รัง
ชื่อสมุนไพร | รัง |
ชื่ออื่นๆ | เปา เปาดอกแดง (ภาคเหนือ) ฮัง (ภาคอีสาน) ลักป้าว (เชียงใหม่) เรียง เรียงพนม (สุรินทร์) |
ชื่อวิทยาศาสตร์ | Shorea siamensis Miq. |
ชื่อพ้อง | Pentacme siamensis (Miq.) Kurz., Shorea assamica |
ชื่อวงศ์ | Dipterocarpaceae |
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ไม้ยืนต้นผลัดใบ ขนาดเล็กถึงขนาดกลาง สูง 10 - 25 เมตร กิ่งก้านคดงอ เปลือกสีเทาหรือน้ำตาลอมเทา แข็ง และหนามาก แตกเป็นร่องลึกตามยาวของลำต้นคล้ายรอยไถ เปลือกด้านในสีแดงออกน้ำตาล น้ำยางสีเหลืองอ่อนถึงสีน้ำตาล ใบเดี่ยวเรียงสลับ รูปไข่กว้างถึงรูปขอบขนาน กว้าง 10-12.5 ซม. ยาว 10-18 ซม. ปลายเรียวแหลมหรือมน โคนรูปหัวใจขอบเรียบ ขอบเป็นคลื่นขึ้นลง ใบอ่อนแตกใหม่สีน้ำตาลแดง แผ่นใบเรียบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษถึงหนาคล้ายแผ่นหนัง เกลี้ยง แผ่นใบด้านล่างมีขนประปราย เส้นแขนงใบ ข้างละ 10-16 เส้น ชัดเจนทางด้านล่าง ก้านใบ ยาว 2.5-3.5 มม. เกลี้ยง หูใบรูปไข่แกมรูปเคียว กว้างประมาณ 7 มม. ยาว 1.5-1.8 ซม. ร่วงง่าย ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ยาวได้ถึง 15 ซม. ออกที่ซอกใบเหนือรอยแผลใบหรือออกที่ปลายกิ่ง ดอกมักออกก่อนแตกใบอ่อน ดอกตูมรูปไข่ หรือรูปรีขนาดใหญ่ กว้างประมาณ 5 มม. ยาวประมาณ 1.5 ซม. ดอกย่อยสีเหลือง กลิ่นหอมอ่อนๆ กลุ่มละ 5-20 ดอก มี 5 กลีบ รูปไข่ ปลายบิดเป็นเกลียวคล้ายกังหัน ปลายกลีบโค้งไปด้านหลัง ฐานกลีบเชื่อมกัน กลิ่นหอม ดอกหลุดร่วงง่าย กลีบเลี้ยงรูปไข่แกมรูปใบหอกกว้าง มี 5 กลีบ กว้างประมาณ 3 มม. ยาวประมาณ 4-6 มม. โคนเชื่อมติดกัน ปลายเรียวแหลม ผิวด้านนอกมีขน กลีบดอกรูปไข่ หรือรีกว้าง กว้างประมาณ 1 ซม. ยาวประมาณ 1.5 ซม. ปลายแหลม ผิวด้านนอกเกลี้ยง หรือมีขนประปราย ก้านดอกย่อยยาวประมาณ 7 มิลลิเมตร ผิวเกลี้ยง ดอกสมบูรณ์เพศ เกสรเพศผู้ 15 อัน ชั้นนอก 10 อัน ชั้นใน 5 อัน ก้านชูอับเรณูรูปแถบกว้าง อับเรณูรูปแถบ ปลายมีรยางค์แหลม รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปไข่เกลี้ยง มี 3 ช่อง แต่ละช่อง มีออวุล 2 เม็ด ก้านเกสรเพศเมีย รูปเส้นด้าย ยอดเกสรเพศเมีย เป็น 3 พู ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปไข่ กว้างประมาณ 1 ซม. ยาว 1.5-2 ซม. มีปีกที่พัฒนามาจากกลีบเลี้ยง 5 ปีก รูปช้อน มีเส้นตามยาวชัดเจน ปีกยาว 3 ปีก ปลายป้านรูปใบพาย กว้าง 4-9 ซม. ยาวได้ถึง 12 ซม. ปีกสั้น 2 ปีก กว้างประมาณ 5 มม. ยาวประมาณ 6.5 ซม. มีเส้นตามยาวของปีกตั้งแต่ 7 เส้นขึ้นไป เมล็ด 1 เมล็ด พบ ตามป่าเต็งรัง ป่าเต็งรังผสมก่อ และสน เขาหินปูน ตั้งแต่ใกล้ระดับน้ำทะเล จนถึงที่สูง ประมาณ 1,300 เมตร ออกดอกและเป็นผลระหว่างเดือนมกราคม-เมษายน ออกดอกหลังใบร่วงแล้ว พร้อมแตกใบใหม่
ลักษณะวิสัย
ลำต้น
ใบอ่อน
ใบ
ใบ
ดอก
ดอก
ดอก และ ผล
ผล
ผล และ ดอก
ผล
ผล
สรรพคุณ
ตำรายาพื้นบ้านอีสาน เปลือก ใช้แก้โรคท้องร่วง ใบ ตำพอก รักษาแผลพุพอง ชันยาง ใช้ผสมน้ำมันทาไม้ ยาแนวเรือ และภาชนะที่ทำจากไม้ไผ่ เนื้อไม้ นำไปใช้ในการก่อสร้างที่ต้องการรับน้ำหนักมาก ๆ เช่น คาน พื้น เสา ไม้หมอนรถไฟ สะพาน เรือ และเครื่องมือกสิกรรมต่าง ๆ
ชาวไทยใหญ่ทางภาคเหนือของไทย ใช้ ใบ ต้มน้ำอาบ แก้อาการวิงเวียนศีรษะ
ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง : phar.ubu.ac.th/herb-thaiherbarium/
ข้อมูลเครื่องยา (ชันย้อย) : phar.ubu.ac.th/herb-thaicrudedrug/
ข้อมูลตำรับยาเหลืองปิดสมุทร : phar.ubu.ac.th/herb-thairemedy/