การบูร
ชื่อสมุนไพร | การบูร |
ชื่ออื่นๆ | อบเชยญวน พรมเส็ง |
ชื่อวิทยาศาสตร์ | Cinnamomum camphora (L.) J. Presl. |
ชื่อพ้อง | Camphora camphora (L.) H.Karst., Camphora hahnemannii Lukman., Camphora hippocratei Lukman., Camphora officinarum Nees, Camphora vera Raf., Camphorina camphora (L.) Farw., Cinnamomum camphoriferum St.-Lag., Cinnamomum camphoroides Hayata, Cinnamomum nominale (Hats. & Hayata) Hayata, Cinnamomum officinarum Nees ex Steud., Laurus camphora L., Persea camphora |
ชื่อวงศ์ | Lauraceae |
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์:
ไม้ยืนต้น ขนาดใหญ่ สูงได้ถึง 30 เมตร ทุกส่วนมีกลิ่นหอม โดยเฉพาะที่ราก และโคนต้น ทรงพุ่มกว้าง ทึบ ลำต้นมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางถึง 1.5 เมตร เปลือกต้นสีน้ำตาล ผิวหยาบ เปลือกกิ่งสีเขียว หรือน้ำตาลอ่อน ลำต้นและกิ่งเรียบ ไม่มีขน เนื้อไม้สีน้ำตาลปนแดง ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ รูปรี หรือรูปรีแกมรูปไข่ กว้าง 2.5-5.5 เซนติเมตร ยาว 5.5-15 เซนติเมตร ปลายใบเรียวแหลม โคนใบป้านหรือกลม ขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย แผ่นใบค่อนข้างเหนียว ด้านบนสีเขียวเข้ม เป็นมัน ด้านล่างสีเขียวอมเทาหรือนวล ไม่มีขน เมื่อขยี้จะมีกลิ่นหอมคล้ายกลิ่นการบูร เส้นใบขึ้นตรงมาจากโคนใบประมาณ 3-8 มิลลิเมตร แล้วแยกออกเป็น 3 เส้น ตรงมุมที่มีเส้นใบแยกออกนั้นมีต่อม 2 ต่อม และตามเส้นกลางใบอาจมีต่อมเกิดขึ้นตรงมุมที่มีเส้นใบแยกออกไป ก้านใบยาว 2-3 เซนติเมตร ไม่มีขน ตาใบมีเกล็ดซ้อนเหลื่อมหุ้มอยู่ เกล็ดชั้นนอกเล็กกว่าเกล็ดชั้นในตามลำดับ ดอกช่อแบบแยกแขนงออกตามเป็นกระจุกบริเวณง่ามใบ ดอกเล็กสีขาวอมเหลืองหรืออมเขียว ก้านดอกสั้นมาก กลีบรวมมี 6 กลีบ เรียงเป็น 2 วง วงละ 3 กลีบ รูปรี ปลายมน ด้านนอกเกลี้ยง ด้านในมีขนละเอียด เกสรเพศผู้มี 9 อัน เรียงเป็น 3 วง วงละ 3 อัน อับเรณูของวงที่ 1 และวงที่ 2 หันหน้าเข้าด้านใน ก้านเกสรมีขน ส่วนอับเรณูของวงที่ 3 หันหน้าออกด้านนอก ก้านเกสรค่อนข้างใหญ่ มีต่อม 2 ต่อมอยู่ใกล้โคนก้าน ต่อมรูปไข่กว้างและมีก้าน อับเรณูมีช่องเปิด 4 ช่อง เรียงเป็น 2 แถว แถวละ 2 ช่อง มีลิ้นเปิดทั้ง 4 ช่อง เกสรเพศผู้เป็นหมันมี 3 อัน อยู่ด้านในสุด รูปร่างคล้ายหัวลูกศร มีขนแต่ไม่มีต่อม รังไข่รูปไข่ ไม่มีขน ก้านเกสรเพศเมียยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร ไม่มีขน ปลายเกสรเพศเมียกลม ใบประดับเรียวยาว ร่วงง่าย มีขนอ่อนนุ่ม ผลรูปไข่ หรือกลม เป็นผลมีเนื้อ ยาว 6-10 มิลลิเมตร สีเขียวเข้ม เมื่อสุกเปลี่ยนเป็นสีดำ มีฐานดอกซึ่งเจริญเติบโตขึ้นมาเป็นแป้นรองรับผล มีเมล็ด 1 เมล็ด ออกดอกราวเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม
ลักษณะวิสัย
เปลือกลำต้น
ลำต้น (ต้นที่มีอายุมาก)
ใบ
ยอดอ่อน
ใบและดอก
กิ่ง และ ดอกตูม
ใบ และ ดอก
ดอกตูม
ดอก
ดอก
ผล
สรรพคุณ:
ตำรายาไทย เนื้อไม้ นำมากลั่นจะได้ “การบูร” รสร้อนปร่าเมา ใช้ทาถูนวดแก้ปวด แก้เคล็ดบวม ขัดยอก แพลง แก้กระตุก แก้ปวดข้อ แก้ปวดเส้นประสาท แก้รอยผิวหนังแตก แก้พิษแมลงต่อย และโรคผิวหนังเรื้อรัง เป็นยาระงับเชื้ออย่างอ่อน ขับเหงื่อ ขับเสมหะ ขับปัสสาวะ แก้ไข้หวัด และขับลม บำรุงธาตุ บำรุงกำหนัด ยากระตุ้นหัวใจ บำรุงหัวใจ เป็นยาชาเฉพาะที่ เป็นยาระงับประสาท แก้อาการชักบางประเภท ใช้ผสมเป็นยาเพื่อป้องกันแมลงบางชนิด เปลือกและราก กลั่นได้การบูร ใช้ 1-2 เกรน แก้ปวดขัดตามเส้นประสาท ข้อบวมเป็นพิษ แก้เคล็ดบวม เส้นสะดุ้ง กระตุก ขัดยอกแพลง แก้ปวดท้อง ท้องร่วง ขับน้ำเหลือง แก้เลือดลม บำรุงกำหนัด ขับเหงื่อ ขับเสมะหะ บำรุงธาตุ แก้โรคตา กระจายลม ขับผายลม นำมาผสมเป็นขี้ผึ้ง เป็นยาร้อน ใช้ทาแก้เพื่อถอนพิษอักเสบเรื้อรัง ปวดยอกตามกล้ามเนื้อ สะบักจม ทรวงอก ปวดร้าวตามเส้นเอ็น โรคปวดผิวหนัง รอยผิวแตกในช่วงฤดูหนาว แก้พิษสัตว์กัดต่อย
องค์ประกอบทางเคมี:
เนื้อไม้ เมื่อนำมากลั่นด้วยไอน้ำได้การบูร และน้ำมันหอมระเหย รวมกันประมาณ 1% ประกอบด้วย limonene, p-cymol, orthodene, salvene, caryophyllen, linalool, cineole, eugenol, acetaldehyde และ betelphenol ราก มีน้ำมันหอมระเหย 3% ประกอบด้วย camphor, safrole, carvacrol, phellandene, limonene, pinene, camphene, fenochen, cadinene, azulene, citronellol, piperonylic acid, cineol, terpineol, piperiton, citronellic acid ใบ พบ camphor, camperol, pinoresinol
การศึกษาทางเภสัชวิทยา:
ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย
การทดสอบฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียของสาร pinoresinol ที่ได้จากใบการบูร ทำการศึกษาในหลอดทดลอง ตรวจสอบโดยวิธี broth dilution method เพื่อหาค่าความเข้มข้นต่ำสุดที่ยับยั้งเชื้อ (MIC) และความเข้มข้นต่ำสุดที่ฆ่าเชื้อ (MBC) ทดสอบด้วยวิธี disk diffusion method เพื่อหาค่าบริเวณใสในการยับยั้งเชื้อ (zone of inhibition) เชื้อที่ใช้ทดสอบคือเชื้อแบคทีเรียที่ปนเปื้อนในอาหาร 5 ชนิด ได้แก่เชื้อแบคทีเรียแกรมลบ 3 ชนิด คือ Escherichia coli ATCC 25922, Pseudomonas aeruginosa ATCC 27853 และ Salmonella enterica ATCC 14028) และเชื้อแบคทีเรียแกรมบวก 2 ชนิด คือ Staphylococcus aureus ATCC 25925 และ Bacillus subtilis ATCC 6633 ผลการทดสอบพบว่าสาร pinoresinol ที่ได้จากใบการบูรมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อทั้งหมดได้อย่างสมบูรณ์ที่ความเข้มข้น 62.5 µg/mLค่า MIC ต่อเชื้อทั้ง 5 ชนิด เท่ากับ 31.25, 7.80, 31.25, 15.60 และ 3.90 µg/ml ตามลำดับ ค่า MBC ต่อเชื้อทั้ง 5 ชนิด เท่ากับ 62.50, 15.60, 62.50, 31.25 และ 7.80 µg/ml ตามลำดับ โดยสรุปสาร pinoresinol ออกฤทธิ์ยับยั้ง และฆ่าเชื้อ B. subtilis ได้ดีที่สุด รองลงมาคือเชื้อ P. aeruginosa ซึ่งเชื้อทั้งสองชนิดมักเป็นสาเหตุให้อาหารบูดเสีย โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ การศึกษากลไกการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อ P. aeruginosa และ B. subtilis ตรวจสอบโดยใช้การย้อมสีแกรม และการสแกนด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน พบว่าสาร pinoresinol 1 x MIC value เมื่อสัมผัสกับเชื้อเป็นเวลา 10 ชั่วโมง ทำให้เซลล์มีการเปลี่ยนรูป และหดตัว มีการเกาะกลุ่มกัน ผนังเซลล์รั่ว พบการรั่วซึมของแซ็กคาไรด์ที่ละลายได้ และโปรตีนจากผนังเซลล์ โดยสรุปสาร pinoresinol มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย และมีศักยภาพในการนำไปพัฒนาเป็นสารกันเสียที่ได้จากธรรมชาติต่อไป (Zhou, et al., 2017)
ฤทธิ์ต้านการอักเสบ
ศึกษาฤทธิ์ต้านการอักเสบในหลอดทดลองของการบูร โดยนำสารสกัดหยาบจากใบการบูร สกัดด้วย 80% methanol แล้วนำสารสกัดที่ได้ มาผ่านการแยกโดยใช้ hexane และ ethyl acetate (EtOAc) จากการทดลองพบว่าสารสกัด hexane และ EtOAc ขนาด 100 μg/ml ของการบูร สามารถยับยั้งการสร้างสารที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบได้แก่ interleukin (IL)-1b, IL-6 และ tumor necrosis factor (TNF-α) จากเซลล์แมคโครฟาจ RAW 264.7 cells ของหนู ซึ่งถูกกระตุ้นโดย lipopolysaccharide (LPS) ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติได้ในช่วง 20-70% และสามารถยับยั้งการสร้าง nitric oxide (NO) ซึ่งเป็นสารที่กระตุ้นให้เกิดการอักเสบ ได้ 65% สารสกัดหยาบด้วย 80% methanol และส่วนสกัดย่อย hexane และ ethyl acetate สามารถยับยั้งการสร้าง prostaglandin E2 (PGE2) ซึ่งเป็นสารที่เกิดขึ้นในขบวนการอักเสบ ในเซลล์ macrophages ของหนูที่ถูกกระตุ้นด้วย LPS หรือ IFN-gamma ได้ 70% และสารสกัด hexane และ ethyl acetate ในขนาด 100 μg/ml สามารถยับยั้งการกระตุ้น β1-integrins (CD29) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการยับยั้งไม่ให้เกิดการรวมกลุ่มของโมเลกุล และเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันที่จะมารวมตัวกันบริเวณที่เกิดการอักเสบ โดยสามารถยับยั้งได้ 70-80% ดังนั้นจึงสรุปได้ว่าสารสกัดจากใบการบูรมีฤทธิ์ต้านการอักเสบโดยเกี่ยวข้องกับการยับยั้ง cytokine, NO และ PGE2 (Lee, et al, 2006)
เอกสารอ้างอิง:
1. Lee HJ, Hyun E-A, Yoon WJ, Kim BH, Rhee M, Kang HK, et al. In vitro anti-inflammatory and anti-oxidative effects of Cinnamomum camphora extracts. J Ethnopharmacology. 2006;103: 208–216.
2. Zhou H, Ren J, Li Z. Antibacterial activity and mechanism of pinoresinol from Cinnamomum camphora leaves against food-related bacteria. Food Control. 2017;79:192-199.
ข้อมูลเครื่องยา : phar.ubu.ac.th/herb-thaicrudedrug/
ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง : phar.ubu.ac.th/herb-thaiherbarium/
ข้อมูลตำรับยาธาตุบรรจบ : phar.ubu.ac.th/herb-thairemedy/
ข้อมูลตำรับยาแก้ลมอัมพฤกษ์ : phar.ubu.ac.th/herb-thairemedy/
ข้อมูลตำรับยาประสะไพล : phar.ubu.ac.th/herb-thairemedy/
ข้อมูลตำรับยาเลือดงาม : phar.ubu.ac.th/herb-thairemedy/