ขมิ้นอ้อย

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

ขมิ้นอ้อย

ชื่อเครื่องยา ขมิ้นอ้อย
ชื่ออื่นๆของเครื่องยา
ได้จาก เหง้า
ชื่อพืชที่ให้เครื่องยา ขมิ้นอ้อย
ชื่ออื่น (ของพืชที่ให้เครื่องยา) ขมิ้นอ้อย (กลาง),ขมิ้นขึ้น (เหนือ),แฮ้วดำ (เชียงใหม่), ละเมียด (เขมร) ขมิ้นเจดีย์ ว่านเหลือง ขมิ้นหัวขึ้น สากกะเบือละว้า
ชื่อวิทยาศาสตร์ Curcuma zedoaria (Christm.) Roscoe
ชื่อพ้อง Amomum latifolium Lam., Amomum zedoaria Christm., Costus luteus Blanco, Costus nigricans Blanco, Curcuma malabarica Velay., Amalraj & Mural., Curcuma pallida Lour., Curcuma raktakanta Mangaly & M.Sabu, Erndlia zerumbet Giseke, Roscoea nigrociliata
ชื่อวงศ์ Zingiberaceae

ลักษณะภายนอกของเครื่องยา:

            เหง้ารูปทรงกระบอก ยาว 4-6 เซนติเมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 2.5-4 เซนติเมตร ผิวนอกสีเหลืองน้ำตาล เห็นข้อ ระหว่างข้อจะมีรอยย่นตามยาว เนื้อในเหง้าสีเหลืองอ่อน มีกลิ่นหอมเฉพาะ รสฝาดเฝื่อน เผ็ดเล็กน้อย

 

เครื่องยา ขมิ้นอ้อย

 

 

เหง้า ขมิ้นอ้อยสด

 

เหง้าขมิ้นอ้อยสด (ซ้าย)  เหง้าขมิ้นชันสด (ขวา)

 


 

ลักษณะทางกายภาพและเคมีที่ดี:

         ปริมาณความชื้นไม่เกิน 11% v/w  ปริมาณเถ้าที่ไม่ละลายในกรด ไม่เกิน 6.0% w/w  ปริมาณเถ้าชนิดซัลเฟต ไม่เกิน 14.0% w/w  ปริมาณน้ำมันระเหยง่าย ไม่น้อยกว่า 4.0% v/w 

 

สรรพคุณ:

            ตำรายาไทย เหง้า รสฝาดเฝื่อน แก้ไข้ครั่นเนื้อครั่นตัว แก้เสมหะ แก้อาเจียน แก้หนองใน สมานลำไส้ ขับลม ขับปัสสาวะ แก้ท้องเสีย ใช้เป็นยาแก้ปวดท้อง ใช้ภายนอกเอาเหง้าโขลกละเอียด พอกแก้ฟกช้ำบวม แก้เคล็ด อักเสบ แก้พิษโลหิต และบรรเทาอาการปวด รักษาอาการเลือดคั่ง เลือดลมไหลเวียนไม่สะดวก รักษาระดูมาไม่ปกติ แก้ระดูขาว ขับประจำเดือน เหง้าผสมใบเทียนกิ่ง และเกลือเล็กน้อยตำละเอียด พอกหุ้มเล็บ เป็นยากันเล็บถอด

          บัญชียาจากสมุนไพร: ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ปรากฏการใช้ขมิ้นอ้อย ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในกลุ่มอาการของระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ ตำรับ “ยาประสะมะแว้ง”  มีสรรพคุณของตำรับคือใช้บรรเทาอาการ ไอ มีเสมหะ ทำให้ชุ่มคอ ขับเสมหะ ตำรับ “ยาแก้ลมอัมพฤกษ์” มีส่วนประกอบของขมิ้นอ้อยร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณบรรเทาอาการปวดตามเส้นเอ็น กล้ามเนื้อ มือ เท้า ตึงหรือชา ตำรับ "ยาประสะไพล" มีส่วนประกอบของเหง้าขมิ้นอ้อยร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณรักษาระดูมาไม่สม่ำเสมอ หรือมาน้อยกว่าปกติ บรรเทาอาการปวดประจำเดือน  และขับน้ำคาวปลาในหญิงหลังคลอดบุตร ตำรับ ”ยาเหลืองปิดสมุทร” มีส่วนประกอบของขมิ้นอ้อย ร่วมกับสมุนไพรอื่นๆในตำรับ มีสรรพคุณบรรเทาอาการท้องเสียชนิดที่ไม่เกิดจากการติดเชื้อ เช่น อุจจาระไม่เป็นมูก หรือมีเลือดปนและท้องเสียชนิดที่ไม่มีไข้

 

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา:

             ขนาดยาทั่วไป 4.5-9 กรัม

 

องค์ประกอบทางเคมี:

            สารกลุ่มเคอร์คิวมินนอยด์ (curcuminoids) ประกอบด้วย เคอร์คิวมิน (curcumin), bisdemethoxycurcumin, demethoxycurcumin, dihydrocurcumin, tetrahydrodemethoxycurcumin,  tetrahydrobisdemethoxycurcumin   น้ำมันระเหยง่าย สารหลักคือสารกลุ่ม sesquiterpene ได้แก่ epicurzerenone 46.6%,  curdione 13.7%

 

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:

ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียในช่องปาก

      การศึกษาฤทธิ์ในการต้านจุลชีพที่พบในช่องปากของขมิ้นอ้อย โดยการเปรียบเทียบกับผลิตภัณฑ์บ้วนปากในท้องตลาด 5 ชนิด ทำการศึกษาในหลอดทดลอง โดยใช้สารสกัดเอทานอล 70% ของเหง้าขมิ้นอ้อย ทดสอบฤทธิ์ต้านเชื้อ Streptococcus mutans, Enterococcus faecalis,  Staphylococcus aureus  และ Candida albicans  โดยใช้สมการการถดถอยแบบเส้นตรง (linear regression method) ในการวัดการลดลงของเชื้อได้ 99.999% ภายใน 60 วินาที ผลการทดลองพบว่า สารสกัดของขมิ้นอ้อย  มีประสิทธิภาพในการยับยั้งเชื้อได้เทียบเท่ากับผลิตภัณฑ์ ในท้องตลาด ได้แก่ สูตร CP+EO (cetylpyridinium chloride (0.5 mg/mL), chamomile, myrrh tinctures, oils of Salvia melaleuca  และ eucalyptus) และสูตร EO (thymol (0.6 mg/mL), eucalyptol (0.92 mg/mL), menthol (0.42 mg/mL) และ methyl salicylate (0.6 mg/mL) (Bugno, et al., 2007)

ฤทธิ์ต้านเชื้อจุลชีพ

      การทดสอบฤทธิ์ต้านเชื้อจุลชีพของสารสกัดปิโตรเลียมอีเทอร์, สารสกัดเฮกเซน, สารสกัดคลอโรฟอร์ม, สารสกัดอะซิโตน, สารสกัดเอทานอล และสารสกัดน้ำ ที่ได้จากเหง้าขมิ้นอ้อย ทำการศึกษาในหลอดทดลอง ตรวจสอบโดยใช้วิธี agar well diffusion method เพื่อหาค่าบริเวณใสในการยับยั้งเชื้อ (zone of inhibition) และใช้วิธี broth dilution method เพื่อหาค่าความเข้มข้นต่ำสุดที่ยับยั้งการเจริญของเชื้อ (MIC) ใช้ยา tetracycline 10 µg เป็นสารมาตรฐานสำหรับเชื้อแบคทีเรีย และใช้ยา clotrimazole 10 µg เป็นสารมาตรฐานสำหรับเชื้อรา เชื้อที่ใช้ทดสอบมี 8 ชนิด แบ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียแกรมบวก 3 ชนิด ได้แก่ Bacillus subtilis, Staphylococcus aureus และ Micrococcus luteus เชื้อแบคทีเรียแกรมลบ 3 ชนิด ได้แก่ Escherichia coli, Proteus mirabilis และ Klebsiella pneumoniae และเชื้อรา 2 ชนิด ได้แก่ Candida albicans และ Aspergillus niger  การตรวจสอบโดยใช้วิธี agar well diffusion method ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดที่ได้จากเหง้าขมิ้นอ้อยทุกชนิด ยกเว้นสารสกัดน้ำ มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียได้ทุกชนิด ยกเว้นเชื้อ S. aureus และ E. coli ส่วนการทดสอบเชื้อราพบว่าสารสกัดทุกชนิดสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อ C. albicans ได้ แต่เชื้อ A. niger มีเพียงสารสกัดปิโตรเลียมอีเทอร์ และสารสกัดอะซิโตนที่สามารถยับยั้งได้  ในการตรวจสอบโดยใช้วิธี broth dilution method เพื่อหาค่า MIC ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดที่สามารถยับยั้งเชื้อ B. subtilis และ C. albicans ได้ดีที่สุดคือสารสกัดเฮกเซน และอะซิโตน โดยมีค่า MIC เท่ากันคือ 0.01 mg/ml  สารสกัดที่สามารถยับยั้งเชื้อ M. luteus ได้ดีที่สุดคือสารสกัดปิโตรเลียมอีเทอร์ และเฮกเซน โดยมีค่า MIC เท่ากันคือ 0.01 mg/ml สารสกัดที่สามารถยับยั้งเชื้อ P. mirabilis ได้ดีที่สุดคือสารสกัดเฮกเซน โดยมีค่า MIC เท่ากับ 0.01 mg/ml  สารสกัดที่สามารถยับยั้งเชื้อ K. pneumonia ได้ดีที่สุดคือสารสกัดเฮกเซน คลอโรฟอร์ม และอะซิโตน โดยมีค่า MIC เท่ากันคือ 0.01 mg/ml สารสกัดที่สามารถยับยั้งเชื้อ A. niger ได้ดีที่สุดคือสารสกัดอะซิโตน โดยมีค่า MIC เท่ากับ 0.01 mg/ml  (Wilson, et al., 2005)  ดังนั้นจึงอาจนำสารสกัดที่ออกฤทธิ์มาศึกษา และพัฒนายาต้านเชื้อ ได้แก่ K. pneumonia (ก่อให้เกิดการติดเชื้อที่ปอด ทางเดินปัสสาวะ เป็นต้น) P. mirabilis (เป็นสาเหตุของการติดเชื้อที่ทางเดินปัสสาวะ การติดเชื้อที่โรงพยาบาล) C. albicans  (ทำให้ติดเชื้อราในช่องปาก บริเวณผิวหนังและเล็บ ผิวหนัง และเยื่อบุชนิดเรื้อรัง โรคติดเชื้อราบริเวณอวัยวะเพศ เป็นต้น)  A. niger (ทำให้เกิดโรคหูชั้นนอกอักเสบ (otomycosis) บางสายพันธุ์สร้าง aflatoxin ในอาหารแห้ง) B. subtilis (สามารถก่อโรคฉวยโอกาสได้ในผู้ที่ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ และสามารถก่อโรคอาหารเป็นพิษได้) M. luteus (เป็นสาเหตุให้อาหารหลายชนิดเน่าเสีย (microbial spoilage) เช่น นม ไข่ อาหารทะเล เนื้อสัตว์ และผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ เป็นต้น

ฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด

       การทดสอบฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดของสารสกัดเมทานอลที่ได้จากเหง้าขมิ้นอ้อย ด้วยวิธี oral glucose tolerance tests (OGTT) ทำการศึกษาในหนูถีบจักรเพศผู้ สายพันธุ์ Swiss albino โดยป้อนสารสกัดเมทานอลที่ได้จากเหง้าขมิ้นอ้อยในขนาดความเข้มข้น 50, 100, 200 และ 400 mg/kg ให้แก่หนูแต่ละกลุ่ม หลังจากนั้น 1ชั่วโมง ชักนำให้หนูเกิดภาวะระดับกลูโคสในเลือดสูงเฉียบพลันด้วยการป้อนสารละลายกลูโคส ขนาด 2 g/kg หลังจากนั้น 120 นาที จึงเก็บเลือดเพื่อมาตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด ใช้ยา glibenclamide ขนาด 10 mg/kg เป็นสารมาตรฐาน ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดเมทานอลที่ได้จากเหง้าขมิ้นอ้อยทุกความเข้มข้นที่ใช้ทดสอบ สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และออกฤทธิ์เพิ่มขึ้นตามระดับความเข้นข้นที่เพิ่มขึ้น โดยสารสกัดขนาด 50, 100, 200, 400 mg/kg และยามาตรฐาน glibenclamide ทำให้ค่าระดับน้ำตาลในเลือดเท่ากับ 8.33±0.54, 8.00±0.62, 7.78±0.61, 5.93±0.87 และ 4.77±0.51 mmol/l ตามลำดับ เมื่อคิดเป็นร้อยละของการลดระดับน้ำตาลในเลือด เท่ากับ 36.9, 39.4, 41.1, 55.1 และ 63.9% ตามลำดับ โดยมีความเชื่อมั่นที่ p<0.05เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม (Rahmatullah, et al., 2012)

ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ

      การศึกษาส่วนประกอบ และฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระของน้ำมันระเหยง่าย ที่แยกได้จากเหง้าแห้งของขมิ้นอ้อย โดยใช้วิธีการกลั่นด้วยไอน้ำ และสกัดด้วยตัวทำละลาย และทำการสกัดแยกส่วนสกัดย่อยของน้ำมันระเหยง่าย โดยใช้เทคนิค silica gel column chromatography พบสารประกอบ 36ชนิด ได้แก่ terpenes 17 ชนิด, alcohols 13 ชนิด และ ketones 6 ชนิด โดยพบว่าองค์ประกอบหลักที่พบคือ สาร epicurzerenone และ curzerene  ปริมาณ 24.1 และ 10.4% ตามลำดับ ผลการทดสอบฤทธิ์ยับยั้งปฏิกิริยาออกซิเดชันด้วยวิธีทางเคมี พบว่าน้ำมันระเหยง่ายขนาด 20 mg/ml ออกฤทธิ์ในระดับปานกลางถึงระดับดีมากในการต้านอนุมูลอิสระ DPPH  ออกฤทธิ์ดีในการเป็น reducing power (เป็นการวัดความสามารถในการรีดิวซ์สารประกอบเชิงซ้อนของเหล็กซึ่งเป็นคุณสมบัติของสารต้านอนุมูลอิสระ) และออกฤทธิ์ระดับต่ำในการจับเหล็ก (เนื่องจากเหล็กอิสระที่มีอยู่ทั่วร่างกายสามารถเหนี่ยวนำให้เกิดอนุมูลอิสระ) และได้ทำการแยกส่วนสกัดย่อยของน้ำมันระเหยง่ายออกมา พบว่าส่วนสกัดย่อยที่ 4 มีองค์ประกอบหลักคือ สารบริสุทธิ์ 5-isopropylidene-3,8-dimethyl-1(5H)-azulenone แสดงฤทธิ์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระได้ดีกว่าน้ำมันระเหยง่าย (Mau, et al., 2003)

ฤทธิ์แก้ปวดและต้านการอักเสบ

     การศึกษาสารบริสุทธิ์ curcumenol ที่แยกได้จากสารสกัด dichloromethane จากเหง้าแห้งขมิ้นอ้อย พบว่าออกฤทธิ์แรงในการลดอาการปวดในหนูถีบจักร ในหลายการทดสอบ ได้แก่ Writhing Test , Formalin และ Capsaicin โดยเปรียบเทียบกับยามาตรฐาน diclofenac, aspirin และ dipyrone ในการทดสอบ Writhing Test ใช้กรดอะซิติกฉีดเข้าช่องท้องของหนู เพื่อให้เกิดอาการเจ็บปวด หลังจากให้สารทดสอบขนาด 1-10 mg/kg เข้าทางช่องท้องแล้ว 30 นาที และนับจำนวนครั้งที่หนูเกิดการหดตัวของช่องท้องตามด้วยการยืดกล้ามเนื้อ ภายในเวลา 20 นาที หลังฉีดกรดอะซิติก ผลการทดสอบพบว่าสาร curcumenol สามารถลดจำนวนการเกร็งของการเกิด writhingได้ดีกว่าสารมาตรฐานทั้ง 3 ชนิด โดยมีค่า ID50 ของสาร curcumenol, diclofenac, aspirin และ dipyrone เท่ากับ 22, 38, 133และ 162 ไมโครโมล/กิโลกรัม ตามลำดับ  และการทดสอบฤทธิ์ระงับปวดที่สัมพันธ์กับการอักเสบ (Inflammatory analgesia) โดยการฉีด formalin และ capsaicin การทดลอง formalin ทำโดยการฉีดสารทดสอบในขนาด 3-15 mg/kg เข้าทางช่องท้องหนู หลังจากนั้น 1 ชั่วโมง ฉีด formalin เข้าทางใต้ผิวหนังบริเวณอุ้งเท้าหลังด้านซ้าย แล้วสังเกตพฤติกรรมการยกเท้าขึ้นเลียของหนู ใน 2 ช่วงคือ first phase (0-5 นาที หลังจากฉีด formalin) ซึ่งแสดงถึงอาการปวดแบบเฉียบพลัน (acute pain) อีกช่วงหนึ่งคือ second phase (15-30 นาที หลังจากฉีด formalin) ซึ่งแสดงถึงการอักเสบ (inflammation phase) พบว่าสาร curcumenol สามารถลดการอักเสบระยะ second phase ได้ดีกว่าสารมาตรฐานทั้ง 3 ชนิด โดยมีค่า ID50 ของสาร curcumenol, diclofenac, aspirin และ dipyrone เท่ากับ 29, 34.5, 123 และ  264 ไมโครโมล/กิโลกรัม ตามลำดับ  การทดสอบด้วย capsaicin ทำโดยการฉีดสารทดสอบในขนาด 1-10 mg/kg เข้าทางช่องท้องหนู หลังจากนั้น 1 ชั่วโมง ฉีด capsaicin เข้าทางใต้ผิวหนังบริเวณอุ้งเท้าหลังด้านขวา แล้วสังเกตพฤติกรรมการยกเท้าขึ้นเลียของหนู เป็นเวลา 5 นาที พบว่าสาร curcumenol สามารถลดการปวดเฉียบพลัน ได้ดีกว่ายามาตรฐาน diclofenac โดยมีค่า ID50 ของสาร curcumenol, diclofenac และ dipyrone เท่ากับ 12, 47 และ 208 ไมโครโมล/กิโลกรัม ตามลำดับ กลไกการออกฤทธิ์ลดปวด และลดการอักเสบของสาร curcumenol นี้ไม่ได้ผ่าน opioid system เนื่องจากไม่ให้ผลการทดสอบด้วยวิธี hot plate (Navarro, et al., 2002)

       ศึกษาสาร sesquiterpenoides 2 ชนิด ที่สกัดได้จากเหง้า เมื่อนำไปทดสอบฤทธิ์ต้านการอักเสบ ในหลอดทดลอง ในการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ COX-2  และ nitric oxide synthase (iNOS) (หากเอนไซม์ทั้ง 2 ชนิดถูกกระตุ้น จะมีการสร้างสารที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบได้แก่ พรอสตาแกลนดิน และไนตริกออกไซด์ ตามลำดับ) โดยทำการทดสอบกับเซลล์แมคโครฟาจ ชนิด raw 264.7 ของหนูถีบจักร ซึ่งถูกเหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบด้วย lipopolysaccharide (LPS) พบว่า สารทั้ง 2 ชนิด คือ beta-turmerone และ ar-turmerone มีฤทธิ์แรงในการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ทั้งสองชนิด โดยยับยั้งเอนไซม์ COX-2  ด้วยค่า IC50  เท่ากับ 1.6 และ 5.2 microg/mL ตามลำดับ และยับยั้ง iNOS โดยมีค่า IC50  เท่ากับ 4.6 และ 3.2 microg/mLตามลำดับ (Lee, et al, 2002)

ฤทธิ์ทำให้สงบระงับ

       การทดสอบฤทธิ์ทำให้สงบระงับของสารสกัดแอลกอฮอล์จากเหง้าขมิ้นอ้อย และสารสกัดซึ่งได้จากการแยกส่วนประกอบของสารสกัดหยาบด้วยคลอโรฟอร์ม แยกเป็นส่วนที่ละลายในคลอโรฟอร์ม และส่วนที่ไม่ละลายในคลอโรฟอร์ม ทดสอบโดยป้อนสารสกัดแก่หนูถีบจักรเพศผู้ หลังจากนั้น 30 นาที ฉีด pentobarbitalขนาด 50 mg/kg เข้าทางช่องท้อง เพื่อเหนี่ยวนำให้หนูหลับ ผลการทดสอบพบว่า สารสกัดหยาบขนาด 0.5 g/kg และส่วนที่ละลายในคลอโรฟอร์มขนาด 100 และ 300 mg/kg สามารถยืดระยะเวลาการนอนหลับของหนูถีบจักรที่เหนี่ยวนำให้หลับด้วย pentobarbital ได้อย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเปรียบเทียบผลกับกลุ่มควบคุม และเมื่อป้อนสารสกัดหยาบขนาด 0.5 g/kg และส่วนที่ละลายในคลอโรฟอร์ม 100 mg/kg สามารถให้ผลลดพฤติกรรมการสำรวจในหนูถีบจักรได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยการทดสอบพฤติกรรมใช้วิธี hole board method  การทดสอบหากลไกการออกฤทธิ์ทำให้สงบระงับโดยใช้ neurotransmitter blockers หรือ antagonists ต่อตัวรับต่างๆ ได้แก่ atropine (ยาปิดกั้นตัวรับ muscarinic), naloxone (ยาปิดกั้นตัวรับ opioid) และ flumazenil (ยาปิดกั้นตัวรับของ benzodiazepine) พบว่า atropine และ naloxone สามารถต้านการออกฤทธิ์การยืดระยะเวลาการนอนหลับในหนูถีบจักรที่ได้รับสารสกัดหยาบขนาด 0.5 g/kg และส่วนที่ละลายในคลอโรฟอร์มขนาด 100 mg/kg ได้อย่างมีนัยสำคัญ ส่วน flumazenil ไม่สามารถต้านฤทธิ์สงบระงับของสารสกัดหยาบด้วยแอลกอฮอล์ แต่สามารถต้านฤทธิ์สงบระงับของส่วนที่ละลายในคลอโรฟอร์มได้ สรุปได้ว่าส่วนที่ละลายในคลอโรฟอร์มของสารสกัดหยาบจากเหง้าขมิ้นอ้อยมีสารสำคัญที่ออกฤทธิ์สงบระงับ การออกฤทธิ์สงบระงับอาจใช้กลไกผ่าน GABA pathway, muscarinic receptor pathway และผ่าน opioid receptor pathway (Jutathip, et al., 2005)

      สารสกัดเหง้าขมิ้นอ้อยที่สกัดด้วย 80% เอทานอล โดยวิธีการหมัก นำมาทดสอบโดยการวัดระยะเวลาการนอนหลับ และพฤติกรรมการเคลื่อนไหว (locomotor activity)ในหนูถีบจักรเพศผู้ พบว่าสารสกัดเหง้าขมิ้นอ้อยขนาด 1 และ 2 กรัม/กิโลกรม ของน้ำหนักหนู โดยการป้อนทางปาก สามารถยืดระยะเวลาการนอนหลับของหนุถีบจักรที่ถูกเหนี่ยวนำให้นอนหลับด้วยยา pentobarbital ขนาด 50 มก./กก. (ฉีดเข้าทางช่องท้อง) นานขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) นอกจากนี้ยังพบว่า สารสกัดเหง้าขมิ้นอ้อยขนาด 1 ก./กก. เมื่อป้อนทางปากสามารถลดพฤติกรรมการเคลื่อนไหว ในหนูถีบจักรที่กระตุ้นด้วย methamphetamine ขนาด 3 มก./กก. (ฉีดเข้าทางช่องท้อง) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05)  (พัฒนชัย และสัจจา, 2541)

ฤทธิ์ยับยั้งการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด 

    การทดสอบฤทธิ์ยับยั้งการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือดของสารสกัดเอทานอลที่ได้จากเหง้าขมิ้นอ้อย ทำการศึกษาในหลอดทดลอง ตรวจสอบการยับยั้งการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด ที่ถูกกระตุ้นการเกาะกลุ่มด้วย adenosine diphosphate (ADP) โดยใช้เครื่องวัดการเกาะกลุ่มกันของเกล็ดเลือด (platelet aggregometer) ศึกษาความเป็นพิษของสารสกัดต่อเกล็ดเลือดโดยวิธี MTT และศึกษาฤทธิ์ต่อกระบวนการแข็งตัวของเลือดโดยการทดสอบ prothrombin time (PT) และ activated partial thromboplastin time (aPTT) ผลการทดสอบพบว่า สารสกัดเอทานอลจากขมิ้นอ้อยที่ความเข้มข้น 1, 2, 3, 4 และ 5 mg/ml สามารถยับยั้งการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ p<0.05 เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม โดยมีค่าร้อยละของการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด เท่ากับ 83.48±4.4, 64.25±4.4, 50.33±4.2, 46.81±2.7 และ 44.00±1.0% ตามลำดับ  ค่าความเข้มข้นที่ยับยั้งการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือดได้ร้อยละ 50 (IC50) เท่ากับ 4.8 mg/ml และไม่เป็นพิษต่อเกล็ดเลือด รวมทั้งไม่มีฤทธิ์ยับยั้งกระบวนการแข็งตัวของเลือดเมื่อใช้สารสกัดขนาด 2 mg/ml (p<0.05) โดยการยับยั้งการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือดของสารสกัดขนาด 5 mg/ml ออกฤทธิ์การยับยั้งมากกว่า แอสไพรินขนาด 5 mg/ ml อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ  การตรวจสอบความเป็นพิษต่อเกล็ดเลือด ของสารสกัดเอทานอลที่ได้จากขมิ้นอ้อยความเข้มข้น 1, 2, 3, 4 และ 5 mg/ml วัดค่าร้อยละการมีชีวิตรอดของเซลล์ (% cell viability) ได้เท่ากับ 102.16±9.6, 101.47±6.4, 99.28±5.6, 95.68±8.1 และ 95.63±4.5% ตามลำดับ โดยสรุปสารสกัดหยาบจากขมิ้นอ้อยสามารถยับยั้งการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือดในหลอดทดลองได้  จึงอาจนำไปสู่การพัฒนายาที่มีประสิทธิภาพในการรักษาภาวะลิ่มเลือดอุดตัน ป้องกันและรักษาภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ในผู้ป่วยโรคหัวใจ และหลอดเลือด  หรือโรคที่เกิดจากความผิดปกติของกระบวนการแข็งตัวของเลือด เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าสาร curcumin (พบมากในขมิ้นชัน ขมิ้นอ้อย) สามารถยับยั้งกระบวนการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือดโดยยับยั้ง thromboxane และยับยั้ง calcium เข้าสู่เกล็ดเลือด และสาร ar-turmerone ที่สกัดได้จากขมิ้นชันสามารถยับยั้งการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือดที่ถูกกระตุ้นด้วย collagen และ arachidonic acid (AA) ได้ (Duangmano, et al., 2016)

 

การศึกษาทางคลินิก:

       ไม่มีข้อมูล

 

การศึกษาทางพิษวิทยา:

      การทดสอบพิษเฉียบพลันของสารสกัดเหง้าด้วยเอทานอล 50% โดยให้หนูกินในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม (คิดเป็น 1,250 เท่า เปรียบเทียบกับขนาดรักษาในคน) และให้โดยการฉีดเข้าใต้ผิวหนังหนู ในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ตรวจไม่พบอาการเป็นพิษ (กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, 2546)

     การศึกษาความเป็นพิษต่อเซลล์ในหลอดทดลองของสารสกัดเอทานอลจากเหง้าขมิ้นอ้อย นำมาทดสอบความปลอดภัยต่อเซลล์เยื่อบุผนังในช่องปาก โดยทำการทดลองกับ LMF cell line ที่ได้จากเยื่อบุผนังช่องปาก (oral mucosa) โดยใช้เทคนิค Trypan blue dye exclusion assay โดยทำการฉีดสารสกัดเข้าไปในเซลล์ และวัดความมีชีวิตรอดของเซลล์(Cell viability) ทั้งแบบระยะสั้น (short-term assay) ที่เวลา 0, 6, 12 และ 24 ชั่วโมง หลังได้รับสารสกัด และวัดการเจริญเติบโตของเซลล์ (Cell growth) ระยะยาว (long-term assay) ที่  1, 3, 5 และ 7 วัน ผลการทดลองพบว่า การทดสอบที่ระยะสั้น เซลล์ยังคงมีชีวิตอยู่ และในระยะยาว พบว่าเซลล์ยังคงเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า สารสกัดของขมิ้นอ้อยมีความเป็นพิษต่อเซลล์ต่ำ และสามารถนำไปใช้ในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดช่องปากได้ (Fernandes, et al., 2012)

     การทดสอบความเป็นพิษในส่วนที่ละลายในคลอโรฟอร์มของสารสกัดหยาบจากเหง้าขมิ้นอ้อย ทำการทดสอบโดยหาค่า LD50 ในหนูถีบจักร ผลการทดสอบพบว่า เมื่อป้อนสารสกัดครั้งเดียว LD50 มีค่ามากกว่า 2 g/kg ซึ่งบ่งชี้ได้ว่าส่วนที่ละลายในคลอโรฟอร์มไม่มีความเป็นพิษ และเมื่อให้ต่อเนื่องวันละครั้งขนาด (50, 100, 300 mg/kg) ทุกวัน นาน 14 วัน ไม่พบว่ามีความแตกต่างของน้ำหนักตัวและสารเคมีในเลือด (BUN, Creatinine, AST, ALT, APT) ของหนูถีบจักร เมื่อเปรียบเทียบกันในกลุ่มทดลอง เมื่อตรวจเนื้อเยื่อ (ตับ ไต หัวใจ ทางเดินอาหาร) ของหนูกลุ่มที่ป้อนสารสกัดก็ไม่แตกต่างจากกลุ่มควบคุม (Jutathip, et al., 2005)

 

เอกสารอ้างอิง:

1. กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. 2546. ประมวลผลงานวิจัยด้านพิษวิทยา ของสถาบันวิจัยสมุนไพร เล่ม 1.โรงพิมพ์การศาสนา:กรุงเทพมหานคร.

2. พัฒนชัย  เสถียรโชควิศาล, สัจจา ศุภรพันธ์. ฤทธิ์สงบระงับของสมุนไพรไทยขมิ้นอ้อย [ปริญญาวิทยาศาสตร์บัณฑิต]. กรุงเทพฯ. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย; 2541.

3. Bugno A, Nicoletti MA, Almodóvar AAB, Pereira TC, Auricchio MT. Antimicrobial efficacy of Curcuma zedoaria extract as assessed by linear regression compared with commercial mouthrinses. Brazilian Journal of Microbiology. 2007;38:440-445.

4. Duangmano S, Wonkngam S, Ladchantha P, Palanan W, Wongtagan O. Inhibitory effect of various Thai natural plants ethanolic extracts on platelet aggregation and blood coagulation in vitro. Bull Chiang Mai Asso Med Sci. 2016;49(1):77-89.

5. Fernandes JP, Mello-Moura AC, Marques MM, Nicoletti MA.. Cytotoxicity evaluation of Curcuma zedoaria (Christm.) Roscoe fluid extract used in oral hygiene products. Acta Odontol Scan. 2012;70(6):610-614.

6. Jutathip T. Sedative effects and toxicity test of Curcuma zedoaria Roscoe in mice. [Thesis, Master of Science], Bangkok. Mahidol University. 2005.

7. Lee SK, Hong CH, Huh SK, Kim SS, Oh OJ, Min HY, et al.  Suppressive effect of natural sesquiterpenoids on inducible cyclooxygenase (COX-2) and nitric oxide synthase (iNOS) activity in mouse macrophage cells.  J Environ Pathol Toxicol Oncol 2002;21(2):141-8.

8. Mau J-L, Lai EYC, Wang N-P, Chen C-C, Chang C-H, Chyau C-C. Composition and antioxidant activity of the essential oil from Curcuma zedoaria. Food Chemistry. 2003;82(4):583-591.

9. Navarro DF, Souza MM, Neto RA, Golin V, Niero R, Yunes RA, et al. Phytochemical analysis and analgesic properties of Curcuma zedoaria grown in Brazil. Phytomedicine. 2002;9(5):427-32.

10. Rahmatullah M, Azam NK, Pramanik S, Rahman SS, Jahan R. Antihyperglycemic activity evaluation ofrhizomes of Curcuma zedoaria (Christm.) Roscoe and fruits of Sonneratia caseolaris (L.). Engl Int J Pharm Tech Res. 2012;4(1):125-129.

11. Wilson B, Abraham G, Manju VS,Mathew M, Vimala B, Sundaresan S, et al. Antimicrobial activity of Curcuma zedoariaand Curcuma malabarica tubers. J Ethnopharmacology. 2005;99:147-151.

 

ข้อมูลตำรับยาประสะมะแว้ง      : phar.ubu.ac.th/herb-thairemedy/

ข้อมูลตำรับยาแก้ลมอัมพฤกษ์  : phar.ubu.ac.th/herb-thairemedy/

ข้อมูลตำรับยาประสะไพล         :  phar.ubu.ac.th/herb-thairemedy/

ข้อมูลตำรับยาเหลืองปิดสมุทร  phar.ubu.ac.th/herb-thairemedy/

จำนวนครั้งที่มีการอ้างอิงหน้าเว็บไซต์นี้: 188
เกี่ยวกับระบบ:

ระบบนี้ถูกพัฒนาต่อยอดมาจาก ระบบฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐาน โดยผู้พัฒนาได้ดำเนินการสร้างหน้า UX/UI ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เป็นรูปแบบเดียวกันกับเว็บไซต์ของคณะเภสัชศาสตร์ มอบ. แต่ยังคงใช้ฐานข้อมูล Database ของฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐานเดิมอยู่