เหลืองปิดสมุทร
ชื่อสมุนไพร | เหลืองปิดสมุทร |
สูตรตำรับ |
ในผงยา 90 กรัม ประกอบด้วย เหง้าขมิ้นชัน หนัก 30 กรัม ชันย้อย ครั่ง สีเสียดเทศ เปลือกสีเสียดไทย ใบเทียน ใบทับทิม หัวแห้วหมู เหง้าขมิ้นอ้อย เปลือกเพกา รากกล้วยตีบ หัวกระเทียมคั่ว ดอกดีปลี หนักสิ่งละ 5 กรัม |
ข้อบ่งใช้ |
บรรเทาอาการท้องเสียชนิดที่ไม่เกิดจากการติดเชื้อ เช่น อุจจาระไม่เป็นมูกหรือมีเลือดปน ท้องเสียชนิดที่ไม่มีไข้ เป็นต้น |
ขนาดและวิธีใช้ |
ชนิดผงและชนิดเม็ด (แบบอัดเปียก) ผู้ใหญ่ รับประทานครั้งละ 1 กรัม ละลายน้ำกระสายยา ทุก 3 – 5 ชั่วโมง เมื่อมีอาการ เด็ก อายุ 3 – 5 เดือน รับประทานครั้งละ 200 มิลลิกรัม อายุ 6 – 12 เดือน รับประทานครั้งละ 300 – 400 มิลลิกรัม อายุ 1 – 5 ปี รับประทานครั้งละ 500 – 700 มิลลิกรัม อายุ 6 – 12 ปี รับประทานครั้งละ 800 มิลลิกรัม – 1 กรัม ละลายน้ำกระสายยา ทุก 3 – 5 ชั่วโมง เมื่อมีอาการ น้ำกระสายยาที่ใช้ · ใช้น้ำเปลือกลูกทับทิม หรือเปลือกแคต้ม แทรกกับน้ำปูนใสเป็นน้ำกระสายยา สำหรับเด็กเล็กให้บดผสมกับน้ำกระสายยา ใช้รับประทานหรือกวาดก็ได้ · ถ้าหาน้ำกระสายยาไม่ได้ ให้ใช้น้ำสุกแทน ชนิดแคปซูล และชนิดเม็ด เด็ก อายุ 6 – 12 ปี รับประทานครั้งละ 800 มิลลิกรัม – 1 กรัม เมื่อมีอาการ ผู้ใหญ่ รับประทานครั้งละ 1 กรัม ทุก 3 - 5 ชั่วโมง เมื่อมีอาการ |
ข้อห้ามใช้ |
- |
ข้อควรระวัง |
ใช้ไม่เกิน1 วัน หากอาการไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์ |
อาการไม่พึงประสงค์ |
- |
ข้อมูลเพิ่มเติม |
- |
องค์ประกอบทางเคมี |
- |
การศึกษาทางเภสัชวิทยา |
ฤทธิ์แก้อาการท้องเสีย ศึกษาในหนูแรทเพศผู้ สายพันธุ์ Sprague-Dawley โดยป้อนสารสกัดยาเหลืองปิดสมุทร จากนั้น 1 ชั่วโมง เหนี่ยวนำให้เกิดหนูเกิดอาการท้องเสียด้วยน้ำมันละหุ่ง 1 มิลลิลิตร แล้ววัดปริมาณอุจจาระทั้งหมดภายในเวลา 4 ชั่วโมง หลังจากได้รับน้ำมันละหุ่ง ผลการทดสอบพบว่า ยาเหลืองปิดสมุทรทุกขนาดที่ใช้ทดสอบสามารถลดปริมาณอุจจาระได้มากกว่า 50% (p<0.05) เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม โดยปริมาณอุจจาระ เมื่อหนูได้รับยาเหลืองปิดสมุทรขนาด 1000, 2000, 4000 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัวในหน่วยกิโลกรัม และยามาตรฐาน atropine sulfate 0.5 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัวในหน่วยกิโลกรัมมีค่าเท่ากับ 1.05, 0.7,0.59 และ 0.28 กรัม ตามลำดับ (Sireeratawong, et al., 2012) ฤทธิ์ยับยั้งการหดตัวของลำไส้เล็กส่วนปลาย ทำการศึกษาในหลอดทดลอง โดยสกัดตำรับยาเหลืองปิดสมุทรอย่างต่อเนื่องด้วย hexane, ethanol และน้ำร้อน และทำให้แห้งด้วยวิธี spray dried การทดสอบใช้ลำไส้เล็กส่วนปลายที่แยกมาจากหนูตะเภา ศึกษาฤทธิ์การยับยั้งการหดตัวของกล้ามเนื้อเรียบของลำไส้เล็กส่วนปลาย ที่ถูกเหนี่ยวนำการหดตัวด้วย acetylcholine ใช้ atropine sulfate 30 นาโนกรัมต่อมิลลิลิตร เป็นสารมาตรฐาน ผลการทดสอบพบว่า ยาเหลืองปิดสมุทรทุกความเข้มข้นที่ทดสอบสามารถยับยั้งการหดตัวของกล้ามเนื้อเรียบที่บริเวณลำไส้เล็กส่วนปลายได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม โดยยาเหลืองปิดสมุทรที่ความเข้มข้น 0.25, 0.50 และ 1.00 mg/ml สามารถยับยั้งการหดตัวของกล้ามเนื้อเรียบได้เท่ากับ 23.42, 51.91 และ 78.34% ตามลำดับ ในขณะที่สารมาตรฐาน atropine sulfate ยับยั้งได้ 81.11% (Sireeratawong, et al., 2012) ฤทธิ์ลดการเคลื่อนไหวของกระเพาะอาหารและลำไส้ ศึกษาในหนูขาวเพศผู้ สายพันธุ์ Sprague-Dawley โดยการป้อนสารสกัดยาเหลืองปิดสมุทร หลังจากนั้น 30 นาที ป้อน deactivated charcoal เพื่อดูการเคลื่อนไหวของทางเดินอาหาร เมื่อหนูได้รับ deactivated charcoal ครบ 30 นาทีแล้ว แยกส่วนกระเพาะอาหารและลำไส้ของหนูออกมา เพื่อวัดระยะทางที่ deactivated charcoal เคลื่อนที่ ผลการทดสอบพบว่ายาเหลืองปิดสมุทรทุกขนาดที่ใช้ทดสอบมีผลที่คล้ายคลึงกับสารมาตรฐาน atropine sulfate คือ สามารถลดการเคลื่อนไหวของทางเดินอาหาร โดยลดการเคลื่อนที่ของ deactivated charcoal จากกระเพาะอาหารไปยังลำไส้เล็กได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม โดยมีค่าร้อยละของการเคลื่อนที่ของ deactivated charcoal ในกลุ่มควบคุม, atropine sulfate ขนาด 0.5 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัวในหน่วยกิโลกรัม, ยาเหลืองปิดสมุทรขนาด 1,000, 2,000 และ 4,000 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัวในหน่วยกิโลกรัม เท่ากับ 60.87, 40.43, 54.6, 43.11 และ 36.8% ตามลำดับ (Sireeratawong, et al., 2012) ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย ทดสอบฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียของสารสกัด ethanol ที่ได้จากยาเหลืองปิดสมุทร ทำการศึกษาในหลอดทดลอง ตรวจสอบโดยใช้วิธี broth microdilution method เพื่อหาค่าความเข้มข้นต่ำสุดที่ยับยั้งการเจริญของเชื้อ (minimum inhibitory concentration หรือ MIC) เชื้อที่ใช้ทดสอบมีทั้งชนิดเชื้อแบคทีเรียแกรมบวก และแกรมลบ รวม 20 ชนิด ผลการทดสอบพบว่า ยาเหลืองปิดสมุทร สามารถยับยั้งเชื้อแบคทีเรียแกรมบวกได้ดีกว่าเชื้อแบคทีเรียแกรมลบ โดยสามารถยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย 2 ชนิด อยู่ในระดับดีได้แก่เชื้อ Staphylococcus epidermidis ATCC 35984 (เชื้อแบคทีเรียชนิดแกรมบวก ทำให้เกิดการติดเชื้อในโรงพยาบาล ในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือเด็กแรกเกิด หรือในผู้ที่ใส่อุปกรณ์ทางการแพทย์ เชื้อสามารถเคลื่อนจากบริเวณผิวหนังเข้าสู่ชั้นเนื้อเยื่อที่ลึกขึ้น และเข้าสู่กระแสเลือดได้) และเชื้อ methicillin resistant S. aureus R005 (MRSA NPRC R005) ซึ่งเป็นเชื้อดื้อยา ทำให้เกิดการติดเชื้อผิวหนังที่พบทั่วไป เช่น ฝี หนอง แผลติดเชื้อ สามารถสร้างสารพิษ endotoxin ทำให้เกิดการติดเชื้อที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินอาหาร ลำไส้อักเสบ อาหารเป็นพิษ เป็นต้น และยังก่อให้เกิดโรคติดเชื้อฉวยโอกาสในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง และเป็นสาเหตุของการติดเชื้อในโรงพยาบาลอีกด้วย สารสกัดยาเหลืองปิดสมุทรสามารถยับยั้งเชื้อทั้ง 2 ชนิดได้ โดยมีค่า MIC <16 และ 31 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร ตามลำดับ และสามารถยับยั้งเชื้อ 10 ชนิด ได้ในระดับปานกลางได้แก่ S. aureus ATCC 25923, Methicillin resistant S. aureus (MRSA) NPRC R003 125, Coagulase-positive staphylococci NPRC 301, Coagulase-positive staphylococci NPRC 308 125, Coagulase-negative staphylococci NPRC 506, Coagulase-negative staphylococci NPRC 507 62, Pseudomonas aeruginosa ATCC 10145, MDR P. aeruginosa 2097, MDR P. aeruginosa 5351 และ MDR Acinetobacter baumannii NPRC AB004 โดยมีค่า MIC เท่ากับ 250, 250, 250, 500, 125,125, 250, 125, 500 และ 500 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร ตามลำดับ (Chusri, et al., 2014) |
การศึกษาทางคลินิก |
- |
การศึกษาทางพิษวิทยา |
การทดสอบความเป็นพิษเฉียบพลัน และกึ่งเรื้อรัง การทดสอบความเป็นพิษเฉียบพลัน ของยาเหลืองปิดสมุทร ทำการศึกษาในหนูแรทเพศผู้ สายพันธุ์ Sprague-Dawley โดยป้อนสารสกัดยาเหลืองปิดสมุทรแก่หนูในขนาด 5,000 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัวในหน่วยกิโลกรัม เพียงครั้งเดียว จากนั้นสังเกตอาการภายใน 1 วัน และในอีก 14 วันต่อมา ผลการทดสอบพบว่า ไม่เกิดความเป็นพิษเฉียบพลัน ระบบอวัยวะภายในของหนู ได้แก่ สมอง ปอด หัวใจ ตับ ม้าม ต่อมหมวกไต ไต และอวัยวะสืบพันธุ์ ไม่แสดงพยาธิวิทยาที่ผิดปกติ (Sireeratawong, et al., 2012) การทดสอบความเป็นพิษกึ่งเรื้อรังโดยการป้อนสารสกัดยาเหลืองปิดสมุทรขนาด 1000, 2000 และ 4000 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัวในหน่วยกิโลกรัม ในหนูแรทแต่ละกลุ่ม ต่อเนื่องกันนาน 90 วัน พบว่าไม่มีอาการแสดงของความเป็นพิษ ยกเว้นน้ำหนักตัวของหนูเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม แต่ค่าชีวเคมีต่างๆ ยังอยู่ในระดับปกติ (Sireeratawong, et al., 2012) สรุปได้ว่าตำรับยาเหลืองปิดสมุทรเป็นตำรับที่มีความปลอดภัย และมีประสิทธิภาพในการรักษาอาการท้องเสีย
การทดสอบความเป็นพิษต่อเซลล์ การทดสอบความเป็นพิษต่อเซลล์ของสารสกัด ethanol ที่ได้จากยาเหลืองปิดสมุทร เพื่อทดสอบความปลอดภัยของตำรับ ทำการศึกษาในหลอดทดลอง ศึกษาความเป็นพิษต่อเซลล์เพาะเลี้ยงชนิด vero cell ตรวจสอบด้วยวิธี green fluorescent protein–based assay เพื่อหาค่าความเข้มข้นต่ำสุดที่ยับยั้งเซลล์ได้ 50% (IC50) ผลการทดสอบพบว่า ยาเหลืองปิดสมุทร มีค่า IC50 เท่ากับ 19.7 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร (ความเป็นพิษต่อเซลล์ของสารมาตรฐาน ellipticine มีค่า IC50 เท่ากับ 0.8 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร คิดเป็น 24 เท่าของตำรับยาเหลืองปิดสมุทร) (Chusri, et al., 2014) |
เอกสารอ้างอิง |
1. Chusri S, Sinvaraphan N, Chaipak P, Luxsananuwong A, Voravuthikunchai SP. Evaluation of antibacterial activity, phytochemical constituents and cytotoxicity effects of Thai household ancient remedies. J Altern Complement Med. 2014;20(12):909-918. 2. Sireeratawong S, Khonsung P, Nanna U, Vannasiri S, Lertprasertsuke N, Singhalak T, et al. Anti-diarrheal activity and toxicity of Learng Pid Samud recipe. Afr J Tradit Complement Altern Med. 2012;9(4):519-529. |
ดูรายละเอียดของเครื่องยาในตำรับ