ชุมเห็ดเทศ

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

ชุมเห็ดเทศ

ชื่อสมุนไพร ชุมเห็ดเทศ
ชื่ออื่นๆ ขี้คาก ลับมืนหลวง หมากกะลิงเทศ (ภาคเหนือ) ชุมเห็ดใหญ่ ตะสีพอ (แม่ฮ่องสอน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Cassia alata (L.) Roxb.
ชื่อพ้อง Senna alata
ชื่อวงศ์ Fabaceae (Leguminosae-Caesalpinioideae)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
              ไม้พุ่ม สูงประมาณ 2-3 เมตร แตกกิ่งก้านแนวขนานกับพื้นดินกิ่งแผ่ออกด้านข้าง มีขนสั้นนุ่ม เปลือกลำต้นเรียบ สีน้ำตาล ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ ออกเรียงสลับ ใบย่อย 8-20 คู่ ยาว 5-15 เซนติเมตร ใบย่อยรูปขอบขนาน ยาว 5-15 ซม. แกมรูปรี โคนใบมน ปลายใบมน กลม หรือเว้าเล็กน้อย ไม่มีต่อม ฐานใบมนไม่เท่ากันทั้งสองด้าน ขอบใบเรียบมีสีแดง แกนกลางใบหนา ยาวประมาณ 30-60 ซม. ก้านใบประกอบยาวประมาณ 2 ซม. หูใบรูปติ่งหู สามเหลี่ยม ยาว 6-8 มม. ติดทน ดอกออกเป็นช่อใหญ่ตั้ง ออกตามซอกใบและปลายกิ่ง ช่อดอกแบบช่อกระจะ แคบๆ ออกตามซอกใบ ยาว 20-50 ซม. ดอกสีเหลืองทอง กลีบดอกมี 5 กลีบ สีเหลืองสด แผ่นกลีบรูปไข่เกือบกลม หรือรูปช้อน ยาวประมาณ 2 ซม. มีก้านกลีบสั้นๆ เกสรเพศผู้มีประมาณ 10 อัน อันยาว 2 อัน ก้านเกสรหนา ยาวประมาณ 4 มม. อับเรณูยาว 1.2-1.3 ซม. เกสรเพศผู้อันสั้น 4 อัน ก้านเกสรยาวประมาณ 2 มม. อับเรณูยาว 4-5 มม. เกสรเพศผู้ที่ลดรูป 4 อัน อับเรณูเปิดที่ปลาย รังไข่เกลี้ยง ออวุลจำนวนมาก ยอดเกสรขนาดเล็ก ใบประดับมีสีน้ำตาลแกมเหลือง หุ้มดอกที่ยังไม่บาน ใบประดับรูปรี ยาว 2-3 ซม. ร่วงง่าย ก้านดอกสั้น 2-4 มิลลิเมตร กลีบเลี้ยง 5 กลีบ เรียงซ้อนเหลื่อมในตาดอก รูปขอบขนาน ยาวไม่เท่ากัน ยาว 1-2 ซม. ผลเป็นฝัก รูปแถบ ยาว แบน เกลี้ยง ขนาดกว้าง 1.5-2 เซนติเมตร ยาว 10-20 เซนติเมตร ฝักแก่มีสีดำแตกตามยาว มีสันกว้าง 4 สัน มีปีกกว้างประมาณ 5 มม. ฝักมีผนังกั้น เมล็ดมี 50-60 เมล็ดแบนรูปสามเหลี่ยมผิวขรุขระสีดำ

 

ลักษณะวิสัย

 

ใบ

 

ช่อดอก

 

ดอก

 

ดอก และ ฝักอ่อน

 

ใบ และ ฝักแก่

 

ฝักแก่


สรรพคุณ    
              ตำรายาไทย  ใช้ ใบ เป็นยาถ่าย (ใช้ใบสดหรือแห้งจำนวน 12 ใบ ต้มน้ำดื่ม) ใช้ภายนอกรักษากลาก แก้แมลงสัตว์กัดต่อย และโรคผิวหนังอื่นๆ ใช้ถ่ายพยาธิตัวตืด (ใบสด 1 กำมือ หรือประมาณ 20 กรัม ต้มเอาน้ำดื่ม) ใบสด ใช้รักษากลากเกลื้อน (ใช้ใบสดขยี้ถูนานๆและบ่อยครั้ง) ตำพอก เร่งหัวฝี ใบและดอก ทำยาต้มรับประทาน เป็นยาระบายแก้ท้องผูก (ใช้ดอกสด 3 ช่อ ลวกรับประทาน) ขับเสมหะในรายที่หลอดลมอักเสบ และแก้หืด เมล็ด มีกลิ่นเหม็นเบื่อ รสเอียนเล็กน้อยใช้ขับพยาธิ แก้ตานซาง แก้ท้องขึ้น แก้นอนไม่หลับ ฝัก มีรสเอียนเบื่อ แก้พยาธิ เป็นยาระบาย ขับพยาธิตัวตืด พยาธิไส้เดือน ต้นและราก แก้กระษัยเส้น แก้ท้องผูก บำรุงหัวใจ
    

องค์ประกอบทางเคมี  
             ใบและดอกมีสารกลุ่มแอนทราควิโนน เช่น rhein, emodin และ aloe-emodin ใช้เป็นยาระบาย แต่ไม่ควรรับประทานติดต่อกันเป็นเวลานาน จะทำให้ลำไส้ทำงานไม่ปรกติ

 

ข้อมูลเครื่องยา : phar.ubu.ac.th/herb-thaicrudedrug/

ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง :  phar.ubu.ac.th/herb-thaiherbarium/

จำนวนครั้งที่มีการอ้างอิงหน้าเว็บไซต์นี้: 15
เกี่ยวกับระบบ:

ระบบนี้ถูกพัฒนาต่อยอดมาจาก ระบบฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐาน โดยผู้พัฒนาได้ดำเนินการสร้างหน้า UX/UI ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เป็นรูปแบบเดียวกันกับเว็บไซต์ของคณะเภสัชศาสตร์ มอบ. แต่ยังคงใช้ฐานข้อมูล Database ของฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐานเดิมอยู่