ทับทิม

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

ทับทิม

ชื่อเครื่องยา ทับทิม
ชื่ออื่นๆของเครื่องยา
ได้จาก ใบ
ชื่อพืชที่ให้เครื่องยา ทับทิม
ชื่ออื่น (ของพืชที่ให้เครื่องยา) มะเก๊า มะก่องแก้ว หมากจัง (เหนือ) พิลาขาว (น่าน) พิลา (หนองคาย)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Punica granatum L.
ชื่อพ้อง Punica nana
ชื่อวงศ์ Lythraceae

ลักษณะภายนอกของเครื่องยา:

          ใบเป็นใบเดี่ยว รูปขอบขนานแกมรูปหอกกลับ ปลายแหลม ยาว 2-9 เซนติเมตร กว้าง 1-2 เซนติเมตร โคนใบสอบ ส่วนที่ค่อนไปทางปลายใบกว้าง ขอบเรียบ ผิวใบหนา ใบแห้งสีเขียวอมน้ำตาล รสฝาดเล็กน้อย

 

 

                                                    

                                                                                                               เครื่องยา ใบทับทิม

 

 

                                                             

                                                                                                               เครื่องยา ใบทับทิม

ลักษณะทางกายภาพและเคมีที่ดี:     -

         

สรรพคุณ:

          ตำรายาไทย ใบ รสฝาด แก้ท้องร่วง แก้บิดมูกเลือด แก้ลำไส้อักเสบเฉียบพลัน ปิดธาตุ สมานแผล พอกแผลฟกช้ำ แก้อาเจียน รักษาตาเจ็บ อมกลั้วคอ ชะล้างแผลมีหนองเรื้อรังบนศีรษะ  แก้โรคลักปิดลักเปิด ทับทิมทั้ง 5 (ราก ลำต้น ใบ ดอก ผล) แก้ท้องเสีย แก้บิด มูกเลือด ขับพยาธิเส้นด้าย และตัวตืด ใบสดนำมาต้ม กรองเอาน้ำใช้ล้างแผลที่มีหนอง หรือใช้ใบสดตำพอกบริเวณที่เป็นแผลถลอก สมานแผล

          บัญชียาจากสมุนไพร: ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ระบุการใช้ใบทับทิมในตำรับ “ยาเหลืองปิดสมุทร” มีส่วนประกอบของใบทับทิมร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณบรรเทาอาการท้องเสียชนิดที่ไม่เกิดจากการติดเชื้อ เช่น อุจจาระไม่เป็นมูก หรือมีเลือดปน และท้องเสียชนิดที่ไม่มีไข้

 

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา:      -

 

องค์ประกอบทางเคมี:

          ใบพบองค์ประกอบหลักเป็นสารกลุ่มแทนนิน

 

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:

ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย

       การทดสอบฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียก่อโรค ของสารสกัดเมทานอล และสารสกัดเอทานอลที่ได้จากใบทับทิม ทำการศึกษาในหลอดทดลอง โดยใช้วิธี agar well diffusion method เพื่อหาบริเวณโซนใสที่ยับยั้งเชื้อ (zone of inhibition) และใช้วิธี micro broth dilution method เพื่อหาค่าความเข้มข้นต่ำสุดที่สามารถยับยั้งเชื้อได้ (MIC) ใช้ยา ciprofloxacin ขนาด 5 µg/ml เป็นสารมาตรฐาน ทำการทดสอบกับเชื้อแบคทีเรีย แกรมลบ 3 ชนิด ได้แก่ Escherichia coli, Klebsiella pneumonia และ Salmonella typhimurium  เชื้อแบคทีเรีย แกรมบวก 2 ชนิด ได้แก่ Staphylococcus aureus และ Bacillus cereus ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดเมทานอลมีค่า MIC ในการยับยั้งเชื้อทั้ง 5 ชนิด เท่ากับ 2.5, 1.25, 2.5, 1.25 และ 0.3125 mg/ml ตามลำดับ  สารสกัดเอทานอล มีค่า MIC ในการยับยั้งเชื้อทั้ง 5 ชนิด เท่ากับ 1.25, 1.25, 2.5, 2.5 และ 0.07813 mg/ml ตามลำดับ (MIC ของสารมาตรฐานเท่ากับ 0.1526, 0.3125, 0.15625, 0.07813 และ 1.3125 mg/ml ตามลำดับ)โดยสรุปทั้งสารสกัดเมทานอล และเอทานอลจากใบทับทิม สามารถยับยั้งเชื้อแบคทีเรียทั้ง 5 ชนิด ที่ใช้ในการทดสอบได้ โดยเชื้อ E. coli, S. typhimurium, S. aureus และ B. cereus  เป็นเชื้อที่เป็นสาเหตุในการก่อโรคอาหารเป็นพิษ และโรคอื่นๆได้ โดยเฉพาะเชื้อ E. coli และ S. typhimurium เป็นแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุสำคัญของโรคติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร เช่น โรคอุจจาระร่วง เชื้อ K. pneumoniae เป็นสาเหตุให้ติดเชื้อที่ปอดได้ และพบว่าสารสกัดเมทานอล และเอทานอลสามารถยับยั้งเชื้อ B. cereus ได้ดีกว่าสารมาตรฐาน ciprofloxacin โดยเชื้อ B.cereus เป็นเชื้อที่สามารถก่อโรคฉวยโอกาสได้ในผู้ที่ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น ติดเชื้อจากเครื่องมือ อุปกรณ์ทางการแพทย์ทำให้เกิดเยื่อบุหัวใจ ปอดอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ การติดเชื้อในกระแสเลือด นอกจากนี้ยังก่อโรคอาหารเป็นพิษได้ และเป็นสาเหตุของการเกิดตาอักเสบ เป็นต้น (Madduluri, et al., 2013)

ฤทธิ์ต้านการอักเสบ

       การทดสอบฤทธิ์ต้านการอักเสบในหลอดทดลองของสารสกัดเฮกเซน, สารสกัดไดคลอโรมีเทน, สารสกัดเอทิลอะซิเตต, สารสกัดเอทานอล และสารสกัดเมทานอล ที่ได้จากใบทับทิม ตรวจสอบโดยดูผลการยับยั้งเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องในขบวนการอักเสบได้แก่ 5-lipoxygenase (5-LOX) ใช้ nordihydroguaiareticacid (NDGA) เป็นสารมาตรฐาน ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดเอทานอลออกฤทธิ์ต้านการอักเสบได้สูงที่สุด  รองลงมาคือสารสกัดเมทานอล โดยสารสกัดทั้งสองชนิดออกฤทธิ์ได้ดีกว่าสารมาตรฐาน  ค่า IC50 ของสารสารสกัดเอทานอล, สารสกัดเมทานอล, และสารมาตรฐาน NDGA เท่ากับ  6.20±0.17, 6.83±0.37 และ 7.00±0.22 mg/l ตามลำดับ (Bekir, et al., 2013)

ฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์โคลีนเอสเตอเรส

      การทดสอบฤทธิ์ anti-cholinesterase ในหลอดทดลองของสารสกัดเฮกเซน, สารสกัดไดคลอโรมีเทน, สารสกัดเอทิลอะซิเตต, สารสกัดเอทานอล, และสารสกัดเมทานอลที่ได้จากใบทับทิม ตรวจสอบโดยวิธี Ellman’s method โดยดูผลการยับยั้งเอนไซม์ 2 ชนิด คือ acetylcholinesterase (AChE) และ butyrylcholinesterase (BuChE) (ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ทำลายสารสื่อประสาท acethylcholine ในสมอง ทีเกี่ยวข้องกับความจำ การยับยั้งเอนไซม์นี้ ซึ่งมี 2 ชนิดหลักคือ AChE และ BChE  โดย BChE จะพบมากในระยะท้ายของโรคอัลไซเมอร์ การยับยั้งเอนไซม์ทั้งสองชนิดนี้ จึงเป็นเป้าหมายในการรักษาโรคความจำเสื่อมอัลไซเมอร์) การทดสอบใช้ galanthamine เป็นสารมาตรฐาน ผลการทดสอบพบว่า สารสกัดเอทานอล ออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ทั้ง 2 ชนิด ได้ดีที่สุด โดยออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ AChE อยู่ในระดับดี ค่า IC50 ของสารสกัดเอทานอล และสารมาตรฐาน galanthamine  เท่ากับ 14.83±0.73 และ 0.45±0.03  mg/l ตามลำดับ  ออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ BuChE อยู่ในระดับดีมาก ค่า IC50 ของสารสกัดเอทานอล และสารมาตรฐาน galanthamine  เท่ากับ 2.65±0.21 และ 3.74±0.28 mg/l ตามลำดับ (Bekir, et al., 2013)

ฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็ง

      การทดสอบความเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งในหลอดทดลอง ของสารสกัดเฮกเซน, สารสกัดไดคลอโรมีเทน, สารสกัดเอทิลอะซิเตต, สารสกัดเอทานอล และสารสกัดเมทานอล ที่ได้จากใบทับทิม โดยใช้เซลล์มะเร็งเต้านมที่ได้จากมนุษย์ (MCF-7) ใช้ doxorubicin เป็นสารมาตรฐาน ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดเมทานอลออกฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็ง MCF-7 ได้ดีที่สุด ค่า IC50 ของสารสกัดเมทานอล และสารมาตรฐาน doxorubicin เท่ากับ 31±1.02และ 0.22±0.02 mg/l ตามลำดับ (Bekir, et al., 2013)

ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ

       การทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระด้วยวิธีทางเคมี ในหลอดทดลอง ของสารสกัดเฮกเซน, สารสกัดไดคลอโรมีเทน, สารสกัดเอทิลอะซิเตต, สารสกัดเอทานอล และสารสกัดเมทานอล ที่ได้จากใบทับทิม ตรวจสอบโดยใช้วิธี DPPH (1,1-diphenyl-2-picrylhydrazyl) assay และ ABTS (2,2'-azinobis-3-ethylbenzothiazoline-6-sulphonate)  assay ใช้ quercetin เป็นสารมาตรฐาน ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดเมทานอลออกฤทธิ์ได้ดีที่สุด ความเข้มข้นที่สามารถยับยั้งอนุมูลอิสระ DPPH และ ABTS ได้ร้อยละ 50 (IC50) เท่ากับ 5.62 ±0.23 และ 1.31±0.00 mg/l ตามลำดับ สารมาตรฐาน quercetin มีค่า IC50 เท่ากับ 2.86±0.09 และ 0.93±0.03 mg/l ตามลำดับ (Bekir, et al., 2013)

 

การศึกษาทางคลินิก:          -

การศึกษาทางพิษวิทยา:      -

 

เอกสารอ้างอิง:

1. Bekir J, Mars M, Souchard JP, Bouajila J. Assessment of antioxidant, anti-inflammatory, anti-cholinesterase and cytotoxicactivities of pomegranate (Punica granatum) leaves. Food and Chemical Toxicology. 2013;55:470-475.

2. Madduluri S, Rao KB, Sitaram B. In vitro evaluation of antibacterial activity of five indigenous plants extract against five bacterial pathogens of human. Int J Pharm Pharm Sci. 2013;5(Suppl 4):679-684.

 

ค้นหาข้อมูลพืชที่ให้เครื่องยา    : phar.ubu.ac.th/herb-phargarden/

ข้อมูลตำรับยาเหลืองปิดสมุทร  : phar.ubu.ac.th/herb-thairemedy/

จำนวนครั้งที่มีการอ้างอิงหน้าเว็บไซต์นี้: 6
เกี่ยวกับระบบ:

ระบบนี้ถูกพัฒนาต่อยอดมาจาก ระบบฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐาน โดยผู้พัฒนาได้ดำเนินการสร้างหน้า UX/UI ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เป็นรูปแบบเดียวกันกับเว็บไซต์ของคณะเภสัชศาสตร์ มอบ. แต่ยังคงใช้ฐานข้อมูล Database ของฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐานเดิมอยู่