ปลาไหลเผือก
ชื่อเครื่องยา | ปลาไหลเผือก |
ชื่ออื่นๆของเครื่องยา | |
ได้จาก | ราก |
ชื่อพืชที่ให้เครื่องยา | ปลาไหลเผือก |
ชื่ออื่น (ของพืชที่ให้เครื่องยา) | กรุงบาดาล (สุราษฎร์ธานี); คะนาง, ชะนาง (ตราด); ตรึงบาดาล (ปัตตานี); ตุงสอ, แฮพันชั้น (ภาคเหนือ); เพียก (ภาคใต้); หยิกบ่อถองหรือหยิกไม่ถึง, เอียนด่อน (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ); ไหลเผือก (ตรัง);หมุนขึ้น |
ชื่อวิทยาศาสตร์ | Eurycoma longifolia Jack |
ชื่อพ้อง | Eurycoma latifolia Ridl., Eurycoma longifolia var. cochinchinensis Pierre, Eurycoma merguensis |
ชื่อวงศ์ | Simaroubaceae |
ลักษณะภายนอกของเครื่องยา:
รากกลมโต สีขาว สีขาวนวล รากที่มีอายุหลายปีจะมีความยาวมาก อาจยาวมากกว่า 2 เมตร รากมีรสขม เบื่อเมาเล็กน้อย
เครื่องยา ปลาไหลเผือก
เครื่องยา ปลาไหลเผือก
เครื่องยา ปลาไหลเผือก
เครื่องยา ปลาไหลเผือก
ลักษณะทางกายภาพและเคมีที่ดี:
ปริมาณความชื้นไม่เกิน 8% w/w ปริมาณสิ่งแปลกปลอมไม่เกิน 2 % w/w ปริมาณเถ้ารวมไม่เกิน 4% w/w ปริมาณเถ้าที่ไม่ละลายในกรด ไม่เกิน 2.0% w/w ปริมาณสารสกัดเอทานอลไม่น้อยกว่า 2% w/w ปริมาณสารสกัดน้ำไม่น้อยกว่า 7% w/w (THP)
สรรพคุณ:
ตำรายาไทย: ใช้ ราก รสขม เบื่อเมาเล็กน้อย ถ่ายพิษต่างๆ ถ่ายฝีในท้อง ถ่ายพิษไข้พิษเสมหะ และโลหิต แก้ไข้ แก้ไข้มาลาเรีย ตัดไข้ทุกชนิด แก้ลม แก้วัณโรคระยะบวม ขับเหงื่อ ขับพยาธิ แก้ต่อมทอนซิลอักเสบ แก้เจ็บคอ ความดันเลือดสูง อัมพาต ขับถ่ายน้ำเหลือง แก้ท้องผูก
ยาสมุนไพรพื้นบ้านจังหวัดอุบลราชธานี: ใช้ ราก ต้มน้ำดื่ม แก้ไข้ ฝนน้ำดื่ม แก้ปวดท้อง
ราก นำไปเข้ายาบำรุงกำลัง นำรากผสมกับรากโลดทะนงแดง และพญาไฟ ฝนน้ำดื่ม แก้ไข้ ใช้เลิกเหล้า รากผสมรากย่านางแดง และพญายา ฝนน้ำกินขับพิษ รากผสมกับรากโลดทะนงแดงและพญาไฟ ฝนน้ำกิน ทำให้อาเจียน ใช้เลิกเหล้า
นอกจากนั้นยังใช้เป็นส่วนประกอบในตำรับยาแผนโบราณ ได้แก่ “ยาสามราก” (ประกอบด้วยรากพืช 3 ชนิดคือ รากโลดทะนง รากฮังฮ้อน และรากปลาไหลเผือก) ทำให้อาเจียน และถ่าย ใช้ล้างพิษยาเสพติด ใช้บำบัดผู้ที่ติดยาเสพติด และแก้อาการลงแดงจากยาเสพติด โดยยานี้จะทำให้อาเจียน และถอนพิษยา
เข้าตำรับ “ยาประสะเหมือดคน” แก้ไข้ แก้ร้อนใน นอกจากนั้นยังใช้รากมาผสมหญ้าแห้วหมู และรากผักติ้ว ต้มน้ำดื่มแก้ปัสสาวะขัด เป็นส่วนประกอบใน ”ตำรับยาจันทน์ลีลา” ใช้รักษาไข้ตัวร้อน ไข้เปลี่ยนฤดู
ประเทศมาเลเซีย: ใช้ ราก ช่วยเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ บำรุงหลังคลอดบุตร ใช้ภายนอกเป็นยาพอกแก้ปวดหัว ปิดบาดแผลพุพอง และยังมีสรรพคุณหลายประการ เช่น มีคุณสมบัติต้านเชื้อไวรัส เชื้อไข้มาเรีย ลดอาการไข้ ต้านโรคของอาการภูมิแพ้ต่างๆ ต้านเซลล์มะเร็ง และความดันโลหิตสูง เป็นที่นิยมมากในมาเลเซีย
รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา:
ตำรายาไทยใช้รากแก้ไข้ โดยใช้รากแห้งครั้งละ 1 กำมือ (หนัก 8-15 กรัม) ต้มกับน้ำดื่มก่อนอาหาร วันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น
องค์ประกอบทางเคมี:
มีสารออกฤทธิ์ที่มีรสขมกลุ่ม quassinoids ได้แก่ eurycomalactone, eurycomanol, eurycomanone มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อมาเลาเรียฟัลซิพารัมในหลอดทดลอง
การศึกษาทางเภสัชวิทยา:
มีฤทธิ์ลดไข้ ต้านมาลาเรีย มีฤทธิ์กระตุ้นความรู้สึกทางเพศของหนูตัวผู้ ลดความวิตกกังวล เป็นพิษต่อเซลล์มะเร็ง ต้านการก่อเกิดเนื้องอก ลดน้ำตาลในเลือด
การศึกษาทางคลินิก:
ไม่มีข้อมูล
การศึกษาทางพิษวิทยา:
การทดสอบพิษเฉียบพลันของสารสกัดรากด้วยเอทานอล 50% โดยให้หนูกินในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม (คิดเป็น 1,786 เท่า เปรียบเทียบกับขนาดรักษาในคน) และให้โดยการฉีดเข้าใต้ผิวหนังหนู ในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ตรวจไม่พบอาการเป็นพิษ
ค้นหาข้อมูลพืชที่ให้เครื่องยา : phar.ubu.ac.th/herb-phargarden/
ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง : phar.ubu.ac.th/herb-thaiherbarium/