มะขามป้อม

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

มะขามป้อม

ชื่อสมุนไพร มะขามป้อม
ชื่ออื่นๆ กันโตด (จันทบุรี, เขมร), กำทวด (ราชบุรี), มั่งลู่, สันยาส่า (แม่ฮ่องสอน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Phyllanthus emblica L.
ชื่อพ้อง Cicca emblica (L.) Kurz, Diasperus emblica (L.) Kuntze, Dichelactina nodicaulis Hance, Emblica arborea Raf., E. officinalis Gaertn., Phyllanthus mairei H.Lév., P. mimosifolius Salisb., P. taxifolius
ชื่อวงศ์ Euphorbiaceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
             ไม้พุ่มหรือไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูง 8-20 เมตร ผลัดใบ เรือนยอดโปร่ง ลำต้นคดงอ เปลือกนอกสีน้ำตาลอมเทา ผิวเรียบหรือค่อนข้างเรียบ หลุดลอกเป็นแผ่นกว้างๆ  เปลือกชั้นในสีน้ำตาลแดง ปลายกิ่งมักลู่ลง ใบเดี่ยว เรียงสลับระนาบเดียว ลักษณะคล้ายใบแบบขนนก มักเรียงตัวหนาแน่นตามกิ่งก้าน ส่วนตามลำต้น และกิ่งก้านใหญ่ๆ มักไม่มี ใบอ่อนมีขนละเอียดมักจะมีแต้มสีแดง ใบแก่ไม่มีขน ใบมีขนาดเล็ก รูปแถบแกมรูปขอบขนาน กว้าง 2-3 มม. ยาว 0.8-1.2 ซม. ปลายมน โคนรูปหัวใจเบี้ยว ขอบเรียบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ เส้นแขนงใบ ข้างละ 4-6 เส้น เส้นใบย่อยแบบร่างแห เห็นชัดเจนทางด้านบน ก้านใบยาว 0.4-0.8 มม. หูใบรูปสามเหลี่ยมขนาดเล็ก ยาวไม่เกิน 1 มม. ดอกขนาดเล็กแยกเพศติดตามกิ่งก้าน บริเวณโคนกิ่งจะเป็นกระจุกของดอกเพศผู้ ส่วนบนมีดอกเพศเมียออกเดี่ยวๆ บางครั้งอาจมีดอกเพศผู้ร่วมอยู่ด้วยเล็กน้อย ดอกเล็กๆ สีเขียวอ่อนหรือเหลืองออกครีม อาจพบแต้มสีชมพู ออกเป็นกระจุกตามซอกใบ แต่ละกระจุกมีดอกเพศผู้หลายดอก ดอกเพศเมีย 1 หรือ 2 ดอก ดอกเพศผู้มีกลีบเลี้ยง 6 กลีบ เรียงซ้อนกัน 2 วง รูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ หรือรูปช้อน กว้างประมาณ 1 มม. ยาวประมาณ 1.5 มม. ก้านดอกตัวผู้ยาว 2.5 มม. ไม่มีกลีบดอก เกสรเพศผู้ 3 อัน เชื่อมกันเป็นแกนสั้นๆ ต่อมที่จานฐานดอก 6 อัน รูปกระบอง ก้านดอกย่อยยาว 1.5-3.5 มม. ดอกเพศเมียมีกลีบเลี้ยง 6 กลีบ รูปขอบขนาน หรือรูปช้อน กว้างประมาณ 1 มม. ยาว 1.8-2.5 มม. เชื่อมกันที่ฐาน จานฐานดอก รูปวงแหวน ก้านดอกย่อยยาว 0.5-0.6 มม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบเกลี้ยง มี 3 ช่อง แต่ละช่องมีออวุล 2 เมล็ด ก้านเกสรเพศเมียยาว 1-1.5 มม. ก้านเกสรตัวเมียเชื่อมกัน ปลายแยกออก รังไข่ฝังตัวครึ่งหนึ่งในหมอนรองดอกที่มีระบาย ผลผนังชั้นใน แข็ง รูปกลม เกลี้ยง เส้นผ่านศูนย์กลาง 2-3 ซม. ที่ผิวมีรอยแยกตามยาวแบ่งเป็น 6 ซีก ผลไม่มีก้าน ผลแก่สีเขียวอมเหลือง ผิวใส ชุ่มน้ำ มีรสเปรี้ยวและฝาด ชั้นหุ้มเมล็ดแข็ง 3 หน่วย แต่ละหน่วยหุ้ม 2 เมล็ด  พบตามป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าสนผสมก่อ ความสูงตั้งแต่ใกล้ระดับน้ำทะเลจนถึงประมาณ 1,500 เมตร ออกดอกและเป็นผลระหว่าง เดือน มกราคม-สิงหาคม

 

ลักษณะวิสัย

 

ลำต้น

 

ลำต้น

 

ใบ

 

ใบ และ ดอก

 

ดอก

 

ดอก

 

ดอก

 

ดอก ใบ และ ผล

 

ผล

 

ผล

 

ผล


สรรพคุณ    
              ตำรายาไทย ผล  รสเปรี้ยว ฝาด ขมชุ่ม เป็นยาเย็น ออกฤทธิ์ต่อปอด ม้ามและกระเพาะ รับประทาน แก้กระหายน้ำ แก้คอตีบ  แก้ไอ ขับเสมหะ ทำให้ชุ่มคอ แก้พิษ แก้หวัด เป็นไข้ตัวร้อน แก้เลือดออกตามไรฟัน แก้เจ็บคอ คอแห้ง  และใช้สำหรับผู้ขาดวิตามินซี ผลอ่อน รสเปรี้ยวหวานฝาดขม  บำรุงเนื้อหนัง กัดเสมหะ บำรุงเสียง แก้ท้องผูก แก้พยาธิ ผลแก่ รสเปรี้ยวฝาด ขมเผ็ด แก้ไข้เจือลม แก้ไอ แก้เสมหะ ทำให้ชุ่มคอ ลดไข้ ขับปัสสาวะ ระบายท้อง  บำรุงหัวใจ ฟอกโลหิต แก้ลม แก้โรคลักปิดลักเปิด มีวิตามินซีสูงกว่าส้มประมาณ 20 เท่า ผลแห้ง ต้มสกัดเอาน้ำมาใช้แก้ท้องเสีย ถ่ายเป็นเลือด แก้หวัด ตัวร้อน มีอาการไอ เจ็บคอ และกระหายน้ำ เนื้อผล ใช้ทาบนศีรษะ แก้อาการปวดหัว และแก้วิงเวียนจากอาการไข้ขึ้นสูง แก้สะอึก ขับพยาธิ เนื้อผลแห้ง รสเปรี้ยวฝาดขม เป็นยาฝาดสมาน แก้ริดสีดวงทวาร แก้บิด ท้องเสีย ใช้ร่วมกับธาตุเหล็กแก้ดีซ่าน ช่วยย่อยอาหาร ยางจากผล รสเปรี้ยวฝาดขม หยอดแก้ตาอักเสบ ช่วยย่อยอาหาร ขับปัสสาวะ น้ำคั้นผล ขับเสมหะ ทำให้ชุ่มคอ เป็นยาระบาย แก้เสียดท้อง ขับปัสสาวะ หยอดตา รักษาเยื่อตาอักเสบ เมล็ด แก้โรคหอบหืด หลอดลมอักเสบ ราก รสจืดฝาด เป็นยาสุขุม ออกฤทธิ์ต่อม้าม ใช้เป็นยาลดความดันโลหิตสูง แก้ปวดกระเพาะหรือลำไส้อักเสบ  ต้มดื่มแก้ไข้ แก้พิษไข้ แก้พิษโลหิต รักษามะเร็งลาม ทำให้เส้นเอ็นยืด ฟอกโลหิต ทำให้อาเจียน แก้ร้อนใน แก้ท้องเสีย แก้โรคเรื้อน แก้พิษตะขาบกัด เปลือกราก ห้ามเลือด สมานแผล ใบ รสฝาด ขม เป็นยาเย็น ใช้เป็นยาแก้บวมน้ำ ขับปัสสาวะ แก้โรคผิวหนังกลากเกลื้อน ใช้ทาแก้โรคผิวหนังผื่นคัน มีน้ำเหลือง แก้บิดมูกเลือด แก้ฝี แก้ความดันโลหิตสูง ต้มอาบลดไข้ ดอก รสหอมเย็น ใช้ลดไข้ และช่วยเกี่ยวกับระบบขับถ่าย ดอกมีกลิ่นหอมคล้ายกลิ่นมะนาว ใช้เข้าเครื่องยาเป็นยาเย็นและระบายท้อง  เปลือกต้น รสฝาดขม สมานแผล แก้บาดแผลเลือดออก แก้บิด แก้บาดแผลฟกช้ำ แก้ท้องร่วง


องค์ประกอบทางเคมี
           ผล พบสาร astragalin, glucogallin, gallic acid, digallic acid, ellagic acid, chebulagic acid, chebulinic acid, kaempferol, quercetin เนื้อผล มีวิตามินซีสูงถึง 1-2% (มะขามป้อม 1 ผล มีปริมาณวิตามินซีเทียบเท่ากับผลส้มสด 2 ผล)

 

ข้อมูลเครื่องยา : phar.ubu.ac.th/herb-thaicrudedrug/

ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง : phar.ubu.ac.th/herb-thaiherbarium/

จำนวนครั้งที่มีการอ้างอิงหน้าเว็บไซต์นี้: 68
เกี่ยวกับระบบ:

ระบบนี้ถูกพัฒนาต่อยอดมาจาก ระบบฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐาน โดยผู้พัฒนาได้ดำเนินการสร้างหน้า UX/UI ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เป็นรูปแบบเดียวกันกับเว็บไซต์ของคณะเภสัชศาสตร์ มอบ. แต่ยังคงใช้ฐานข้อมูล Database ของฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐานเดิมอยู่