แสลงใจ
ชื่อสมุนไพร | แสลงใจ |
ชื่ออื่นๆ | ตูมกาขาว ขี้กา (ตะวันออกเฉียงเหนือ) มะติ่ง มะติ่งต้น มะติ่งหมาก (เหนือ) แสงเบื่อ แสลงเบื่อ แสลงโทน แสลงทม ตูมกาต้น ตึ่ง ตึ่งต้น เม็ดกะจี้ กระดุมสุนัข ถั่วพิษ กระดุมผู้สั่น |
ชื่อวิทยาศาสตร์ | Strychnos nux-blanda A.W. Hill |
ชื่อพ้อง | |
ชื่อวงศ์ | Strychnaceae |
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ผลัดใบ สูงได้ถึง 15 เมตร เปลือกต้นสีเทาอมเหลือง ไม่มีช่องอากาศ เกลี้ยง ไม่มีมือจับ ตามง่ามใบบางครั้งมีหนาม ใบเดี่ยวเรียงตรงข้าม ผิวมันเรียบ สีเขียวเข้ม รูปไข่ รูปรี ค่อนข้างกว้างหรือกลม กว้าง 8-10 เซนติเมตร ยาว 10-14 เซนติเมตร ปลายใบมนหรือเรียวแหลม ปลายสุดมักจะมีติ่งหนาม โคนใบแหลม กลม หรือเว้ารูปหัวใจเล็กน้อย มีเส้นใบตามยาวคมชัด 3-5 เส้น เส้นกลางใบด้านบนแบน หรือเป็นร่องตื้นๆด้านล่างนูน เกลี้ยง หรือมีขนประปรายตามเส้นใบ ก้านใบยาว 5-17 มิลลิเมตร ดอกช่อออกที่ซอกใบแบบกระจุกแยกแขนง ตามยอดหรือปลายกิ่ง ช่อยาว 3-5.5 เซนติเมตร มีดอกจำนวนมาก มีขน ก้านช่อยาว 1-3 เซนติเมตร กลีบดอกสีเหลืองแกมเขียว ถึงขาว ก้านดอกยาวไม่เกิน 2.5 มิลลิเมตร กลีบเลี้ยง 5 กลีบ รูปไข่แคบถึงรูปใบหอก ยาว 1.5-2.2 มิลลิเมตร ด้านนอกมีขนถึงเกลี้ยง ด้านในเกลี้ยง กลีบดอกสีเขียวถึงขาว ยาว 9.4-13.6 มิลลิเมตร โคนติดกันเป็นหลอด ปลายแยก 5 แฉก หลอดยาวกว่าแฉก 3 เท่า ด้านนอกเกลี้ยง หรือมีตุ่มเล็กๆด้านใน บริเวณด้านล่างของหลอดมีขนแบบขนแกะ แฉกมีตุ่มหนาแน่น หนาที่ปลายแฉก เกสรเพศผู้ 5 อัน ไม่มีก้าน ติดอยู่ภายในหลอดดอก อับเรณูรูปขอบขนาน ยาว 1.5-2 มิลลิเมตร เกลี้ยง ปลายมนหรือมีติ่งแหลม เกสรเพศเมียยาว 8-13 มิลลิเมตร เกลี้ยง ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่ม ผลสด รูปทรงกลม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 5-8 เซนติเมตร ขนาดใหญ่กว่าพญามูลเหล็ก เปลือกหนา สาก เมื่อสุกสีส้มถึงแดง ไม่แตก เมล็ดกลมแบนคล้ายกระดุม มี 4-15 เมล็ด ยาว 1.5-2.2 เซนติเมตร หนา 5-15 มิลลิเมตร ผิวมีขนสีอมเหลือง เมล็ดมีพิษเมาเบื่อ ทำให้ตายได้ พบตามป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าดงดิบแล้ง และป่าหญ้าที่ค่อนข้างแห้ง ที่สูงจากระดับน้ำทะเล 100-500 เมตร ออกดอกราวเดือนมีนาคมถึงเมษายน ผลแก่จัดเดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฎาคม
ลักษณะวิสัย
ใบ
ดอก
ผล
เมล็ด
สรรพคุณ
ทุกส่วนของต้นมีพิษ เป็นยาอันตรายมาก การนำมาทำเป็นยาต้องฆ่าฤทธิ์ ตามกรรมวิธีในหลักเภสัชกรรมไทยเสียก่อน
