สีเสียดไทย
ชื่อเครื่องยา | สีเสียดไทย |
ชื่ออื่นๆของเครื่องยา | สีเสียดเหนือ สีเสียดลาว |
ได้จาก | สารที่ได้จากการนำเนื้อไม้ไปต้ม |
ชื่อพืชที่ให้เครื่องยา | |
ชื่ออื่น (ของพืชที่ให้เครื่องยา) | ขี้เสียด (เหนือ) สะเจ (ฉาน แม่ฮ่องสอน) สีเสียดแก่น (ราชบุรี) สีเสียดเหนือ (กลาง) สีเสียดเหลือง (เชียงใหม่) สีเสียดหลวง สีเสียดลาว |
ชื่อวิทยาศาสตร์ | Acacia catechu (L.f.) Willd |
ชื่อพ้อง | Acacia catechuoides (Roxb.) Benth., Acacia sundra (Roxb.) Bedd., Acacia wallichiana DC., Mimosa catechu L.f., Mimosa catechuoides |
ชื่อวงศ์ | Leguminosae-mimosoideae |
ลักษณะภายนอกของเครื่องยา:
ได้จากการนำแก่นต้นสีเสียด สับให้เป็นชิ้นๆ แล้วต้ม และเคี่ยว หลังจากนั้นระเหยน้ำที่ต้มได้ให้เหนียวข้น จะได้ของแข็งเป็นก้อน สีน้ำตาลดำ เป็นมัน แข็ง รูปร่างไม่แน่นอน ผิวนอกหยาบ มีด้านในด้านหนึ่งที่แตกจะมันวาว ไม่มีกลิ่น รสขม ฝาดจัด
เครื่องยา สีเสียดไทย
เครื่องยา สีเสียดไทย
ลักษณะทางกายภาพและเคมีที่ดี:
ปริมาณความชื้นไม่เกิน 12% w/w ปริมาณเถ้ารวมไม่เกิน 6% w/w ปริมาณสิ่งสกัดที่ไม่ละลายในเอทานอล ไม่เกิน 40% w/w ปริมาณสิ่งสกัดที่ไม่ละลายในน้ำ ไม่เกิน 25% w/w ปริมาณแทนนิน ไม่น้อยกว่า 70% w/w (เภสัชตำรับอินเดีย)
สรรพคุณ:
ตำรายาไทย: ใช้สีเสียด แก้ท้องเสียเรื้อรัง ลำไส้อักเสบ รักษาบาดแผล แก้ปากเป็นแผล ใส่แผลเปื่อย และริดสีดวง และอาการบาดเจ็บที่มีเลือดออก บด หรือต้มกินแก้ท้องร่วง คุมธาตุ แก้บิดมูกเลือด แก้ลงแดง ทารักษาบาดแผล รักษาโรคผิวหนัง ต้มล้างบาดแผล สีเสียดไทยเป็นยาฝาดสมาน แก้ท้องร่วง ห้ามเลือดที่ออกจากจมูก แก้บิด ล้างแผลหัวนมแตก ล้างแผลถูกไฟไหม้ ทำให้แผลหายเร็ว
นอกจากนี้บัญชียาจากสมุนไพร: ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศ คณะกรรมการแห่งชาติด้านยา ปรากฏการใช้สีเสียดไทย ในยารักษาอาการโรคในระบบทางเดินอาหาร ปรากฏตำรับ ”ยาเหลืองปิดสมุทร” มีส่วนประกอบของเปลือกสีเสียดไทย และสีเสียดเทศ ร่วมกับสมุนไพรอื่น ๆ ในตำรับ มีสรรพคุณบรรเทาอาการท้องเสียชนิดที่ไม่เกิดจากการติดเชื้อ เช่น อุจจาระไม่เป็นมูก หรือมีเลือดปน และท้องเสียชนิดที่ไม่มีไข้
รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา:
แก้ท้องเสีย นำแก่นตากแห้ง หั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ ต้มน้ำเคี่ยวให้ข้น ระเหยน้ำให้หมด บดเป็นผง เรียกว่า “ผงสีเสียด” ใช้ผงสีเสียด 1/3 – 1/2 ช้อนชา (0.3-1 กรัม) ต้มน้ำดื่ม
องค์ประกอบทางเคมี:
สารกลุ่ม tannins ได้แก่ catechutannic acid 20-35% , catechin, catechu red, acacatechin 2-10% , epicatechin , phlobatannin , protocatechu tannins , pyrogallic tannins , epicatechin-3-O-gallate , epigallocatechin-3-O-gallate สารกลุ่ม flavonoids ได้แก่ quercetin , quercetagetin , fisetin flavanol dimers
การศึกษาทางเภสัชวิทยา:
ฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด
การทดสอบฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดของสารสกัดปิโตรเลียมอีเธอร์, คลอโรฟอร์ม, อะซิโตน, เอทานอล, น้ำ, ส่วนสกัดย่อยที่ละลายน้ำ และไม่ละลายน้ำของสารสกัดเอทานอล ที่ได้จากเปลือกสีเสียดไทย ทำการศึกษาในหนูขาวสายพันธุ์วิสตาร์ ทดสอบโดยป้อนสารสกัดชนิดต่าง ๆ ในขนาด 400 mg/kg แก่หนูแต่ละกลุ่ม หลังจากนั้น 30 นาที ให้หนูได้รับสารละลายกลูโคส ขนาด 4 g/kg เพื่อทำให้เกิดภาวะระดับน้ำตาลในเลือดสูง แล้วตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดที่เวลา 1/2, 1, 2 และ 3 ชั่วโมง ภายหลังจากได้รับกลูโคส ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดเอทานอลสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีกว่าสารมาตรฐาน ตั้งแต่ชั่วโมงที่ 1 โดยระดับน้ำตาลในเลือดของกลุ่มควบคุม, กลุ่มที่ได้รับยามาตรฐาน glibenclamide, กลุ่มที่ได้รับสารสกัดเอทานอล และกลุ่มที่ได้รับส่วนสกัดย่อยที่ไม่ละลายน้ำของสารสกัดเอทานอล มีค่าระดับน้ำตาลในเลือดเท่ากับ 150.60±4.01, 92.20±4.60, 87.20±5.09 และ 83.40±5.20 mg/dl (P<0.01) ฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดในหนูขาวปกติ แบ่งเป็นกลุ่มควบคุม, กลุ่มที่ได้รับยามาตรฐาน glibenclamide 5mg/kg, กลุ่มที่ได้รับสารสกัดเอทานอลขนาด 200 และ 400 mg/kg จากนั้นเก็บเลือดที่บริเวณหาง ในชั่วโมงที่ 1/2, 1, 2 และ 3 หลังได้รับสารทดสอบเพื่อวัดระดับน้ำตาลในเลือด ผลการทดสอบพบว่า ในชั่วโมงที่ 2 ค่าระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือด เท่ากับ 82.20±1.70, 33.20±1.39**, 71.20±2.28* และ 68.60±3.37** mg/dl ตามลำดับ (*P<0.05 และ **P<0.01 เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม) แสดงว่าสารสกัดเอทานอลสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดหนูได้ต่ำกว่ากลุ่มควบคุมที่ไม่ได้รับยาในการตรวจวัดค่าพารามิเตอร์ทางชีวเคมี ทำการศึกษาในหนูขาวปกติ และหนูขาวที่ได้รับ alloxan เพื่อกระตุ้นให้เป็นเบาหวาน จากนั้นให้สารทดสอบเป็นเวลา 7 วันต่อเนื่องกัน ในวันที่ 7 หลังอดอาหาร 16 ชั่วโมง จึงวัดค่าพารามิเตอร์ต่าง ๆ ผลการทดสอบพบว่าระดับน้ำตาลในเลือด, serum urea, serum creatinine, serum cholesterol, serum triglyceride, LDL, haemoglobin และ glylosylated haemoglobin ของหนูที่ได้รับสารสกัดเอทานอลมีค่าลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เมื่อเปรียบเทียบกับหนูที่เป็นเบาหวาน (ไม่ได้รับสารสกัด และยามาตรฐาน) และระดับของ HDL ของหนูที่ได้รับสารสกัดเอทานอลมีค่าเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เมื่อเปรียบเทียบกับหนูที่เป็นเบาหวาน ค่าระดับน้ำตาลในเลือดของหนูกลุ่มควบคุม (หนูปกติ), กลุ่มเบาหวาน (ไม่ได้รับสารสกัด และยามาตรฐาน), กลุ่มที่ได้รับสารสกัดเอทานอล 400 mg/kg และกลุ่มที่ได้รับยา glibenclamide 5mg/kg เท่ากับ 81.4±3.2**, 512.0±15.3, 192.0±10.4** และ 124.4±7.8** ตามลำดับ ระดับของ glylosylated haemoglobin เท่ากับ 1.9±0.2**, 5.7±0.4, 3.0±0.2** และ 2.0±0.2**ตามลำดับ (glylosylated haemoglobin คือฮีโมโกลบิน หรือโปรตีนในเลือดที่มีน้ำตาลไปเกาะอยู่ จะบ่งบอกถึงระดับน้ำตาลในเลือดที่แท้จริง ไม่ขึ้นลงเร็วตามปริมาณอาหารที่พึ่งรับประทานเข้าไป) สรุปได้ว่สารสกัดเอทานอลจากเปลือกสีเสียดไทยสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดในหนูที่เป็นเบาหวานได้ และทำให้ค่าพารามิเตอร์ทางชีวเคมีต่าง ๆ กลับสู่ระดับปกติได้ (Jarald, et al., 2009)
ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ
การทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดเอทานอลที่ได้จากเปลือกสีเสียดไทย ทำการศึกษาในหลอดทดลอง ด้วยวิธีทางเคมี ตรวจสอบโดยใช้วิธี DPPH (1,1-diphenyl-2-picrylhydrazyl) assay ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดเอทานอลจากเปลือกสีเสียดไทยสามารถยับยั้งอนุมูลอิสระ DPPH ได้ โดยมีค่าความเข้มข้นที่ยับยั้งได้ร้อยละ 50 (EC50) เท่ากับ 0.05±0.00 µg/µg DPPH ซึ่งเป็นผลจากการที่เปลือกสีเสียดไทยมีค่าปริมาณฟีโนลิครวม และสารสกัดฟลาโวนอยด์สูง ทำให้มีความสามารถในการกำจัดอนุมูลอิสระที่ดี การทดสอบหาปริมาณสารฟีนอลรวม และปริมาณสารฟลาโวนอยด์รวม ของสารสกัดเอทานอลที่ได้จากเปลือกสีเสียดไทย ทำการศึกษาในหลอดทดลอง โดยใช้วิธี Folin-Ciocalteu reagent ในการหาปริมาณทั้งหมดของสารฟีโนลิค รายงานผลในหน่วยมิลลิกรัมของกรดแกลลิคต่อกรัมของน้ำหนักพืชแห้ง (mg GAE/g dw) ใช้กรดแกลลิคเป็นตัวแทนของสารโพลีฟีนอลมาตรฐาน และใช้วิธี colorimetric assay ในการหาปริมาณทั้งหมดของสารฟลาโวนอยด์ รายงานผลในหน่วยมิลลิกรัมของรูตินต่อกรัมของน้ำหนักพืชแห้ง (mg RE/g dw) ใช้รูตินเป็นตัวแทนของสารฟลาโวนอยด์มาตรฐาน ผลการทดสอบพบว่าเปลือกสีเสียดไทยมีปริมาณสารฟีโนลิครวม และสารฟลาโวนอยด์รวม เท่ากับ 177.7±0.2 mg GAE/g dw และ 41.8±0.2 mg RE/g dw ตามลำดับ จากผลการทดสอบแสดงว่าเปลือกสีเสียดไทยมีปริมาณสารแทนนิน ซึ่งเป็นสารกลุ่มฟีโนลิคอยู่สูงซึ่งทำให้มีฤทธิ์ฝาดสมาน (astringent) (Maisuthisakul, et al., 2007)
ผลต่อเภสัชจลนศาสตร์เมื่อใช้ร่วมกับยาtheophylline
การทดสอบผลต่อเภสัชจลนศาสตร์ ของสารสกัดน้ำที่ได้จากแก่นสีเสียดไทย เมื่อใช้ร่วมกับยา theophylline โดยยา theophylline เป็นยารักษาโรคหอบหืดที่มีการใช้มาก และมีขนาดยาที่ใช้ในการรักษา และขนาดยาที่ทำให้เกิดพิษใกล้เคียงกัน (therapeutic index แคบ) ยานี้ถูกออกซิไดส์ผ่านไซโตโครม P450 (CYP)1A ที่บริเวณตับ จึงมีการศึกษาผลของการใช้สมุนไพรสีเสียดไทยร่วมกับยาว่ามีผลต่อการทำงานของเอนไซม์ และขนาดยา theophylline ในร่างกายอย่างไร โดยทำการศึกษาในกระต่าย ป้อนสารสกัดน้ำที่ได้จากแก่นสีเสียดไทยขนาด 264 mg/kg เป็นเวลา 7 วัน ต่อเนื่องกัน ในวันที่ 8 ป้อนยา theophylline ขนาด 16 mg/kg ภายหลังจากได้รับสารสกัดแล้ว 1 ชั่วโมง หลังจากนั้นเจาะเลือดที่บริเวณหูกระต่ายที่เวลา 0.5, 1,1.5, 2, 3, 4, 6, 8, 12, 24 และ 36 ชั่วโมง จากนั้นนำมาตรวจสอบค่าพารามิเตอร์ต่าง ๆ ได้แก่ ระดับความเข้มข้นสูงสุดของยาในเลือด (Cmax), ระยะเวลาที่ระดับยาในเลือดขึ้นสูงสุด (Tmax) และพื้นที่ใต้กราฟความสัมพันธ์ระหว่างระดับยาในเลือดกับเวลา (AUC) ซึ่งแสดงถึงปริมาณยาที่ถูกดูดซึม ผลการทดลองพบว่าค่าพารามิเตอร์ทั้งหมดที่ทดสอบมีค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 41.32, 35.71 และ 15.03 ตามลำดับ (P<0.05) แสดงว่าการใช้สารสกัดแก่นสีเสียดไทย ร่วมกับยา theophylline มีผลให้ระดับยาในเลือดสูง และลดการกำจัดทำลายยา ซึ่งเกิดจากการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ CYP1A อาจทำให้เกิดพิษจากยาได้ จึงควรระมัดระวังการใช้สารสกัดแก่นสีเสียดไทย ร่วมกับยาที่มีเมตาบอลิซึมผ่าน CYP1A (Al-Mohizea, et al., 2015)
การศึกษาทางคลินิก:
ไม่มีข้อมูล
การศึกษาทางพิษวิทยา:
การทดสอบพิษเฉียบพลัน ทดสอบในหนูขาวเพศเมีย สายพันธุ์วิสตาร์ ป้อนสารสกัดปิโตรเลียมอีเธอร์, คลอโรฟอร์ม, อะซิโตน, เอทานอล, น้ำ, ส่วนสกัดย่อยที่ละลายน้ำ และไม่ละลายน้ำของสารสกัดเอทานอล ที่ได้จากเปลือกสีเสียดไทย ขนาด 2,000 mg/kg เพียงครั้งเดียว แก่หนูแต่ละกลุ่ม แล้วสังเกตพฤติกรรม และอัตราการตายเป็นเวลา 14 วัน พบว่าไม่มีสัตว์ทดลองตาย (Jarald, et al., 2009)
เอกสารอ้างอิง:
1. Al-MohizeaAM, RaishM, Ahad A, Al-Jenoobi FI, Alam MA. Pharmacokinetic interaction of Acacia catechu with CYP1A substrate theophylline in rabbits. J Tradit Chin Med. 2015; 35(5):588-593.
2. Jarald E, Joshi SB, Jain DC. Biochemical study on the hypoglycaemic effects of extract and fraction of Acacia catechu Willd in alloxan-induced diabetic rats. Int J Diabetes & Metabolism. 2009;17:63-69.
3. Maisuthisakul P, Suttajit M, Pongsawatmanit R. Assessment of phenolic content and free radical-scavenging capacity of some Thai indigenous plants. Food Chemistry. 2007;100:1409-1418.
ข้อมูลตำรับยาเหลืองปิดสมุทร : phar.ubu.ac.th/herb-thairemedy/