระตุ้น ขับเสมหะ บำรุงธาตุ แก้ธาตุพิการ อาหารไม่ย่อย แก้ลมกองหยาบ แก้ไอ แก้เกร็ง ต้านเชื้อแบคทีเรีย น้ำมันหอมระเหยมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรค คลายกล้ามเนื้อเรียบ แก้ปวดท้อง ขับลม แก้ไอ ขับเสมหะ ขับน้ำนม เพิ่มการไหลเวียนโลหิต น้ำมันหอมระเหยใช้ผสมในยาผงสำหรับแก้หืด และยาสำหรับสัตว์ ใช้ผสมกับชะเอมแก้ไอ ฆ่าเชื้อโรค โดยใช้ประมาณ 1-4 หยด
             ทางสุคนธบำบัด ใช้แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ ช่วยย่อยอาหาร บรรเทาอาการปวดศีรษะในผู้ป่วยไมเกรน บรรเทาอาการปวดข้อรูมาทอยด์ โรคเกาต์ โรคข้ออักเสบ ผล ใช้แต่งกลิ่นอาหาร ยาสีฟัน ยาบ้วนปาก ลูกอม เครื่องดื่ม แต่งกลิ่นยา  เป็นเครื่องเทศ

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา:
           ไม่มีข้อมูล

องค์ประกอบทางเคมี:
           น้ำมันหอมระเหยร้อยละ 5 ประกอบด้วย trans-anethole เป็นองค์ประกอบหลักร้อยละ 80-90 สารอื่นๆ ได้แก่ 1, 4 cineol, beta-bisabalone, farnescene, caryophyllene, cadinene, phellandrene, safrole, linalool, alpha-pinene

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:
          ขับลม ขับเสมหะ มีรายงานว่า anethole ซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักมีคุณสมบัติฆ่าแมลง และมีฤทธิ์เหมือนกับฮอร์โมนเอสโตรเจน

การศึกษาทางคลินิก:
           ไม่มีข้อมูล

การศึกษาทางพิษวิทยา:
              1. การใช้น้ำมันหอมระเหย ถ้าใช้มากกว่า 4% อาจทำให้เกิดการแพ้ที่ผิวหนัง มีรายงานว่า anethole ซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักของน้ำมันโป๊ยกั๊กทำให้เกิดผิวหนังอักเสบได้

              2. สาร anethole และ safrole เป็นสารก่อมะเร็ง และเป็นพิษต่อตับ จึงควรใช้ด้วยความระมัดระวัง

จำนวนครั้งที่มีการอ้างอิงหน้าเว็บไซต์นี้: 0
เกี่ยวกับระบบ:

ระบบนี้ถูกพัฒนาต่อยอดมาจาก ระบบฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐาน โดยผู้พัฒนาได้ดำเนินการสร้างหน้า UX/UI ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เป็นรูปแบบเดียวกันกับเว็บไซต์ของคณะเภสัชศาสตร์ มอบ. แต่ยังคงใช้ฐานข้อมูล Database ของฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐานเดิมอยู่