เทียนกิ่ง

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

เทียนกิ่ง

ชื่อสมุนไพร เทียนกิ่ง
ชื่ออื่นๆ เทียนขาว เทียนข้าวเปลือก เทียนแดง เทียนไม้
ชื่อวิทยาศาสตร์ Lawsonia inermis L.
ชื่อพ้อง Alcanna spinosa (L.) Gaertn., Casearia multiflora Spreng., Lawsonia speciosa L., Lawsonia spinosa L., Rotantha combretoides
ชื่อวงศ์ Lythraceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์:

          ไม้พุ่ม สูง 3-5 เมตร ทรงพุ่มโปร่ง เปลือกสีน้ำตาลอมเทา กิ่งแก่มีหนาม ใบ เป็นใบเดี่ยว กว้าง 1-2 เซนติเมตร ยาว 3-4 เซนติเมตร เรียงตรงข้าม รูปวงรีแกมรูปใบหอก เนื้อใบค่อนข้างแข็ง และหนา ดอก เป็นดอกแบบช่อกระจุก ช่อดอกออกที่ปลายกิ่ง ดอกมีกลิ่นหอมอ่อนๆ มีดอกทั้งปี กลีบดอกสีขาว หรือสีแดง ดอกย่อยขนาดเล็ก มี 2 พันธุ์ คือ พันธุ์ดอกขาว และพันธุ์ดอกแดง กลีบเลี้ยงสีเขียวโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้น  ผล ผลแห้งแตก รูปทรงกลมสีเขียว ขนาด 0.5-0.8 เซนติเมตร เมื่อแก่มีสีน้ำตาล

 

                                                            

                                                                                                                                  ลักษณะวิสัย

 

                                                            

                                                                                                                                    ลำต้น

 

                                                             

                                                                                                                                  ใบ และกิ่ง

 

                                                           

                                                                                                                                   ใบ

 

                                                           

                                                                                                                                  ช่อดอก

 

                                                            

                                                                                                                                   ดอก

 

                                                            

                                                                                                                                  ผล

 

สรรพคุณ:

          ตำรายาไทย ใบ รสฝาดเฝื่อน ใช้แก้กลากเกลื้อน แก้น้ำเหลืองเสีย พอกสมานบาดแผล รักษาแผลมีหนอง ตำกับขมิ้นและเติมเกลือเล็กน้อยพอกแก้เล็บขบ เล็บถอด เล็บช้ำ หรือเป็นหนอง แก้ปวดนิ้วมือนิ้วเท้า ถอนพิษปวดแสบปวดร้อน ฝี แผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก แผลฟกช้ำ ผิวหนังอักเสบ ห้ามเลือด ใช้เป็นเครื่องสำอาง พอกเล็บ เป็นยาย้อมผม และขน ยอดอ่อน รสฝาด ใช้ยอดอ่อนประมาณ 1 กำมือ ต้มดื่มแก้ท้องร่วงในเด็ก ใบและยอดอ่อน รักษาโรคเชื้อราที่เล็บ พอกหุ้มเล็บแก้เล็บขบ กันเล็บถอด เล็บช้ำ แก้ท้องเสีย สารมีสีในใบแห้ง ใช้ย้อมผม ย้อมผ้า และขนสัตว์ ให้สีน้ำตาลแดง ราก ใช้ขับประจำเดือน รักษาตาเจ็บ ขับปัสสาวะ รักษาโรคลมบ้าหมู เปลือก ขับน้ำเหลืองเสียในโรคเรื้อน ดอก ใช้ขับประจำเดือน แก้ปวดศรีษะ รักษาดีซ่าน ผล ใช้ขับประจำเดือน

 

องค์ประกอบทางเคมี:

          ใบ พบสาร 2-hydroxy-1, 4-napthoquinone (HNQ;lawsone) 1.0-1.4% ซึ่งเป็นสารสำคัญที่ให้สีย้อมจากธรรมชาติ, 1, 4dihydroxynaphthalene    1,4-naphthoquinone, 1,2-dihydroxy-glucoyloxynaphthaleneและ 2-hydroxy-1,4-diglucosyloxynaphthalene  สารกลุ่ม flavonoids ได้แก่ luteolins, apigenin    สารกลุ่ม coumarins ได้แก่ esculetin, fraxetin, scopletin     

          เปลือกต้น พบสาร napthoquinone, isoplumbagin,triterpenoids-hennadiol, aliphatics (3-methylnonacosan-1-ol), betulin, betulinic acid, lawsone, lupeol

          ดอก พบน้ำมันหอมระเหย 0.02% ซึ่งประกอบด้วย ionones 90% ซึ่งมีองค์ประกอบหลักคือ β-ionones

          เปลือกผล พบสาร lawsone  (สุนทรี, 2536)

 

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:

ฤทธิ์สมานแผล

          ทดสอบฤทธิ์สมานแผลโดยให้สารสกัด ethanol จากเทียนกิ่ง ในขนาด 200 mg/kg ต่อวัน กับหนูแรท ที่ทำให้เกิดแผล 3 แบบ ได้แก่ แผลผ่าตัด (excision wound), แผลเปิดที่เกิดจากการตัดผิวหนังส่วน full thickness ออกไป (incision wound) และแผลที่มีเนื้อตาย (dead space wound) โดยแผลแบบ excision wound จะได้รับสารสกัดในรูปแบบทา ส่วนแผลอีกสองชนิดจะได้รับการป้อนสารสกัดเทียนกิ่งทางปาก จากการทดสอบพบว่าหนูทดลองที่ได้รับสารสกัดมีขนาดแผลลดลง 75% เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม ที่ขนาดแผลลดลงเพียง 58% จากการทดสอบชี้ให้เห็นว่าสารสกัดเทียนกิ่งเพิ่มความแข็งแรงให้กับผิวที่เกิดแผล มีการสร้างคอลลาเจนที่แผล วัดจากปริมาณ hydroxyproline ที่เพิ่มขึ้น และยังมีประสิทธิภาพในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ที่เป็นสาเหตุของการติดเชื้อในแผลไฟไหม้ได้อีกด้วย (Borade, et al., 2011)

ฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด

          ทดสอบฤทธิ์ลดระดับกลูโคสในเลือด โดยป้อนสารสกัด 70% ethanol จากใบเทียนกิ่ง ให้หนูถีบจักรที่ได้รับการเหนี่ยวนำให้มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงด้วย alloxan ขนาด 70 mg/kg ทำให้มีระดับ glucose, total cholesterol และ triglyceride  ในเลือดสูง โดยให้สารสกัดทุกวันที่  0, 3, 7 และ 14 หลังจากได้รับ  alloxan แล้ว ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดขนาด  0.8 g/kg สามารถลดระดับกลูโคสจาก 194 mg/dLจนกระทั่งมีระดับกลูโคสปกติ หลังจากได้รับสารสกัดในวันที่ 14 ซึ่งให้ผลเช่นเดียวกันในการลดระดับ cholesterol ซึ่ง total cholesterol ลดลงจาก 148.9 mg/dL เป็น 55.3 mg/dL และ triglyceride ลดลงจาก 225.7 mg/dL เป็น 76.9 mg/dL (Borade, et al., 2011)

 

เอกสารอ้างอิง:

1. สุนทรี สิงหบุตรา. 2536. สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด. โอ.เอส.พริ้นติ้งเฮ้าส์:กรุงเทพมหานคร.

2. Borade AS, Kale BN, Shete RV. A phytopharmacological review on Lawsonia inermis  (L.). IJPLS;2011:2(1):536-41.

 

ข้อมูลเครื่องยา                         : phar.ubu.ac.th/herb-thaicrudedrug/

ข้อมูลตำรับยาเหลืองปิดสมุทร  : phar.ubu.ac.th/herb-thairemedy/

จำนวนครั้งที่มีการอ้างอิงหน้าเว็บไซต์นี้: 31
เกี่ยวกับระบบ:

ระบบนี้ถูกพัฒนาต่อยอดมาจาก ระบบฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐาน โดยผู้พัฒนาได้ดำเนินการสร้างหน้า UX/UI ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เป็นรูปแบบเดียวกันกับเว็บไซต์ของคณะเภสัชศาสตร์ มอบ. แต่ยังคงใช้ฐานข้อมูล Database ของฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐานเดิมอยู่