หมามุ่ย

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

หมามุ่ย

ชื่อสมุนไพร หมามุ่ย
ชื่ออื่นๆ บะเหยือง หมาเหยือง (ภาคเหนือ) โพล่ยู (กาญจนบุรี) กล้ออือแซ (แม่ฮ่องสอน) หมามุ้ย ตำแย
ชื่อวิทยาศาสตร์ Mucuna pruriens (L.) DC.
ชื่อพ้อง Carpogon capitatus Roxb., C. niveus Roxb., C. pruriens (L.) Roxb., Dolichos pruriens L., Marcanthus cochinchinense Lour., Mucuna axillaris Baker, M. bernieriana Baill., M. cochinchinense (Lour.) A.Chev.,., M. esquirolii H.Lev., M. luzoniensis Merr., M. lyonii Merr., M. minima Haines, M. nivea (Roxb.) DC., M. prurita (L.) Hook., M. sericophylla Perkins, M. velutina Hassk., Negretia mitis Blanco, Stizolobium capitatum (Roxb.) Kuntze , S. cochinchinense (Lour.) Burk, S. niveum (Roxb.) Kuntze, S. pruritum (Wight) Piper, S. velutinum
ชื่อวงศ์ Leguminosae-Papilionoideae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
             ไม้ล้มลุกฤดูเดียว มีเถาเลื้อย ยาว 2-10 เมตร มีขนหนาแน่น ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนก ออกเรียงสลับ ใบย่อยมี 3 ใบ ที่ปลาย รูปไข่หรือรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ใบกลางมักมีขนาดใหญ่ที่สุด กว้าง 3-10 เซนติเมตร ยาว 5-15 เซนติเมตร แผ่นใบทั้งสองด้านมีขนสีเทาปกคลุม ฐานใบเบี้ยว ปลายใบมนหรือมีติ่งแหลม ขอบใบเรียบ เส้นกลางใบมี 3 เส้น ดอกออกเป็นช่อกระจะที่ซอกใบ ห้อยลงมา ยาว 15-30 เซนติเมตร ดอกสีม่วงคล้ำ มีกลิ่นเหม็นเอียน รูปดอกถั่ว ดอกย่อยมีจำนวนมาก ขนาดกว้าง 1-2 เซนติเมตร ยาว 2-4 เซนติเมตร กลีบกลางรูปไข่ ปลายกลีบเว้า กลีบคู่ข้างรูปขอบขนานแกมรูปไข่ กลีบเลี้ยง โคนเชื่อมติดกันเป็นรูป ปลายแยกเป็น 5 กลีบ สีน้ำตาลอ่อน มีขนคล้ายเส้นไหมปกคลุม เกสรเพศผู้ 10 อัน ก้านเกสรเชื่อมกันเป็น 2 กลุ่ม อับเรณูมีสองแบบ เกสรเพศเมียมีรังไข่รูปแถบ มีขนยาวสีเทา รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ผล เป็นฝักโค้งรูปขอบขนาน กว้าง 0.8-1 เซนติเมตร ยาว 5-9 เซนติเมตร หนาประมาณ 5 มิลลิเมตร  มีลักษณะม้วนงอที่ปลายฝัก ตามผิวมีขนสีน้ำตาลอมเหลืองหนาแน่น เป็นขนแข็งและสั้น พอฝักแห้งขนจะหลุดร่วงปลิวตามลมได้ง่าย เมื่อโดนผิวหนัง จะทำให้คัน ปวดแสบปวดร้อน เมล็ดมี 4-7 เมล็ด สีดำเป็นมัน พบตามชายป่า ป่าไผ่ และที่โล่งในป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ออกดอกและติดผลราวเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมกราคม

 

ลักษณะวิสัย (ใบ ดอก และผล)

 

 

ใบ

 

 

ดอก

 

 

ผล

 

 

ผล

 

 

ผล

 

 


สรรพคุณ    
              ตำรายาไทย เมล็ด ปรุงเป็นยาแก้ไข้ ขับปัสสาวะ บำรุงประสาท ฝาดสมาน แก้พิษแมงป่องกัด โดยตำเป็นผงใส่น้ำเล็กน้อย พอกบริเวณที่ถูกกัด รักษาโรคบุรุษ กระตุ้นกำหนัด กระตุ้นและเพิ่มสมรรถภาพทางเพศชาย ราก ขับปัสสาวะอย่างแรง รากหมามุ่ยผสมกับรากมะเขือขื่น แช่น้ำกินแก้ไอ ใบ เป็นยาพอกแผล  ขน จากฝักทำให้เกิดการระคายเคืองอย่างแรง ทำให้คันและเป็นผื่นแดง ปวดและบวม    
            ชาวเขาเผ่าอีก้อ ใช้ ใบ  ตำคั้นน้ำ ทา หรือพอก รักษาอาการไฟไหม้น้ำร้อนลวก
             ตำราอายุรเวทของอินเดีย ใช้รักษาอาการของโรคคล้ายกับพาร์กินสัน ปัจจุบันพบ สาร L-dopa ในรากและเมล็ด ที่ออกฤทธิ์ในการรักษาโรคพาร์กินสัน

ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา
             การทดสอบในสัตว์ทดลองพบว่าเพิ่มความถี่ในการผสมพันธุ์ ยืดระยะเวลาการมีเพศสัมพันธ์ให้นานขึ้น ลดอาการหลั่งเร็ว เพิ่มปริมาณฮอร์โมนเพศ การวิจัยทางคลินิกในเพศชาย พบว่าช่วยลดความเครียด คุณภาพของน้ำเชื้อดีขึ้น ปรับสมดุลของฮอร์โมนเพศชาย


องค์ประกอบทางเคมี
              เมล็ด พบสาร L-dopa หรือ L-3,4- dihydroxyphenylalanine สารกลุ่มอัลคาลอยด์ เช่น prurienine, prurienidine, nicotine  ขน พบสาร serotonin และเอนไซม์ที่ทำให้ระคายเคืองผิวหนัง เช่น proteinase, mucanain

 

ข้อมูลเครื่องยา :           phar.ubu.ac.th/herb-thaicrudedrug/

ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง : phar.ubu.ac.th/herb-thaiherbarium/

จำนวนครั้งที่มีการอ้างอิงหน้าเว็บไซต์นี้: 0
เกี่ยวกับระบบ:

ระบบนี้ถูกพัฒนาต่อยอดมาจาก ระบบฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐาน โดยผู้พัฒนาได้ดำเนินการสร้างหน้า UX/UI ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เป็นรูปแบบเดียวกันกับเว็บไซต์ของคณะเภสัชศาสตร์ มอบ. แต่ยังคงใช้ฐานข้อมูล Database ของฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐานเดิมอยู่