ลิเภา

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

ลิเภา

ชื่อสมุนไพร ลิเภา
ชื่ออื่นๆ กูดเครือ กูดก้อง กูดงอดแงด กูดแพะ กูดย่อง ผักตีน ต๊กโต (เหนือ); หมอยยายชี(สท); ตีนตะขาบ (พจ); กระฉอก (ประจวบคีรีขันธ์); กะฉอด(ราชบุรี); ตะเภาขึ้นหน (ประจวบคีรีขันธ์, ใต้); เฟิร์นตีนมังกร (กรุงเทพมหานคร); ลิเภาใหญ่ (ปน); หมอยแม่ม่าย (ราชบุรี นครราชสีมา); หลีเภา (ใต้); ลิเภาย่อง กูดก๊อง ย่านลิเภา หญ้ายายเภา สายพานผี งอแง
ชื่อวิทยาศาสตร์ Lygodium polystachyum Wall.ex Moore
ชื่อพ้อง Lygodium flexuosm
ชื่อวงศ์ Schizaeaceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
             เป็นเฟิร์นชนิดหนึ่ง เลื้อยพาดพันต้นไม้อื่นยาวหลายเมตร ลำต้นเป็นเหง้าสั้น มีขนสีน้ำตาลเข้มหนาแน่น ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 3-6 มิลลิเมตร ไม่มีเกล็ด ลำต้นเมื่อแก่มีสีดำเป็นมัน ใบประกอบแบบขนนกสองชั้น แกนกลางมีลักษณะเป็นเถาเลื้อย แกนกลางใบประกอบชั้นที่หนึ่งชัดเจน โคนก้านใบสีน้ำตาล ส่วนบนสีเหลืองน้ำตาล มีขนสีน้ำตาล มีปีกแผ่ยื่นออกมาไม่ชัดเจนหรือไม่มี ใบย่อยเรียงแบบสลับบนแกนกลางของใบ ใบย่อยที่ไม่สร้างสปอร์ ก้านใบย่อยยาว 2-4 มิลลิเมตร แผ่นใบย่อยรูปหอก ยาว 4-7 เซนติเมตร กว้าง 1-2 เซนติเมตร ฐานใบรูปหัวใจ ปลายใบมนหรือแหลม ขอบใบหยักเว้าเป็นฟันปลา ผิวใบมีขนใส แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ ผิวใบด้านบนเกลี้ยง ด้านล่างมีขนประปรายตามเส้นใบ ใบย่อยที่สร้างสปอร์อยู่กลางเถาขึ้นไป แอนนูลัสประกอบด้วยเซลล์เพียงแถวเดียว เรียงตัวในแนวขวาง และอยู่ตรงยอดของอับสปอร์ เยื่อคลุมกลุ่มอับสปอร์เทียม มีลักษณะ เป็นถุงเรียงซ้อนกัน และมีขนใส กลุ่มสปอร์เกิดที่ขอบใบย่อย ยาวได้ถึง 1 เซนติเมตร กว้าง 1.5 มิลลิเมตร พบตามป่าเขาทั่วๆไป ป่าผลัดใบ หรือป่าดงดิบ ป่าเบญจพรรณ และป่าผลัดใบผสมทุกภาคของประเทศ ใบอ่อนและยอดอ่อนใช้ประกอบอาหาร เช่น แกง ผัด หรือต้ม ต้นใช้ทำเชือก สานทำกระเป๋า ตะกร้า

 

ลักษณะวิสัย

 

ใบ

 

ใบ


สรรพคุณ    
              ตำรายาไทย  ใช้ ทั้งเถา รสจืดเย็น ปรุงยาแก้พิษฝีภายใน ฝีภายนอก ขับเสมหะ ใช้เถาฝน พอกปิดแผลที่ถูกอสรพิษขบกัดต่อย เป็นยาถอนพิษ แก้ฟกบวมทำให้เย็น ใบ มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย
              ยาพื้นบ้านล้านนา  ใช้ ต้น ใบ ผสมหัวยาข้าวเย็น ต้มน้ำดื่มต่างน้ำชา แก้ปวดเมื่อยในผู้สูงอายุ     
              ชาวเขาเผ่าอีก้อ แม้ว มูเซอ เย้า  ใช้ ราก ลำต้น เหง้า ทั้งต้น ต้มน้ำดื่ม แก้เจ็บคอ เสียงแหบ ปวดหลัง ขับปัสสาวะ รักษาโรคทางเดินปัสสาวะ นิ่วในไต เลือดตกใน ใบ ตำพอก แก้อักเสบจากงู ตะขาบ แมงป่อง และแมลงมีพิษกัดต่อย ป้องกันอาการปวดข้อ อาการแพลง โรคหิด ผื่นแดง บาดแผล ฝีฝักบัว และแผลพุพอง

ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา
               สารสกัดทั้งต้นด้วยแอลกอฮอล์มีฤทธิ์ทำให้หนูและกระต่ายแท้ง

 

ข้อมูลเครื่องยา :           phar.ubu.ac.th/herb-thaicrudedrug/

ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง : phar.ubu.ac.th/herb-thaiherbarium/

จำนวนครั้งที่มีการอ้างอิงหน้าเว็บไซต์นี้: 9
เกี่ยวกับระบบ:

ระบบนี้ถูกพัฒนาต่อยอดมาจาก ระบบฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐาน โดยผู้พัฒนาได้ดำเนินการสร้างหน้า UX/UI ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เป็นรูปแบบเดียวกันกับเว็บไซต์ของคณะเภสัชศาสตร์ มอบ. แต่ยังคงใช้ฐานข้อมูล Database ของฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐานเดิมอยู่