กระเทียม

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

กระเทียม

ชื่อเครื่องยา กระเทียม
ชื่ออื่นๆของเครื่องยา
ได้จาก ลำต้นใต้ดิน (หัว) หรือกลีบ
ชื่อพืชที่ให้เครื่องยา กระเทียม
ชื่ออื่น (ของพืชที่ให้เครื่องยา) หัวเทียม (ภาคใต้) กะเที้ยม (อีสาน) กระเทียม (ภาคกลาง) หอมขาว กระเทียมขาว (อุดรธานี) กระเทียมจีน (ทั่วไป) ปะเซ้วา (กะเหรี่ยง แม่ฮ่องสอน) หอมเทียม (เหนือ) เทียม หัวเทียม (คาบสมุทร)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Allium sativum L.
ชื่อพ้อง Allium controversum Schrad. ex Willd., Allium longicuspis Regel, Allium ophioscorodon Link, Allium pekinense Prokh., Allium scorodoprasum Regel, Porrum ophioscorodon
ชื่อวงศ์ Alliaceae

ลักษณะภายนอกของเครื่องยา:
           หัวใต้ดิน ลักษณะกลมแป้น มีเยื่อหุ้มสีขาวหนา แต่ละหัวประกอบด้วยหลายกลีบรวมกัน มีประมาณ 6-10 กลีบ แต่ละกลีบรูปรี ยาวประมาณ 1-4 เซนติเมตร มีใบแบบ scale leaf หุ้ม เป็นลักษณะเยื่อบางสีขาวหรือสีขาวอมม่วง หุ้มอยู่ 2-3 ชั้น ซึ่งแยกออกจากส่วนของเนื้อได้ง่าย เนื้อในหัวมีสีขาวหรือเหลืองอ่อนๆ กลิ่นแรง ฉุน รสเผ็ดร้อน มีน้ำเหนียวเป็นยางอยู่ในหัว กลีบกระเทียมที่ปอกเปลือกหุ้มออก และคั่วแล้วสีเหลืองอมน้ำตาล มีกลิ่นฉุน หอม รสเผ็ดร้อน


 

เครื่องยา กระเทียม

 

เครื่องยา กระเทียม

 

เครื่องยา กระเทียม

 

เครื่องยา กระเทียม

 

เครื่องยา กระเทียมโทน

 

เครื่องยา กระเทียมโทน

 

เครื่องยา กระเทียมโทน

 

ลักษณะวิสัย ต้นกระเทียม

 


ลักษณะทางกายภาพและเคมีที่ดี:
           ปริมาณน้ำไม่เกิน 68% w/w  ปริมาณเถ้ารวมไม่เกิน 2.5% w/w  ปริมาณเถ้าที่ไม่ละลายในกรดไม่เกิน 1% และปริมาณสารสกัดเฮกเซน แอลกอฮอล์ และน้ำ ประมาณ 0.52, 0.50 และ 15% w/w  ตามลำดับ เภสัชตำรับอังกฤษระบุปริมาณสาร alliin ไม่น้อยกว่า 0.45 % w/w 

สรรพคุณ:
           ตำรายาไทยใช้หัวกระเทียมเป็นยาขับลม แก้ลมจุกเสียด แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ แก้ธาตุพิการ  อาหารไม่ย่อย ขับเสมหะ ขับเหงื่อ ลดไขมัน รักษาปอด แก้ปอดพิการ  แก้อุจจาระเป็นมูกเลือด  บำรุงธาตุ  กระจายโลหิต  ขับปัสสาวะ แก้บวมพุพอง  ขับพยาธิ  แก้ตาปลา  แก้ตาแดง น้ำตาไหล  ตาฟาง รักษาโรคลักปิดลักเปิด  รักษามะเร็งคุด   รักษาริดสีดวง แก้ไอ  คุมกำเนิด แก้สะอึก  บำบัดโรคในอก แก้พรรดึก รักษาฟันเป็นรำมะนาด  แก้หูอื้อ แก้อัมพาต  ลมเข้าข้อ  แก้อาการชักกระตุกของเด็ก พอกหัวเหน่าแก้ขัดเบา รักษาวัณโรค  แก้โรคประสาท แก้หืด แก้ปวดมวนในท้อง บำรุงสุขภาพทางกามคุณ  ขับโลหิตระดู  บำรุงเส้นประสาท   แก้ไข้   แก้ฟกช้ำ   แก้ปวดกระบอกตา แก้โรคในปาก แก้หวัดคัดจมูก   แก้ไข้เพื่อเสมหะ ทำให้ผมเงางาม  บำรุงเส้นผมให้ดกดำ ใช้ภายนอก รักษาแผลเรื้อรัง รักษากลากเกลื้อน แก้โรคผิวหนัง  ทาภายนอกบรรเทาอาการปวดบวมตามข้อเพราะเป็นยาพอกให้ร้อน ใช้พอกตรงที่ถูกแมลง ตะขาบ แมงป่องต่อยเป็นส่วนประกอบในตำรับยาเหลืองปิดสมุทร (แก้ท้องเสีย), ยาประสะไพล (ขับน้ำคาวปลา ในสตรีหลังคลอด), ยาธาตุบรรจบ (แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ  ท้องเสีย ใช้กระเทียม 3 กลีบ ทุบชงน้ำร้อน ใช้เป็นน้ำกระสายยา สำหรับยาผง)

         บัญชียาจากสมุนไพร: ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ระบุการใช้กระเทียมในตำรับ “ยาแก้ลมอัมพฤกษ์” มีส่วนประกอบของหัวกระเทียมร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณบรรเทาอาการปวดตามเส้นเอ็น กล้ามเนื้อ มือ เท้า ตึงหรือชา ตำรับ "ยาประสะไพล" มีส่วนประกอบของหัวกระเทียมร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณรักษาระดูมาไม่สม่ำเสมอหรือมาน้อยกว่าปกติ บรรเทาอาการปวดประจำเดือน  และขับน้ำคาวปลาในหญิงหลังคลอดบุตร ตำรับ "ยาเลือดงาม" มีส่วนประกอบของหัวกระเทียมร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณบรรเทาอาการปวดประจำเดือน ช่วยให้ประจำเดือนมาเป็นปกติ แก้มุตกิด ตำรับ”ยาเหลืองปิดสมุทร” มีส่วนประกอบของหัวกระเทียมคั่ว ร่วมกับสมุนไพรอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณบรรเทาอาการท้องเสียชนิดที่ไม่เกิดจากการติดเชื้อ เช่น อุจจาระไม่เป็นมูก หรือมีเลือดปนและท้องเสียชนิดที่ไม่มีไข้


รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา:
           กระเทียมสด 2-5 กรัมต่อวัน กระเทียมแห้ง 0.4-1.2 กรัมต่อวัน น้ำมันกระเทียม 2-5 มิลลิกรัมต่อวัน สารสกัด 300-1,000 มิลลิกรัมต่อวัน หรือรูปแบบยาอื่นๆ ที่มีสาร alliin 4-12 มิลลิกรัมหรือสาร allicin 2-5 มิลลิกรัม

           ขนาดและวิธีใช้สำหรับอาการท้องอืดท้องเฟ้อแน่นจุกเสียด:
                   ใช้กระเทียม  5-10  กลีบ ซอยละเอียด  รับประทานหลังอาหาร หรือพร้อมอาหาร
           ขนาดและวิธีใช้สำหรับรักษากลากเกลื้อน:
                   ฝานกระเทียมถูบ่อย ๆ บริเวณที่เป็น  หรือตำแล้วขยี้ทาบริเวณที่เป็น  วันละ 2 ครั้ง ก่อนจะทายาใช้ไม้บาง ๆ เล็ก ๆ ที่ได้ฆ่าเชื้อโรคแล้ว (โดยการแช่ในแอลกอฮอล์ 70%  หรือต้มในน้ำเดือด 10-15 นาที) ขูดบริเวณที่เป็น ให้ผิวหนังแดง ๆ  ก่อนทา เพื่อให้ตัวยาซึมลงไปได้ดีขึ้น เมื่อหายแล้วให้ทายาต่ออีก 7-10 วัน
           ขนาดและวิธีใช้สำหรับแก้ไอ:
                   ตำรายาไทยให้ใช้กระเทียม และขิงสดอย่างละเท่ากันตำละเอียด ละลายน้ำอ้อยสด คั้นเอาน้ำจิบแก้ไอ กัดเสมหะ ทำให้เสมหะแห้ง ตำรายาไทยบางตำรับให้คั้นกระเทียมกับน้ำมะนาวเติมเกลือใช้จิดหรือกวาดคอ

องค์ประกอบทางเคมี:
           น้ำมันหอมระเหย ประมาณ 0.1-0.4% มีองค์ประกอบหลักคือ allicin  ajoene  alliin  allyldisulfide diallyldisulfide ซึ่งเป็นสารประกอบกลุ่มกลุ่ม organosulfur  สารในกลุ่มนี้ที่พบในกระเทียมเช่น  สารกลุ่ม S-(+)-alkyl-L-cysteine sulfoxides , alliin 1% , methiin 0.2% , isoalliin 0.06% และ cycloalliin 0.1% และสารที่ไม่ระเหยคือ สารกลุ่ม gamma-L-glutamyl-S-alkyl-L-cysteines , gamma-glutamyl-S-trans-1-propenylcysteine 0.6% และ gamma-glutamyl-S-allylcysteine รวมประมาณ 82% ของสารกลุ่ม organosulpur ทั้งหมด ส่วนสารกลุ่ม thiosulfinates (allicin) สารกลุ่ม ajoenes (E-ajoene และ Z-ajoene) สารกลุ่ม vinyldithiins (2-vinyl-(4H)-1,3-dithiin , 3-vinyl-(4H)-1,2-dithiin) และสารกลุ่ม sulfides (diallyl disulfide , diallyl trisulfide) ซึ่งเป็นสารที่ไม่ได้พบในธรรมชาติแต่เกิดจากการสลายตัวของสาร allin ซึ่งถูกย่อยสลายด้วยเอนไซม์ alliinase หลังจากนั้นจึงเกิดการรวมตัวกันใหม่ได้สาร allicin ซึ่งเป็นสารที่ไม่เสถียร สลายตัวได้สารกลุ่ม sulfides อื่นๆ ดังนั้นกระเทียมที่ผ่านกระบวนการสกัด การกลั่นน้ำมัน หรือความร้อน สารประกอบส่วนใหญ่ที่พบเป็นสารกลุ่ม diallyl sulfide , diallyl disulfide , diallyl trisulfide และ diallyl tetrasulfide ส่วนกระเทียมที่ผ่านกระบวนการหมักในน้ำมัน สารประกอบที่พบส่วนใหญ่เป็น 2-vinyl-(4H)-1,3-dithiin , 3-vinyl-(4H)1,2-dithiin , E-ajoene และ Z-ajoene ปริมาณของ alliin ที่พบในกระเทียมสด ประมาณ 0.25-1.15% สารกลุ่มอื่นๆ ที่พบ เช่น สารเมือก และ albumin, scordinins, saponins 0.07% , beta-sitosterol 0.0015%, steroids, triterpenoids และ flavonoids

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:   

ฤทธิ์ปกป้องตับจากสารพิษ

      การทดลองป้อนสาร diallyl disulfide (DADS) จากกระเทียมให้แก่หนูขาว ขนาดวันละ 50 และ 100 มก./กก. น้ำหนักตัว ในหนูแต่ละกลุ่ม นานติดต่อกัน 5 วัน ก่อนเหนี่ยวนำให้ตับเกิดการเสียหายด้วยสาร carbon tetrachloride (CCl4) พบว่า DADS ทั้งสองขนาดสามารถป้องกันตับเป็นพิษได้ การตรวจสอบลักษณะทางจุลกายวิภาคศาสตร์พบว่าสามารถยับยั้งความเสียหายของเซลล์ตับ โดยลดการทำงานของเอนไซม์ aspartate transaminase (AST) และ alanine transaminase (ALT) ในตับลงได้ ลดการแสดงออกของโปรตีนที่เกี่ยวข้องในกระบวนการอักเสบ และการตายของเซลล์ตับ ได้แก่ Bax, cytochrome C, caspase-3, nuclear factor-kappa B, I kappa B alpha นอกจากนี้ยังมีผลเพิ่มการแสดงออกของโปรตีน และเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการต้านอนุมูลอิสระ ได้แก่ catalase, superoxide dismutase, glutathione peroxidase, glutathione reductase, glutathione S-transferase ผลจากการศึกษาแสดงให้เห็นว่า สาร DADS จากกระเทียมมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและปกป้องตับจากสารพิษ โดยกลไกกระตุ้นการทำงานของ nuclear factor E2-related factor 2 (Nrf2) ซึ่งเป็น transcription factor หรือโปรตีนที่ควบคุมการแสดงออกของยีนที่ทำหน้าที่ปกป้องเซลล์ และเนื้อเยื่อจากอนุมูลออกซิเจนที่ว่องไวต่อปฏิกิริยา การกระตุ้น Nrf2 มีผลเหนี่ยวนำการสร้างเอนไซม์ต้านอนุมูลอิสระ และสร้างเอนไซม์ในระบบการกำจัดสารพิษออกจากร่างกายในขั้นตอนที่ 2 (detoxifying Phase II  enzyme) และยับยั้ง nuclear factor-kappa B มีผลให้ลดการสร้างสารที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบลง และปกป้องตับจากสารพิษได้ (Lee, et al, 2014)

ฤทธิ์ต้านการอักเสบ

      ศึกษาฤทธิ์ต้านการอักเสบของสารสกัดน้ำโดยไม่ผ่านความร้อน (raw garlic) และสารสกัดกระเทียมที่ผ่านการต้มแล้ว นำมาทดสอบในหลอดทดลอง โดยใช้เนื้อเยื่อของกระต่าย พบว่า raw garlic สามารถยับยั้งเอนไซม์ cyclooxygenase (ที่ทำให้เกิดการสร้างสารอักเสบ) แบบ non-competitive และ irreversible จากการศึกษาพบว่า raw garlic สามารถยับยั้งเอนไซม์ cyclooxygenase ได้ โดยมีค่า IC50 ต่อเกล็ดเลือด,ปอด และหลอดเลือดแดงในกระต่ายเท่ากับ 0.35, 1.10 และ 0.90 mg ในขณะที่กระเทียมที่ต้มแล้วมีฤทธิ์ยับยั้ง cyclooxygenase ได้เล็กน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับกระเทียมที่ไม่ผ่านความร้อน เนื่องจากส่วนประกอบสำคัญในกระเทียมนั้นถูกทำลายในขณะที่ให้ความร้อน จากผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่ากระเทียมน่าจะมีประโยชน์ในการป้องกันโรคหลอดเลือดอุดตันได้ (Ali, 1995)

      จากการรวบรวมงานวิจัย ที่ศึกษาฤทธิ์ต้านการอักเสบของกระเทียม โดยสรุปพบว่ากระเทียมมีฤทธิ์ต้านการอักเสบผ่านหลายกลไก ดังนี้คือ ต้านการอักเสบผ่าน T-cell lymphocytes โดยไปยับยั้ง SDF1a-chemokine-induced chemotaxis มีผลให้การมารวมกลุ่มกันของสารที่ทำให้เกิดการอักเสบลดลง, ยับยั้ง transendothelial migration of neutrophils มีผลให้ลดการเคลื่อนที่ของเม็ดเลือดขาวชนิด neutrophil ในกระบวนการอักเสบลง, ยับยั้งการหลั่งสาร TNFα ซึ่งเป็นสารเริ่มต้นในขบวนการอักเสบ, กดการสร้างอนุมูลไนโตรเจนที่ว่องไวต่อการเกิดปฏิกิริยาการอักเสบ และการทำงานผ่าน ERK1/2 ทั้ง 2 กลไก ได้แก่ การยับยั้ง phosphatase-activity (directly related with ERK1/2 phosphorylation) และการเพิ่ม phosphorylation of ERK1/2 kinase (ผ่านทาง p21ras protein thioallylation) มีผลทำให้การอักเสบลดลง (Martins, et al, 2016)

ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย 

      การทดสอบความสามารถในการต้านเชื้อ Escherichia coli ซึ่งป็นเชื้อก่อโรคทางเดินอาหาร ของสารสกัดหัวกระเทียมด้วย เอทานอล เมทานอล  อะซิโตน  และการสกัดสดโดยวิธีบีบคั้นแบบเย็น โดยใช้วิธี microdilution broth susceptibility test พบว่าการสกัดสดมีค่า MIC และค่า MBC ต่ำที่สุด (3.125กรัมต่อลิตร) และรองลงมาคือ สารสกัดจากตัวทำละลาย เอทานอล เมทานอล และอะซิโตน ให้ค่า MIC และ MBC เท่ากัน (6.25กรัมต่อลิตร) แสดงว่าสารสกัดสดมีสมบัติในการยับยั้ง และฆ่าเชื้อแบคทีเรียดีที่สุด เนื่องจากในกระเทียมสดมี allin เป็นสารประกอบกำมะถันที่สำคัญ เมื่อกระเทียมสดถูกบด หรือผ่านกระบวนการแปรรูป allinase จะถูกปลดปล่อยออกมาจากภายใน vacuole ของเซลล์ และอาศัยน้ำเป็นกลไกในการทำปฏิกิริยาได้เป็น allicin ซึ่งเป็นสารที่มีความสามารถในการยับยั้งเชื้อจุลินทรีย์ ซึ่งกระบวนการสกัดสดช่วยให้การทำปฏิกิริยาระหว่างสาร allin และ allinase ดีขึ้น เนื่องจากจะต้องใช้เวลาในการบีบเค้นน้ำกระเทียมซึ่งระยะเวลาดังกล่าวช่วยให้การทำปฏิกิริยาระหว่างสารมากขึ้น อาจทำให้ได้ allicin เพิ่มขึ้น (ภรภัทร และรังสินี, 2554)

ฤทธิ์ต้านเชื้อจุลชีพ

       การทดสอบฤทธิ์ต้านเชื้อจุลชีพของสารสกัดน้ำที่ได้จากหัวกระเทียม ทำการศึกษาในหลอดทดลอง โดยใช้วิธี tube dilution method ใช้ยา Ciprofloxacin 40 μg/mL เป็นสารมาตรฐาน เชื้อจุลินทรีย์ที่ใช้ในการทดสอบ ได้แก่ Escherichia coli, Klebsiella pneumoniae, Pseudomonas aeruginosa, Staphylococcus aureus และ Salmonella typhi ผลการทดสอบ พบว่าสารสกัดน้ำจากหัวกระเทียมสามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อ โดยมีค่าความเข้มข้นต่ำสุดที่สามารถยับยั้งเชื้อ (MIC) ต่อเชื้อ E. coli, K. pneumonia, P. aeruginosa, S. aureus และ S. typhi เท่ากับ 120, 120, 120, 80 และ 120 mg/ml ตามลำดับ และมีค่าความเข้มข้นต่ำสุดที่สามารถฆ่าเชื้อ (MBC) เท่ากับ 120, 160, 120, 120 และ 160 mg/ml ตามลำดับ (Lawal, et al., 2016)

หมายเหตุ

        เชื้อ E. coli สามารถก่อให้เกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร ก่อให้เกิดโรคอุจจาระร่วง และโรคกระเพาะและลำไส้อักเสบ และการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ ระบบทางเดินหายใจ เป็นต้น

        เชื้อ K. pneumonia ก่อให้เกิดการติดเชื้อที่ปอด ทางเดินปัสสาวะ เป็นต้น

        เชื้อ S. typhi เป็นแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุสำคัญของโรคติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร เช่น โรคอุจจาระร่วง ไข้ไทฟอยด์ โรคทางเดินอาหารอักเสบ เป็นต้น

        เชื้อ S. aureus เป็นเชื้อที่ทำให้เกิดการติดเชื้อผิวหนังที่พบทั่วไป เช่น  ฝี  หนอง แผลติดเชื้อ สามารถสร้างสารพิษ endotoxin ทำให้เกิดการติดเชื้อที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินอาหาร ลำไส้อักเสบ อาหารเป็นพิษ เป็นต้น และยังก่อให้เกิดโรคติดเชื้อฉวยโอกาสในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง และเป็นสาเหตุของการติดเชื้อในโรงพยาบาลอีกด้วย

        เชื้อ P. aeruginosa มักก่อให้เกิดโรคติดเชื้อฉวยโอกาสในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง และเป็นสาเหตุของการติดเชื้อในโรงพยาบาล โรคติดเชื้อ P. aeruginosa ได้แก่ การติดเชื้อในชั้นผิวหนัง การติดเชื้อในทางเดินหายใจส่วนล่าง และการติดเชื้อในกระแสเลือดเป็นต้น

ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ

         เมื่อนำสารสกัดกระเทียมที่ได้จากการบ่มสกัด (aged garlic extract (AGE) ด้วย 20 % เอทานอล เป็นเวลา 20 เดือน ที่อุณหภูมิห้อง นำมาทดสอบการต่อต้านการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชันของไลโปโปรตีนชนิดความหนาแน่นต่ำ หรือต้านการเกิด oxidized LDL (ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็งตัว) โดยนำ LDL ที่แยกได้จากคนมาทดสอบในภาวะที่มีหรือไม่มี AGE โดยใช้ CuSO4 และ 5-lipoxygenase เหนี่ยวนำให้เกิด oxidized LDL และทดสอบสารสกัดของ AGE ผลการทดสอบพบว่า AGE มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระโดยลดการสร้าง superoxide ion (อนุมูลอิสระของออกซิเจน) และลดการเกิด lipid peroxide (ออกซิเดชันของไขมัน)  โดย AGE 10%v/v เมื่อใช้น้ำเป็นตัวทำละลาย สามารถยับยั้งการเกิด superoxide ได้อย่างสมบูรณ์ ส่วนสารสกัด 10% v/v จาก diethyl ether ของ AGE ให้ผล 34%  ฤทธิ์ลดการเกิด lipid peroxidation ของ LDL พบว่าสารสกัด 10% v/v จาก diethyl ether ลดการเกิด lipid peroxidation ที่เกิดจากการเหนี่ยวนำของ Cu2+ และ 5-lipoxygenase ได้ 81% และ 37% ตามลำดับ สรุปได้ว่า AGE มีผลยับยั้งการเกิด oxidation ของ LDL โดยลดการสร้าง superoxide และยับยั้งการเกิด lipid peroxide  ดังนั้น AGE จึงอาจมีบทบาทในการป้องกันการเกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็งตัว (atherosclerotic disease) ได้ (Dillon, et al, 2003)

      การศึกษาฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดหัวกระเทียมด้วย เอทานอล เมทานอล  อะซิโตน  และการสกัดสดโดยวิธีบีบคั้นแบบเย็น ทดสอบโดยวิธีการยับยั้งอนุมูลอิสระ DPPH, การต้านออกซิไดส์จากสาร hydrogen peroxide (hydrogen peroxide (H2O2) scavenging activity ผลการทดสอบฤทธิ์ยับยั้งอนุมูลอิสระ DPPH พบว่าการสกัดกระเทียมด้วยตัวทำละลายอะซิโตน ให้ค่า IC50 ต่ำที่สุด เท่ากับ 3.58±0.02 mg/ml รองลงมา ได้แก่ สารสกัดเมทานอล เอทานอล และการสกัดสด ตามลำดับ โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 3.72±0.03, 4.47±0.20 และ 55.36±3.96 mg/ml ตามลำดับ  ผลการต้านสารออกซิไดซ์ที่รุนแรง ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (H2O2) พบว่าสารสกัดด้วยตัวทำละลายเมทานอล มีสมบัติการต้านออกซิไดส์ของสาร H2O2 ดีกว่าสารสกัดด้วย เอทานอล อะซิโตน และการสกัดสด ตามลำดับโดยมีค่า IC50 เท่ากับ 13.10±3.25 ,17.42±1.32, 29.58±2.72 และ 76.55±6.79  mg/ml ตามลำดับ (ภรภัทร และรังสินี, 2554)

      ฤทธิ์การเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ (radical scavenging activity) ของสารสกัดกระเทียมด้วยน้ำ และเอทานอล วิเคราะห์ด้วยวิธียับยั้งอนุมูลอิสระ DPPH พบว่าสารสกัดกระเทียมที่สกัดด้วยเอทานอลสามารถยับยั้งอนุมูลอิสระได้ เท่ากับ 52.28% ส่วนสารสกัดน้ำยับยั้งได้น้อยกว่า 50% ซึ่งผลของการเป็นสารต้านอนุมูลอิสระมีความสอดคล้องกับค่าฟีนอลิคทั้งหมดคือ เมื่อนำไปวิเคราะห์ปริมาณสารฟีนอลิคทั้งหมด (total phenolics) ด้วยวิธี Folin ciocalteu พบว่าสารสกัดเอทานอล มีปริมาณ ฟีนอลิคเท่ากับ 1.34 GAE/ 100 g ทั้งนี้อาจเนื่องจาก สารสำคัญในกระเทียมที่เป็นสารหลักในการต้านอนุมูลอิสระคือ quercetin ซึ่งสารชนิดนี้อยู่ในกลุ่มสารประกอบฟีนอลิค โดยมีหมู่ OH (hydroxyl) ในโครงสร้างจำนวนมาก จึงสามารถให้อิเล็กตรอนกับอนุมูลอิสระ ทำให้อิเล็กตรอนมีความเสถียรขึ้น (สุญาณี และคณะ, 2556)

      การศึกษาฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระในหลอดทดลอง ของสารสกัดเอทานอลของต้นอ่อนกระเทียม หลังจากงอกในระยะต่างๆ ด้วยวิธีการทางเคมี ได้แก่ การทดสอบฤทธิ์สารสกัดในการจับอนุมูลอิสระ DPPH (Diphenylpicrylhydrazyl)  และ ORAC (Oxygen Radical Absorbance Capacity) ทดสอบฤทธิ์ลดการสร้างอนุมูล peroxyl radical พบว่าต้นอ่อนกระเทียมที่มีอายุ 5 วัน มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูงสุดในทั้งสองการทดสอบ ในขณะที่สารสกัดเอทานอลของหัวกระเทียมสด มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระที่ต่ำกว่า และยังพบว่าการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีภายในต้นอ่อนที่มีอายุ 5 – 6 วัน มีความแตกต่างกับต้นอ่อนที่มีอายุ 0 – 4 วัน อย่างชัดเจน ต้นอ่อนกระเทียมจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับใช้เป็นสารต้านอนุมูลอิสระได้ (Zakarova, et al, 2014)

      การทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และหาปริมาณสารโพลีฟีนอลที่ได้จากกระเทียมรูปแบบต่างๆ ได้แก่ กระเทียมสด (FG) และผลิตภัณฑ์กระเทียมพร้อมรับประทานจำนวน 4 รูปแบบ ได้แก่ กระเทียมเจียวด้วยส่วนผสมของน้ำมันถั่วเหลืองกับไขมันจากพืชที่ผ่านการไฮโดรจีเนต (1:1) ใช้อุณหภูมิ 180ºC เป็นเวลา 2 นาที (FRG), ส่วนผสมของกระเทียมสด 20% กับกระเทียมอบแห้ง 80% (MG), กระเทียมสดสับที่มีการใส่เกลือ 2%(CGS) และกระเทียมสดสับที่ไม่มีการใส่เกลือ (CG)โดยทำการศึกษาในหลอดทดลอง ตรวจสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระด้วยวิธีทางเคมี โดยใช้วิธี DPPH (1,1-diphenyl-2-picrylhydrazyl) assay รายงานผลในหน่วย DPPH scavenging activity (I%), ตรวจสอบผลในการยับยั้งเกิดออกซิเดชันของไขมันด้วย วิธี β-carotene/linoleic acid assay รายงานผลในหน่วยร้อยละของ linoleic acid peroxidation (%LAP) และวิธี Rancimat® method รายงานผลในรูปแบบ protection factor (PF) ผลการทดสอบพบว่า ปริมาณของสารโพลีฟีนอลที่พบใน กระเทียมเจียว (FRG) มีปริมาณสูงสุด เท่ากับ 8.32 ±1.32 µg/mg เมื่อเทียบกับ FG, CG, CGS และ MG เท่ากับ 6.99± 0.39, 6.36± 0.54, 4.78 ±0.37และ 6.21 ±1.10 µg/mg (P<0.05) เมื่อทดสอบด้วยวิธี Folin-Cio-calteu reagent   การตรวจสอบโดยใช้วิธี DPPH assay พบว่ากระเทียมเจียว (FRG) ออกฤทธิ์ยับยั้งอนุมูลอิสระ DPPH ได้ดีที่สุด โดยมีร้อยละของการยับยั้งของ FRG, FG, CG, CGS และ MG เท่ากับ 60.85±6.03, 21.69 ±3.22, 28.80 ±4.11, 23.11± 1.78 และ 24.92 ±4.76 µg/mg ตามลำดับ (P<0.05)  การตรวจสอบโดยใช้วิธี β-carotene/linoleic acid assay พบว่ากระเทียมเจียว (FRG)ออกฤทธิ์ยับยั้งการเกิดเปอร์ออกซิเดชันของกรดไลโนเลอิก ได้ดีที่สุด โดยมีร้อยละของการยับยั้งของ FRG, FG, CG, CGS และ MG เท่ากับ 79.09±2.97, 35.74 ±3.65, 34.42± 4.47, 38.11± 2.56 และ 40.94 ±4.94 µg/mgตามลำดับ (P<0.05)  จากการทดสอบผลิตภัณฑ์ทั้งหมดพบว่ากระเทียมเจียวมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูงที่สุด ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากการมีปริมาณสารโพลีฟีนอลสูง และการใช้อุณหภูมิสูงทำให้เกิดปฏิกิริยา Maillard reaction ซึ่งทำให้เกิดสารที่มีฤทธิ์ต้านปฏิกิริยาออกซิเดชันเพิ่มมากขึ้น (Queiroz, et al., 2009)

     การทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของสารสกัด 80% เมทานอล ที่ได้จากกระเทียมทั้งต้น ทำการศึกษาในหลอดทดลอง ตรวจสอบโดยใช้วิธีการต้านอนุมูลอิสระ DPPH (1,1-diphenyl-2-picrylhydrazyl) assay, การกำจัดไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์ ด้วยวิธี hydrogen peroxide-scavenging activity และวิธี TBA (thiobarbituric acid reactive substances) assay ในการหาการยับยั้ง lipid peroxidation ใช้สารสกัดกระเทียมทั้งต้น แบ่งสารสกัด ออกเป็น 3 ชนิด ได้แก่ กระเทียมต้นอ่อนตากแห้งทั้งต้น (1), หัวกระเทียมตากแห้งที่ผ่านการบ่มสกัดมาแล้ว(2), และหัวกระเทียมสด(3) ผลการทดสอบพบว่า การตรวจสอบโดยวิธี DPPH assay สารสกัด 1, 2 และ 3 มีค่าความเข้มข้นต่ำสุดที่ยับยั้งอนุมูลอิสระ DPPH ได้ร้อยละ 50 (IC50) เท่ากับ 1.03, 4.41 และ 6.01 mg/ml ตามลำดับ  การตรวจสอบโดยวิธี hydrogen peroxide-scavenging activity พบว่าสารสกัด 1, 2 และ 3 มีค่าความเข้มข้นต่ำสุดในการกำจัด hydrogen peroxide ได้ร้อยละ 50 (IC50) เท่ากับ 0.55, 0.65 และ 2.01 mg/ml ตามลำดับ   การตรวจสอบโดยวิธี TBA (thiobarbituric acid reactive substances) assayเพื่อดูผลการยับยั้ง lipid peroxidation โดยตรวจวัดระดับสารมาลอนอัลดีไฮ (MDA) ผลผลิตจากการเกิดลิปิดเปอร์ออกซิเดชันพบว่าสารสกัด 1, 2 และ 3 มีค่าความเข้มข้นต่ำสุดในการยับยั้งการเกิด lipid peroxidation ได้ร้อยละ 50 (IC50) เท่ากับ 0.03, 0.05 และ 0.02 mg/ml ตามลำดับ  โดยสรุปสารสกัดจากต้นกระเทียมอ่อน (ทั้งต้น) ออกฤทธิ์ดีที่สุดในการยับยั้งอนุมูลอิสระ และยับยั้ง lipid peroxidation  (Bozin, et al., 2008)

 

 

การศึกษาทางคลินิก:

ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ

      ศึกษาฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระโดยให้ผงกระเทียม อัดเม็ดเคลือบ ขนาด 900 mg (เทียบเท่ากับปริมาณของ alliin 1.3% และ allicin 0.6%) ต่อวัน เป็นเวลา 2 เดือน ศึกษาผลต่อระดับสาร  malondialdehyde (MDA) ซึ่งเป็นสารที่หลั่งออกมาเมื่อเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชันของไขมัน (lipid peroxidation) และวัดระดับความเข้มข้นของ reduced (GSH) ซึ่งเป็นเอนไซม์ต้านอนุมูลอิสระ และ oxidized (GSSG) glutathione คือ GSH ที่เกิดขึ้นหลังถูกออกซิไดส์ ในอาสาสมัครสุขภาพดีจำนวน 25 คน หลังจาก 2 เดือนผ่านไป พบว่าระดับ MDA ลดลง 60% จากค่าเริ่มต้น ในทุกกลุ่มอายุ ซึ่งการศึกษานี้ทำกับคน 2 กลุ่ม คือ กลุ่มคนอายุน้อยกว่า 30 ปี และกลุ่มคนอายุมากกว่า 40 ปี และพบว่าความเข้มข้นของระดับเอนไซม์ต้านอนุมูลอิสระ GSH ในเม็ดเลือดแดงมีค่าเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ 40% ในขณะที่ความเข้มข้นของ GSSG เปลี่ยนแปลงอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ  (Grune, et al, 1996)


การศึกษาทางพิษวิทยา:
          การทดสอบความเป็นพิษเฉียบพลันของกระเทียมสกัดชนิด freeze dried ในหนูขาว โดยหาค่า LD50 (ขนาดของกระเทียมสกัดที่ทําให้หนูทดลองตายร้อยละ 50) ใช้หนูขาว 50 ตัว แบ่งเป็น 5 กลุ่ม กรอกน้ำกลั่นเป็นกลุ่มควบคุมหนึ่งกลุ่ม อีกสี่กลุ่ม กรอกน้ำละลายของกระเทียมสกัดจํานวน 2, 4, 8 และ 16 กรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ตามลําดับ และเฝ้าดูอาการของการเป็นพิษภายหลังกรอกน้ำละลายของกระเทียมสกัดไปแล้ว 1, 2, 4 ชั่วโมง และทุก 24 ชั่วโมง จนครบ 14 วัน พบว่าหนูทดลองไม่แสดงอาการผิดปกติไปจากกลุ่มควบคุม ไม่มีสัตว์ทดลองตาย แสดงว่า LD50 ของสารสกัดกระเทียมที่ให้ทางปากของหนูขาวมีค่าสูงกว่า 16 กรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม หลังจากนั้นนําเลือดมาทดสอบทางเคมี และตัดอวัยวะภายในรวมทั้งสมองตรวจหาพยาธิสภาพของชิ้นเนื้อ ไม่พบสิ่งผิดปกติที่ต่างไปจากกลุ่มควบคุม สรุปตาม WHO recommended classification ความเป็นพิษของสารทดสอบได้ว่ากระเทียมสกัดชนิด freeze dried เป็นสารปลอดภัยไม่ก่อให้เกิดพิษ (นันทพร และคณะ, 2532)

        การทดสอบการเกิดพิษแบบเฉียบพลัน (acute toxicity) ของสารสกัดกระเทียมด้วยน้ำ โดยฉีดเข้าบริเวณใต้ผิวหนังของกระต่าย พบว่าขนาดที่ทำให้สัตว์ตายครึ่งหนึ่ง LD50 เท่ากับ 3034 mg/kg และมีค่า maximum tolerated dose เท่ากับ 2200 mg/kg โดยเมื่อให้สารสกัดในขนาดสูง 3200 และ 4200 mg/kg จะพบอัตราการตาย และกระต่ายไม่อยากอาหาร และเกิดอัมพาต (Mikail, 2010)

       การทดสอบความเป็นพิษเฉียบพลันของสารสกัดน้ำที่ได้จากกระเทียม โดยการให้สารสกัดน้ำจากกระเทียมแก่หนูขาว สายพันธุ์วิสตาร์ ในขนาด 100, 1000, 2500 และ 5,000 mg/kg แก่หนูแต่ละกลุ่ม ครั้งเดียว แล้วสังเกตผลภายใน 24 ชั่วโมง ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดทุกขนาด ไม่ทำให้หนูตาย และเมื่อใช้ในขนาดสูงถึง 2,500 mg/kg หนูยังคงมีสุขภาพดี และไม่เกิดพิษ  ส่วนขนาด 5,000 mg/kg ทำให้หนูมีอาการอ่อนแรง, ทรงตัวไม่ได้, หัวใจเต้นเร็ว (Lawal, et al., 2016)

      การตรวจสอบค่าชีวเคมีต่าง ๆ ในเลือด โดยการให้สารสกัดน้ำจากกระเทียมแก่หนูขาวในขนาด 300, 600 และ 1200 mg/kg เป็นระยะเวลา 5 สัปดาห์ ผลการทดสอบพบว่าค่า serum aspartate transaminase, alkaline phosphatase activities, total bilirubins, Na, K, creatinine, red blood cell, hematocrit, hemoglobin, mean corpuscular hemoglobin concentration, granulocyte และ organs-body weight ratio ยังคงอยู่ในระดับปกติ แต่ในขนาด 600 และ 1200 mg/kg ทำให้ค่า serum alanine transaminase activities, total proteins, direct bilirubins, Cl− concentrations และ body weight gain (P < 0.05) ลดลง แต่ค่าต่อไปนี้ได้แก่ urea, albumin, white blood cell, mean corpuscular hemoglobin และ mean corpuscular volume countเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามที่ขนาด 300 mg/kg ทำให้ค่า Cl−, urea และ albumin เปลี่ยนแปลงเล็กน้อย  โดยสรุปสารสกัดทำให้มีการเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมีต่าง ๆ ในเลือดได้เล็กน้อย เมื่อใช้ในขนาด 300 mg/kg ซึ่งเป็นขนาดที่ค่อนข้างปลอดภัย (Lawal, et al., 2016)

 

ปฏิกิริยาระหว่างยา:
             กระเทียมในปริมาณมากทำให้เลือดแข็งตัวช้าลง จะต้องระวังในการใช้ร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น  warfarin , NSAIDs สมุนไพร หรือยาที่ทำให้เกล็ดเลือดต่ำ ยาลดความดันโลหิต ยาลดน้ำตาลในเลือด

 

อาการไม่พึงประสงค์:
             อาจจะทำให้เกิดอาการแพ้ หรือมีอาการทางเดินอาหารไม่ปกติ หากรับประทานกระเทียมขณะท้องว่าง เช่น เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย เป็นต้น และกลิ่นกระเทียมจะติดที่ผิวหนัง และลมหายใจ บางกรณีอาจจะเกิดอาการหอบหืดได้ และทำให้เลือดแข็งตัวได้ช้าทำให้เสี่ยงต่อภาวะเลือดหยุดไหลยากหลังผ่าตัด จึงไม่ควรรับประทานกระเทียมก่อนการผ่าตัด เพราะจะทำให้เลือดแข็งตัวได้ช้าลง

 

เอกสารอ้างอิง:

1. นันทพร นิลวิเศษ, วัลลา วามนัฐจินดา, คณิต อธิสุข, พรรณี พิเดช.การทดสอบความเป็นพิษเฉียบพลันของกระเทียมสกัดชนิด Freeze-dried.วารสารกรมวิทยาศาสตร์.2532;31(3): 181.

2. ภรภัทร ตั้งงวรกิตติ์ และรังสินี  โสธรวิทย์. ปัจจัยที่มีผลต่อสมบัติการต้านอนุมูลอิสระและสมบัติการต้านเชื้อแบคทีเรียของสารสกัดจากกระเทียม.การประชุมวิชาการ ครั้งที่ 8, 2554. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์วิทยาเขตกําแพงแสน. จ.นครปฐม.

3. สุญาณี มงคลตรีรัตน์, อรพิน เกิดชูชื่น และ ณัฎฐา เลาหกุลจิตต์.ประสิทธิภาพการเป็นสารต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดกระเทียมและหอมหัวใหญ่ . วารสารวิทยาศาสตร์การเกษตร. 2556;44(2)(พิเศษ.):585-588.

4. Ali M. Mechanism by which Garlic (Allium sativum) Inhibits cyclooxygenase activity. Effect of raw versus boiled garlic extract on the synthesis of prostanoids. Prostaglandins Leukotrienes and Essential Fatty Acids. 1995;53:397-400.

5. Bozin B, Mimica-Dukic N, Samojlik I, Goran A, Igic R. Phenolics as antioxidants in garlic (Allium sativum L., Alliaceae). Food Chemistry. 2008;111: 925–929. 

6. Dillon SA,  Burmi RS, Lowe GM, Billington D, Rahman K. Antioxidant properties of aged garlic extract: an in vitro study incorporating human low density lipoprotein. Life sciences. 2003;72:1583-1594.

7. Grune T, Scherat T, Behrend H, Conradi E, Brenke R, Siems W. Influence ofAllium sativumon oxidative stress status a clinical investigation. Phytomedicine 1996;2 (3):205-207.

8. Lawal B, Shittu OK, Oibiokpa FI, Mohammed H, Umar SI, Haruna GM. Antimicrobial evaluation, acute and sub-acute toxicity studies of Allium sativum. Journal of Acute Disease. 2016;5(4): 296–301. 

9. Lee I-C, Kim S-H, Baek H-S, Moon C, Kang S-S, Kim S-H, et al. The involvement of Nrf2 in the protective effects of diallyl disulfide on carbon tetrachloride-induced hepatic oxidative damage and inflammatory response in rats. Food and Chemical Toxicology. 2014;63:174-185.

10. MartinsN, Petropoulos S, Isabel C.F.R. Ferreira. Chemical composition and bioactive compounds of garlic (Allium sativumL.) as affected by pre- and post-harvest conditions: A review. Food Chemistry 2016;211:41-50.

11. Mikail HG. Phytochemical screening, elemental analysis and acute toxicity of aqueous extract of Allium sativum L. bulbs in experimental rabbits. Journal of Medicinal Plants Research. 2010;4(4):322-326.

12. Queiroz YS, Ishimoto EY, Bastos DHM, Sampaio GR, Torres EAFS. Garlic (Allium sativum L.) and ready-to-eat garlic products: In vitro antioxidant activity. Food Chemistry. 2009;115: 371–374.

13. Zakarova A, Seo JY,  Kim HY, Kim JH,Shin J-H, Cho KM, et al. Garlic sprouting is associated with increased antioxidant activity and concomitant changes in the metabolite profile.  J Agric Food Chem. 2014;62: 1875-1880.

 

ข้อมูลตำรับยาแก้ลมอัมพฤกษ์   : phar.ubu.ac.th/herb-thairemedy/

ข้อมูลตำรับยาประสะไพล          : phar.ubu.ac.th/herb-thairemedy/

ข้อมูลตำรับยาเลือดงาม            phar.ubu.ac.th/herb-thairemedy/

ข้อมูลตำรับยาเหลืองปิดสมุทร  phar.ubu.ac.th/herb-thairemedy/

จำนวนครั้งที่มีการอ้างอิงหน้าเว็บไซต์นี้: 156
เกี่ยวกับระบบ:

ระบบนี้ถูกพัฒนาต่อยอดมาจาก ระบบฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐาน โดยผู้พัฒนาได้ดำเนินการสร้างหน้า UX/UI ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เป็นรูปแบบเดียวกันกับเว็บไซต์ของคณะเภสัชศาสตร์ มอบ. แต่ยังคงใช้ฐานข้อมูล Database ของฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐานเดิมอยู่