ขลู่
ชื่อสมุนไพร | ขลู่ |
ชื่ออื่นๆ | หนาดงั่ว หนวดงิ้ว หนาดวัว (อุดรธานี) เพี้ยฟาน (ตะวันออกเฉียงเหนือ) ขลู คลู(ใต้) ขี้ป้าน (แม่ฮ่องสอน) |
ชื่อวิทยาศาสตร์ | Pluchea indica (L.) Less. |
ชื่อพ้อง | Pluchea foliolosa |
ชื่อวงศ์ | Compositae |
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ไม้พุ่มขนาดเล็ก สูง 1-2 เมตร ขึ้นเป็นกอ แตกกิ่งก้านสาขามาก ลำต้นกลมสีน้ำตาลแดง หรือเขียว ลำต้นและกิ่งก้านมีขนละเอียดปกคลุม ใบเดี่ยว ออกแบบสลับ รูปไข่กลับ กว้าง 1-5 เซนติเมตร ยาว 2.5-10 เซนติเมตร ปลายใบมน ปลายใบมีขนาดใหญ่กว่าโคนใบ โคนใบสอบ ขอบใบหยักแบบฟันเลื่อย โดยรอบมีขนขาวๆปกคลุม ก้านใบสั้นมาก เนื้อใบบาง แผ่นใบเรียบเป็นมัน ใบค่อนข้างแข็งและเปราะ ใบมีกลิ่นหอมฉุน ดอกออกเป็นช่อที่ปลายยอด หรือตามซอกใบ รูปกลม หลายๆช่อมารวมกัน ดอกเป็นฝอยสีขาวนวลหรือสีขาวอมม่วง กลีบดอกแบ่งออกเป็นวงนอกกับวงใน กลีบดอกวงนอกสั้นกว่าวงใน กลีบดอกวงในเป็นรูปท่อ ดอกวงนอกกลีบดอกยาวประมาณ 3-3.5 มิลลิเมตร ดอกวงใน กลีบดอกจะเป็นรูปท่อมีความยาวประมาณ 4-6 มิลลิเมตร ปลายจักเป็นซี่ฟัน ประมาณ 5-6 ซี่ ภายในมีทั้งดอกตัวผู้และดอกตัวเมียสีขาวอมม่วงขนาดเล็กอยู่เป็นจำนวนมาก ปลายกลีบดอกหยักเป็นซี่ฟัน 5-6 หยัก อับเรณูตรงโคนเป็นรูปหัวลูกศรสั้นๆ เกสรตัวเมียแยกเป็น 2 แฉกสั้นๆ ก้านช่อดอกยาวประมาณ 5-6 มิลลิเมตร ไม่มีก้านดอกย่อย ริ้วประดับมีลักษณะแข็ง สีเขียว และเรียงกันประมาณ 6-7 วง วงนอกเป็นรูปไข่ วงในคล้ายรูปหอกแคบ ปลายแหลม ผลเป็นผลแห้ง ไม่แตก รูปทรงกระบอก ขนาดเล็ก ยาวประมาณ 0.7 มิลลิเมตร ผลเป็นสัน มีขนาดเล็กมาก มีเหลี่ยม 10 สัน มีรยางค์ไม่มาก สีขาว ยาวประมาณ 4 มิลลิเมตร เมล็ดมีลักษณะเป็นฝอยเล็กๆ เมื่อแก่จะปลิวไปตามลม ยอดมีรสมันใช้รับประทานเป็นผักสด พบชอบขึ้นตามธารน้ำ ที่ชื้นแฉะ โดยเฉพาะที่ที่น้ำเค็มขึ้นถึง ใบอ่อนใช้รับประทานเป็นผักจิ้มได้ ใบเมื่อนำมาผึ่งให้แห้ง จะมีกลิ่นหอมคล้ายกลิ่นน้ำผึ้ง ใช้ชงดื่มแทนชา
ลักษณะวิสัย
ใบ
ดอก
ผล
สรรพคุณ
ตำรายาไทย ใช้ ใบ รสหอมฝาดเมาเค็ม เป็นยาขับปัสสาวะ แก้เบาหวาน ขับนิ่ว นำใบสดแก่ นำมาตำแล้วบีบเอาน้ำ ทาตรงหัวริดสีดวงทวาร ทำให้หัวริดสีดวงหดหายไป แก้กระษัย ยาอายุวัฒนะ สมานภายนอกและภายใน แก้ไข้ ขับเหงื่อ นำใบมาตำผสมกับเกลือกินรักษากลิ่นปาก และระงับกลิ่นตัว นำใบมาต้มดื่มแทนชาลดน้ำหนัก บรรเทาอาการปวดเมื่อย มุตกิด น้ำคั้นจากใบสดรักษาริดสีดวงทวาร ใบต้มน้ำอาบแก้ผื่นคัน บำรุงประสาท เป็นยาบีบมดลูก น้ำคั้นใบสดรักษาริดสีดวงทวาร โรคบิด ใบและต้นอ่อน บรรเทาอาการปวดข้อ ในโรคไขข้ออักเสบ รักษาประดง เลือดลม ตำผสมกับแอลกอฮอล์ ทาหลังบริเวณเหนือไต บรรเทาอาการปวดเอว ต้มน้ำอาบรักษาหิด ขี้เรื้อน ใบและราก เป็นยาฝาดสมาน แก้ไข้ ขับเหงื่อ พอกแก้แผลอักเสบ ผสมกับสมุนไพรอื่น ต้มน้ำอาบรักษาเส้นตึง และทำเป็นขี้ผึ้งทาแผลเรื้อรัง เปลือกต้น นำมาสับเป็นชิ้นมวนบุหรี่สูบแก้โพรงจมูกอับเสบ (ไซนัส) ดอก รสหอมฝาดเมาเค็ม แก้นิ่ว ราก รสหอมฝาดเมาเค็ม แก้กระษัย ขับนิ่ว ทั้งต้น รสหอมฝาดเมาเค็ม ใช้ต้มกินรักษาอาการขัดเบา แก้นิ่วในไต ขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะพิการ แก้ริดสีดวงทวาร แก้มุตกิดระดูขาว แก้ตานขโมย แก้เบาหวาน รักษาวัณโรคที่ต่อมน้ำเหลือง ต้มอาบ แก้ผื่นคัน แก้ประดง เลือดลม และแก้โรคผิวหนัง เปลือกต้น รสเมาขื่นหอม แก้ริดสีดวงจมูก ริดสีดวงทวาร แก้กระษัย ขูดเอาขนออกให้สะอาด ลอกเอาแต่เปลือก หั่นเป็นเส้นมวนสูบ แก้ริดสีดวงจมูก หรือต้มรมริดสีดวงทวารหนัก
องค์ประกอบทางเคมี
พบสารอนุพันธ์ของ eudesmane กลุ่ม cauhtemone และพบเกลือแร่ sodium chloride เนื่องจากชอบขึ้นที่น้ำทะเลขึ้นถึง
ข้อมูลเครื่องยา : phar.ubu.ac.th/herb-thaicrudedrug/
ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง : phar.ubu.ac.th/herb-thaiherbarium/