เมื่อยดูก
ชื่อสมุนไพร | เมื่อยดูก |
ชื่ออื่นๆ | เมื่อย, ม่วย (นคราชสีมา, ตราด), เมื่อยเลือด (หนองคาย), ม่วยแดง (อุบลราชธานี), กำแพงเพชรเจ็ดชั้น (กระบี่) |
ชื่อวิทยาศาสตร์ | Gnetum macrostachyum Hook.f. |
ชื่อพ้อง | |
ชื่อวงศ์ | Gnetaceae |
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
พืชเมล็ดเปลือย เป็นไม้เถาเนื้อแข็ง เนื้อไม้มีวงปีสีแดงเข้ม เปลือกเถาแก่สีน้ำตาล แตกร่อน มีรูอากาศมาก ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปขอบขนานถึงรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก กว้าง 4-5 เซนติเมตร ยาว 14-16 เซนติเมตร เนื้อใบหนาและเหนียวคล้ายแผ่นหนัง ปลายใบเป็นติ่งแหลม โคนใบแหลมถึงมน ก้านใบยาวประมาณ 1 เซนติเมตร ดอกช่อแบบช่อเชิงลด ออกที่ซอกใบหรือตามลำต้น สร้างโคนหรือสตรอบิลัสเดี่ยว ออกเป็นช่อแกนรูปทรงกระบอก มีลักษณะเป็นกลุ่ม เรียงเป็นชั้น สีชมพูแดง ดอกแยกเพศ กว้างประมาณ 0.7 เซนติเมตร ยาวประมาณ 5-7 เซนติเมตร ดอกย่อยเรียงเป็นชั้น ชั้นละประมาณ 10 ดอก มีขนสีน้ำตาลล้อมรอบแต่ละชั้น ขนยาว 3 มิลลิเมตร ปกคลุมหนาแน่น ก้านของโคนยาว 0.5-1 เซนติเมตร เมล็ดเปลือย ทรงรี ขนาดกว้างประมาณ 0.5-0.7 เซนติเมตร ยาวประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ออกเป็นช่อ หนึ่งช่อมีประมาณ 20-25 เมล็ด ช่อยาว 4-5 เซนติเมตร ก้านช่อสั้น ยาวประมาณ 0.5-0.7 เซนติเมตร ที่โคนแต่ละเมล็ดมีขนนุ่มสั้นสีน้ำตาลจำนวนมากปกคลุม ขนขนาดยาวประมาณ 0.3 เซนติเมตร เมล็ดไม่มีผลห่อหุ้ม จะมีกลีบนุ่มคล้ายหนังหุ้มอยู่ เมื่อยังอ่อนสีเขียวเมื่อแก่สีชมพูแกมส้ม ส่วนปลายมีหนามแหลมขนาดเล็กมากหนึ่งอันยื่นออกมาเล็กน้อย พบตามป่าเต็งรัง ออกดอก และติดผลราวเดือนเมษายน
ลักษณะวิสัย
เถา และ ผล
ใบ
ช่อดอก
ช่อดอก และ เมล็ด
ช่อดอก และ เมล็ด
เมล็ด
เมล็ดแก่
สรรพคุณ
ยาพื้นบ้านอีสาน ใช้ ลำต้น ดองเหล้าดื่ม แก้ปวดเมื่อย ลำต้นผสมแก่นกัดลิ้น ลำต้นขมิ้นเครือและลำต้นพรมคต ต้มน้ำดื่ม แก้อัมพฤกษ์ อัมพาต ราก ผสมรากพลับเขา รากเมื่อย และรากปอแดง ต้มน้ำหรือฝนดื่ม แก้ไข้ เมล็ด เผาให้สุกรับประทานได้ ในประเทศอินโดนีเซียใช้เมล็ดทำแป้งข้าวเกรียบ รสชาติหอมมันอร่อย
ยาพื้นบ้านภาคใต้ ใช้ ลำต้น ผสมลำต้นตีนเป็ดน้ำ หรือรากหมากหมก ลำต้นเถาเอ็นอ่อน และแก่นกันเกรา ต้มน้ำดื่ม บำรุงเส้นเอ็น ผสมสมุนไพรอื่น แช่เหล้าดื่ม บำรุงกำลัง ผสมสมุนไพรอื่น ต้มน้ำดื่ม บำรุงโลหิตสตรี
ข้อมูลเครื่องยา : phar.ubu.ac.th/herb-thaicrudedrug/
ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง : phar.ubu.ac.th/herb-thaiherbarium/