ครั่ง
ชื่อเครื่องยา | ครั่ง |
ชื่ออื่นๆของเครื่องยา | ครั่งดุ้น ครั่งดิบ, จุ้ยเก้ง (จีน) |
ได้จาก | สารที่ขับถ่ายจากแมลงครั่ง (ลักษณะเป็นยางหรือชัน) |
ชื่อพืชที่ให้เครื่องยา | |
ชื่ออื่น (ของพืชที่ให้เครื่องยา) | |
ชื่อวิทยาศาสตร์ | แมลงครั่ง (ชื่อวิทยาศาสตร์ Laccifera chinensis Mahdihassan) |
ชื่อพ้อง | |
ชื่อวงศ์ | แมลงครั่ง (ชื่อวงศ์ Lacciferidae) |
ลักษณะภายนอกของเครื่องยา:
เป็นก้อนแข็งสีน้ำตาลแดง มีรูปร่างเป็นปมตะปุ่มตะป่ำติดกันตามความยาวของกิ่งไม้ที่มีรังครั่งเกาะอยู่ ครั่งไม่มีกลิ่น รสฝาด
หมายเหตุ: ครั่งได้จากรังของตัวครั่ง มักปล่อยให้ครั่งทำรังบนต้นไม้ฉำฉา (จามจุรี) ทองกวาว มะเดื่อ ตะคร้อ ไม้แดง สะแก สีเสียด ถั่วแฮ (ถั่วแระต้น) หรือไม้อื่นๆ ครั่งจะอาศัยดูดกินน้ำเลี้ยงจากเปลือกต้นไม้ ตัวครั่งจะปล่อยชัน (resin) ที่เรียกว่า “ครั่ง” (Lac) ออกมาจากต่อมตามตัว เพื่อห่อหุ้มทำรังคลุมตัว สำหรับอยู่อาศัยวางไข่ และเลี้ยงตัวอ่อน
เครื่องยา ครั่ง
เครื่องยา ครั่ง
เครื่องยา ครั่ง
เครื่องยา ครั่ง
รังครั่งที่โตเต็มที่, ครั่งดิบ (Crude stick lac)
ลักษณะทางกายภาพและเคมีที่ดี: -
สรรพคุณ:
ตำรายาไทย รับประทานแก้ไอ แก้ข้อหัก ซ้น แพทย์แผนโบราณตามชนบทใช้รับประทานบำรุงเลือด ขับเสมหะ แก้ท้องร่วง แก้บิด และตกแต่งสียาให้เป็นสีชมพู ใช้ย้อมสีอาหาร ครั่งดิบ ใช้บำรุงเลือด แก้ท้องร่วง ท้องเสีย แก้บิด ครั่งจากต้นก้ามกราม รสฝาด แก้ไอ แก้ข้อหัก ซ้น ครั่งทั่วไป รสฝาด บำรุงโลหิต ห้ามเสมหะ คุมอาจม แก้ท้องร่วง ท้องเสีย (ประโยชน์อื่นๆ ใช้ครั่งในการผสมสี ทำแชลแลค สำหรับผสมน้ำมันชักเงา ทำครั่งประทับตรา ใช้ปิดหรือตีตราหนังสือ ทำแผ่นเสียงเครื่องประกอบเครื่องไฟฟ้า ใช้ประทับตรากุญแจ ผนึกขวดยาต่างๆ)
บัญชียาจากสมุนไพร: ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ระบุการใช้ครั่งในตำรับ “ยาเหลืองปิดสมุทร” มีส่วนประกอบของครั่งร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ ในตำรับ มีสรรพคุณบรรเทาอาการท้องเสียชนิดที่ไม่เกิดจากการติดเชื้อ เช่น อุจจาระไม่เป็นมูก หรือมีเลือดปนและท้องเสียชนิดที่ไม่มีไข้
รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา: -
องค์ประกอบทางเคมี:
สารกลุ่มแอนทราควิโนน ได้แก่ laccaic acid A-F เป็นสารที่ทำให้เกิดสีแดงของครั่ง
การศึกษาเพื่อวิเคราะห์หาองค์ประกอบของสีครั่งจากครั่งดิบ
การศึกษาเพื่อวิเคราะห์หาองค์ประกอบของสีครั่งจากครั่งดิบ ศึกษาการสกัดครั่งดิบจากแหล่งที่มา 2 จังหวัด คือ จังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดสุรินทร์ โดยทำการสกัดสีครั่งด้วยวิธีที่แตกต่างกัน 3 วิธี ได้แก่ วิธีสกัดด้วยน้ำร้อน 60-75 ºC, วิธีการสกัดด้วยไมโครเวฟ และวิธีการสกัดด้วยอัลตราโซนิก จากผลการทดสอบพบว่า การสกัดสีครั่งโดยวิธีไมโครเวฟ และอัลตราโซนิกได้ร้อยละโดยน้ำหนักของกรดแลคคาอิกสูงกว่าที่ได้โดยการใช้วิธีสกัดด้วยน้ำร้อน ร้อยละโดยน้ำหนักของกรดแลคคาอิกที่สกัดได้โดยวิธีการใช้น้ำร้อน อัลตราโซนิก และไมโครเวฟ มีค่าเท่ากับ 4.84, 5.70 และ 6.12 ตามลำดับ และร้อยละโดยน้ำหนักของกรดแลคคาอิกที่ได้จากครั่งที่มาจากจังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดสุรินทร์ มีค่าเท่ากับ 6.47% และ 4.84% ตามลำดับ การวิเคราะห์องค์ประกอบของสีครั่งโดยวิธีคอลัมน์โครมาโทกราฟี พบว่ามีองค์ประกอบเป็นกรดแลคคาอิค เอ, บี และซี โดยองค์ประกอบหลักคือกรดแลคคาอิค เอ มีกรดแลคคาอิก บี และกรดแลคคาอิก ซี เป็นองค์ประกอบรอง ซึ่งผลดังกล่าวจะเด่นชัดมากเมื่อสกัดด้วยวิธีไมโครเวฟ นอกจากนี้ยังพบว่าร้อยละโดยน้ำหนักของกรดแลคคาอิก บี ที่สกัดได้ด้วยวิธีการใช้น้ำร้อน และวิธีอัลตราโซนิกมีค่าใกล้เคียงกัน (มนตรา, 2547)
การศึกษาทางเภสัชวิทยา:
การทดสอบฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ DNA Methyltransferase 1
การทดสอบฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ DNA Methyltransferase 1 ของสาร laccaic acid A (แยกได้จากยางครั่ง) ซึ่ง DNA Methyltransferase 1 (Dnmt1) เป็นเอนไซม์ที่ใช้ในกระบวนการ DNA methylation โดยกระตุ้นให้เกิดการถ่ายโอนหมู่เมธิลไปยังโครงสร้าง CpG ในดีเอ็นเอ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของยีน และมีผลทำให้เกิดโรคมะเร็งตามมา การยับยั้งเอนไซม์ Dnmt1 ถือว่าเป็นเป้าหมายสำคัญในการรักษามะเร็ง ทำการศึกษาในหลอดทดลอง โดยดูผลการยับยั้งการทำงานของ Dnmt1 ในเซลล์มะเร็งเต้านม MCF-7 ของคน ด้วยวิธี fluorescence-based DNA methylation assay ผลการทดสอบพบว่า สาร laccaic acid A ออกฤทธิ์แรงในการยับยั้ง Dnmt1 ได้โดยตรง โดยค่าความเข้มข้นต่ำสุดที่สามารถยับยั้ง Dnmt1 ได้ 50% (IC50) ของ Laccaic acid A และ SGI-1027 (สารที่มีรายงานว่าเป็น Dnmt1 inhibitor) มีค่าเท่ากับ 650±40 nM และ 1.6±0.2 µM ซึ่งค่าการยับยั้งของ laccaic acid A สูงกว่า SGI-1027 ประมาณ 2.5 เท่า นอกจากนี้ laccaic acid A ยังมีความเป็นพิษต่ำกว่ายากลุ่ม nucleoside demethylation ที่มีใช้กันอยู่ เช่น 5-azad C ซึ่งยานี้ออกฤทธิ์ไม่จำเพาะ มีผลต่อการแสดงออกของหลายยีน และเป็นพิษต่อเซลล์ แต่ laccaic acid A ออกฤทธิ์จำเพาะโดยตรงต่อการยับยั้ง Dnmt1 และมีความเป็นพิษต่ำ จึงมีศักยภาพในการนำไปใช้พัฒนาเป็นยารักษามะเร็งได้ต่อไป (Fagan, et al., 2013)
ฤทธิ์ยับยั้งความเป็นพิษต่อยีน
การทดสอบฤทธิ์ยับยั้งความเป็นพิษต่อยีนของยางครั่ง ทดสอบโดยใช้แมลงหวี่ ระยะ 3 (instar larvae) ทดสอบด้วยวิธี DNA repair assay ดูอัตราความเสียหายของดีเอ็นเอ โดยใช้สารก่อมะเร็ง และทำให้เกิดพิษต่อยีนของแมลงหวี่รวม 8 ชนิด ได้แก่ 2-amino-3-methylimidazo[4,5-f]quinoline(IQ), 2-amino-3,8-dimethylimidazo[4,5-f]quinoxaline(MeIQx), aflatoxin B1(AFB1), N-nitrosodimethylamine (NDMA), 2-acetylaminofluorene (2-AAF), 7,12-dimethylbenzo[a]anthracene (DMBA), 4-nitroquinoline N-oxide (4NQO) และ N-methyl-N-nitrosourea (MNU) ผลการทดสอบพบว่ายางครั่งมีฤทธิ์ยับยั้งความเป็นพิษต่อยีนได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยสามารถยับยั้งสารที่เป็นพิษต่อยีนได้ 5 ชนิด คือ IQ, MeIQx, AFB1, 2-AAF และ DMBA ได้ โดยสรุป lac color ซึ่งเป็นสารแอนทราควิโนน มีสีส้มแดง สกัดจากได้จากครั่ง มีฤทธิ์ต้านความเป็นพิษต่อหน่วยพันธุกรรมได้ (Takahashi, et al., 2001)
การทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ
การทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของสาร laccaic acid (แยกได้จากยางครั่ง) และสาร aluminum lac lake ของสาร laccaic acid (lake คือทำให้เกิดสารประกอบเชิงซ้อนกับโลหะ aluminum ทำให้สีไม่ละลายน้ำ และการย้อมสีดีขึ้น) ทำการศึกษาในหลอดทดลอง ตรวจสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระในหลอดทดลองด้วยวิธีทางเคมี ได้แก่วิธีการต้านอนุมูลอิสระ DPPH (1,1-diphenyl-2-picrylhydrazyl) assay, reducing power (วิเคราะห์หาความสามารถในการรีดิวซ์ของสารต้านอนุมูลอิสระ) และ thiocyanate method (เป็นการทดสอบความสามารถในการยับยั้งปฏิกิริยาเปอร์ออกซิเดชันของกรดไขมันไลโนเลอิก) โดยใช้ butylated hydroxytoluene (BHT), ascorbic acid และ gallic acid เป็นสารมาตรฐาน ผลการตรวจสอบด้วยวิธี DPPH assay พบว่า laccaic acid และสาร aluminum lac lake สามารถยับยั้งอนุมูลอิสระ DPPH ได้ดี โดยมีค่า EC50 ของสาร laccaic acid, aluminumlake, BHT, ascorbic acidและ gallic acid เท่ากับ 0.38, 1.63, 0.57, 0.14 และ 0.05 mg/ml ตามลำดับ โดย laccaic acids ออกฤทธิ์ได้ดีกว่า aluminumlake และ BHT แต่ออกฤทธิ์ได้น้อยกว่าสาร ascorbic acid และ gallic acid การตรวจสอบด้วยวิธี reducing power พบว่า สาร laccaic acid มีความสามารถในการรีดิวซ์อนุมูลอิสระได้มากกว่า aluminumlake และ BHT แต่น้อยกว่า ascorbic acid การตรวจสอบการยับยั้ง lipid peroxidation ด้วยวิธี thiocyanate method พบว่า สาร laccaic acid มีค่าร้อยละของการยับยั้ง lipid peroxidation ต่ำกว่า aluminumlake โดยมีค่าเท่ากับ 29.9 และ 43.8% ตามลำดับ แต่มีฤทธิ์ดีกว่า ascorbic acid (ค่าการยับยั้งของ ascorbic acid และ BHTเท่ากับ 24.6 และ 61.2% ตามลำดับ) โดยสรุปทั้ง laccaic acid และ aluminum lac lake มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระโดย aluminum lac lake มีฤทธิ์ดีในการยับยั้ง lipid peroxidation ในระบบที่ไม่ละลายน้ำ ส่วน laccaic acid ออกฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระได้ดีในระบบที่เป็นน้ำ หรือมีความเป็นขั้วสูงกว่า จึงสามารถนำมาพัฒนาเพื่อใช้ในอาหาร และเครื่องสำอางได้ต่อไป (Jimtaisong, et al., 2013)
การทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดที่ได้จากยางครั่ง ทำการศึกษาในหลอดทดลอง ตรวจสอบฤทธิ์ด้วยวิธีทางเคมี โดยใช้วิธีการต้านอนุมูลอิสระ DPPH (1,1-diphenyl-2-picrylhydrazyl), ABTS+ (2,2'-azino-bis (3-ethylbenzothiazoline-6-sulphonic acid) และ O2-assay ผลการทดสอบพบว่า ในการตรวจสอบด้วยอนุมูลอิสระ DPPH และ ABTS+สารสกัดที่ได้จากครั่งมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระเท่ากับ 68 และ 87% ตามลำดับ ซึ่งมีค่ามากกว่าวิตามินซี ซึ่งเป็นสารมาตรฐานในการทดสอบนี้ โดยมีค่าเท่ากับ 0.20 และ 3.42 เท่า ของวิตามินซี ตามลำดับ แต่ไม่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ O2- (Zhang, et al., 2012)
การศึกษาทางคลินิก: -
การศึกษาทางพิษวิทยา: -
เอกสารอ้างอิง:
1. มนตรา ไชยรัตน์. การสกัดและศึกษาองค์ประกอบของสีจากครั่งในประเทศไทย และการพัฒนาการย้อมสีครั่งบนไหมและฝ้าย. [วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิต]. นครราชสีมา. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี. 2547.
2. Fagan RL, Cryderman DE, Kopelovich L, Wallrath LL, Brenner C. Laccaic acid A is a direct, DNA-competitive inhibitor of DNA methyltransferase 1. Journal of Biological Chemistry. 2013;288(33):23858-23867.
3. Jimtaisong A, Janthadee R, Nakrit T. In vitro antioxidant activities of laccaic acids and its aluminumlake. Food Sci Biotechnol. 2013;22(4):1055-1061.
4. Takahashi E, Marczylo TH, Watanabe T, Nagai S, Hayatsu H, Negishia T. Preventive effects of anthraquinone food pigments on the DNA damage induced by carcinogens in Drosophila. Mutat Res/Fundamental and Molecular Mechanisms of Mutagenesis. 2001;480-481:139-45.
5. Zhang H, Fang G-g, Zheng H, GuoY-h, LiK. Study on the antioxidation of Lac Dye. Applied Mechanics and Materials. 2012;140:451-458.
ข้อมูลตำรับยาเหลืองปิดสมุทร : phar.ubu.ac.th/herb-thairemedy/