ยาสมุนไพรพื้นบ้านจังหวัดอุบลราชธานี ใช้ แก่น เข้ายากับเครือกอฮอ ต้มน้ำดื่ม แก้เบาหวาน ลำต้น ต้มน้ำดื่ม แก้พิษภายใน
ยาพื้นบ้าน ใช้ ราก ผสมกับต้นกำแพงเจ็ดชั้น รากชะมวง และรากปอด่อน ต้มน้ำดื่ม เป็นยาระบาย ต้น ต้มน้ำดื่ม หรือฝนทา แก้ปวดตามข้อ แก้อักเสบจากงูกัด เปลือกต้น รสเมาเบื่อ แก้พิษสัตว์กัดต่อย พิษงูกัด ฝนกับสุราปิดแผล และรับประทานแก้พิษงู ในกรณีแก้อักเสบจากงูพิษกัด อาจใช้สมุนไพรก่อนแล้วรีบนำส่งโรงพยาบาล ผสมกับรำให้ม้ากิน ขับพยาธิตัวตืด เปลือกต้นผสมกับผลปอพราน และเหง้าดองดึงคลุกให้สุนัขกินเป็นยาเบื่อ
ตำรายาไทย เรียกเมล็ดแก่แห้งว่า “โกฐกะกลิ้ง” ใช้เป็นยาขมเจริญอาหาร บำรุงหัวใจ ขับน้ำย่อย เมล็ด มีพิษมากต้องระมัดระวังในการใช้ ทางยา เมล็ดมีรสเมาเบื่อขมจัด บำรุงธาตุ บำรุงหัวใจให้เต้นแรง แก้อัมพาต แก้อิดโรย แก้ไข้เจริญอาหาร ขับน้ำย่อย กระตุ้นประสาทส่วนกลาง บำรุงประสาท หูตาจมูก บำรุงเพศของบุรุษ บำรุงกล้ามเนื้อกระเพาะอาหาร ลำไส้ ให้แข็งแรง แก้โรคอันเกิดจากปากคอพิการ ขับพยาธิ ขับปัสสาวะ แก้พิษงู พิษตะขาบแมลงป่อง แก้ลมกระเพื่อมในท้อง แก้คลื่นไส้ แก้ลมพานไส้ แก้ริดสีดวงทวาร แก้โลหิตพิการ ทำให้ตัวเย็น แก้ลมคูถทวาร ขับลมในลำไส้ แก้หนองใน แก้ไตพิการ แก้เส้นตาย แก้เหน็บชา แก้เนื้อชา แก้กระษัย แก้ปวดเมื่อย ราก รสเมาเบื่อ แก้ไข้มาลาเรีย ฝนน้ำกิน และทาแก้อักเสบจากงูกัด แก่น รสเมาเบื่อ แก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย ใบ รสเมาเบื่อ ตำพอกแก้ฟกบวม ตำพอกแก้แผลเน่าเปื่อยเรื้อรัง เนื้อไม้ เป็นยาแก้ไข้ แก้พิษร้อน ทำให้เจริญอาหาร บำรุงประสาท แก้ไข้เซื่องซึม
องค์ประกอบทางเคมี
ทุกส่วนของต้น และเมล็ด มีอัลคาลอยด์ เมล็ดมีอัลคอลอย์สตริกนีน (strychnine) และ brucine อัลคาลอยด์ strychnine เป็นสารมีพิษ มีฤทธิ์กระตุ้นประสาทส่วนกลาง ทำให้เกิดความรู้สึกไวกว่าปกติ กลืนลำบาก กล้ามเนื้อแข็งเกร็ง ชักกระตุก เนื้อในผลสุก พบไกลโคไซด์ laganin ทำให้มีรสขม
อาการพิษ
ส่วนของเมล็ด ดอก ถ้ารับประทานเข้าไปทำให้กล้ามเนื้อกระตุก เกร็ง กลืนลำบาก ขาสั่น ชักอย่างแรง หัวใจเต้นแรง ขากรรไกรแข็งและตายได้ ในกรณีไม่ตายพบว่ามีไข้ ตัวชา กล้ามเนื้อเกร็ง หัวใจเต้นเร็ว และเหงื่อออกมากติดต่อกันหลายวัน ขนาดรับประทาน 60-90 มิลลิกรัม ทำให้ตายได้
ข้อมูลเครื่องยา : phar.ubu.ac.th/herb-thaicrudedrug/
ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง : phar.ubu.ac.th/herb-thaiherbarium/