ส้มป่อย
ชื่อสมุนไพร | ส้มป่อย |
ชื่ออื่นๆ | ส้มป่อย (นครราชสีมา ภาคเหนือ) ส้มพอดี (ภาคอีสาน) ส้มขอน (แม่ฮ่องสอน) |
ชื่อวิทยาศาสตร์ | Acacia concinna (Willd.) DC. |
ชื่อพ้อง | A. hooperiana Miq., A. philippinarium Benth., A. poilanei Gagnep., A. polycephala DC., A. quisumbingii Merr., A. rugata (Lam.) Merr., Guilandina microphylla DC., Mimosa concinna Willd. ,M. rugata Lam., Nygae sylvarum-minimae |
ชื่อวงศ์ | Leguminosae-Mimosoideae |
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ไม้พุ่มรอเลื้อย พาดพันต้นไม้อื่น สูง 3-6 เมตร เถามีเนื้อแข็ง ผิวเรียบสีน้ำตาล ขนาดใหญ่ มีหนามเล็กแหลมตามลำต้น กิ่งก้านและใบ ไม่มีมือเกาะจะเลื้อยพาดพันต้นไม้อื่น เถาอ่อนสีน้ำตาลแดง มีขนกำมะหยี่หรือขนสั้นหนานุ่ม ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้น เรียงสลับ ช่อใบย่อย 5-10 คู่ ใบย่อย 10-35 คู่ ต่อช่อ ใบย่อยรูปขอบขนาน ขนาดเล็ก ออกเรียงตรงข้าม ปลายใบมนหรือแหลม ที่ปลายเป็นติ่งหนามแหลมอ่อนโค้ง โคนใบตัด ขอบใบหนาเรียบ แผ่นใบเรียบ ก้านใบยาว 3.6-5.0 ซม. มีขนสั้นนุ่มและหนาแน่น พบก้อนนูนสีน้ำตาลคล้ายต่อม 1 อัน อยู่ที่โคนก้านใบ แกนกลางยาว 6.6-8.5 ซม. ก้านใบย่อยสั้นมาก ยาว 0.5 มม. หรือน้อยกว่า เกลี้ยง และมีขนนุ่มหนาแน่น ดอกเป็นช่อกระจุกกลม ออกตามซอกใบข้างลำต้น 1-3 ช่อดอกต่อข้อ ขนาด 0.7-1.3 ซม. มี 35-45 ดอก ก้านช่อดอกยาว 2.5-3.2 มม. มีขนนุ่มหนาแน่น ใบประดับดอก 1 อัน รูปแถบ ยาวไม่เกิน 1 มม. โคนสอบเรียว สีแดง มีขนกระจายทั่วไป ดอกขนาดเล็กอัดแน่นอยู่เป็นแกนดอก กลีบดอกเป็นหลอด สีขาวนวล กลีบเลี้ยงและกลีบดอกอย่างละ 5 กลีบ กลีบเลี้ยง หลอดกลีบกว้าง 1.0-1.5 มม.ยาว 2.5-3.0 ซม. ปลายแหลม สีแดง อาจมีสีขาวปนเล็กน้อย กลีบดอก หลอดกลีบกว้าง 1.0-1.5 มม. ยาว 3.5-4.0 มม. มีขนเล็กน้อยที่ปลายกลีบ เกสรเพศผู้ 200-250 อัน ยาว 4-6 มม. เกสรเพศเมีย รังไข่ยาว 1 มม. มี 10-12 ออวุล มีก้านรังไข่ยาว 1 มม. ก้านและยอดเกสรเพศเมียยาว 2.5-3.5 มม. สีขาวอมเหลืองหรือสีเขียวอมเหลือง ผลเป็นฝักรูปขอบขนาน แบนยาว หนา ขนาด กว้าง 1.3-1.4 ซม. ยาว 7.0-9.3 ซม. ฝักอ่อนเปลือกสีเขียวอมแดง เมื่อแก่สีน้ำตาลเข้ม ผิวฝักเป็นลอนคลื่นเป็นข้อ ปลายฝักมีหางแหลม สันฝักหนา ผิวย่นมากเมื่อแห้ง ก้านผลยาว 2.8-3.0 ซม. แต่ละผลมี 5-12 เมล็ด เมล็ดสีดำ แบนรี ผิวมัน กว้าง 4-5 มม. ยาว 7-8 มม. ออกดอกราวเดือนมกราคมถึงพฤษภาคม ติดผลเดือนพฤษภาคมถึงตุลาคม พบตามป่าคืนสภาพ ป่าเบญจพรรณ และที่รกร้างทั่วไป
ลักษณะวิสัย
เถา
เถา
ใบ
ใบ และ เถา
ดอก
ดอก
ดอก และ ใบ
ดอก
สรรพคุณ
ตำรายาไทย ฝัก รสเปรี้ยว มีสารซาโปนินสูง ตีกับน้ำจะเกิดฟองที่คงทน ฝักแก่ใช้ต้มเอาน้ำสระผมช่วยขจัดรังแค บำรุงผม เป็นยาปลูกผมและกำจัดรังแค ต้มอาบน้ำหลังคลอด ตำพอกหรือชุบสำลีปิดแผลโรคผิวหนัง ใช้ทำขี้ผึ้งปิดแผลแก้โรคผิวหนัง ฝักปิ้งให้เหลือง ชงน้ำจิบเป็นยาขับเสมหะแก้ไอ แก้น้ำลายเหนียว ต้มน้ำดื่มแก้ไข้มาลาเรีย ทำให้อาเจียน ต้มหรือบดกินเป็นยาถ่าย เปลือกฝัก รสขมเปรี้ยว เผ็ดปร่า ช่วยเจริญอาหาร กัดเสมหะ แก้ไอ แก้ซางเด็ก ต้น รสเปรี้ยวฝาด เป็นยาระบาย แก้โรคตาแดง แก้น้ำตาพิการ ใบ รสเปรี้ยว ฝาดเล็กน้อย ต้มดื่ม ขับเสมหะ ขับระดูขาว แก้น้ำลายเหนียว ฟอกโลหิต แก้บิด ชำระเมือกมันในลำไส้ แก้โรคตา ตำประคบให้เส้นเอ็นหย่อน ยอดอ่อน นำมาต้มน้ำ และผสมกับน้ำผึ้งดื่มเป็นยาช่วยขับปัสสาวะ หรือนำมาตำรวมกับขมิ้นอ้อย แล้วใส่น้ำมันพืชเล็กน้อย หมกไฟพออุ่น นำไปพอกแก้ฝี ดอก รสเปรี้ยว ฝาด มัน แก้เส้นเอ็นที่พิการให้สมบูรณ์ ใบและฝัก ต้มอาบ ทำความสะอาด บำรุงผิว ราก รสขม แก้ไข้ ยอดอ่อน ใบอ่อน มีรสเปรี้ยว รับประทานเป็นผักสด นำมาปรุงอาหารและช่วยดับกลิ่นคาวปลาได้
องค์ประกอบทางเคมี
ฝักมีสารซาโปนิน 20.8% ได้แก่ acasinin A, B, C, D และ E
ข้อมูลเครื่องยา : phar.ubu.ac.th/herb-thaicrudedrug/