เพชรสังฆาต

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

เพชรสังฆาต

ชื่อเครื่องยา เพชรสังฆาต
ชื่ออื่นๆของเครื่องยา
ได้จาก ลำต้น (เถา)
ชื่อพืชที่ให้เครื่องยา เพชรสังฆาต
ชื่ออื่น (ของพืชที่ให้เครื่องยา) สันชะฆาต ขันข้อ(ราชบุรี) สามร้อยต่อ (ประจวบคีรีขันธ์) สันชะควด
ชื่อวิทยาศาสตร์ Cissus quadrangularis L.
ชื่อพ้อง Cissus bifida Schumach. & Thonn., C. edulis Dalzell, C. quadrangula L., C. succulenta (Galpin) Burtt-Davy, C. tetragona Harv., C. tetraptera Hook.f., C. triandra Schumach. & Thonn., Vitis quadrangularis (L.) Wall. ex Wight, V. succulenta
ชื่อวงศ์ Vitaceae

ลักษณะภายนอกของเครื่องยา:
           เปลือกเถาเรียบ เถารูปสี่เหลี่ยมเป็นครีบ เป็นข้อๆต่อกัน เห็นข้อปล้องชัดเจน ลักษณะเป็นปล้องๆ ตรงข้อเล็กรัดตัวลง แต่ละข้อยาวประมาณ 6-10 เซนติเมตร บางข้ออาจมีรากออกมาด้วย มีมือเกาะออกตรงข้อต่อตรงข้ามกับใบ ตามข้อมียางขาว เถารสร้อน ขมคัน

 

เครื่องยา เพชรสังฆาต

 

เครื่องยา เพชรสังฆาต

 

เครื่องยา เพชรสังฆาต

 


ลักษณะทางกายภาพและเคมีที่ดี:
           ปริมาณความชื้นไม่เกิน 9% w/w  ปริมาณสิ่งแปลกปลอมไม่เกิน 5% w/w  ปริมาณเถ้ารวมไม่เกิน 20% w/w  ปริมาณเถ้าที่ไม่ละลายในกรด ไม่เกิน 1.5% w/w  ปริมาณสารสกัดเอทานอล (80%) ไม่น้อยกว่า 2.5% w/w  สารสกัดน้ำ ไม่น้อยกว่า 5% w/w  
 
สรรพคุณ:
           ตำรายาไทย: เถา รสร้อนขมคัน เป็นยาแก้ริดสีดวงทวารหนัก คั้นเอาน้ำดื่ม แก้โรคลักปิดลักเปิด แก้ประจำเดือนไม่ปกติ แก้กระดูกแตกหักซ้น ขับลมในลำไส้
           ตำรายาพื้นบ้านนครราชสีมา: ใช้ ต้น แก้ริดสีดวงทวารโดยหั่นเป็นแว่น ตำผสมเกลือนำไปตาก ปั้นเป็นลูกกลอน กินครั้งละ 1 เม็ด 3 เวลา
           ตำรับยาสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา: ใช้น้ำจากต้น หยอดหู แก้น้ำหนวกไหล หยอดจมูกแก้เลือดเสียในสตรี ประจำเดือนไม่ปกติ เป็นยาธาตุเจริญอาหาร
           ประเทศอินเดีย: ใช้ ลำต้น เป็นยาพอกเมื่อกระดูกหัก น้ำคั้นจากต้นกินแก้โรคลักปิดลักเปิด แก้อาการผิดปกติของระดู

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา:
           แก้ริดสีดวงทวารหนักทั้งชนิดภายในและภายนอก เถา
                  1.รับประทานสดวันละ 1 ปล้อง (6-9 เซนติเมตร) เป็นเวลา 10-15 วัน ติดต่อกัน แต่การรับประทานต้องหั่นเถาบางๆแล้วหุ้มด้วยกล้วยสุก หรือมะขามเปียก หรือใบผักกาดดอง แล้วกลืนลงไป ห้ามเคี้ยว เนื่องจากเถาสดมีผลึกแคลเซียมออกซาเลตอยู่มากทำให้คันคอและระคายต่อเยื่อบุในปาก
                  2.รับประทานในรูปยาผงบรรจุแคปซูล 250 มิลลิกรัม รับประทานครั้งละ 2 แคปซูล วันละ 4 ครั้ง ก่อนอาหารและก่อนนอน เป็นเวลา 5-7 วัน หรืออาจนำเถามาดองเหล้าเป็นเวลา 7 วัน แล้วรินเอาเฉพาะน้ำดื่ม

องค์ประกอบทางเคมี:
           ascorbic acid (vitamin C), lupeol, carotene, calcium oxalate

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:
                ผลต่อแรงตึงตัวของหลอดเลือดดำ

                สารสกัดเพชรสังฆาตมีฤทธิ์กระตุ้นหลอดเลือดดำ ให้มีความตึงตัวเพิ่มขึ้น คล้ายกับส่วนผสมของไบโอฟลาโวนอยด์  2 ชนิด ได้แก่ ไดออสมิน 90%  และฮิสเพอริดิน 10%  ที่พบในตำรับยาแผนปัจจุบัน สำหรับใช้รักษาริดสีดวงทวาร

                ฤทธิ์ต้านการอักเสบเฉียบพลัน

                สารสกัดเมทานอลยับยั้งการบวมของใบหู และการบวมของอุ้งเท้าของหนูขาว ที่ถูกกระตุ้นด้วยสารเคมี

                สารสกัดเฮกเซนที่ความเข้มข้นร้อยละ 1 และสารสกัดเอทานอลที่ความเข้มข้นร้อยละ 5 ลดอาการบวมของใบหูหนูที่เหนี่ยวนำด้วยสารเคมี ได้ที่เวลา 30 นาที ตรวจพบองค์ประกอบทางเคมีของสาร lupeol ในสารสกัดเฮกเซน

                ฤทธิ์แก้ปวด

                สารสกัดเมทานอลลดจำนวนครั้งที่หนูถีบจักรยืดบิดตัวจากอาการเจ็บปวดท้องเนื่องจากได้รับกรดอะซีติกที่ฉีดเข้าทางช่องท้อง และลดระยะเวลาของการเลียเท้าหลังทั้ง 2ระยะ ในการทดสอบด้วยการฉีดฟอร์มาลิน แสดว่าออกฤทธิ์แก้ปวดผ่านทั้งระบบประสาทส่วนกลาง และส่วนปลาย


การศึกษาทางคลินิก:
           ไม่มีข้อมูล

การศึกษาทางพิษวิทยา:
           การศึกษาพิษกึ่งเรื้อรัง (3 เดือน) ของผงแห้งส่วนเถาในหนู โดยให้ผงพืชให้หนูกิน คิดเป็น 100 เท่าของขนาดที่ใช้กับคน พบว่าไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางโลหิตวิทยา ชีวเคมีของซีรั่ม จุลพยาธิของอวัยวะภายใน และไม่พบความผิดปกติใดๆ

 

ค้นหาข้อมูลพืชที่ให้เครื่องยา : phar.ubu.ac.th/herb-phargarden/

ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง : phar.ubu.ac.th/herb-thaiherbarium/

จำนวนครั้งที่มีการอ้างอิงหน้าเว็บไซต์นี้: 1
เกี่ยวกับระบบ:

ระบบนี้ถูกพัฒนาต่อยอดมาจาก ระบบฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐาน โดยผู้พัฒนาได้ดำเนินการสร้างหน้า UX/UI ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เป็นรูปแบบเดียวกันกับเว็บไซต์ของคณะเภสัชศาสตร์ มอบ. แต่ยังคงใช้ฐานข้อมูล Database ของฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐานเดิมอยู่