มะขามป้อม
ชื่อเครื่องยา | มะขามป้อม |
ชื่ออื่นๆของเครื่องยา | |
ได้จาก | ผล |
ชื่อพืชที่ให้เครื่องยา | มะขามป้อม |
ชื่ออื่น (ของพืชที่ให้เครื่องยา) | กันโตด(เขมร), กำทวด(ราชบุรี), มั่งลู่, สันยาส่า(กะเหรี่ยง แม่ฮ่องสอน) |
ชื่อวิทยาศาสตร์ | Phyllanthus emblica L. |
ชื่อพ้อง | Cicca emblica (L.) Kurz, Diasperus emblica (L.) Kuntze, Dichelactina nodicaulis Hance, Emblica arborea Raf., E. officinalis Gaertn., Phyllanthus mairei H.Lév., P. mimosifolius Salisb., P. taxifolius |
ชื่อวงศ์ | Euphorbiaceae |
ลักษณะภายนอกของเครื่องยา:
ผลสดกลม มีเนื้อ ผิวเรียบ ใส ฉ่ำน้ำ เมื่อดิบสีเขียวออกเหลือง ผลสุกสีเหลืองออกน้ำตาล เส้นผ่านศูนย์กลาง 1-2 เซนติเมตร มีเส้นพาดตามความยาวของลูก 6 เส้น เมล็ดกลมแข็งมี 1 เมล็ด เนื้อผลมีรสฝาด เปรี้ยว ขม หวาน รับประทานเป็นอาหารได้ ทำให้ชุ่มคอ รับประทานน้ำตามไป ทำให้มีรสหวานดีขึ้น
เครื่องยา มะขามป้อม
เครื่องยา มะขามป้อม
เครื่องยา มะขามป้อม
มะขามป้อม(ผลสด)
ลักษณะทางกายภาพและเคมีที่ดี:
เครื่องยาที่เป็นผลแห้ง ปริมาณความชื้นไม่เกิน 9% w/w ปริมาณเถ้ารวมไม่เกิน 4.0% w/w ปริมาณเถ้าที่ไม่ละลายในกรด ไม่เกิน 1.0% w/w ปริมาณสารสกัดเอทานอล ไม่น้อยกว่า 16% w/w ปริมาณสารสกัดน้ำ ไม่น้อยกว่า 26% w/w ปริมาณแทนนิน ไม่น้อยกว่า 20% w/w
สรรพคุณ:
ตำรายาไทย: เนื้อผลแห้ง รสเปรี้ยวฝาดขม ขับเสมหะ ทำให้ชุ่มคอ เป็นยาฝาดสมาน แก้ริดสีดวง แก้บิด ท้องเสีย ใช้ควบกับธาตุเหล็ก แก้โรคดีซ่าน และช่วยย่อยอาหาร ยางจากผล รสเปรี้ยวฝาดขม ช่วยย่อยอาหาร ขับปัสสาวะ ใช้เป็นยาแก้ไอ
ตำรับยาแผนโบราณ: ผลอ่อน รสเปรี้ยวหวานฝาดขม บำรุงเนื้อหนังให้บริบูรณ์ กัดเสมหะในคอ ทำให้เสียงเพราะ แก้มังสังให้บริบูรณ์ แก้พรรดึก(ท้องผูก) แก้พยาธิ ผลแก่ รสเปรี้ยวฝาดขมเผ็ด แก้ไข้เจือลม แก้ไอ แก้กระหายน้ำ แก้เสมหะ ทำให้ชุ่มคอ ลดไข้ ขับปัสสาวะ ระบายท้อง บำรุงหัวใจ ฟอกโลหิต แก้ลม แก้ลักปิดลักเปิด มีวิตามินซีมากกว่าส้ม 20 เท่า (เมื่อเทียบในปริมาณเท่ากัน)
ตำรายาไทย: มะขามป้อมจัดอยู่ใน “พิกัดตรีผลา” คือการจำกัดจำนวนผลไม้ 3 อย่าง มี ลูกสมอพิเภก ลูกสมอไทย ลูกมะขามป้อม สรรพคุณแก้ปิตตะ วาตะ เสมหะ ในกองธาตุ กองฤดู กองอายุ และกองสมุฎฐาน
รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา:
แก้ไอ ช่วยกระตุ้นให้น้ำลายออก ช่วยละลายเสมหะ มีวิธีใช้ดังนี้
1.ใช้เนื้อผลสด ครั้งละ 2-5 ผล โขลกพอแหลก แทรกเกลือเล็กน้อย อม หรือเคี้ยว วันละ 3-4 ครั้ง
2.ผลสดฝนกับน้ำแทรกเกลือจิบบ่อยๆ หรือใช้ผลสดจิ้มเกลือรับประทาน
3.ผลสดตำคั้นเอาน้ำดื่ม หรือผลแห้ง 6-12 กรัม (ผลสด 10-30 ผล) คั้นน้ำดื่มหรือเคี้ยวอมบ่อยๆ
องค์ประกอบทางเคมี:
มีวิตามินซีสูง (ในผลมะขามป้อม 1 ผลมีปริมาณวิตามินซีเทียบเท่ากับส้ม 2 ลูก) นอกจากนี้ยังพบ rutin, mucic acid, gallic acid, phyllemblic acid สารกลุ่มแทนนิน เบนซินอยด์ เทอร์ปีน ฟลาโวนอยด์ อัลคาลอยด์ คูมาริน เป็นต้น
การศึกษาทางเภสัชวิทยา:
ต้านไวรัส (ไข้หวัดใหญ่, ยับยั้งเอนไซม์ HIV-1 reverse transcriptase) แก้ไอ ต้านการอักเสบ ลดความดันโลหิต ยับยั้งการก่อกลายพันธุ์ ต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ ต้านการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร ลดคอเลสเตอรอล ปกป้องตับ หัวใจและหลอดเลือด
การศึกษาทางคลินิก:
ไม่มีข้อมูล
การศึกษาทางพิษวิทยา:
การศึกษาพิษเฉียบพลัน สารสกัดจากมะขามป้อมเข้าทางช่องท้องหนูถีบจักรเพศผู้และเมียมีค่า LD50 เท่ากับ 145และ 288 มก./กก นน.ตัวตามลำดับ พิษกึ่งเรื้อรัง ทดลองในหนูถีบจักรโดยป้อนสารสกัดขนาด 100 และ 500 มก./กก. นน.ตัว นาน 10 สัปดาห์ พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักหัวใจ ปอด ตับ และเอนไซม์ที่ตับ
ค้นหาข้อมูลพืชที่ให้เครื่องยา : phar.ubu.ac.th/herb-phargarden/
ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง : phar.ubu.ac.th/herb-thaiherbarium/