แฝกหอม

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

แฝกหอม

ชื่อเครื่องยา แฝกหอม
ชื่ออื่นๆของเครื่องยา หญ้าแฝก
ได้จาก ราก
ชื่อพืชที่ให้เครื่องยา แฝกหอม
ชื่ออื่น (ของพืชที่ให้เครื่องยา) หญ้าแฝกหอม แกงหอม แคมหอม
ชื่อวิทยาศาสตร์ Vetiveria zizanioides (L.) Nash
ชื่อพ้อง Anatherum muricatum (Retz.) P.Beauv., Anatherum zizanioides (L.) Hitchc. & Chase Andropogon muricatum Retz., Andropogon muricatus Retz., Andropogon zizanioides (L.) Urb., Chamaeraphis muricata (Retz.) Merr., Chrysopogon zizanioides (L.) Roberty, Holcus zizanioides (L.) Stuck., Phalaris zizanioides L., Rhaphis zizanioides (L.) Roberty., Sorghum zizanioides (L.) Kuntze., Vetiveria arundinacea Griseb., Vetiveria muricata (Retz.) Griseb., Vetiveria odorata Virey., Vetiveria odoratissima
ชื่อวงศ์ Gramineae

ลักษณะภายนอกของเครื่องยา:
       รากแทงออกจากเหง้าใต้ดิน  รูปทรงกระบอกตัน แคบยาว  ออกเป็นกระจุก รากฝอยแห้ง  ขนาดกว้างราว 8 มม. ความยาว  120  ซม.  เส้นรอบวง  0.4-5  ซม.  ผิวรากเกลี้ยง สีน้ำตาลเทา  รากมีกลิ่นหอมร้อน

 

เครื่องยา รากแฝกหอม

 

เครื่องยา รากแฝกหอม

 

เครื่องยา รากแฝกหอม

 


ลักษณะทางกายภาพและเคมีที่ดี:
          ราก ปริมาณน้ำมันระเหยง่ายไม่น้อยกว่า 0.25% v/w, ปริมาณเถ้ารวมไม่เกิน 9% w/w, ปริมาณเถ้าที่ไม่ละลายในกรดไม่เกิน 5% w/w, ปริมาณความชื้นไม่เกิน 8% v/w, ปริมาณสารสกัดด้วยน้ำ และสารสกัดด้วยเอทานอล ไม่น้อยกว่า 2% w/w (J Traditional Medicine and Alternative Medicine 3(3), 2005.)
 
สรรพคุณ:
           ตำรายาไทย: ราก มีสรรพคุณทำให้ดวงจิตชุ่มชื่น กลิ่นมีสรรพคุณกล่อมประสาท ใช้ปรุงเป็นยาขับลมในลำไส้ ทำให้หาวเรอ บำรุงโลหิต  แก้ปวดท้อง จุกเสียด  แก้ท้องอืด  ขับปัสสาวะ แก้ไข้  แก้ไข้พิษ  แก้ไข้อภิญญาณ  แก้ไข้อันเกิดแต่ซาง  โลหิต  ดี และคุดทะราด แก้โรคประสาท แก้ท้องเดิน  แก้ร้อน  ต้มอาบทำให้กระชุ่มกระชวย อบเสื้อผ้าให้หอม และสกัดน้ำมันหอมระเหย หัว ขับลมในลำไส้ ขับปัสสาวะ แก้ท้องเดิน แก้ร้อน แก้ไข้หวัด แก้ปวดเมื่อย น้ำมันหอมระเหยมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อ ทำให้นอนหลับ ทำให้สงบ ทำให้ผิวหนังร้อนแดงอย่างอ่อน
           นอกจากนี้บัญชียาจากสมุนไพร ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศ คณะกรรมการแห่งชาติด้านยา   ปรากฏการใช้รากแฝกหอม ในยารักษาอาการโรคในระบบต่างๆของร่างกาย หลายตำรับ ได้แก่ ยารักษากลุ่มอาการทางระบบไหลเวียนโลหิต (แก้ลม) มีส่วนประกอบของแฝกหอม ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ คือ ”ยาหอมเทพจิตร” มีสรรพคุณในการแก้ลมกองละเอียด ได้แก่ อาการหน้ามืด ตาลาย สวิงสวาย (อาการที่รู้สึกใจหวิว วิงเวียน คลื่นไส้ ตาพร่าจะเป็นลม) ใจสั่น ตำรับ”ยาหอมนวโกฐ”  สรรพคุณแก้ลมวิงเวียน คลื่นเหียน อาเจียน (ลมจุกแน่นในอก) ในผู้สูงอายุ แก้ลมปลายไข้ (หลังจากฟื้นไข้แล้วยังมีอาการ เช่น คลื่นเหียน วิงเวียน เบื่ออาหาร ท้องอืด อ่อนเพลีย)
          ยารักษากลุ่มอาการทางระบบทางเดินอาหาร ปรากฏตำรับ “ยาประสะกานพลู” มีส่วนประกอบแฝกหอมร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ ในตำรับ มีสรรพคุณบรรเทาอาการปวดท้อง จุกเสียด แน่นเฟ้อจากอาหารไม่ย่อย เนื่องจากธาตุไม่ปกติ
ยาแก้ไข้ “ตำรับยาเขียวหอม”  บรรเทาอาการไข้ ร้อนในกระหายน้ำ แก้พิษหัด พิษสุกใส (บรรเทาอาการไข้จากหัดและสุกใส)
           ตำรายาพระโอสถพระนารายณ์ปรากฏตำรับ “ยามโหสถธิจันทน์” เข้าเครื่องยาแฝกหอม ร่วมกับสมุนไพรอื่นอีก 15 ชนิด  บดให้ละเอียด ทำเป็นแท่ง ใช้น้ำดอกไม้เป็นกระสาย  ใช้ชโลมตัว หรือกินแก้ไข้

           ตำรับยาอายุรเวทของอินเดีย ใช้ยาชงรากแฝกหอม แก้กระหาย ลดไข้ แก้ปวดศีรษะ ขับเหงื่อ เป็นยาธาตุ ขับระดู ในประเทศศรีลังกา เป็นที่รู้จักว่าเป็น “oil of tranquility” หมายถึงน้ำมันที่ช่วยให้ระงับสงบ  ประเทศฟิลิปปินส์ น้ำต้มรากใช้เป็นยาละลายนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ


รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา:
           ไม่มีข้อมูล

องค์ประกอบทางเคมี:
           น้ำมันหอมระเหย (Vetiver  oil) ร้อยละ 0.3-1%  ประกอบด้วยสาร  vetiverol (50-75%), alpha-vetivone (4.36%) ,  beta-vetivenene  ,  beta-vetivone, khusimol

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:         

    ฤทธิ์ลดอาการปวด และต้านการอักเสบ

            การทดสอบฤทธิ์ลดอาการปวด และต้านการอักเสบในหนู โดยใช้การทดสอบwrithing test และ formalin test การทดลอง writhing test ทำโดยฉีดน้ำมันหอมระเหย (EO) เข้าทางช่องท้องหนูในขนาด 25, 50, และ 100 mg/kg หลังจากนั้น 30 นาที จึงฉีด 0.85% acetic acid (10 mL/kg)เข้าทางช่องท้องแล้วนับจำนวนครั้งที่หนูเกิดความเจ็บปวดจนเกิดอาการบิดงอลำตัว (writhing)     ผลการทดลองพบว่า EO ในขนาด 50 และ 100 mg/kgสามารถลดจำนวนครั้งในการเกิด writhing  ได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยมีเปอร์เซ็นต์การยับยั้งเท่ากับ 51.9 และ 64.9% ตามลำดับส่วนการทดลอง formalin test ให้ EO ในขนาด  25, 50 และ 100 mg/kgและกลุ่มสุดท้ายให้ aspirin ขนาด 200 mg/kg  หลังจากนั้น 30 นาที จึงฉีด 2.5% formalin เข้าทางใต้ผิวหนังบริเวณอุ้งเท้าหลังด้านขวา สังเกตพฤติกรรมใน 2 ช่วง คือในช่วง early phase (0-5 นาทีหลังจากฉีด formalin) ซึ่งแสดงถึงอาการปวดแบบเฉียบพลัน (acute pain) อีกช่วงหนึ่ง คือ late phase (15-30 นาทีหลังจากฉีด formalin) ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดการอักเสบ inflammation phase ผลการทดลองพบว่าสารสกัด  EO ในขนาด 50 และ 100 mg/kgสามารถลดเวลาที่หนูยกเท้าข้างที่ถูกฉีด formalin ขึ้นเลีย ลงได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติใน late phase (56.7 และ 86.2%, ตามลำดับ)ดังนั้นจากผลการทดลองข้างต้นแสดงว่าน้ำมันหอมระเหยของรากแฝกหอม มีฤทธิ์ในการลดอาการปวด และต้านการอักเสบได้ (Lima, et al., 2012)

          ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ

          การทดสอบฤทธิ์ต้านออกซิเดชันของน้ำมันหอมระเหยจากรากแฝกหอม ด้วยวิธี free radical scavenging (DPPH) และ lipid peroxidation inhibition (TBARs) ผลการทดสอบฤทธิ์กำจัดอนุมูลอิสระ (free radical scavenging) ด้วยวิธี DPPH ที่ความเข้มข้น 10 ไมโครลิตร/มิลลิลิตร พบว่าเปอร์เซ็นต์การยับยั้งเท่ากับ 90.18±0.84% คิดเป็นค่า IC5o  เท่ากับ 0.635±0.036 mg/ml และแสดงผลการทดสอบฤทธิ์ยับยั้งการเกิดออกซิเดชันของไขมัน (lipid peroxidation) ด้วยวิธี TBARs ที่ความเข้มข้น 0.95 ไมโครลิตร/มิลลิลิตร มีเปอร์เซ็นต์การยับยั้งเท่ากับ 23.90±5.68% (Veerapan and Khunkitti, 2011)

         ฤทธิ์ต้านอาการชัก

        เมื่อทำการทดลองในหนูที่เหนี่ยวนำให้เกิดการชักด้วยการช็อตไฟฟ้า พบว่าสารสกัดเอทานอลจากเหง้าแฝกหอมในขนาด 400 มิลลิกรัม/กิโลกรัม สามารถยับยั้งการเกิดอาการชักที่เกิดจากการช็อตไฟฟ้าได้ (p<0.001) และสารสกัดขนาด 100 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ทำให้ระยะเวลาก่อนเริ่มเกิดการชักยาวนานขึ้น เมื่อกระตุ้นการชักด้วยสารเคมี Pentylenetetrazoleโดยทำให้สัตว์ทดลองรอดชีวิต 83% แต่ขนาดของยามาตรฐานต้านการชัก phenobarbital ที่ทำให้สัตว์ทดลองรอดชีวิตทั้งหมดคือขนาด 20mg/kgและสารสกัดเอทานอลจากเหง้าแฝกหอม ที่ทำให้สัตว์ทดลองรอดชีวิตทั้งหมดคือขนาด 200 และ 400 mg/kg(Gupta, et al., 2013)

 

การศึกษาทางคลินิก:
           ไม่มีข้อมูล

การศึกษาทางพิษวิทยา:
           การทดสอบพิษเฉียบพลันของสารสกัดรากด้วยเอทานอล 50% โดยให้หนูกินในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม (คิดเป็น 7,143 เท่า เปรียบเทียบกับขนาดรักษาในคน) และให้โดยการฉีดเข้าใต้ผิวหนังหนู ในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ตรวจไม่พบอาการเป็นพิษ (กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, 2546)

           การศึกษาความเป็นพิษเฉียบพลันของสารสกัดเอทานอลจากรากแฝกหอม โดยให้สารสกัดรากแฝกหอมในหนูเม้าส์เพศผู้สายพันธุ์ swiss albino จำนวน 6 ตัว ในขนาด 100, 200, 300, 400, 500  และ 600 มิลลิกรัม/กิโลกรัม หลังจากนั้นสังเกตอาการของการเกิดพิษเฉียบพลันทุกชั่วโมง และความผิดปกติของพฤติกรรมจนครบ 48 ชั่วโมง ผลการทดลองพบว่าไม่มีการตาย หรือความผิดปกติของพฤติกรรมของหนูเมื่อให้สารสกัดในขนาด 400 มิลลิกรัม/กิโลกรัม และพบค่าความเข้มข้นที่ทำให้สัตว์ทดลองตายครึ่งหนึ่ง (LD50) เท่ากับ 600 มิลลิกรัม/กิโลกรัม (Gupta, et al., 2013)

 

เอกสารอ้างอิง:

1. กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. 2546. ประมวลผลงานวิจัยด้านพิษวิทยา ของสถาบันวิจัยสมุนไพร เล่ม 1.โรงพิมพ์การศาสนา:กรุงเทพมหานคร.

2. Gupta R, Sharma KK, Afzal M, Damanhouri ZA, Ali B, Kaur R, et al. Anticonvulsant activity of ethanol extracts of Vetiveria zizanioides roots in experimental mice. Pharm Biol. 2013;51(12):1521-1524.

3. Lima GM, Quintans-Júnior LJ, Thomazzi SM, Almeida EMSA, Melo MS, Serafini MR, et al. Phytochemical screening, antinociceptive and anti-inflammatory activities of Chrysopogon zizanioides essential oil. Brazilian Journal of Pharmacognosy. 2012;22(2):443-450.

4. Veerapan P, KhunkittiW.  In Vitro antioxidant activities of essential oils. IJPS, 2011; 7(3) : 30-38.

 

ข้อมูลตำรับยาเขียวหอม : phar.ubu.ac.th/herb-thairemedy/

จำนวนครั้งที่มีการอ้างอิงหน้าเว็บไซต์นี้: 77
เกี่ยวกับระบบ:

ระบบนี้ถูกพัฒนาต่อยอดมาจาก ระบบฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐาน โดยผู้พัฒนาได้ดำเนินการสร้างหน้า UX/UI ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เป็นรูปแบบเดียวกันกับเว็บไซต์ของคณะเภสัชศาสตร์ มอบ. แต่ยังคงใช้ฐานข้อมูล Database ของฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐานเดิมอยู่