ตะเคียนทอง

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

ตะเคียนทอง

ชื่อสมุนไพร ตะเคียนทอง
ชื่ออื่นๆ ตะเคียน ตะเคียนใหญ่ (ภาคกลาง) จูเค้ โซเก (กาญจนบุรี) จะเคียน (ภาคเหนือ) แคน (ภาคอีสาน) กะกี้ โกกี้ (เชียงใหม่) ไพร (เชียงใหม่)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Hopea odorata Roxb.
ชื่อพ้อง
ชื่อวงศ์ Dipterocarpaceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
             ไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ไม่ผลัดใบ สูงได้ถึง 40 เมตร เรือนยอดแน่นสีเขียวเข้ม เป็นพุ่มกลม ลำต้นเปลาตรง เปลือกต้นสีน้ำตาลดำแตกเป็นร่องลึกตามยาว เมื่ออายุมากขึ้นเปลือกจะเป็นเกล็ดๆ เปลือกชั้นในสีเหลืองหม่น มักมียางสีเหลืองซึมออกมา กิ่งแผ่กว้าง กิ่งแขนงเรียวเล็กลู่ลง ส่วนที่ยังอ่อนอยู่มีขน ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ รูปไข่แคบหรือขอบขนาน กว้าง 3-7 เซนติเมตร ยาว 8-16 เซนติเมตร เนื้อใบค่อนข้างหนา ปลายใบเรียวแหลม มีหาง โคนใบสอบ แผ่นใบบิดเป็นลอนเล็กน้อย แผ่นใบเรียบทั้งสองด้าน ใบอ่อนมีขนรูปดาวสีเทา ก้านใบสั้นเรียวเล็ก ยาว 1-1.8 เซนติเมตร หูใบเป็นรูปสามเหลี่ยม เส้นใบข้าง 11-12 คู่ และเส้นใบย่อยเชื่อมเป็นขั้นบันได หลังใบมีต่อมอยู่ตามง่ามแขนงเส้นใบ แผ่นใบบางแต่ค่อนข้างเหนียว ดอกออกเป็นช่อแบบช่อแยกแขนงที่ซอกใบและปลายกิ่ง มีดอกย่อยช่อละ 40-50 ดอก ช่อยาว 5-7 เซนติเมตร ดอกสีเหลืองแกมน้ำตาล มีกลิ่นหอม มีขนนุ่ม กลีบดอกมี 5 กลีบ ดอกบานเต็มที่กลีบดอกจะบิดคล้ายกงจักร ขนาดดอก 0.8-1 เซนติเมตร กลีบดอก 3-5 มิลลิเมตร ปลายกลีบหยักส่วนล่างบิดและเชื่อมติดกัน เกสรตัวผู้มี 15 อัน อับเรณูมียอดแหลม เกสรตัวเมียมีรังไข่เหนือวงกลีบ เรียวเล็ก ความยาวเท่ากับรังไข่ เมื่อหลุดจะร่วงทั้งชั้นรวมทั้งเกสรตัวผู้ติดไปด้วย กลีบเลี้ยงเล็กมากมี 5 กลีบ ผลแห้งไม่แตก รูปกลมหรือรูปไข่เกลี้ยง ปลายมนเป็นติ่ง ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.6 เซนติเมตร มีปีกรูปใบพาย ยาว 1 คู่ ยาว 4-6 เซนติเมตร ปลายปีกกว้าง 1 เซนติเมตร ส่วนโคนเรียว มีเส้นตามยาว 9-11 เส้น ปีกสั้น 3 ปีก ซ้อนกัน ยาวน้อยกว่า 0.5 เซนติเมตร ปีกซ้อนกัน แต่หุ้มส่วนกลางผลไม่มิด ผลสีเขียวอ่อน เมื่อสุกสีน้ำตาลเข้ม เมล็ดค่อนข้างกลมสีน้ำตาล 1 เมล็ดต่อผล พบขึ้นตามป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ ใกล้ลำธาร ที่ความสูง 100-800 เมตร จากระดับน้ำทะเล ออกดอกราวเดือนธันวาคมถึงมีนาคม ติดผลราวเดือนกุมภาพันธ์ถึงมิถุนายน

 

ลักษณะวิสัย

 

 

ลำต้น

 

 

ดอก และ ใบ

 

 

ดอก และ ใบ

 

 

ดอก

 

 

ผล

 

 

ผล และ ใบ

 

 

ผล


สรรพคุณ    
               ตำรายาไทย เปลือก เนื้อไม้ มีรสฝาด ใช้ฆ่าเชื้อโรค แก้อักเสบ ห้ามเลือด เปลือก รสฝาดเมา ใช้สมานแผล แก้บิดมูกเลือด แก้เหงือกอักเสบ และฆ่าเชื้อโรคในปาก แก้ลงแดง แก่น มีรสขมหวาน รักษาคุดทะราด ขับเสมหะ แก้โลหิตและกำเดา แก้ไข้สัมประชวร (ไข้ที่เกิดจากหลายสาเหตุ มักแสดงอาการที่ตา เช่น แดง เหลือง หรือขุ่นคล้ำ เป็นต้น) ยาง บดเป็นผงรักษาบาดแผล ชันใช้ผสมน้ำมันยางทาไม้ ทำน้ำมันชักเงา ยาแนวเรือ

 

ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง               : phar.ubu.ac.th/herb-thaiherbarium/

ข้อมูลเครื่องยา  (ชันย้อย)          : phar.ubu.ac.th/herb-thaicrudedrug/

ข้อมูลตำรับยาเหลืองปิดสมุทร  : phar.ubu.ac.th/herb-thairemedy/

จำนวนครั้งที่มีการอ้างอิงหน้าเว็บไซต์นี้: 3
เกี่ยวกับระบบ:

ระบบนี้ถูกพัฒนาต่อยอดมาจาก ระบบฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐาน โดยผู้พัฒนาได้ดำเนินการสร้างหน้า UX/UI ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เป็นรูปแบบเดียวกันกับเว็บไซต์ของคณะเภสัชศาสตร์ มอบ. แต่ยังคงใช้ฐานข้อมูล Database ของฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐานเดิมอยู่