ทับทิม

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

ทับทิม

ชื่อสมุนไพร ทับทิม
ชื่ออื่นๆ มะเก๊า (เหนือ) พิลาขาว (น่าน) พิลา (หนองคาย) มะก่องแก้ว หมากจัง
ชื่อวิทยาศาสตร์ Punica granatum L.
ชื่อพ้อง Punica nana
ชื่อวงศ์ Lythraceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์:
             ไม้พุ่มขนาดกลาง สูง 2-5 เมตร เปลือกลำต้นสีเทาค่อนข้างเรียบ กิ่งและยอดอ่อนเป็นเหลี่ยมมีหนามแหลม ส่วนของลำต้นที่ผลิออกมาใหม่มีสีแดง ปลายกิ่งอ่อนห้อยลู่ลง แตกกิ่งก้านโปร่งยาว ใบเป็นใบเดี่ยวเรียงตรงข้าม รูปขอบขนานแกมรูปหอกกลับ ปลายแหลม ใบยาว 2-9 เซนติเมตร กว้าง 1-2 เซนติเมตร โคนใบสอบ ส่วนที่ค่อนไปทางปลายใบกว้าง ขอบเรียบ ผิวใบหนาและเป็นมัน ใบอ่อนมีสีแดง ดอกออกเป็นช่อหรือเดี่ยว บริเวณปลายยอดหรือง่ามใบ 2-5 ดอก ดอกมีขนาดใหญ่ กลีบดอกสีส้มแดง ร่วงง่าย มี 6 กลีบ ปลายกลีบดอกแยกออกจากกัน รูปดอกคล้ายระฆัง ตรงกลางดอกมีเกสร ดอกตัวผู้จำนวนมาก สีเหลือง เกสรตัวผู้ติดอยู่ที่กลีบเลี้ยงด้านใน ดอกตัวเมียมี 1 อัน ก้านดอกสั้น กลีบเลี้ยงหนาแข็งโคนกลีบติดกันเป็นหลอด ปลายหลอดจักเป็นฟันเลื่อยและปลายหยักโค้งออก สีส้มแกมเหลือง ผลรูปกลม ขนาด 5-12 เซนติเมตร เปลือกผลหนา ผิวเรียบเกลี้ยง เป็นมัน เมื่อสุกมีสีเหลืองปนน้ำตาลและมีสีแดงฉาบบางๆ เป็นตอนๆ ผลแก่จะแตกอ้าเห็นภายในมีเมล็ดจำนวนมาก และมีเนื้อสีชมพูอ่อน โปร่งแสง มีรสเปรี้ยวอมหวาน ห่อหุ้มเมล็ดไว้ เมล็ดรูปร่างเป็นเหลี่ยมมนๆ อัดกันแน่นเต็มผล เมล็ดมีทั้งชนิดสีแดง ชมพู และสีเหลืองซีด ออกดอกและติดผลราวเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม

 

ลักษณะวิสัย

 

 

ลำต้น

 

 

ผล และ ใบ

 

 

ดอก

 

 

ดอก

 

 

ดอก

 

 

ดอกติดผล

 

 

ผล

 

 

ผล

 

 

ผล

 

 

ผล และ เมล็ด

 

 

เมล็ด


สรรพคุณ:   
              ตำรายาไทย เปลือกผล แก้ท้องเสีย แก้บิด ปิดธาตุ แก้แผลพุพองเน่าเปื่อย ห้ามเลือด แก้ตกขาว แก้หิด กลาก ฝาดสมาน สมานแผล ขับพยาธิ ฝนน้ำทาแก้น้ำกัดเท้า ราก ขับพยาธิเส้นด้าย ไส้เดือน ตัวตืด แก้ตานขโมย แก้เจ็บในคอ ฝาดสมาน เมล็ด แก้โรคลักปิดลักเปิด บำรุงกระเพาะอาหาร ทำให้เจริญอาหาร แก้ปวดกระเพาะอาหาร แก้จุกแน่นอาหารไม่ย่อย แก้ท้องเสีย เปลือกราก แก้สตรีตกเลือด ตกขาว หล่อลื่นลำไส้ ขับพยาธิตัวตืด ไส้เดือน ฝาดสมาน แก้ท้องเสีย แก้บิดมูกเลือด แก้ลักปิดลักเปิด เนื้อหุ้มเมล็ด แก้ลักปิดลักเปิด ผลอ่อน ปิดธาตุ สมานแผล แก้บิด แก้ท้องร่วง แก้ปวดเอว บำรุงกำลัง ดอก ใช้แก้หูชั้นในอักเสบ  ห้ามเลือด แก้อาเจียนเป็นเลือด แก้เลือดกำเดา แก้บาดแผล ใบ ใช้แก้ลำไส้อักเสบเฉียบพลัน แก้ท้องร่วง แก้บิด พอกแผลฟกช้ำ แก้อาเจียน รักษาตาเจ็บ อมกลั้วคอ ชะล้างแผลมีหนองเรื้อรังบนศีรษะ  แก้โรคลักปิดลักเปิด ต้นและเปลือกต้น ขับพยาธิไส้เดือน พยาธิตัวตืด แก้ท้องร่วง แก้บิด สมานแผล แก้โรคลักปิดลักเปิด ทั้งห้า (ราก ลำต้น ใบ ดอก ผล) ขับพยาธิเส้นด้าย และตัวตืด สมานแผล แก้บิดมูกเลือด แก้ท้องร่วง ท้องเสีย

องค์ประกอบทางเคมี:

             ราก และกิ่งก้าน พบอัลคาลอยด์ 0.3-0.5% ได้แก่ pelletierine, pseudo- pelletierine, iso pelletierine สารอื่น ๆ ที่พบ ได้แก่ punicotannic acid, gallic acid, เปลือกผล และราก พบ mannitol, 2-propenyl-piperidine, cralaegolic acid, asiatic acid, cadaverine เปลือกผล มีรสฝาดจากสาร tannic acid

 

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:

ฤทธิ์ต้านอาการท้องร่วง

       การทดสอบฤทธิ์ต้านอาการท้องร่วงของสารสกัด 50% เอทานอล ที่ได้จากเปลือกผลทับทิม ทำการทดลองในสัตว์ทดลอง และในหลอดทดลอง ในสัตว์ทดลอง ตรวจสอบโดยให้สารสกัดจากเปลือกผลทับทิมขนาดต่ำ (0.5 g ต่อน้ำหนักตัว 1kg) และขนาดสูง (1.0 g ต่อน้ำหนักตัว 1 kg) แก่หนูถีบจักรสายพันธุ์สวิส หลังจากนั้น 1 ชั่วโมง ชักนำให้หนูเกิดอาการท้องร่วงด้วยน้ำมันละหุ่ง, sennoside B, magnesium sulphate หรือ misoprostol ทำการทดสอบโดยแบ่งหนูออกเป็น 4 กลุ่ม ตามสารชักนำที่ได้รับ บันทึกผลโดยวัดเวลาเริ่มถ่ายครั้งแรกหลังจากชักนำให้ท้องร่วง (onset), จำนวนครั้งที่ถ่าย และลักษณะความแข็งเหลวของเนื้ออุจจาระ รายงานผลเป็นจำนวนครั้ง ใช้เวลาในการสังเกตผล 6 ชั่วโมง ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดเปลือกผลทับทิมมีผลป้องกันการถ่ายเหลวในหนูได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p≤0.05) ทั้งในขนาดต่ำ และขนาดสูง เมื่อใช้สารชักนำเป็นน้ำมันละหุ่ง โดย onset ของกลุ่มควบคุม, สารสกัดขนาดต่ำ และสารสกัดขนาดสูง เท่ากับ 29.8±3.4*, 89.2±19.2* และ 47.7±1.9* นาที ตามลำดับ จำนวนครั้งที่ถ่ายอุจจาระ เท่ากับ 8.4±0.2*, 5.2±1.1* และ 6.2±0.8 ครั้ง ตามลำดับ จำนวนครั้งที่ถ่ายอุจจาระเหลว เท่ากับ 7.0±0.5*, 1.6±0.5* และ 1.4±0.6* ครั้ง ตามลำดับ (*p≤0.05) สรุปได้ว่าสารสกัดผลทับทิมทำให้เวลาเริ่มถ่ายครั้งแรกหลังชักนำให้ท้องร่วงนานขึ้น ลดจำนวนครั้งของการถ่ายอุจจาระ และจำนวนครั้งที่ถ่ายอุจจาระเหลว ลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เมื่อเหนี่ยวนำให้ท้องร่วงด้วยน้ำมันละหุ่ง   การทดสอบในหลอดทดลอง โดยการตัดลำไส้เล็กส่วนปลาย (ileum) แยกออกมาจากหนูตะเภาเพศผู้ จากนั้นเหนี่ยวนำให้ลำไส้หดตัวด้วยสารเคมี ได้แก่ ACh, BaCl2 หรือใช้กระแสไฟฟ้าความถี่ 10 Hz ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดจากเปลือกผลทับทิม มีค่าความเข้มข้นต่ำสุดที่สามารถยับยั้งการหดตัวของลำไส้เล็กส่วนปลายได้ร้อยละ 50 (IC50) เท่ากับ 1.17±0.68, 3.20±2.50 และ 1.68±0.24 (mg/ml) ตามลำดับสิ่งเหนี่ยวนำ สรุปได้ว่าสารสกัดจากผลทับทิมทำให้ลำไส้เล็กหดตัวลดลง มีผลให้จำนวนครั้งของการถ่ายอุจจาระ และอาการปวดมวนท้องลดลง เมื่อมีอาการท้องร่วงได้ (Airarat, et al., 2000)

 

เอกสารอ้างอิง:

Airarat W, Kukongviriyapan V, Sattayasai J. A study of antidiarrheal effects of Guava Leaf (Psidium guajava L.) and Pomegranate fruit bark (Punica granatum L.) in experimental animals. Srinagarind Med J. 2000;15(1):3-11.

 

ข้อมูลเครื่องยา                         : phar.ubu.ac.th/herb-thaicrudedrug/

ข้อมูลตำรับยาเหลืองปิดสมุทร  : phar.ubu.ac.th/herb-thairemedy/

จำนวนครั้งที่มีการอ้างอิงหน้าเว็บไซต์นี้: 10
เกี่ยวกับระบบ:

ระบบนี้ถูกพัฒนาต่อยอดมาจาก ระบบฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐาน โดยผู้พัฒนาได้ดำเนินการสร้างหน้า UX/UI ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เป็นรูปแบบเดียวกันกับเว็บไซต์ของคณะเภสัชศาสตร์ มอบ. แต่ยังคงใช้ฐานข้อมูล Database ของฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐานเดิมอยู่