น้อยหน่า

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

น้อยหน่า

ชื่อสมุนไพร น้อยหน่า
ชื่ออื่นๆ เตียบ น้อยแน่ มะนอแน่ มะแน่ มะออจ้า มะโอจ่า ลาหนัง หมักเขียบ หน่อเกล๊าะแซ่
ชื่อวิทยาศาสตร์ Annona squamosa L.
ชื่อพ้อง Annona asiatica L., Annona asiatica Vahl, Annona cinerea Dunal, Annona distincta Raeusch., Annona forskahlii DC., Annona forsskalii DC., Guanabanus squamosus M. Gómez, Xylopia glabra
ชื่อวงศ์ Annonaceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์:

          ไม้ยืนต้น ขนาดเล็ก สูง 3-5 เมตร กิ่งก้านเกลี้ยง ไม่มีขน ลำต้นสีเทาอมน้ำตาล ใบ เป็นใบเดี่ยวรูปรี หรือใบหอกแกมรูปขอบขนาน เรียงสลับ กว้าง 3-6 เซนติเมตรยาว 7-13 เซนติเมตร ก้านใบยาว 1-1.2 เซนติเมตร สีใบไม่เข้ม หลังใบสีเข้มกว่าท้องใบ  โคนและปลายใบแหลม หรือปลายใบเป็นติ่งแหลม ดอก เป็นดอกเดี่ยวออกตามซอกใบ ดอกห้อยลง กลีบสีเหลืองอมเขียว หนาอวบน้ำ มี 6 กลีบ เรียงเป็นสองชั้น ชั้นละ 3 กลีบ กลีบดอกชั้นนอก รูปหอก โคนกลีบกว้าง ปลายกลีบเรียวแหลม กลีบดอกชั้นในมีขนาดเล็กกว่า ตรงกลางดอกมีเกสรเพศผู้ และรังไข่จำนวนมาก  ผล เป็นผลกลุ่ม รูปร่างค่อนข้างกลม ชนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 7-9 เซนติเมตร เปลือกผลเป็นสีเขียว มีผิวขรุขระเป็นปุ่มกลมนูน แต่ละช่องภายในผลมีเนื้อสีขาวห่อหุ้มเมล็ด เปลือกผลเมื่อแก่จะอ่อนนุ่ม เมล็ดสีดำ หรือสีน้ำตาลเข้ม เป็นมัน เมล็ดรูปไข่หรือรูปรี ผลหนึ่งอาจพบเมล็ดประมาณ 50-60 เมล็ด

 

                                                             

                                                                                                                                  ลักษณะวิสัย

 

                                                             

                                                                                                                                  ใบ

 

                                                            

                                                                                                                                   ดอก

 

                                                            

                                                                                                                                   ดอก

 

                                                             

                                                                                                                                   ผล

 

 

                                                          

                                                                                                                                  ผล และเมล็ด

 

สรรพคุณ:

          ตำรายาไทย เปลือกต้น รสฝาดเฝื่อน ใช้สมานบาดแผลห้ามเลือด แก้โรคท้องร่วง และเป็นยาบำรุงกำลัง  ใบ รสเฝื่อนเมา ตำให้ละเอียดพอกแก้ฟกบวม ฆ่าพยาธิผิวหนัง รักษากลากเกลื้อน รับประทานฆ่าเชื้อโรคภายใน ขับพยาธิต่างๆ  ฆ่าเหาใช้ใบสด หรือเมล็ดตำผสมน้ำมันมะพร้าวพอกบนผม  ใบตำกับเกลือใช้เป็นยาพอกฝี แผลพุพองเป็นหนอง เปลือกผลดิบ รสเฝื่อนเมา ฝนกับสุรา ทาแผลแก้พิษงูกัด  ผลดิบ ใช้เป็นยาสมานแผลและห้ามเลือด เป็นยาแก้ท้องร่วง แก้โรคบิด บำรุงธาตุ เมล็ด รสเมามัน ตำผสมน้ำมันมะพร้าว ทาฆ่าพยาธิผิวหนัง ฆ่าเหา ฆ่าหิด  ใบและเมล็ด ใช้กำจัด หิด เหา โลน น้ำมันจากเมล็ด ใช้ฆ่าเหา ราก รสเฝื่อน ใช้เป็นยาระบายอย่างแรง รักษาโรคบิด

 

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา:

1. กำจัดเหา ใช้เมล็ดประมาณ 10 เมล็ด หรือใบสดประมาณ1 กำมือ (15 กรัม) ตำให้ละเอียด ผสมกับน้ำมันมะพร้าว ในอัตราส่วน 1:2 ขยี้ให้ทั่วศรีษะ (ระวังอย่าให้เข้าตาเพราะจะทำให้ตาอักเสบได้) ใช้ผ้าคลุมโพกไว้ประมาณ 2 ชั่วโมง ใช้หวีสางเหาออก สระผมให้สะอาด (รุ่งระวี และคณะ, 2542)

2. รักษาหิด ใช้ใบสด หรือเมล็ดในสด พอประมาณ ตำให้ละเอียดเติมน้ำมันพืชลงไปพอแฉะ ใช้ทาบริเวณที่เป็นหิดวันละ 2-3 ครั้ง จนกว่าจะหาย (สุนทรี, 2536)

 

องค์ประกอบทางเคมี:

          ใบ มีสาร alkaloid ชื่อ anonaine และน้ำมันหอมระเหย ประกอบด้วย borneol, camphene, camphor, carvone, eugenol, geraniol, thymol, menthone, pinene

          เมล็ด มีสาร alkaloid ชื่อ anonaine พบ fixed oil และสาร steroids ซึ่งผงของเมล็ดน้อยหน่า 1.8 kg ให้สาร anonaineเท่ากับ 0.258 g (สุนทรี, 2536)

         

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:

ฤทธิ์ต้านโรคสะเก็ดเงิน

          ศึกษาฤทธิ์ต้านสะเก็ดเงินในหลอดทดลอง โดยใช้เซลล์ผิวหนังมนุษย์ (HaCaT) ประเมินฤทธิ์ต้านการแบ่งเซลล์ด้วยวิธี MTT assay และ Neutral red assay และศึกษากลไกการยับยั้งการแบ่งเซลล์ผิวหนังในระดับโมเลกุล โดยใช้เทคนิค RT-PCR และ western blot เพื่อดูการแสดงออกของ TGF-α ในระดับ mRNA และโปรตีน ตามลำดับ ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดเอทานอลจากน้อยหน่า สามารถยับยั้งการแบ่งเซลล์ HaCaT ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05)  โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 6.3 µg/ml แต่ไม่สามารถลดระดับการแสดงออกของ TGF-α ดังนั้นสารสกัดจากน้อยหน่า อาจมีสารออกฤทธิ์ในการต้านโรคสะเก็ดเงิน และอาจนำไปศึกษาต่อเพื่อพัฒนาการรักษาผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน (วิสาข์, 2552)

 

เอกสารอ้างอิง:

1. รุ่งระวี เต็มศิริฤกษ์กุล, พร้อมจิต ศรลัมพ์, วงศ์สถิต ฉั่วกุล, วิชิตเปานิล, สมภาพ ประธานธุรารักษ์, นพมาศ สุนทรเจริญนนท์. 2542. สมุนไพรยาไทยที่ควรรู้. อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน):กรุงเทพมหานคร.

2. วิสาข์ ทองระกาศ. การทดสอบหาฤทธิ์ต้านโรคสะเก็ดเงินของสารสกัดจากสมุนไพรไทย.[วิทยานิพนธ์ปริญญาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต]. กรุงเทพฯ. จุฬาลงกร์มหาวิทยาลัย, 2552.

3. สุนทรี สิงหบุตรา. 2536. สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด.โอ เอส พริ้นติ้งเฮาส์:กรุงเทพมหานคร.

 

ข้อมูลเครื่องยา : phar.ubu.ac.th/herb-thaicrudedrug/

จำนวนครั้งที่มีการอ้างอิงหน้าเว็บไซต์นี้: 19
เกี่ยวกับระบบ:

ระบบนี้ถูกพัฒนาต่อยอดมาจาก ระบบฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐาน โดยผู้พัฒนาได้ดำเนินการสร้างหน้า UX/UI ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เป็นรูปแบบเดียวกันกับเว็บไซต์ของคณะเภสัชศาสตร์ มอบ. แต่ยังคงใช้ฐานข้อมูล Database ของฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐานเดิมอยู่