ชันย้อย
ชื่อเครื่องยา | ชันย้อย |
ชื่ออื่นๆของเครื่องยา | |
ได้จาก | ชันที่ไหลออกมาแห้งกรังตามเปลือกต้น |
ชื่อพืชที่ให้เครื่องยา | พืชวงศ์ Dipterocarparpaceae ได้แก่ ตะเคียนทอง ยางนา ยางกราด เต็ง รัง เป็นต้น |
ชื่ออื่น (ของพืชที่ให้เครื่องยา) | |
ชื่อวิทยาศาสตร์ | |
ชื่อพ้อง | |
ชื่อวงศ์ | Dipterocarpaceae |
ลักษณะภายนอกของเครื่องยา:
ชันย้อยที่แห้งกรังจะมีความแข็ง สามารถบดเป็นผงได้ ลักษณะภายนอกเป็นก้อนแข็ง สีขาวอมเหลืองอ่อน มีกลิ่นเฉพาะตัว รสฝาด ขมเย็น
เครื่องยา ชันย้อย
เครื่องยา ชันย้อย
เครื่องยา ชันย้อย
เครื่องยา ชันย้อย
ลักษณะทางกายภาพและเคมีที่ดี: -
สรรพคุณ:
ตำรายาไทย น้ำมันยางนา รสร้อนเมาขื่น มีสรรพคุณห้ามหนอง และสมานแผล ใช้ทาแผลเน่าเปื่อย แผลมีหนอง แผลโรคเรื้อน รับประทานแก้โรคหนองใน ใช้ยาเครื่องจักสาน ทาไม้ อุดเรือรั่ว และผสมขี้เลื่อยจุดไฟ หรือทำไต้ น้ำมันยางผสมกับเมล็ดกุยช่าย (Allium tuberosum Roxb.) คั่วให้เกรียม บดให้ละเอียด ใช้อุดฟันแก้ฟันผุ น้ำมันยาง 1 ส่วน ผสมกับแอลกอฮอล์กิน 2 ส่วน กินเป็นยาขับปัสสาวะ แก้มุตกิดระดูขาว จิบเป็นยาขับเสมหะ น้ำมันยางนาดิบ รสร้อนเมาขื่น ถ่ายหัวริดสีดวงทวารหนักให้ฝ่อ ถ่ายกามโรค ถ่ายพยาธิลำไส้ น้ำมันยางกราด ใส่แผล รักษาแผล และโรคเรื้อน กินแก้โรคหนองใน ใช้ยาเครื่องจักสาน ทาไม้ อุดเรื่อรั่ว และผสมขี้เลื่อยจุดไฟ หรือทำไต้ น้ำมันที่ได้จากต้นยางกล่อง (Dipterocarpus dyeri Pierre.) ทำน้ำมันใส่แผล รักษาหนองใน รักษาโรคเรื้อน ใช้ชันยาเรือ ยาแนวไม้ ยาครุตักน้ำ อุดยาทั่วไป ทำไต้จุดไฟ ชันยางต้นรัง ใช้ผสมน้ำมันทาไม้ ยาแนวเรือ และภาชนะที่ทำจากไม้ไผ่
ตำรับยาพระโอสถพระนารายณ์ ปรากฎตำรับ “สีผึ้งบี้พระเส้น” จำนวน 2 ขนาน ที่มีการใช้ชันย้อย ร่วมกับสมุนไพรอื่นอีกหลายชนิดในตำรับ กวนให้เข้ากันในน้ำมัน ใช้ทาผ้า หรือแพรสำหรับปิดตามพระเส้นที่แข็งทำให้หย่อนได้
ตำราแพทย์แผนโบราณทั่วไปสาขาเภสัชกรรม ระบุว่า ยาง ที่ได้จากต้นยาง มีรสขมเย็น สรรพคุณ กล่อมเสมหะ แก้กามโรค สมานแผล
บัญชียาจากสมุนไพร: ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ระบุการใช้ชันย้อยในตำรับ “ยาเหลืองปิดสมุทร” มีส่วนประกอบของชันย้อยร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ ในตำรับ มีสรรพคุณบรรเทาอาการท้องเสียชนิดที่ไม่เกิดจากการติดเชื้อ เช่น อุจจาระไม่เป็นมูก หรือมีเลือดปน และท้องเสียชนิดที่ไม่มีไข้
รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา: -
องค์ประกอบทางเคมี: -
พบสารกลุ่มไตรเทอร์ปีนอยด์ ได้แก่ dammaradienol, dammarenediol-II, hydroxydammarenone-I, ursonic acid, hydroxyhopanone, dammarenolic acid, shoreic acid, eichlerianic acid และ hydroxyoleanonic lactone
การศึกษาทางเภสัชวิทยา:
ฤทธิ์ยับยั้งสารส่งเสริมการเกิดเนื้องอก
การทดสอบฤทธิ์ยับยั้งสารส่งเสริมการเกิดเนื้องอก ของสารไตรเทอร์พีนอยด์ 19 ชนิด, สารเซสควิเทอร์ปีนอยด์ 1 ชนิด และอนุพันธ์อีก 14 ชนิด ที่แยกได้จากชันย้อย ทำการศึกษาในหลอดทดลอง โดยตรวจสอบฤทธิ์ยับยั้งการเหนี่ยวนำการสร้างแอนติเจนเริ่มต้นของเชื้อไวรัส Epstein-Barr (EBV-EA) เมื่อใช้ 12-O-tetradecanoylphorbol 13-acetate (TPA) เป็นสารส่งเสริมการเกิดเนื้องอก ทดสอบในเซลล์ราจี (Raji cells) ผลการทดสอบพบว่า สารทดสอบส่วนมากมีฤทธิ์ยับยั้งการกระตุ้นแอนติเจนของ EBV-EA โดยมีศักยภาพเทียบเท่าหรือมากกว่าสาร β-carotene ซึ่งเป็นสารยับยั้งสารส่งเสริมการเกิดเนื้องอกที่ได้จากธรรมชาติ นอกจากนี้ยังพบว่า สาร (20S)-20-hydroxy-3,4-secodammara-4(28),24-dien-3-al สามารถยับยั้งสารส่งเสริมการเกิดเนื้องอกที่ผิวหนัง เมื่อทดสอบที่ผิวหนังหนูถีบจักร โดยใช้ 7,12-dimethylbenz[a]anthracene (DMBA) เป็นสารริเริ่ม (initiator) และใช้ TPA เป็นสารส่งเสริม หรือโปรโมเตอร์ (Ukiya, et al., 2010)
ฤทธิ์ต้านเชื้อ Herpes simplex virus types I และ II
การทดสอบฤทธิ์ต้านเชื้อ Herpes simplex virus types I and II (เป็นสาเหตุสำคัญของการติดเชื้อเริมที่ผิวหนัง ริมฝีปาก และอวัยวะเพศ) ของสารไตรเทอร์พีน 9 ชนิด ที่ได้จากชันย้อย ทำการศึกษาในหลอดทดลอง ทดสอบโดยการให้สารไตรเทอร์พีนขนาด 1-10 µg/m lสัมผัสกับ vero cells เป็นเวลานานต่อเนื่อง 48 ชั่วโมง ภายหลังจากทำให้เซลล์ติดเชื้อไวรัสแล้ว ผลการทดสอบพบว่า สารไตรเทอร์พีนทั้ง 9 ชนิด มีผลทำให้เชื้อไวรัสเกิด cytopathic effect (CPE) คือเซลล์มีรูปร่างเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมภายหลังการติดเชื้อ เช่น มีขนาดใหญ่ขึ้น สารไตรเทอร์พีนที่พบ ได้แก่ dammaradienol, dammarenediol-II, hydroxydammarenone-I, ursonic acid, hydroxyhopanone, dammarenolic acid, shoreic acid, eichlerianic acid และ hydroxyoleanonic lactone (Poehland, et al., 1987)
การศึกษาทางคลินิก: -
การศึกษาทางพิษวิทยา:
การทดสอบความเป็นพิษต่อยีน
การทดสอบความเป็นพิษต่อยีนของชันย้อย โดยใช้หนูถีบจักรที่มีการดัดแปลงพันธุกรรมยีน (gpt delta transgenic mouse) โดยการให้ชันย้อยขนาด 2% เป็นระยะเวลา 12 สัปดาห์ พบว่าชันย้อยไม่ทำให้เนื้อเยื่อตับเปลี่ยนแปลง และไม่เหนี่ยวนำให้เกิดการก่อกลายพันธุ์ในตับ แต่ทำให้ระดับของสารที่เกี่ยวข้องกับการแสดงออกของยีน ซึ่งเป็นดัชนีบ่งชี้การแบ่งตัวเพิ่มขึ้นของเซลล์ ได้แก่ 8-OHdG, bax, bcl-2, p53, cyp1a2, cyp2e1, gpx1 และ gstm2 มีค่าเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม (p<0.05) จากการวัดค่าน้ำหนักตัว น้ำหนักตับ ปริมาณน้ำ และปริมาณอาหารที่หนูกิน ผลการทดสอบพบว่า หนูยังคงกินน้ำ และอาหารได้ตามปกติ แต่มีน้ำหนักตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) เท่ากับ 28.76±0.09 กรัม เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม (เท่ากับ 34.67±1.87กรัม) แต่ไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงน้ำหนักตับ โดยสรุปชันย้อยไม่ก่อให้การพยาธิสภาพในตับ และไม่มีความเป็นพิษต่อยีน แต่อย่างไรก็ตามควรระมัดระวังเมื่อนำมาใช้เพื่อการบริโภคเนื่องจากทำให้ดัชนีบ่งชี้การแบ่งตัวของเซลล์ตับเพิ่มขึ้น ซึ่งต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป (Xie, et al., 2012)
เอกสารอ้างอิง:
1. Poehland BL, Carté BK, Francis TA, Hyland LJ, Allaudeen HS, Troupe N. In vitro antiviral activity of dammar resin triterpenoids. J Nat Prod. 1987;50(4):706-713.
2. Ukiya M, Kikuchi T, Tokuda H, Tabata K, Kimura Y, Arai T, et al. Antitumor-promoting effects and cytotoxic activities of dammar resin triterpenoids and their derivatives. Chemistry & Biodiversit. 2010;7(8):1871-1884.
3. Xie X-L, Wei M, Kakehashi A, Yamano S, Okabe K, Tajiri M, et al. Dammar resin, a non-mutagen, inducts oxidative stress and metabolic enzymes in the liver of gpt delta transgenic mouse which is different from a mutagen, 2-amino-3-methylimidazo[4,5-f]quinoline. Mutation Research. 2012;748:29-35.
ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง (ยางกราด) : phar.ubu.ac.th/herb-thaiherbarium/
ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง (ยางนา) : phar.ubu.ac.th/herb-thaiherbarium/
ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง (ตะเคียนทอง) : phar.ubu.ac.th/herb-thaiherbarium/
ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง (รัง) : phar.ubu.ac.th/herb-thaiherbarium/
ค้นหาข้อมูลพืชที่ให้เครื่องยา (ยางกราด) : phar.ubu.ac.th/herb-phargarden/
ค้นหาข้อมูลพืชที่ให้เครื่องยา (ยางนา) : phar.ubu.ac.th/herb-phargarden/
ค้นหาข้อมูลพืชที่ให้เครื่องยา (ตะเคียนทอง) : phar.ubu.ac.th/herb-phargarden/
ค้นหาข้อมูลพืชที่ให้เครื่องยา (รัง) : phar.ubu.ac.th/herb-phargarden/
ข้อมูลตำรับยาเหลืองปิดสมุทร : phar.ubu.ac.th/herb-thairemedy/