ปลาไหลเผือก

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

ปลาไหลเผือก

ชื่อสมุนไพร ปลาไหลเผือก
ชื่ออื่นๆ กรุงบาดาล (สุราษฎร์ธานี); คะนาง, ชะนาง (ตราด); ตรึงบาดาล (ปัตตานี); ตุงสอ, แฮพันชั้น (ภาคเหนือ); เพียก (ภาคใต้); หยิกบ่อถองหรือหยิกไม่ถึง, เอียนด่อน (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ); ไหลเผือก (ตรัง);หมุนขึ้น
ชื่อวิทยาศาสตร์ Eurycoma longifolia Jack.
ชื่อพ้อง Eurycoma latifolia Ridl., Eurycoma longifolia var. cochinchinensis Pierre, Eurycoma merguensis
ชื่อวงศ์ Simaroubaceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
             ไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็ก ลำต้นตั้งตรง สูง 1-10 เมตร เปลือกสีน้ำตาล เป็นไม้ลงราก รากกลมโตสีขาวยาว กิ่งอ่อนมีขนสีน้ำตาล กิ่งก้านสั้นเป็นกระจุกที่ปลายยอดของลำต้น แตกกิ่งก้านน้อย ก้านใบออกจากลำต้นตรงส่วนปลาย เรียงหนาแน่นช่วงปลายกิ่ง ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงเวียน ใบประกอบยาวได้กว่า 35 เซนติเมตร ใบย่อย 8-13 คู่ เรียงตรงข้ามหรือเกือบตรงข้าม รูปใบหอกแกมรูปไข่กลับหรือรูปขอบขนานแกมรูปไข่ เรียวยาว ใบย่อยเรียงแบบตรงข้าม กว้าง 1-3 เซนติเมตร ยาว 5-10 เซนติเมตร เส้นแขนงใบข้างละ 8-12 เส้น ปลายใบแหลม ฐานใบมน ขอบใบเรียบ โคนใบเบี้ยว เส้นใบเห็นไม่ชัดเจน ปลายโค้งจรดกัน เส้นกลางใบนูนเล็กน้อยด้านบน นูนเด่นชัดด้านล่าง ไม่มีก้านใบย่อย แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง ผิวใบเรียบเป็นมัน ผิวด้านบนเกลี้ยง ด้านล่างมีขนประปราย ก้านช่อใบยาว 7-15 เซนติเมตร ดอกช่อแบบแยกแขนง ออกเป็นกระจุกที่ปลายกิ่ง และซอกใบ เป็นช่อพวงใหญ่ ยาวได้ถึง 30 เซนติเมตร ดอกแยกเพศร่วมต้น หรือแยกเพศต่างต้น มีขนละเอียดและขนสั้นเป็นต่อมกระจาย ทั้งก้านช่อดอก ก้านดอก ใบประดับ และกลีบเลี้ยง มีขนประปรายและมีขนต่อมเป็นกระจุก กลีบดอก 5 กลีบ สีม่วงปนแดง เส้นผ่าศูนย์กลางดอก 6-7 มิลลิเมตร กลีบดอกรูปใบหอกหรือรูปขอบขนานแกมรูปไข่ กว้าง 2 มิลลิเมตร ยาว 4-5 มิลลิเมตร กลีบดอกแยกจากกันเป็นอิสระ เกสรเพศผู้ยาวมี 5-6 อัน ยาว 1.5-2.5 มิลลิเมตร ติดสลับกับกลีบดอก โคนก้านชูอับเรณูมีรยางค์และมีขน เกสรเพศผู้ที่เป็นหมันในดอกเพศเมียขนาดเล็ก ยาวประมาณ 0.5 มิลลิเมตร ในดอกเพศผู้ยาวได้ถึง 2 ดอกเพศเมีย รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี 5-6 คาร์เพล แยกจากกัน แต่ละอันมี 1 ช่อง มีออวุล 1 เม็ด  ก้านเกสรเพศเมียเรียวยาว เชื่อมกันหรือแนบชิดกัน ติดเหนือรังไข่ประมาณ 1 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร ยอดเกสรรูปโล่ มี 5-6 แฉก ชี้ขึ้น ยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร ก้านดอกยาวประมาณ 7 มิลลิเมตร ใบประดับรูปสามเหลี่ยมขนาดเล็ก ยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร ร่วงง่าย กลีบเลี้ยง 5 กลีบ รูปสามเหลี่ยม กว้าง 1 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร หลอดกลีบเลี้ยงสั้น โคนเชื่อมติดกันเล็กน้อย ผลทรงกลม เป็นพวง มีประมาณ 5 ผลย่อย ทรงรีหรือรูปไข่ กว้าง 8-12 มิลลิเมตร ยาว 1-2 เซนติเมตร ผนังผลชั้นในแข็ง ก้านผลยาวประมาณ 3 มิลลิเมตร เปลือกนอกบาง กลางผลมีร่องตื้นๆตามยาว ผลแก่สีแดงถึงม่วงดำ เมล็ดรูปรีมี 1 เมล็ด ออกดอกช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงมกราคม พบขึ้นกระจายในป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง และป่าดิบชื้น ระดับความสูงจนถึงประมาณ 700 เมตร ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด

 

ลักษณะวิสัย

 

ลักษณะวิสัยที่พบในป่า

 

เปลือกลำต้น

 

ใบ

 

ยอด

 

ช่อดอก

 

ช่อดอก

 

ดอก

 

ช่อผล

 

ช่อผล

 

ผล

 

สรรพคุณ    
              ยาสมุนไพรพื้นบ้านจังหวัดอุบลราชธานี  ใช้ ราก ต้มน้ำดื่ม แก้ไข้ ฝนน้ำดื่ม แก้ปวดท้อง ราก นำไปเข้ายาบำรุงกำลัง นำรากผสมกับรากโลดทะนงแดง และพญาไฟ ฝนน้ำดื่ม แก้ไข้ ใช้เลิกเหล้า รากผสมรากย่านางแดง และพญายา ฝนน้ำกินขับพิษ รากผสมกับรากโลดทะนงแดงและพญาไฟ ฝนน้ำกิน ทำให้อาเจียน ใช้เลิกเหล้า
              ตำรายาไทย  ใช้ ราก รสขม เบื่อเมาเล็กน้อย ถ่ายพิษต่างๆ ถ่ายฝีในท้อง ถ่ายพิษไข้พิษเสมหะ และโลหิต แก้ไข้ แก้ไข้มาลาเรีย ตัดไข้ทุกชนิด แก้ลม แก้วัณโรคระยะบวม ขับเหงื่อ ขับพยาธิ แก้ต่อมทอนซิลอักเสบ แก้เจ็บคอ ความดันเลือดสูง อัมพาต ขับถ่ายน้ำเหลือง แก้ท้องผูก
              ประเทศมาเลเซีย  ใช้ ราก  ช่วยเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ บำรุงหลังคลอดบุตร ใช้ภายนอกเป็นยาพอกแก้ปวดหัว ปิดบาดแผลพุพอง และยังมีสรรพคุณหลายประการ เช่น มีคุณสมบัติต้านเชื้อไวรัส เชื้อไข้มาเรีย ลดอาการไข้ ต้านโรคของอาการภูมิแพ้ต่างๆ ต้านเซลล์มะเร็ง และความดันโลหิตสูง เป็นที่นิยมมากในมาเลเซีย


องค์ประกอบทางเคมี    
             มีสารออกฤทธิ์ที่มีรสขม ได้แก่  eurycomalactone, eurycomanol, eurycomanone มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อมาเลาเรียฟัลซิพารัมในหลอดทดลอง

 

ข้อมูลเครื่องยา :           phar.ubu.ac.th/herb-thaicrudedrug/

ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง : phar.ubu.ac.th/herb-thaiherbarium/

จำนวนครั้งที่มีการอ้างอิงหน้าเว็บไซต์นี้: 14
เกี่ยวกับระบบ:

ระบบนี้ถูกพัฒนาต่อยอดมาจาก ระบบฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐาน โดยผู้พัฒนาได้ดำเนินการสร้างหน้า UX/UI ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เป็นรูปแบบเดียวกันกับเว็บไซต์ของคณะเภสัชศาสตร์ มอบ. แต่ยังคงใช้ฐานข้อมูล Database ของฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐานเดิมอยู่