ฟ้าทะลายโจร

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

ฟ้าทะลายโจร

ชื่อเครื่องยา ฟ้าทะลายโจร
ชื่ออื่นๆของเครื่องยา ฟ้าทะลาย
ได้จาก ส่วนเหนือดิน
ชื่อพืชที่ให้เครื่องยา ฟ้าทะลายโจร
ชื่ออื่น (ของพืชที่ให้เครื่องยา) น้ำลายพังพอน หญ้ากันงู ซีปังฮี
ชื่อวิทยาศาสตร์ Andrographis paniculata (Burm.f.) Nees
ชื่อพ้อง Justicia paniculata Burm.f.
ชื่อวงศ์ Acanthaceae

ลักษณะภายนอกของเครื่องยา:
           ลำต้นเป็นสี่เหลี่ยม ใบเดี่ยว ก้านใบยาว 3-10 มิลลิเมตร แผ่นใบรูปไข่หรือรูปรี กว้าง 1-4 เซนติเมตร ยาว 2-12 เซนติเมตร โคนใบแหลม ปลายใบแหลมมาก ขอบใบหยักตื้นหรือเรียบ ผิวด้านบนสีเข้มกว่าด้านใต้ใบ ผงสมุนไพรส่วนเหนือดิน มีสีเขียวเข้ม มีกลิ่นเฉพาะ รสขมจัด

 

เครื่องยา ฟ้าทะลายโจร

 

เครื่องยา ฟ้าทะลายโจร(บรรจุแคปซูล)

 

 


ลักษณะทางกายภาพและเคมีที่ดี:
           ปริมาณความชื้นไม่เกิน 11% w/w  ปริมาณสิ่งแปลกปลอมไม่เกิน 2% w/w  ปริมาณเถ้าที่ไม่ละลายในกรด ไม่เกิน 2.0% w/w  ปริมาณสารสกัดด้วยเอทานอล(85%) ไม่น้อยกว่า 13% w/w  สารสกัดด้วยน้ำ ไม่น้อยกว่า 18% w/w  ปริมาณแลคโตนรวมคำนวณเป็นแอนโดรกราฟโฟไลด์ไม่น้อยกว่าร้อยละ 6.0 โดยน้ำหนัก

สรรพคุณ:
           ตำรายาไทย: มีการใช้ส่วนเหนือดินเก็บก่อนที่จะมีดอก เพื่อรักษาไข้ ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ดับพิษร้อน ระงับอักเสบในอาการไอ เจ็บคอ คออักเสบ ต่อมทอนซิล หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ ขับเสมหะ ลดบวม แก้บิด แก้กระเพาะอาหารอักเสบ ลำไส้อักเสบ รักษาโรคผิวหนัง ฝี การติดเชื้อ ที่ทำให้มีอาการปวดท้อง ท้องเสีย บิด ทำให้เจริญอาหาร

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา:

           1. บรรเทาอาการเจ็บคอ / บรรเทาอาการของโรคหวัด (common cold) เช่น เจ็บคอ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ

                   ขนาดยาที่ใช้  1. รับประทานครั้งละ 1.5 – 3 กรัม วันละ 4 ครั้ง หลังอาหาร และก่อนนอน  (ใช้ผงจากส่วนเหนือดินของฟ้าทะลายโจร ที่มีสารสำคัญ total lactone โดยคำนวณเป็น andrographolide ไม่น้อยกว่าร้อยละ 6.0 โดยน้ำหนัก (w/w) และปริมาณ andrographolide ไม่น้อยกว่าร้อยละ 1.0 โดยน้ำหนัก (w/w)   
                                       2. รับประทานในขนาดยาที่มีปริมาณ andrographolide 60 - 120 มิลลิกรัมต่อวัน โดยแบ่งให้วันละ 3 ครั้ง    (บัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร, 2563)  
                     ห้ามใช้ฟ้าทะลายโจรสำหรับแก้เจ็บคอในกรณีต่าง ๆ ต่อไปนี้
                  - ผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บคอเนื่องจากติดเชื้อ Streptococcus group A
                  - ผู้ป่วยที่มีประวัติเป็นโรคไตอักเสบ เนื่องจากเคยติดเชื้อ Streptococcus group A
                  - ผู้ป่วยที่มีประวัติเป็นโรคหัวใจรูห์มาติค
                  - ผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บคอเนื่องจากมีการติดเชื้อแบคทีเรีย และมีอาการรุนแรง เช่น มีตุ่มหนองในคอ มีไข้สูง และหนาวสั่น    (บัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร, 2563)  
 
                   2. รักษาโรคโควิด 19 (severe acute respiratory syndrome corona virus-2 (SARS-CoV-2) ที่มีความรุนแรงน้อย เพื่อลดการเกิดโรคที่รุนแรง
                      รับประทานในขนาดยาที่มีปริมาณ andrographolide 180 มิลลิกรัมต่อวัน โดยแบ่งให้วันละ 3 ครั้ง  เป็นระยะเวลานาน 5 วัน  (บัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร, ฉบับที่ 2, 2564)  โดยยามีผลลดจำนวนไวรัสที่เข้าเซลล์แล้ว แต่ไม่มีผลในการป้องกันไวรัสเข้าเซลล์
 

            3. บรรเทาอาการท้องเสียไม่ติดเชื้อ เช่น อุจจาระไม่เป็นมูก หรือมีเลือดปน             

            รับประทานครั้งละ 500 มิลลิกรัม – 2 กรัม วันละ 4 ครั้ง หลังอาหารและก่อนนอน (ใช้ผงจากส่วนเหนือดินของฟ้าทะลายโจร ที่มีสารสำคัญ total lactone โดยคำนวณเป็น andrographolide ไม่น้อยกว่าร้อยละ 6.0 โดยน้ำหนัก (w/w) และปริมาณ andrographolide ไม่น้อยกว่าร้อยละ 1.0 โดยน้ำหนัก (w/w)   (บัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร, 2563)        

           4.ใช้ใบสดตำพอกฝี หรือคั้นทำน้ำทาแผลพุพองบ่อย ๆ ถ้าใช้พอกฝี  เปลี่ยนยาเช้า - เย็น

องค์ประกอบทางเคมี:
           สารประเภทแลคโตน andrographolide, neoandrographolide, deoxyandrographolide, deoxy-didehydroandrographolide สารกลุ่มฟลาโวน ได้แก่ aroxylin, wagonin, andrographidine A

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:
           ลดไข้   ต้านการอักเสบ   ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคท้องร่วง ลดการบีบตัวหรือหดเกร็งของลำไส้ และกระเพาะอาหาร ป้องกันตับจากสารพิษ ต้านออกซิเดชั่น กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน  ลดความดันเลือด ลดอัตราการเต้นหัวใจ ต้านการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด

 

ฤทธิ์ต้านเชื้อไวรัส covid 19  (Corona virus disease 2019) 

          โรคโควิด-19 เป็นโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า severe acute respiratory syndrome corona virus-2 (SARS-CoV-2) เชื้อไวรัสนี้ติดต่อโดยผ่านการได้รับละอองฝอยจากการไอจามของผู้ที่มีเชื้อ หรือเอามือไปสัมผัสพื้นผิวที่ปนเปื้อนเชื้อแล้วนำเข้าสู่ร่างกายโดยผ่านการขยี้ตา แคะจมูก หรือจับปาก หรือมีการสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย  มีระยะฟักตัว 2-14 วัน ไวรัส SARS CoV-2 มีโปรตีนสไปค์ (spike) จับได้ดีกับโปรตีนตัวรับของ angiotensin-converting enzyme 2 (ACE-2) ของเซลล์โฮสต์ที่เยื่อบุทางเดินหายใจ เมื่อมีการติดเชื้อที่ปอดจะทำให้เกิดการหลั่งไซโตไคน์กระตุ้นการอักเสบของปอดทำให้เกิดความเสียหายของเนื้อเยื่อในวงกว้าง (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, 2564)

          ฤทธิ์ยับยั้งเชื้อ SARS-CoV-2 ในหลอดทดลองของสารสกัดเอทานอล และสารบริสุทธิ์ andrographolide ที่แยกได้จากฟ้าทะลายโจร ทดสอบฤทธิ์ในการยับยั้งเขื้อไวรัสภายหลังจากไวรัสเข้าสู่เซลล์แล้ว (Post-entry) โดยจะทำให้เซลล์ติดเชื้อไวรัสก่อนเป็นเวลา 2 ชั่วโมง แล้วจึงเติมสารสกัดหรือสารบริสุทธิ์ที่จะใช้ทดสอบ หลังจากนั้นบ่มเพาะเป็นเวลา 48 ชั่วโมง แล้วจึงนำมาวิเคราะห์ผล (cell เพาะเลี้ยงที่ใช้ทดสอบ คือ Calu-3 ซึ่งเป็นเซลล์เยื่อบุทางเดินหายใจมนุษย์, เชื้อ SARS-CoV-2 ได้จากการ swab บริเวณเนื้อเยื่อหลังโพรงจมูก  ของผู้ป่วย COVID 19 ในประเทศไทย) ใช้วิธีการทดสอบ 2 วิธีคือ High content imaging system หลักการคือใช้แอนติบอดีที่มีความจำเพาะกับ nucleoprotein ของเชื้อ SARS-CoV-2 เมื่อสิ้นสุดปฏิกิริยาแล้วจะนำเซลล์ที่ติดเชื้อมาวิเคราะห์ด้วย fluorescence และแสดงผลเป็นภาพเซลล์ และคำนวณร้อยละของเซลล์ที่ติดเชื้อ วิธีที่สองคือ  Plaque inhibition assay โดยการย้อมสีเซลล์ ตรวจดูการติดสีย้อมของเซลล์ติดเชื้อ และนับปริมาณ  plaque  ซึ่งเป็นบริเวณของเซลล์ที่ติดเชื้อไวรัส และไม่ติดสีย้อม แล้วคํานวณหาปริมาณไวรัสโดยมีหน่วยเป็น  Plaque Forming Unit /ml  (PFU/ml) และหาขนาดความเข้มข้นที่ยับยั้งการสร้าง plaque ได้ร้อยละ 50 (IC50) ตรวจสอบความเป็นพิษต่อเซลล์ด้วยวิธี 3-(4,5-dimethylthiazol-2-yl)-2,5-diphenyl tetrazolium bromide หรือ MTT assay และหาขนาดความเข้มข้นที่ทำให้เกิดความเป็นพิษต่อเซลล์ ร้อยละ 50 (CC50)

          ผลการวิจัยเมื่อทดสอบด้วยวิธี High content imaging system ของสารสกัดฟ้าทะลายโจร และ andrographolide พบว่าค่าการยับยั้งเชื้อได้ร้อยละ 50 (IC50) เท่ากับ 9.54 μg/ml และ 1.68 μM ตามลำดับ  ยามาตรฐาน remdesivir มีค่า IC50 เท่ากับ 0.043 μM ผลการทดสอบด้วยวิธี Plaque assay พบว่าสารสกัดฟ้าทะลายโจร และ andrographolide สามารถยับยั้งเชื้อได้โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 0.036 μg/ml และ 0.034 μM ตามลำดับ ยามาตรฐาน remdesivir มีค่า IC50 เท่ากับ 0.086 μM ผลการทดสอบความเป็นพิษต่อเซลล์ โดยใช้เซลล์ทดสอบจากมนุษย์ ได้แก่ เซลล์เยื่อบุไตปกติ (HK-2), เซลล์เยื่อบุผิวปอด (Calu-3),เซลล์มะเร็งตับ (HepG2), เซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ (Caco-2) และเซลล์มะเร็งของเนื้อเยื่อประสาท (SH-SY-5Y) ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดฟ้าทะลายโจรไม่มึความเป็นพิษต่อเซลล์ทุกชนิดที่ใช้ทดสอบ (CC50>100 μg/ml) และ andrographolide ไม่มีความเป็นพิษต่อเซลล์จนถึงมีความเป็นพิษต่ำ โดยมีค่า CC50 เท่ากับ 34.11-81.52 μM เมื่อทดสอบกับเซลล์เพาะเลี้ยงที่ได้จากตับ ไต ปอด และลำไส้ และพบว่าค่า CC50 เท่ากับ 13.19 μM เมื่อทดสอบกับเซลล์ประสาทเพาะเลี้ยง ดังนั้นหากนำไปศึกษาวิจัยต่อในสัตว์ทดลอง และมนุษย์ ควรคำนึงถึงผลข้างเคียงที่อาจขึ้นต่อระบบประสาทด้วย  การทดสอบสาร andrographolide ในการยับยั้งเขื้อไวรัสก่อนเข้าสู่เซลล์ (Pre-entry) หรือการป้องกันการติดเชื้อ เมื่อทดสอบด้วยวิธี High content imaging system โดยใช้ Vero E6 (เซลล์เพาะเลี้ยงจากไตของลิง) โดยจะทำการบ่มเพาะสารสกัดกับเชื้อไวรัสก่อนเป็นเวลา 1 ชั่วโมง แล้วจึงนำไปเติมลงในเซลล์ปกติ นำไปบ่มเพาะต่อเป็นเวลา 48 ชั่วโมง แล้วจึงนำมาวิเคราะห์ผล พบว่า andrographolide สามารถยับยั้งเชื้อโดยมีค่า IC50 เท่ากับ 19.03 μM เมื่อเปรียบเทียบกับค่า IC50 แบบ Post-entry ค่า IC50 เท่ากับ 6.58 μM ซึ่งแสดงว่า andrographolide มีกลไกในการยับยั้งวงจรของไวรัสในระยะท้าย (late phase) หรือมีผลต่อการรักษา (Post-entry) มากกว่าการป้องกัน (Pre-entry)

         โดยสรุปสาร andrographolide จากฟ้าทะลายโจร ซึ่งเป็นสารในกลุ่ม diterpenoid ออกฤทธิ์ดีในการยับยั้งเชื้อ SARS-CoV-2(COVID 19) ในหลอดทดลอง เมื่อใช้การทดสอบฤทธิ์ยับยั้งไวรัสภายหลังจากไวรัสเข้าสู่เซลล์แล้ว (Post-entry) หรือการรักษาภายหลังการติดเชื้อแล้ว จึงมีศักยภาพในการนำไปวิจัยต่อในสัตว์ทดลอง และมนุษย์ เพื่อนำมาใช้เป็นยาเดี่ยว หรือใช้รักษาร่วมกับยาแผนปัจจุบันในการต้านไวรัส SARS-CoV-2 ได้ต่อไป (Sa-Ngiamsuntorn, et al., 2021)


การศึกษาทางคลินิก:
           บรรเทาอาการไข้และเจ็บคอ ในผู้ใหญ่ ดีเทียบเท่ากับยาพาราเซตามอล บรรเทาอาการของโรคหวัด (ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดหู นอนไม่หลับ เจ็บคอ น้ำมูกไหล ไอ มีเสมหะ) รักษาการอักเสบทางเดินปัสสาวะหลังการสลายนิ่ว

การศึกษาทางพิษวิทยา:
           ไม่พบพิษเฉียบพลัน หรือกึ่งเรื้อรัง ในหนูถีบจักรของสารสกัดฟ้าทะลายโจรด้วยแอลกอฮอล์โดยวิธีการกรอกทางปากและฉีดเข้าใต้ผิวหนัง ได้ค่า LD50 มากกว่า 15 กรัม/กิโลกรัม เมื่อให้ทางปาก หรือฉีดเข้าใต้ผิวหนัง และ 14.98 กรัม/กิโลกรัม โดยวิธีฉีดเข้าใต้ช่องท้อง      

          

ข้อห้ามใช้
- ห้ามใช้ในผู้ที่มีอาการแพ้ฟ้าทะลายโจร
- ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตร เนื่องจากอาจทำให้เกิดทารกวิรูปได้
 
ข้อควรระวัง:
- หากใช้ยานี้ติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจทำให้แขนขามีอาการชาหรืออ่อนแรง
  การใช้ฟ้าทะลายโจรติดต่อกันนาน อาจทำให้กล้ามเนื้อเปลี้ย มือเท้าชาได้ เนื่องจากฟ้าทะลายโจรเป็นยาเย็น จึงควรหยุดใช้ยา หรือไม่ใช้ติดต่อกันนานเกินไป
- หากใช้ฟ้าทะลายโจรติดต่อกันตามกำหนดการรักษาแล้วไม่หาย หรือ มีอาการรุนแรงขึ้นระหว่างใช้ยา ควรหยุดใช้และพบแพทย์
- ควรระวังการใช้ยานี้ร่วมกับสารกันเลือดเป็นลิ่ม (anticoagulants) และยาต้านการจับตัวของเกล็ดเลือด (antiplatelets)
- ควรระวังการใช้ยานี้ร่วมกับยาลดความดันเลือดเพราะอาจเสริมฤทธิ์กันได้
- ควรระวังการใช้ยานี้ร่วมกับยาที่กระบวนการเมแทบอลิซึม ผ่านเอนไซม์ Cytochrome P450 (CYP 450) เนื่องจากฟ้าทะลายโจรมีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ CYP 1A2, CYP 2C9 และ CYP 3A4
 
อาการไม่พึงประสงค์:  อาจทำให้เกิดอาการผิดปกติของทางเดินอาหาร เช่น ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ เบื่ออาหาร วิงเวียนศีรษะ ใจสั่น และอาจเกิดลมพิษได้
 
 
เอกสารอ้างอิง:
  1. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. 2564. คู่มือเภสัชกร:เพื่อให้คำแนะนำเรื่องวัคซีนโควิด-19 แก่ประชาชน. พิมพ์ครั้งที่ 1. (หนังสือ e-book)
  2. Sa-Ngiamsuntorn K, Suksatu A, Pewkliang Y, Thongsri P, Kanjanasirirat P, Manopwisedjaroen S, Charoensutthivarakul S, Wongtrakoongate P, Pitiporn S, Chaopreecha J, Kongsomros S, Jearawuttanakul K, Wannalo W, Khemawoot P, Chutipongtanate S, Borwornpinyo S, Thitithanyanont A, Hongeng S. Anti-SARS-CoV-2 activity of Andrographis paniculata extract and its major component andrographolide in human lung epithelial cells and cytotoxicity evaluation in major organ cell representatives. J Nat Prod. 2021; 84(4): 1261-1270.

 

จำนวนครั้งที่มีการอ้างอิงหน้าเว็บไซต์นี้: 158
เกี่ยวกับระบบ:

ระบบนี้ถูกพัฒนาต่อยอดมาจาก ระบบฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐาน โดยผู้พัฒนาได้ดำเนินการสร้างหน้า UX/UI ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เป็นรูปแบบเดียวกันกับเว็บไซต์ของคณะเภสัชศาสตร์ มอบ. แต่ยังคงใช้ฐานข้อมูล Database ของฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐานเดิมอยู่