มะกรูด

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

มะกรูด

ชื่อเครื่องยา มะกรูด
ชื่ออื่นๆของเครื่องยา
ได้จาก ใบ
ชื่อพืชที่ให้เครื่องยา มะกรูด
ชื่ออื่น (ของพืชที่ให้เครื่องยา) ส้มกรูด ส้มมั่วผี (ใต้) มะหูด (หนองคาย) มะขูด มะขุน (เหนือ) มะขู (กะเหรี่ยง แม่ฮ่องสอน) โกร้ยเชียด (เขมร)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Citrus hystrix DC.
ชื่อพ้อง Citrus auraria Michel, Citrus balincolong (Yu.Tanaka) Yu.Tanaka, Citrus boholensis (Wester) Yu.Tanaka, Citrus celebica Koord., Citrus combara Raf., Citrus hyalopulpa Yu.Tanaka, Citrus kerrii (Swingle) Yu.Tanaka, Citrus kerrii (Swingle) Tanaka, Citrus latipes Hook.f. & Thomson ex Hook.f., Citrus macroptera Montrouz., Citrus micrantha Wester, Citrus papeda Miq., Citrus papuana F.M.Bailey, Citrus southwickii Wester, Citrus torosa Blanco, Citrus tuberoides J.W.Benn., Citrus ventricosa Michel, Citrus vitiensis Yu.Tanaka, Citrus westeri Yu.Tanaka, Fortunella sagittifolia K.M.Feng & P.Y.Mao, Papeda rumphii
ชื่อวงศ์ Rutaceae

ลักษณะภายนอกของเครื่องยา:
           ใบเป็นใบประกอบ แต่ลดรูปเหลือใบย่อยเพียงใบเดียว แต่ดูเหมือนมีสองใบต่อกัน ใบสดสีเขียวเข้ม หลังใบเป็นมัน ใบแห้งสีน้ำตาลเขียว ผิวใบเรียบ ใบรูปไข่กว้าง  3.5-5 ซม  ยาว 4-7 ซม. ปลายใบและโคนใบมน ใบหนาแข็งมีต่อมน้ำมันทั่วใบ ใบมีรสปร่าหอม รสเปรี้ยว

 

เครื่องยา ใบมะกรูด

 

เครื่องยา ใบมะกรูด

 

เครื่องยา ใบมะกรูด

 


ลักษณะทางกายภาพและเคมีที่ดี:
           ปริมาณน้ำไม่เกิน 11% v/w  ปริมาณสิ่งแปลกปลอมไม่เกิน 2% w/w  ปริมาณเถ้ารวมไม่เกิน 17% w/w  ปริมาณเถ้าที่ไม่ละลายในกรด ไม่เกิน 3.0% w/w  ปริมาณน้ำมันระเหยง่าย ไม่น้อยกว่า 0.6% v/w  ปริมาณสารสกัดด้วยคลอโรฟอร์มไม่น้อยกว่า 5% w/w  สารสกัดเอทานอล ไม่น้อยกว่า 6% w/w  สารสกัดน้ำ ไม่น้อยกว่า 18% w/w  

สรรพคุณ:
           ตำรายาไทย: ใบมะกรูด มีรสปร่า หอม แก้ไอ แก้อาเจียนเป็นโลหิต แก้ช้ำใน กัดเสมหะในคอ แก้น้ำลายเหนียว กัดเถาดานในท้อง แก้ระดูเสียฟอกโลหิตระดู ขับระดู ขับลมในลำไส้ แก้จุกเสียดปรุงอาหารดับกลิ่นคาว

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา:
           ไม่มีข้อมูล

องค์ประกอบทางเคมี:
           ใบมะกรูดเมื่อกลั่นด้วยไอน้ำ จะได้น้ำมันระเหยง่ายประมาณร้อยละ 0.08 มีองค์ประกอบหลักเป็น “แอล-ซิโตรเนลลาล”(l-citronellal) ประมาณร้อยละ 65, citronellol, citronellol acetate นอกจากนี้ยังพบ sabinene, alpha-pinene, beta-pinene, alpha –phellandrene, limonene, terpinene, cymene, linalool และสารอื่นที่พบได้แก่ indole alkaloids, rutin, hesperidin, diosmin, alpha-tocopherol

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:       

ฤทธิ์ปกป้องตับ

       ศึกษาฤทธิ์ปกป้องตับของใบมะกรูดในหนูขาว โดยให้สารสกัด 80% เมทานอล จากใบมะกรูด ขนาด 200 mg/kg เป็นเวลา 7 วัน ก่อนให้ยา paracetamol ขนาด 2 g/kg เป็นเวลา 5 วัน เพื่อกระตุ้นให้เกิดพิษต่อตับ ซึ่งยา paracetamol จะกระตุ้นให้ตับของหนูเกิดพิษในวันที่ 5 ใช้สาร Silymarin ขนาด 100 mg/kg เป็นสารมาตรฐาน ในวันที่ 7 จะมีการตรวจประเมินการทำงานของตับ ได้แก่ ระดับเอนไซม์ตับ (ALT, AST, ALP), total bilirubin, total protein,blood serums และ hepatic antioxidants (SOD, CAT, GSH and GPx) จากการทดสอบพบว่าสารสกัดใบมะกรูดจะช่วยฟื้นฟูตับ โดยทำให้ระดับเอนไซม์ตับ และเอนไซม์ต้านอนุมูลอิสระของตับกลับมาอยู่ในระดับปกติได้อย่งมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.001) ซึ่งการศึกษานี้สรุปได้ว่าสารสกัดใบมะกรูดมีฤทธิ์ปกป้องตับไม่ให้เกิดพิษจากยา paracetamol ได้ (Abirami, et al, 2015)

ฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว

     การทดสอบความเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวในหลอดทดลองของสารสกัดบริสุทธิ์บางส่วนจากใบมะกรูด (F9) ซึ่งได้มาจากสารสกัดหยาบเฮกเซนของใบมะกรูด  ทดสอบในเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวเพาะเลี้ยงชนิด Molt 4 (human acute lymphoblastic leukemia) ด้วยวิธี 3-(4,5-dimethylthiazol-2-yl)-2,5-diphenyltetrazolium bromide (MTT) assay และวิเคราะห์ผลกระทบต่อวัฎจักรเซลล์โดยวิธีโฟลไซโตเมทรี ศึกษาผลของ F9 ต่อการแสดงออกของโปรตีนที่ทำหน้าที่ควบคุมวัฏจักรเซลล์ ทดสอบโดยวิธีเวสเทิร์นบลอท ผลการศึกษาพบว่า F9 สามารถยับยั้งเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวได้ดี โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 24.5 μg/mL และความเข้มข้นต่ำซึ่งไม่เป็นพิษต่อเซลล์ที่ค่า IC20 (2.5 μg/mL) สามารถเหนี่ยวนำให้เซลล์ Molt 4 เกิดการตาย (sub-G1) และสารสกัด F9 สามารถเพิ่มการแสดงออกของโปรตีน p53 ในขณะที่ลดการแสดงออกของโปรตีน cyclin A, cyclin B และ cdc2 โดยขึ้นกับขนาดความเข้มข้น และระยะเวลาที่เพิ่มมากขึ้น สรุปได้ว่าสารสกัดบริสุทธิ์บางส่วน F9 จากใบมะกรูดที่ความเข้มข้นต่ำ สามารถเหนี่ยวนำให้เกิดการตายของเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวเพาะเลี้ยงชนิด Molt4 รวมถึงยับยั้งการแสดงออกของโปรตีนที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมวัฏจักรของเซลล์ ซึ่งสามารถนำไปพัฒนาเพื่อหาสารสำคัญที่ออกฤทธิ์ต่อไป (Utthawang, et al., 2017)

ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ

       ทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดน้ำ และอะซีโตน ของใบมะกรูดทั้ง 3 ชนิด (ใบสด ต้ม และทอด) โดยใช้ 3 วิธีการทดสอบ ได้แก่ ORAC, FRAP และ DPPH radical scavenging activity ผลการศึกษาพบว่าใบมะกรูดทอดมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูงที่สุด ตามด้วยใบมะกรูดสด และใบมะกรูดต้ม ตามลำดับ จากการวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีจากใบ พบสารฟลาโวนอยด์ 9 ชนิด ได้แก่ theobromine, cyanidin, myricetin, peonidin, quercetin, luteolin,  hesperetin, apigenin และ isorhamnetin โดยมีปริมาณผลรวมของสารฟลาโวนอยด์เท่ากับ 1110 ± 74.1, 556 ± 29.7 และ 1235 ± 102.5 มก. ต่อ 100 ก. แห้ง ในใบมะกรูดสด ต้ม และทอด ตามลำดับ พบปริมาณของ hesperetin สูงที่สุด ปริมาณสารโพลิฟีนอลเท่ากับ 2.0 (สด), 1.8 (ต้ม) และ 1.9 (ทอด) ก. GAEs/100 ก. สด (ชนิพรรณ, 2551)

ฤทธิ์ป้องกันการแตกหักของโครโมโซม

      ทดสอบในหนูถีบจักร โดยใช้วิธีการตรวจไมโครนิวเคลียสในเม็ดเลือดแดง เพื่อดูผลการยับยั้งการแตกหักของโครโมโซม โดยการป้อนใบมะกรูดสด ขนาด 0.2 และ 0.4 ก. แห้ง/นน. 1 กก./วัน เป็นเวลา 14 วัน และให้สารก่อมะเร็ง DMBA (40 มก./นน. 1 กก.) หรือ MMC (1 มก./นน.1 กก.) หลังจากนั้นเจาะเลือดที่เวลา 0, 24 และ 48 ชม. ผลการศึกษาพบว่าใบมะกรูดสด ขนาด 0.2 ก. แห้ง/นน. 1 กก. มีแนวโน้มในการลดการแตกหักของโครโมโซมที่เกิดจาก MMC และ DMBA ได้ไม่แตกต่างกัน ที่ 24 ชม. และ 48 ชม. ตามลำดับ สรุปได้ว่ากระบวนการประกอบอาหารโดยเฉพาะการต้มมีผลต่อการลดปริมาณสารฟลาโวนอยด์ สารโพลีฟีนอล รวมทั้งลดความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระในใบมะกรูด ใบมะกรูดที่ความเข้มข้น 0.2 ก./นน. 1 กก. มีผลต่อการลดจำนวนไมโครนิวเคลียส ที่เกิดขึ้นจากการชักนำของสารก่อมะเร็งชนิดตรงคือ MMC และสารก่อมะเร็งชนิดที่ต้องอาศัยเอนไซม์จากตับกระตุ้นการออกฤทธิ์คือ DMBA เล็กน้อย (ชนิพรรณ, 2551)

ฤทธิ์ลดความดันโลหิต

       ศึกษาผลของการใช้สารสกัดผสมของใบพืชวงศ์ Rutaceae ได้แก่ มะกรูด (C. hystrix), มะนาว (C. aurantifolia),  ส้มจี๊ด (C. microcarpa) และส้มจีน (C. sinensis) ต่อความดันโลหิตในหนูขาวเพศผู้ สายพันธุ์ Sprague Dawley โดยป้อนหนูด้วยอาหารที่อุดมไปด้วยน้ำมันปาล์มที่ผ่านการทอดซ้ำมาแล้ว 5 และ 10 ครั้ง ทดสอบในหนูแต่ละกลุ่ม ในขนาดความเข้มข้น 15% w/w ให้ร่วมกับสารสกัดผสมจากใบของพืชกลุ่มมะนาว ในขนาดความเข้มข้น 0.15% w/w เป็นเวลา 16 สัปดาห์ ผลการศึกษาพบว่าการให้สารสกัดผสมจากใบของพืชกลุ่มมะนาว ร่วมกับน้ำมันทอดซ้ำมาแล้ว 5 ครั้ง สามารถลดความดันโลหิต, ปริมาณ TBAR ในเลือด (ผลผลิตจากการเกิดลิปิดเปอร์ออกซิเดชัน), ระดับของ (ACE) angiotensin-1 converting enzyme,  thromboxane (สารที่เกิดขึ้นในขบวนการอักเสบ), ลดความหนาของเส้นเลือดเอออต้าร์  ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p< 0.05) เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับเฉพาะน้ำมันทอดซ้ำ 5 ครั้ง แต่ไม่ได้รับสารสกัด นอกจากนี้ยังพบว่าระดับของ heme oxygenase-1 (เกี่ยวข้องกับการทำให้หลอดเลือดขยายตัว และมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ) มีระดับเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p< 0.05)  เมื่อให้สารสกัดผสมจากใบของพืชกลุ่มมะนาว ร่วมกับน้ำมันที่ผ่านความร้อนมาแล้ว 5 ครั้ง  และ 10 ครั้ง (Siti, et al., 2017)  โดยสรุปสารสกัดผสมจากใบพืชกลุ่มมะนาว สามารถลดความดันโลหิตที่เกิดจากใช้น้ำมันปาล์มที่ผ่านการทอดซ้ำมาแล้วได้ เนื่องจากการได้รับน้ำมันที่ผ่านความร้อนมาแล้วเป็นระยะเวลานาน ทำให้เกิดปฏิกิริยา lipid peroxidation นำไปสู่ความผิดปกติของหลอดเลือด และระดับเอนไซม์ที่ควบคุมความดันเลือด โดยทำให้ระดับเอนไซม์ ACE (Angiotensin-Converting Enzyme) เพิ่มขึ้น เอนไซม์นี้จะทำหน้าที่เปลี่ยน angiotensin I ให้เป็น angiotension II (ซึ่งสาร angiotensin II จะทำให้หลอดเลือดหดตัวทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น)


การศึกษาทางคลินิก:
           น้ำมันหอมระเหยจากใบ มีฤทธิ์ป้องกันยุง 3 ชนิดคือ  ยุงลายบ้าน ยุงก้นปล่อง และยุงรำคาญ โดยมีฤทธิ์ป้องกันยุงกัดได้นาน 3 ชั่วโมง

การศึกษาทางพิษวิทยา:
           การทดสอบพิษเฉียบพลันของสารสกัดใบด้วยเอทานอล 50% โดยให้หนูกินในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม (คิดเป็น 357 เท่า เปรียบเทียบกับขนาดรักษาในคน) และให้โดยการฉีดเข้าใต้ผิวหนังหนู ในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ตรวจไม่พบอาการเป็นพิษ (กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, 2546)

 

เอกสารอ้างอิง:

1. กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. 2546. ประมวลผลงานวิจัยด้านพิษวิทยา ของสถาบันวิจัยสมุนไพร เล่ม 1.โรงพิมพ์การศาสนา:กรุงเทพมหานคร.

2. ชนิพรรณ บุตรยี่. การศึกษาชีวภาพความพร้อมและคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระของฟลาโวนอยด์จากใบมะกรูดในหลอดทดลองและศักยภาพในการป้องกันการแตกหักของโครโมโซมในหนูเม้าส์โดยวิธีการตรวจไมโครนิวเคลียสในเม็ดเลือดแดง [วิทยานิพนธ์ปริญญาดุษฎีบัณฑิต]. กรุงเทพฯ. มหาวิทยาลัยมหิดล;2551.

3. Abirami A, Nagarani G, Siddhuraju P. Hepatoprotective effect of leaf extracts from Citrus hystrix and C. maxima against paracetamol induced liver injury in rats. Food Science and Human Wellness. 2015;4:35-41.

4. Siti HN, Kamisah Y, Iliyani MIN, Mohamed S, Jaarin K. Citrus leaf extract reduces blood pressure and vascular damage in repeatedly heated palm oil diet-Induced hypertensive rats. Biomedicine & Pharmacotherapy. 2017;87:451-460.

5. Utthawang W, Ampasavate C, Okonogi S, Rungrojsakul M, Chiampanichayakul S, Tima S, et al. Low doses of partially purified fraction of kaffir lime (Citrus hystrix DC.) leaf extract induce cell death in Molt 4 cells. Journal of Associated Medical Sciences. 2017;50(1):27-37.

จำนวนครั้งที่มีการอ้างอิงหน้าเว็บไซต์นี้: 137
เกี่ยวกับระบบ:

ระบบนี้ถูกพัฒนาต่อยอดมาจาก ระบบฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐาน โดยผู้พัฒนาได้ดำเนินการสร้างหน้า UX/UI ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เป็นรูปแบบเดียวกันกับเว็บไซต์ของคณะเภสัชศาสตร์ มอบ. แต่ยังคงใช้ฐานข้อมูล Database ของฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐานเดิมอยู่