ขลู่

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

ขลู่

ชื่อเครื่องยา ขลู่
ชื่ออื่นๆของเครื่องยา
ได้จาก ใบ
ชื่อพืชที่ให้เครื่องยา ขลู่
ชื่ออื่น (ของพืชที่ให้เครื่องยา) หนาดงั่ว หนวดงิ้ว หนาดวัว (อุดรธานี) เพี้ยฟาน(ตะวันออกเฉียงเหนือ) ขลู คลู(ใต้) ขี้ป้าน (แม่ฮ่องสอน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Pluchea indica (L.) Less.
ชื่อพ้อง Pluchea foliolosa DC., corymbosa Roxb., Conyza indica Mig., Baccharis indica
ชื่อวงศ์ Compositae

ลักษณะภายนอกของเครื่องยา:
           ใบรูปไข่กลับ กว้าง 1-5 เซนติเมตร ยาว 2.5-10 เซนติเมตร ปลายใบมน ปลายใบมีขนาดใหญ่กว่าโคนใบ โคนใบสอบ ขอบใบหยักแบบฟันเลื่อย โดยรอบมีขนขาวๆปกคลุม ก้านใบสั้นมาก เนื้อใบบาง แผ่นใบเรียบเป็นมัน ใบค่อนข้างแข็งและเปราะ รสหอมฝาดเมาเค็ม มีกลิ่นหอมฉุน ใบเมื่อนำมาผึ่งให้แห้ง จะมีกลิ่นหอมคล้ายกลิ่นน้ำผึ้ง ใช้ชงดื่มแทนชา

 

เครื่องยา ขลู่

 

เครื่องยา ขลู่

 

ใบ ขลู่สด

 


ลักษณะทางกายภาพและเคมีที่ดี:
           ไม่มีข้อมูล


สรรพคุณ:
           ตำรายาไทย: ใช้ ใบ รสหอมฝาดเมาเค็ม เป็นยาขับปัสสาวะ แก้เบาหวาน ขับนิ่ว นำใบสดแก่ นำมาตำแล้วบีบเอาน้ำ ทาตรงหัวริดสีดวงทวาร ทำให้หัวริดสีดวงหดหายไป แก้กระษัย ยาอายุวัฒนะ สมานภายนอกและภายใน แก้ไข้ ขับเหงื่อ นำใบมาตำผสมกับเกลือกินรักษากลิ่นปาก และระงับกลิ่นตัว นำใบมาต้มดื่มแทนชาลดน้ำหนัก บรรเทาอาการปวดเมื่อย มุตกิด น้ำคั้นจากใบสดรักษาริดสีดวงทวาร ใบต้มน้ำอาบแก้ผื่นคัน บำรุงประสาท เป็นยาบีบมดลูก น้ำคั้นใบสดรักษาริดสีดวงทวาร โรคบิด   ใบและต้นอ่อน บรรเทาอาการปวดข้อ ในโรคไขข้ออักเสบ รักษาประดง เลือดลม ตำผสมกับแอลกอฮอล์ ทาหลังบริเวณเหนือไต บรรเทาอาการปวดเอว ต้มน้ำอาบรักษาหิด ขี้เรื้อน ใบและราก เป็นยาฝาดสมาน แก้ไข้ ขับเหงื่อ พอกแก้แผลอักเสบ ผสมกับสมุนไพรอื่น ต้มน้ำอาบรักษาเส้นตึง และทำเป็นขี้ผึ้งทาแผลเรื้อรัง เปลือกต้น นำมาสับเป็นชิ้นมวนบุหรี่สูบแก้โพรงจมูกอับเสบ (ไซนัส) ทั้งต้น รสหอมฝาดเมาเค็ม ใช้ต้มกินรักษาอาการขัดเบา แก้นิ่วในไต ขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะพิการ แก้ริดสีดวงทวาร แก้มุตกิดระดูขาว แก้ตานขโมย แก้เบาหวาน รักษาวัณโรคที่ต่อมน้ำเหลือง ต้มอาบ แก้ผื่นคัน แก้ประดง เลือดลม และแก้โรคผิวหนัง

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา:
           ขับปัสสาวะ ใช้วันละ 1กำมือ (สดหนัก 40-50 กรัม แห้งหนัก 15-20 กรัม) หั่นเป็นชิ้นๆ ต้มกับน้ำ รับประทานวันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร ครั้งละ 1 ถ้วยชา (75 มิลลิลิตร)

องค์ประกอบทางเคมี:
           พบสารอนุพันธ์ของ eudesmane  กลุ่ม cauhtemone และพบเกลือแร่ sodium chloride เนื่องจากชอบขึ้นที่น้ำทะเลขึ้นถึง

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:
           ไม่มีข้อมูล

การศึกษาทางคลินิก:
           ไม่มีข้อมูล

การศึกษาทางพิษวิทยา:
           ไม่มีข้อมูล

 

 

ค้นหาข้อมูลพืชที่ให้เครื่องยา : phar.ubu.ac.th/herb-phargarden/

ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง : phar.ubu.ac.th/herb-thaiherbarium/

จำนวนครั้งที่มีการอ้างอิงหน้าเว็บไซต์นี้: 12
เกี่ยวกับระบบ:

ระบบนี้ถูกพัฒนาต่อยอดมาจาก ระบบฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐาน โดยผู้พัฒนาได้ดำเนินการสร้างหน้า UX/UI ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เป็นรูปแบบเดียวกันกับเว็บไซต์ของคณะเภสัชศาสตร์ มอบ. แต่ยังคงใช้ฐานข้อมูล Database ของฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐานเดิมอยู่