มะหาด

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

มะหาด

ชื่อสมุนไพร มะหาด
ชื่ออื่นๆ หาด (ทั่วไป) มะหาดใบใหญ่ (ตรัง) หาดขนุน ปวกหาด (เหนือ) ขนุนป่า
ชื่อวิทยาศาสตร์ Artocarpus lakoocha Roxb.
ชื่อพ้อง Artocarpus lacucha Buch.-Ham., A. ficifolius W.T.Wang, A. yunnanensis H.H.Hu, Saccus lakoocha
ชื่อวงศ์ Moraceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
             ไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ สูง 15-25 เมตร ไม่ผลัดใบ ทรงพุ่มกลม ลำต้นเปลาตรง เปลือกต้นสีน้ำตาลอมแดงถึงน้ำตาลเข้ม ต้นแก่ผิวจะหยาบและแตกเป็นสะเก็ดเล็กๆ ยอดอ่อนมีขนสีน้ำตาลออกแดงหนาแน่น มีน้ำยางสีขาว ใบ เดี่ยวเรียงแบบสลับระนาบเดียว รูปไข่หรือรูปขอบขนานขนาด 25-30 × 15-20 ซม. ปลายใบมน ฐานใบมนหรือแหลมกว้าง อาจเบี้ยวไม่สมมาตร ขอบใบเรียบหรือมีซี่จักเล็กน้อย ใบแก่สีเขียวเข้ม เหนียวคล้ายหนัง ด้านบนมีขนหยาบเล็กน้อย ด้านล่างสีเขียวอมเทา มีขนหยาบสีเหลืองเล็กน้อย เส้นใบข้าง 8-20 คู่ จรดกันที่ขอบใบ เส้นใบย่อยเห็นชัดเจนที่ด้านท้องใบ ก้านใบยาว 1.4-3.3 ซม. มีขนแข็งสีเหลืองหนาแน่น มีหูใบเล็กบาง ขนาด 4-5 ซม. รูปหอกซึ่งหลุดร่วงเร็วและมีขนปกคลุมหนาแน่น กิ่งก้านค่อนข้างอ่อน อ้วน หนา 3-6 มิลลิเมตร ไม่มีรอยแผลวงแหวน ดอกเป็นช่อกลมแน่นสีเหลืองหม่นถึงชมพูอ่อนแบบช่อกระจุก ดอกแยกเพศร่วมต้น ช่อดอกตัวผู้กลม ช่อยาว 0.8-2 ซม. ออกเป็นช่อเดี่ยวที่ซอกหรือช่วงล่างของกิ่งก้าน โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด กลีบเลี้ยงมี 2 พู ลึก เกสรเพศผู้จำนวนมาก ช่อดอกตัวเมียรูปไข่ หรือรูปขอบขนาน มีสีเหลืองอ่อน ออกตามกลีบช่วงบน กว้าง 0.8-1.2 เซนติเมตร ยาว 1.2-2.3 เซนติเมตร ปลายกลีบดอกหยัก ก้านช่อยาว 2.5-3.5 ซม. กลีบเลี้ยง 4 กลีบ  ผลสดมีเนื้อ เป็นผลรวมรูปร่างบิดเบี้ยว ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.5-8 ซม. ก้านผลยาว 1.2-3.8 ซม.สีเหลืองอ่อน หรือส้ม ผลแก่สีเหลืองปนน้ำตาล รูปร่างบิดเบี้ยวเป็นตะปุ่มตะป่ำ ผิวนอกมีขนนุ่มคล้ายกำมะหยี่ เนื้อในสีเหลืองเข้มถึงสีชมพู มีเมล็ดรูปขอบขนาน หรือเกือบกลม สีน้ำตาลเทา จำนวนมาก ขนาด 1.2 ซม. พบทั่วไปในที่กึ่งโล่งแจ้ง ป่าเต็งรัง ป่าดิบ ป่าเบญจพรรณ ป่าหินปูน ป่าคืนสภาพ ที่สูงจากระดับน้ำทะเล 100-1,300(-1,800) เมตร ออกดอกราวเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน ติดผลราวเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม

 

ลักษณะวิสัย

 

ลำต้น

 

ใบ

 

ดอกอ่อน

 

ดอก

 

ใบ และ ผล

 

 

ผล และ ใบ

ผล และ เมล็ด

 

 

ผลสุก และ เมล็ด


สรรพคุณ    
              ตำรายาไทย ผงจากแก่น โดยนำแก่นไม้ที่อายุ 5 ปีขึ้นไป มาสับแล้วนำไปต้มเคี่ยวกับน้ำ จนเกิดฟอง ช้อนฟองที่ได้รวมกันทำให้แห้ง จะได้ผงสีขาวนวลจับกันเป็นก้อน นำไปย่างไฟให้เหลือง แล้วนำมาบดเป็นผง เรียกว่า “ผงปวกหาด” มีรสร้อนเมา นำมาชงกับน้ำเย็นรับประทาน เป็นยาขับพยาธิตัวตืดและพยาธิไส้เดือน หรือใช้ละลายน้ำ ทาแก้ผื่นคัน แก่น รสร้อน ขับพยาธิตัวตืด แก้ลม แก้ท้องอืดเฟ้อ แก้กษัย แก้เส้นเอ็นพิการ แก้เบื่ออาหาร แก้ลม ขับโลหิต ละลายเลือด ขับปัสสาวะ แก้ไข้ต่างๆ แก้น้ำเหลืองเสีย แก้ประดงทุกชนิด แก้หอบหืด แก้เสมหะ ราก แก้ไข้ ขับพิษร้อนใน ขับพยาธิ แก้กษัยในเส้นเอ็น เปลือกต้น รสฝาด ใช้เคี้ยวกับหมากแทนสีเสียด เปลือกต้นสด สมาน ทาขับพยาธิ ต้มกินแก้ไข้ ขับพยาธิ ผลสุก รับประทานได้ รสหวานอมเปรี้ยว

             ประเทศอินเดีย และเนปาลใช้ เปลือกต้น ต้มน้ำทารักษาสิว ประเทศเนปาลใช้ ใบ เป็นอาหารสัตว์ ช่วยเพิ่มการขับน้ำนม


องค์ประกอบทางเคมี
             แก่น พบสารสำคัญกลุ่มสติลบินอยด์ ได้แก่ resveratrol, 2,4,3',5'-tetrahydroxystilbene (oxyresveratrol), สารฟลาโวนอยด์ ได้แก่ artocarpin, norartocarpin, cycloartocarpin, norcycloartocarpin เปลือกราก พบฟลาโวนอยด์ เช่น 5,7-dihydroxyflavone-3-O-alpha-L-rhamnoside, galangin-3-O-alpha-L- rhamnoside, kaempferol-3-O-beta-L-xyloside, quercetin-3-O-alpha-L-rhamnoside, ไตรเทอร์ปีนอยด์ lupeol, ราก พบสติลบินอยด์ ได้แก่ lakoochin A, lakoochin B เปลือกต้น พบไตรเทอร์ปีนอยด์ ได้แก่ beta-amyrin acetate, lupeol acetate

 

ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา
             สารสกัดแก่นมะหาดมีฤทธิ์ขับพยาธิใบไม้ (Haplorchis taichui) ในหลอดทดลอง (ผงปวกหาดจากแก่นมีสารที่ใช้ขับพยาธิคือ oxyresveratrol)
             สารสกัดแก่นมะหาดมีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนสได้ร้อยละ 92 ที่ความเข้มข้น 3 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร (สาร oxyresveratrol มีผลลดความเข้มของเม็ดสีเมลานินในผิวหนังโดยยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนสทำให้ผิวขาว)
             สาร oxyresveratrol ที่แยกได้จากแก่นมีฤทธิ์ปานกลางในการยับยั้งการเจริญของเชื้อไวรัสสามชนิดในหลอดทดลองได้แก่ ชื้อ HIV และเชื้อไวรัสเริมทั้งสองชนิดคือ HSV1, HSV2
             สาร lakoochin A, lakoochin B จากราก มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญของเชื้อวัณโรค Mycobacterium tuberculosis โดยมีค่า MIC 12.5 และ 50 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร ตามลำดับ
             ใบสดเมื่อใช้เตรียมเป็นสูตรอาหารวัวในปริมาณ 5% ร่วมกับอาหารหลักอื่นๆ พบว่าสามารถเพิ่มปริมาณน้ำนมวัวได้ร้อยละ 26.8 และมีปริมาณไขมันในน้ำนมเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.7

 

ข้อมูลเครื่องยา : phar.ubu.ac.th/herb-thaicrudedrug/

จำนวนครั้งที่มีการอ้างอิงหน้าเว็บไซต์นี้: 20
เกี่ยวกับระบบ:

ระบบนี้ถูกพัฒนาต่อยอดมาจาก ระบบฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐาน โดยผู้พัฒนาได้ดำเนินการสร้างหน้า UX/UI ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เป็นรูปแบบเดียวกันกับเว็บไซต์ของคณะเภสัชศาสตร์ มอบ. แต่ยังคงใช้ฐานข้อมูล Database ของฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐานเดิมอยู่