สีเสียดเทศ

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

สีเสียดเทศ

ชื่อเครื่องยา สีเสียดเทศ
ชื่ออื่นๆของเครื่องยา
ได้จาก การต้มเคี่ยวใบและกิ่ง
ชื่อพืชที่ให้เครื่องยา สีเสียดเทศ
ชื่ออื่น (ของพืชที่ให้เครื่องยา) สีเสียดแขก
ชื่อวิทยาศาสตร์ Uncaria gambir (Hunter) Roxb..
ชื่อพ้อง Nauclea gambir Hunter, Ourouparia gambir (Hunter) Baill., Uruparia gambir
ชื่อวงศ์ Rubiaceae

ลักษณะภายนอกของเครื่องยา:
           ได้จากการนำใบและกิ่งก้านของสีเสียดเทศ มาสกัดด้วยน้ำเดือด กรอง แล้วระเหยแห้ง จะได้สาร แข็งเป็นก้อน ผิวด้านนอกสีน้ำตาล ถึงน้ำตาลเข้ม เนื้อภายในสีน้ำตาลอ่อน เนื้อสารเปราะ และแตกหักง่ายมีกลิ่นเฉพาะ กลิ่นอ่อน  รสฝาด และขมมาก

 

เครื่องยา สีเสียดเทศ

 

เครื่องยา สีเสียดเทศ

 

เครื่องยา สีเสียดเทศ

 

เครื่องยา สีเสียดเทศ

 


ลักษณะทางกายภาพและเคมีที่ดี:
           ปริมาณความชื้นไม่เกิน 15% w/w  ปริมาณเถ้ารวมไม่เกิน 8% w/w  ปริมาณเถ้าที่ไม่ละลายในกรดไม่เกิน 1.5% ปริมาณสิ่งสกัดที่ไม่ละลายในเอทานอล ไม่เกิน 34% w/w  ปริมาณสิ่งสกัดที่ไม่ละลายในน้ำ ไม่เกิน 33% w/w  (เภสัชตำรับอังกฤษและญี่ปุ่น)

          ปริมาณเถ้ารวมไม่เกิน 6% w/w  ปริมาณเถ้าที่ไม่ละลายในกรดไม่เกิน 1.5% ปริมาณสิ่งสกัดที่ละลายใน 50% เอทานอล ไม่น้อยกว่า 70% w/w  (เภสัชตำรับเกาหลี)


สรรพคุณ:
           ตำรายาไทย: ใช้ก้อนสีเสียดเทศบดเป็นผงหรือต้มกิน แก้ท้องร่วง  แก้บิดมูกเลือด  ทาสมานแผล  ใช้ใส่แผลเน่าเปื่อย ใส่แผลริดสีดวง ห้ามโลหิต  ห้ามเลือดกำเดา แก้ลงแดง ทำยาอม ยาบ้วนปาก
           นอกจากนี้บัญชียาจากสมุนไพร: ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศ คณะกรรมการแห่งชาติด้านยา ปรากฏการใช้สีเสียดเทศ ในยารักษาอาการโรคในระบบทางเดินอาหาร ปรากฏตำรับ ”ยาเหลืองปิดสมุทร” มีส่วนประกอบของสีเสียดเทศ และสีเสียดไทย ร่วมกับสมุนไพรอื่นๆในตำรับ มีสรรพคุณบรรเทาอาการท้องเสียชนิดที่ไม่เกิดจากการติดเชื้อ เช่น อุจจาระไม่เป็นมูก หรือมีเลือดปนและท้องเสียชนิดที่ไม่มีไข้

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา:
            แก้ท้องเสีย นำแก่นตากแห้ง หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ ต้มน้ำเคี่ยวให้ข้นระเหยน้ำให้หมด บดเป็นผง เรียกว่า “ผงสีเสียด” ใช้ผงสีเสียด 1/3 – 1/2 ช้อนชา (0.3-1 กรัม) ต้มน้ำดื่ม

องค์ประกอบทางเคมี:
           สารกลุ่ม tannin :ได้แก่ catechutannic acid, catecchin, catechu red    สารกลุ่ม flavonoid : ได้แก่ chalcane-flavan dimers, gambiriin A1, A2, B1 และ B2, (+) catechin, (+)- epi-catechin, และ dimeric ของ proanthocyanidins, procyanidin B1, procyanidin B3, gambiriin C สารกลุ่ม alkaloid : gambirine, gambirdine, isogambirdine

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:

ฤทธิ์ต้านเชื้อจุลชีพ

       การทดสอบฤทธิ์ต้านเชื้อจุลชีพของสารสกัดน้ำ และสารสกัดเอทานอล ที่ได้จากสีเสียดเทศ ทำการศึกษาในหลอดทดลอง โดยใช้วิธี agar disk diffusion method หาบริเวณที่เกิดการยับยั้งเชื้อหรือโซนใส (inhibition zone)และใช้วิธี agar dilution method ในการหาค่าความเข้มข้นต่ำสุดที่สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตเชื้อ (MIC) และค่าความเข้มข้นต่ำสุดที่สามารถฆ่าเชื้อ (MBC) เชื้อที่ใช้ทดสอบได้แก่ เชื้อ methicillin-resistant S. aureus (MRSA)ที่แยกได้จากโรงพยาบาล และเชื้อ S. aureus ATCC 25923 เป็นเชื้อมาตรฐาน ผลการทดสอบพบว่า สารสกัดน้ำ และสารสกัดเอทานอล ที่ได้จากสีเสียดเทศ มีความสามารถในการต้านเชื้อ MRSA โดยมีค่า inhibition zone เท่ากับ 13.08±0.53 และ 19.33±0.26 มิลลิเมตร ตามลำดับ มีค่า MIC เท่ากับ 6.3-12.5 และ 0.4-0.8 mg/ml ตามลำดับ ส่วนค่า MBC เท่ากับ 12.5-25 และ 3.2 mg/ml ตามลำดับ (เชื้อมาตรฐานมีค่า inhibition zone เท่ากับ 13 และ 14 มิลลิเมตร ตามลำดับ มีค่า MIC เท่ากับ 3.2 และ 0.4 mg/ml ตามลำดับ ส่วนค่า MBC เท่ากับ 25 และ 3.2 mg/ml ตามลำดับ) (Voravuthikunchai, et al., 2005)  เชื้อ methicillin-resistant S.aureus (MRSA) (เป็นเชื้อดื้อยา สามารถก่อให้เกิดการติดเชื้อผิวหนังที่พบทั่วไป เช่น ฝี หนอง แผลติดเชื้อ สามารถสร้างสารพิษ endotoxin ทำให้เกิดการติดเชื้อที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินอาหาร เช่น ลำไส้อักเสบ อาหารเป็นพิษ เป็นต้น และยังก่อให้เกิดโรคติดเชื้อฉวยโอกาสในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง และเป็นสาเหตุของการติดเชื้อในโรงพยาบาลอีกด้วย)

ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ

        การทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดเอทิลอะซิเตต, สารสกัดเมทานอล  และสารสกัดน้ำที่ได้จากสีเสียดเทศ (สารสกัดแห้งที่ได้จากการนำสีเสียดเทศมาสกัดด้วยน้ำร้อน 80°C แล้วนำสารสกัดที่ได้มาละลายในตัวทำละลาย 3 ชนิดข้างต้น) ทำการศึกษาทางเคมีในหลอดทดลอง ตรวจสอบโดยใช้วิธี DPPH (1,1-diphenyl-2-picrylhydrazyl) radical scavenging assay ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดเอทิลอะซิเตต สามารถกำจัดอนุมูลอิสระ DPPH ได้สูงที่สุด รองลงมาคือ สารสกัดเมทานอล และสารสกัดน้ำตามลำดับ โดยที่ความเข้มข้น 50 ppm ความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดเอทิลอะซิเตต, สารสกัดเมทานอล, สารสกัดน้ำ และสารมาตรฐานวิตามินซี มีค่าเท่ากับ  88.63, 85.98, 82.23 และ 90.29% ตามลำดับ การหาปริมาณสารฟีนอลรวม (total phenolic content) ของสารสกัดที่ได้จากสีเสียดเทศ ตรวจสอบโดยใช้วิธี Folin-Ciocalteu method รายงานผลในหน่วยมิลลิกรัมของกรดแกลลิคต่อกรัมของสารสกัด (mg/g GAE) ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดเอทิลอะซิเตตมีปริมาณฟีนอลรวมสูงที่สุด รองลงมาคือสารสกัดเมทานอล และสารสกัดน้ำ ตามลำดับ โดยมีค่า total phenolic content ของสารสกัดเอทิลอะซิเตต, สารสกัดเมทานอล และสารสกัดน้ำ เท่ากับ 113.43, 99.25 และ 76.75 mg/g GAE ตามลำดับ การหาปริมาณสารคอนเดนแทนนินรวม (total condensed tannin) ของสารสกัดที่ได้จากสีเสียดเทศ ตรวจสอบโดยการทำปฏิกิริยากับ formaldehyde และหาปริมาณของสารที่เกิดจากปฏิกิริยา ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดเอทิลอะซิเตต มีปริมาณสารคอนเดนแทนนินรวม สูงที่สุด รองลงมาคือสารสกัดเมทานอล และสารสกัดน้ำ ตามลำดับ โดยค่า total condensed tannin ของสารสกัดเอทิลอะซิเตต, สารสกัดเมทานอล และสารสกัดน้ำ มีค่าเท่ากับ 93.12, 75.35 และ 66.96% ตามลำดับ การหาปริมาณฟลาโวนอยด์รวม (total flavonoids) ของสารสกัดที่ได้จากสีเสียดเทศ ตรวจสอบโดยทำปฏิกิริยาการเกิดสีกับ AlCl3 รายงานผลในหน่วยมิลลิกรัมของแคทิชินต่อกรัมสารสกัด (mg/g catechin) ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดเอทิลอะซิเตตมีปริมาณฟลาโวนอยด์รวมสูงที่สุด รองลงมาคือสารสกัดเมทานอล และสารสกัดน้ำ ตามลำดับ โดยค่าปริมาณฟลาโวนอยด์รวม ของสารสกัดเอทิลอะซิเตต, สารสกัดเมทานอล และสารสกัดน้ำ มีค่าเท่ากับ 93.31, 70.94 และ 60.85% mg/g catechin ตามลำดับ การหาปริมาณสารคาเทชิน ด้วยวิธี HPLC พบว่าสารสกัดเอทิลอะซิเตต สารสกัดเมทานอล และสารสกัดน้ำ มีปริมาณคาเทชิน เท่ากับ 87.33, 59.47 และ 42.75% ตามลำดับ  โดยสรุปสารสกัดเอทิลอะซิเตตมีปริมาณรวมของสารฟีนอล คอนเดนแทนนิน และฟลาโวนอยด์ สูงที่สุด และสามารถกำจัดอนุมูลอิสระ DPPH ได้ดีที่สุด จากการหาปริมาณคาเทชินยังพบว่ามีปริมาณสูงที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับสารสกัดอื่น อีกทั้งพบว่าลักษณะโครมาโตรแกรมจาก FTIR มี functional group ทั้งหมดที่ตรงกับคาเทชิน (Kassim, et al., 2011)

       การทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระในหลอดทดลองของสารสกัดน้ำที่ได้จากสีเสียดเทศ ตรวจสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระโดยใช้วิธี DPPH (1,1-diphenyl-2-picrylhydrazyl)  assay, วิธี ferric reducing antioxidant power (FRAP) assay  รายงานผลในหน่วยไมโครโมลของ ferrous ต่อมิลลิกรัมสารทดสอบ (µmol Fe(II)/mg) ผลการทดสอบด้วยวิธี DPPH assay พบว่า สารสกัดน้ำ และสารมาตรฐานวิตามินซีออกฤทธิ์ได้ใกล้เคียงกัน โดยมีค่าความเข้มข้นที่ยับยั้งอนุมูลอิสระ DPPH ได้ร้อยละ 50 (IC50) เท่ากับ 6.4±0.8 และ 4.8±0.5% ตามลำดับ การตรวจสอบโดยวิธี FRAP assay พบว่าสารสกัดน้ำ และวิตามินซี สามารถรีดิวส์เฟอร์ริกเป็นเฟอร์รัสได้สูง ซึ่งเป็นคุณสมบัติของสารต้านอนุมูลอิสระ มีค่าเท่ากับ 5,717.8±537.6 และ 16,813.3 ± 131.1 µmol Fe(II)/mg ตามลำดับ ส่วนการตรวจสอบโดยวิธี FTCassay พบว่า สารสกัดน้ำ และ α-tocopherol สามารถยับยั้งการเกิดออกซิเดชันของไขมัน (lipid peroxidation)โดยมีค่าร้อยละของการยับยั้งเท่ากับ 75.2±1.2 และ 18.1±2.8% ตามลำดับ โดยสรุปการตรวจสอบ lipid peroxidation inhibition โดยใช้วิธี FTC assay ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดน้ำที่ได้จากสีเสียดเทศมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูงใกล้เคียงกับวิตามินซี และมีฤทธิ์ยับยั้ง lipid peroxidation ที่สูงเมื่อเทียบกับ α-tocopherol (วิตามินอี) เมื่อใช้สารทดสอบที่ความเข้มข้น 50 µg/ml การหาปริมาณฟีโนลิครวม (total phenolic content) ตรวจสอบโดยใช้วิธี Folin-Ciocalteu method รายงานผลในหน่วยไมโครกรัมของกรดแทนนิกต่อมิลลิกรัมของสารทดสอบ (µg TAE/mg) ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดน้ำที่ได้จากสีเสียดเทศมีค่า total phenolic contentสูง เท่ากับ 1142.5±106.8µg TAE/mg  โดยสรุปสารสกัดน้ำจากสีเสียดเทศมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูงในทุกวิธีการทดสอบ และมีปริมาณสารฟีนอลรวมสูง นอกจากนี้ยังมีรายงานพบสารหลายชนิดจากสีเสียดเทศ ได้แก่ quinic acid, catechin, epicatechin, procyanidin dimer (B1), quercetine diglycoside, procyanidin dimer, quercetin เป็นต้น ซึ่งเป็นสารที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูง (Sazwi, et al., 2013)

การทดสอบฤทธิ์ปกป้องเซลล์ไฟโบรบลาสต์จากเหงือกมนุษย์

      การทดสอบฤทธิ์ปกป้องเซลล์ไฟโบรบลาสต์จากเหงือกมนุษย์ ของสารสกัดน้ำที่ได้จากสีเสียดเทศ ทำการศึกษาในหลอดทดลอง ตรวจสอบโดยใช้วิธี MTT assay ใช้ 0.5 mM H2O2 เหนี่ยวนำให้เซลล์เกิดความเสียหาย ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดน้ำที่ได้จากสีเสียดเทศมีฤทธิ์ปกป้องเซลล์ไฟโบรบลาสต์จากเหงือกมนุษย์ได้ โดยไม่ทำให้เกิดความเป็นพิษเมื่อใช้ในขนาดความเข้มข้นถึง 500 µg/ml และเมื่อใช้สารสกัดในขนาดความเข้มข้น 50 µg/ml สารสกัดน้ำ และวิตามินซี ทำให้เซลล์รอดชีวิตได้เท่ากับ 100.1±4.6% และ 82.4±2.1% ตามลำดับ (Sazwi, et al., 2013)

 

การศึกษาทางคลินิก:
           ไม่มีข้อมูล

การศึกษาทางพิษวิทยา:
           ไม่มีข้อมูล

 

เอกสารอ้างอิง:

1. Kassim MJ, Hussin MH, Achmad A, Dahon NH, Suan TK, Hamdan HS. Determination of total phenol, condensed tannin and flavonoid contents and antioxidant activity of Uncaria gambir extracts. Majalah Farmasi Indonesia. 2011;22(1):50-59.

2. Sazwi NN, Nalina T, Rahim ZHA. Antioxidant and cytoprotective activities of Piper betle, Areca catechu, Uncaria gambir and betel quid with and without calcium hydroxide. BMC Complementary and Alternative Medicine. 2013;13(351):1-12.

3. Voravuthikunchai SP, Kitpipit L. Activity of medicinal plant extracts against hospital isolates of methicillin-resistant Staphylococcus aureus. Clinical Microbiology and Infection. 2005;11(6):510-512.

 

ข้อมูลตำรับยาเหลืองปิดสมุทร  phar.ubu.ac.th/herb-thairemedy/

จำนวนครั้งที่มีการอ้างอิงหน้าเว็บไซต์นี้: 41
เกี่ยวกับระบบ:

ระบบนี้ถูกพัฒนาต่อยอดมาจาก ระบบฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐาน โดยผู้พัฒนาได้ดำเนินการสร้างหน้า UX/UI ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เป็นรูปแบบเดียวกันกับเว็บไซต์ของคณะเภสัชศาสตร์ มอบ. แต่ยังคงใช้ฐานข้อมูล Database ของฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐานเดิมอยู่