หมามุ่ย

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

หมามุ่ย

ชื่อเครื่องยา หมามุ่ย
ชื่ออื่นๆของเครื่องยา
ได้จาก เมล็ด
ชื่อพืชที่ให้เครื่องยา หมามุ่ย
ชื่ออื่น (ของพืชที่ให้เครื่องยา) หมามุ้ย ตำแย หมาเหยือง กลออื้อแซ
ชื่อวิทยาศาสตร์ Mucuna pruriens (L.) DC.
ชื่อพ้อง Carpogon capitatus Roxb., C. niveus Roxb., C. pruriens (L.) Roxb., Dolichos pruriens L., Marcanthus cochinchinense Lour., Mucuna axillaris Baker, M. bernieriana Baill., M. cochinchinense (Lour.) A.Chev.,., M. esquirolii H.Lev., M. luzoniensis Merr., M. lyonii Merr., M. minima Haines, M. nivea (Roxb.) DC., M. prurita (L.) Hook., M. sericophylla Perkins, M. velutina Hassk., Negretia mitis Blanco, Stizolobium capitatum (Roxb.) Kuntze , S. cochinchinense (Lour.) Burk, S. niveum (Roxb.) Kuntze, S. pruritum (Wight) Piper, S. velutinum
ชื่อวงศ์ Legminosae-Papilionoideae

ลักษณะภายนอกของเครื่องยา:
           เมล็ดแข็ง รูปรี แบน ผิวเมล็ดเรียบเกลี้ยง สีดำ เป็นมัน (ภายในฝัก มี 4-7 เมล็ด) ขนาดกว้าง 0.5 มม. ยาว 1.0 ซม. ขอบเมล็ดบริเวณที่ติดกับฝัก มีเนื้อเยื่อเป็นวงสีขาวโดยรอบบริเวณที่เมล็ดจะงอก กึ่งกลางเมล็ดด้านหนึ่งมีรอยบุ๋มลงไปตรงกลาง

 

ฝักหมามุ่ย

 

เครื่องยา หมามุ่ย

 

เครื่องยา เมล็ดหมามุ่ย

 

เครื่องยา เมล็ดหมามุ่ย

 


ลักษณะทางกายภาพและเคมีที่ดี:
           ไม่มีข้อมูล

สรรพคุณ:
           ตำรายาไทย: เมล็ดปรุงเป็นยาแก้ไข้ ขับปัสสาวะ บำรุงประสาท รักษาโรคบุรุษ กระตุ้นกำหนัด เป็นยาฝาดสมาน

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา:
           ไม่มีข้อมูล

องค์ประกอบทางเคมี:
           L-dopa หรือ L-3,4- dihydroxyphenylalanine

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:
           สารสกัดทั้งต้นมีฤทธิ์กระตุ้นการสร้างและการเคลื่อนไหวของตัวอสุจิ ช่วยให้ผู้ที่มีตัวอสุจิน้อยมีโอกาสมีลูกได้มากขึ้น น้ำต้มมีฤทธิ์ลดการอักเสบของต่อมลูกหมากในคน สาร L-dopa ที่พบในรากและเมล็ด ใช้ในการรักษาโรคพาร์กินสัน มีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดในสัตว์ทดลอง เอนไซม์ phenol oxidase ทีพบ สามารถนำมาใช้เตรียมอนุพันธ์ของสาร phenolic steroid ได้
           การป้อนหนูแรทเพศผู้ด้วยสารสกัดเอทานอลเมล็ดหมามุ่ยที่ความเข้มข้น 200 มก./กก. ของน้ำหนักตัว วันละครั้ง เป็นเวลา 21 - 45 วัน สามารถเพิ่มสมรรถภาพทางเพศของหนูได้ กล่าวคือมีผลทำให้พฤติกรรมทางเพศของหนูเปลี่ยนไป โดยมีพฤติกรรมการจับคู่และการขึ้นคร่อมตัวเมียถี่ขึ้น และมีระยะเวลาในการเริ่มสอดใส่อวัยวะเพศครั้งแรกจนหลั่งน้ำเชื้อ (ejaculation latency, EL) เพิ่มมากขึ้น แต่เมื่อนำผงบดของเมล็ดหมามุ่ยมาทดลองในหนูแรทเพศเมีย กลับมีผลทำให้พฤติกรรมทางเพศมีแนวโน้มลดลง กล่าวคือ มีพฤติกรรมการจับคู่กับหนูตัวผู้ลดลง และปฏิเสธการรับการผสมพันธุ์จากหนูตัวผู้ แสดงให้เห็นว่าการรับประทานเมล็ดหมามุ่ยอาจให้ผลแตกต่างในระหว่างเพศชายและหญิง

การศึกษาทางคลินิก:
           ในประเทศอินเดียกับอาสาสมัครเพศชายที่มีภาวะจำนวนสเปิร์มน้อย และสเปิร์มมีการเคลื่อนไหวผิดปกติ โดยให้อาสาสมัครดื่มนมที่ผสมกับผงบดเมล็ดหมามุ่ยขนาด 5 กรัม วันละครั้ง เป็นเวลา 3 เดือน พบว่า ค่าความเข้มข้นของสเปิร์ม และการเคลื่อนไหวของสเปิร์มเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และมีค่าเกือบเทียบเท่ากับอาสาสมัครที่มีสุขภาพดี ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเมล็ดหมามุ่ยมีประสิทธิภาพในการช่วยปรับปรุงคุณภาพน้ำ เชื้อให้ดีขึ้นได้

การศึกษาทางพิษวิทยา:
           ขนจากฝัก ทำให้เกิดอาการระคายเคืองอย่างแรง ทำให้คันเป็นผื่นแดง ปวดและบวม
           เมล็ดของหมามุ่ยจะมีสาร L-dopa หรือ L-3,4- dihydroxyphenylalanine อยู่ปริมาณสูง ซึ่งถูกนำมาผลิตเพื่อการค้าในการรักษาโรคพาร์กินสัน สาร L-dopa นี้ เป็นสารตั้งต้นของสารสื่อประสาท dopamine ซึ่งมีผลต่อสมองส่วนต่างๆ ในหลายเส้นทาง โดยเฉพาะการควบคุมการเคลื่อนไหว และยังมีผลทำให้ความดันโลหิตต่ำลง การรับประทานในปริมาณที่มากอาจมีผล     เสียต่อร่างกาย ดังนั้นจึงไม่ควรเก็บหมามุ่ยมารับประทานเอง จนกว่าจะได้รับการยืนยันถึงสายพันธุ์ที่ใช้ทดสอบ และมีการศึกษาถึงความเป็นพิษในคนที่แน่ชัด (ข้อมูลจาก สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, 9 มค.55)

 

ค้นหาข้อมูลพืชที่ให้เครื่องยา : phar.ubu.ac.th/herb-phargarden/

ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง : phar.ubu.ac.th/herb-thaiherbarium/

จำนวนครั้งที่มีการอ้างอิงหน้าเว็บไซต์นี้: 10
เกี่ยวกับระบบ:

ระบบนี้ถูกพัฒนาต่อยอดมาจาก ระบบฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐาน โดยผู้พัฒนาได้ดำเนินการสร้างหน้า UX/UI ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เป็นรูปแบบเดียวกันกับเว็บไซต์ของคณะเภสัชศาสตร์ มอบ. แต่ยังคงใช้ฐานข้อมูล Database ของฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐานเดิมอยู่