กลอย

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

กลอย

ชื่อสมุนไพร กลอย
ชื่ออื่นๆ มันกลอย กลอยข้าวเหนียว กลอยหัวเหนียว (นครราชสีมา) กลอยนก (เหนือ) กลอยไข่ (ตะวันออกเฉียงเหนือ)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Dioscorea hispida Dennst.
ชื่อพ้อง
ชื่อวงศ์ Dioscoreaceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
             ไม้เถาล้มลุก ไม่มีมือเกาะ มีหัวใต้ดิน ลึกประมาณ 10-15 เซนติเมตร ลำต้นกลมมีหนามเล็กๆกระจายทั่วไป และมีขนนุ่มๆ สีขาวปกคลุม มีรากเจริญเป็นหัวสะสมอาหารอยู่ใต้ดิน หัวใต้ดินส่วนมากกลมรี บางทีเป็นพู มีรากเล็กๆกระจายทั่วทั้งหัว มี 3-5 หัวต่อต้น เปลือกหัวบางสีน้ำตาลออกเหลือง เนื้อในหัวมี 2 ชนิดคือ สีขาว (กลอยหัวเหนียว) และสีครีม (กลอยไข่ กลอยเหลือง) ใบประกอบ เรียงตัวแบบเกลียว ผิวใบสากมือ มีขนปกคลุม มีใบย่อย 3 ใบ ใบกลางแผ่นใบรูปรีแกมขอบขนาน กว้าง 6-15 เซนติเมตร ยาว 8-25 เซนติเมตร ปลายเรียวแหลม โคนแหลม ขอบใบเรียบ เส้นใบนูน ใบย่อย 2 ใบ แผ่นใบรูปไข่ รูปไข่กลับ ขนาดสั้นกว่าใบกลางแต่กว้างกว่า ปลายแหลม โคนกลม เส้นใบออกจากจุดเดียวกัน ก้านใบยาว 10-15 เซนติเมตร ดอกช่อแบบแยกแขนง แยกเพศอยู่คนละต้น ดอกย่อยมีขนาดเล็ก จำนวน 30-50 ดอกสีเขียว ออกตามซอกใบ ห้อยลง ดอกเพศผู้ออกเป็นช่อแยกแขนง 2-3 ชั้น ดอกตั้งขึ้น ยาวได้ถึง 40 เซนติเมตร เกสรเพศผู้จำนวน 6 อัน ดอกเพศเมียออกเป็นช่อชั้นเดียว ดอกชี้ลงดิน กลีบเลี้ยงและกลีบดอกอย่างละ 6 กลีบ เรียงเป็น 2 วง ผลแก่แตกได้ มีสีน้ำผึ้ง มีครีบ 3 ครีบ กว้างประมาณ 2 เซนติเมตร ยาว 5.5 เซนติเมตร แต่ละครีบมี 1 เมล็ด ผิวเกลี้ยง เมล็ดกลมแบน มีปีกบางใสรอบเมล็ด พบตามที่ลุ่มต่ำ ที่รกร้างทั่วไป ป่าเต็งรัง ป่าผสม และป่าดงดิบ ออกดอกช่วงเดือนเมษายนถึงมิถุนายน หัวกลอยให้แป้งมาก แต่มีสารไดออสคอรีน ซึ่งมีผลต่อระบบประสาทส่วนกลางซึ่งอาจทำให้ถึงตายได้ ทำให้เมา คันคอ อาเจียน เหงื่อออก ตาพร่า ใจสั่น วิงเวียน ต้องนำมาทำให้หมดพิษ โดยปอกเปลือกทิ้ง แล้วหั่นเป็นแผ่นบางๆ ใส่ชะลอมหรือตะกร้าแล้วนำไปแช่ทิ้งไว้ให้น้ำไหลผ่าน เช่นน้ำทะเล น้ำตก น้ำห้วย สัก 2-3 วัน ล้างให้สะอาด จึงจะรับประทานได้

 

ลักษณะวิสัย

 

ลักษณะวิสัย

 

ใบ และ หัว

 

หัวใต้ดิน

 

หัว

 

หัว ที่จัดแสดงในงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ

 

หัวใต้ดิน และ ช่อดอก

 

หัว และ ช่อดอก

 

ช่อดอก

 

ช่อดอก

 

ผล

 

ผลแก่

 

ผล และ เมล็ด

 

ผล และ เมล็ด

 

ผล และ เมล็ด

 

 


สรรพคุณ    
             ตำรายาไทย  ใช้  หัวใต้ดิน แก้เถาดาน (อาการแข็งเป็นลำในท้อง) หุงเป็นน้ำมันใส่แผล กัดฝ้า กัดหนอง  ราก บดผสมกับน้ำมันมะพร้าว ใบยาสูบ ใบลำโพงหรือพริก ใช้ทาหรือพอกฆ่าหนอนในแผลสัตว์เลี้ยง หัว ตากแห้ง ปรุงเป็นยาแก้น้ำเหลืองเสีย ขับปัสสาวะ แก้ปวดตามข้อ ฝีมะม่วง โรคซิฟิลิส  
            ตำรายาพื้นบ้านนครราชสีมา  ใช้  หัวใต้ดิน หั่นเป็นแผ่นบางๆปิดบริเวณที่มีอาการบวมอักเสบ


องค์ประกอบทางเคมี            

           เหง้ามีแป้งมาก พบสาร dioscin เป็นสารตั้งต้นในการสังเคราะห์สเตียรอยด์ฮอร์โมนหลายชนิด, น้ำยางจากเหง้ามีสารพิษแอลคาลอยด์ dioscorine

 

 

ข้อมูลเครื่องยา :           phar.ubu.ac.th/herb-thaicrudedrug/

ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง : phar.ubu.ac.th/herb-thaiherbarium/

จำนวนครั้งที่มีการอ้างอิงหน้าเว็บไซต์นี้: 3
เกี่ยวกับระบบ:

ระบบนี้ถูกพัฒนาต่อยอดมาจาก ระบบฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐาน โดยผู้พัฒนาได้ดำเนินการสร้างหน้า UX/UI ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เป็นรูปแบบเดียวกันกับเว็บไซต์ของคณะเภสัชศาสตร์ มอบ. แต่ยังคงใช้ฐานข้อมูล Database ของฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐานเดิมอยู่