คูน

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

คูน

ชื่อสมุนไพร คูน
ชื่ออื่นๆ ชัยพฤกษ์ ราชพฤกษ์ (ภาคกลาง) ลมแล้ง (ภาคเหนือ) สักเกลือม สักเคย (ปัตตานี)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Cassia fistula L.
ชื่อพ้อง Bactyrilobium fistula Willd., Cassia bonplandiana DC., C. excelsa Kunth, C. fistuloides Collad., C. rhombifolia Roxb., Cathartocarpus excelsus G.Don, Cathartocarpus fistula Pers., Cathartocarpus fistuloides (Collad.) G.Don, Cathartocarpus rhombifolius
ชื่อวงศ์ Leguminosae-Caesalpinoideae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
             ไม้ยืนต้น ผลัดใบ สูง 10-15 เมตร เปลือกต้นเกลี้ยง สีขาวอมเทา แตกกิ่งก้านเป็นพุ่มกลม ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียวปลายคู่ ออกเรียงสลับ ใบย่อย 3-8 คู่ เรียงตรงข้าม รูปไข่แกมขอบขนาน กว้าง 4-8 เซนติเมตร ยาว 7-12 เซนติเมตร แกนกลางใบประกอบยาว 30-40 เซนติเมตร ฐานใบมน ปลายใบแหลม ขอบเรียบเป็นคลื่นเล็กน้อย เนื้อใบเกลี้ยง ค่อนข้างบาง หูใบมีขนาดเล็กและร่วงง่าย ดอกช่อแบบช่อกระจะ สีเหลืองสด ออกตามซอกใบหรือปลายยอด 1-3 ช่อ เป็นช่อห้อยลงเป็นโคมระย้า ยาว 20-40 เซนติเมตร ดอกย่อยจำนวนมาก ขนาดบานกว้างประมาณ 3 เซนติเมตร กลีบเลี้ยง 5 กลีบ รูปไข่แกมรูปรี ผิวด้านนอกมีขน กลีบดอก 5 กลีบ สีเหลือง รูปไข่ ปลายมน เกสรตัวผู้ 10 อัน สั้น 7 อัน ยาว 3 อัน อับเรณูมีขนาดเล็ก ก้านเกสรตัวเมีย และรังไข่มีขนยาวคล้ายไหม ผลเป็นฝักยาว รูปแท่งกลม กว้าง 1.5-2.5  เซนติเมตร ยาว 20-60 เซนติเมตร ฝักอ่อนสีเขียว ฝักแก่สีน้ำตาลเข้มเกือบดำ ผิวเรียบเกลี้ยง เปลือกฝักแข็งกรอบ ฝักแก่ไม่แตก แต่จะหลุดร่วงทั้งฝัก และหักแตกเป็นชิ้น ภายในฝักจะมีผนังกั้นเป็นช่องๆ แต่ละช่องมีเมล็ด 1 เมล็ด เมล็ดมีเนื้อเหนียวเปียกสีดำหุ้ม มีรสหวาน เมล็ดแบนรี สีน้ำตาล มีเมล็ด 50-70 เมล็ด  ต้นราชพฤกษ์นี้ เป็นต้นไม้ประจำชาติไทย พบตามป่าเต็งรัง  ออกดอกราวเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม ติดผลราวเดือนเมษายนถึงกรกฎาคม

 

ลักษณะวิสัย

 

 

ดอก และ ลำต้น

 

 

ฝักอ่อน และ ใบ

 

 

ดอก

 

 

ดอก

 

 

ฝักอ่อน

 

 

ฝักแก่


สรรพคุณ    
              ตำรายาไทยใช้ เนื้อในฝัก รสหวานเอียน แก้ท้องผูก ขับเสมหะ ระบายพิษไข้ ช่วยระบายท้องเด็ก เป็นยาระบายที่ไม่ปวดมวน ใช้ในเด็กหรือสตรีมีครรภ์ ท้องผูกเรื้อรัง แก้ไข้มาลาเรีย บิด แก้ตานขโมย ใช้พอกแก้ปวดข้อ ระบายพิษโลหิต แก้ร้อนในกระหายน้ำ บรรเทาอาการแน่นหน้าอก ฟกช้ำ ชำระน้ำดี แก้ลมเข้าข้อและขัดข้อ ถ่ายโรคกระษัย ถ่ายเส้นเอ็น ใบ รสเมา ใช้ระบายท้อง ฆ่าเชื้อโรคต่าง ๆ แก้ฝีและเม็ดผื่นคันตามร่างกาย ฆ่าพยาธิผิวหนัง ตำพอกแก้ปวดข้อ แก้ลมตามข้อ แก้อัมพาต ใบอ่อน แก้ไข้รูมาติก ดอก รสเปรี้ยว ขม ต้มน้ำดื่ม แก้ไข้ ระบายท้อง แก้พรรดึก แก้แผลเรื้อรัง พุพอง แก้ฝีเปื่อยพัง แก้บวม เป็นยาหล่อลื่นลำไส้ รักษาโรคกระเพาะอาหาร ขับพยาธิไส้เดือน แก้ตกเลือด เปลือกต้น รสฝาดเมา แก้ท้องร่วง ฝนผสมกับหญ้าฝรั่น น้ำตาล น้ำดอกไม้เทศ กินแล้วทำให้เกิดลมเบ่งในการคลอดบุตร สมานแผล แก้ไข้ แก้ฝีคุดทะราด แก้โรคในทรวงอก แก้ฟกบวมในท้อง แก้ปวดมวน แก้เม็ดผื่นคันในร่างกาย แก้ตกเลือด แก้บวม แก้พยาธิ แก้ฝีเปื่อยพัง แก่น รสเมา ขับพยาธิไส้เดือน แก้กลากเกลื้อน ระบายพิษไข้ กินกับหมาก กระพี้ รสเมา แก้รำมะนาด แก้ปวดฟัน ราก รสเมา แก้กลากเกลื้อน ฆ่าเชื้อคุดทะราด ระบายพิษไข้ แก้เซื่องซึม แก้หายใจขัด แก้ไข้ รักษาโรคเกี่ยวกับหัวใจ ถุงน้ำดี เป็นยาระบายท้อง รักษาขี้กลาก แก้ลงท้อง แก้ฝีเปื่อยพัง แก้บวม แก้พยาธิ แก้ตกเลือด เปลือกราก รสฝาด ต้มดื่ม ระบายพิษไข้ แก้ไข้มาลาเรีย เปลือกเมล็ดและเปลือกฝัก ถอนพิษเบื่อเมา ทำให้อาเจียน เมล็ด ใช้ถ่ายพยาธิ แก้ตานซางตัวร้อน มีอาการครั่นเนื้อครั่นตัว เปลือกและใบ บดผสม ทาฝี และเม็ดตามร่างกาย
             ชาวอีสานใช้ ใบ นำมาประกอบพิธีบายศรีสู่ขวัญ แก่น เอามาเคี้ยวหมาก


องค์ประกอบทางเคมี
            เนื้อในผล พบสารกลุ่มแอนทราควิโนน เช่น  aloin, fistulic acid, rhein, barbaloin, sennoside A, sennoside B   เปลือกต้น พบ tannin, rhein, sennoside A, sennoside B, barbaloin, aloin, emodin, chrysophanol

 

ข้อมูลเครื่องยา :phar.ubu.ac.th/herb-thaicrudedrug/

ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง : phar.ubu.ac.th/herb-thaiherbarium/

จำนวนครั้งที่มีการอ้างอิงหน้าเว็บไซต์นี้: 16
เกี่ยวกับระบบ:

ระบบนี้ถูกพัฒนาต่อยอดมาจาก ระบบฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐาน โดยผู้พัฒนาได้ดำเนินการสร้างหน้า UX/UI ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เป็นรูปแบบเดียวกันกับเว็บไซต์ของคณะเภสัชศาสตร์ มอบ. แต่ยังคงใช้ฐานข้อมูล Database ของฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐานเดิมอยู่