ชุมเห็ดเทศ

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

ชุมเห็ดเทศ

ชื่อเครื่องยา ชุมเห็ดเทศ
ชื่ออื่นๆของเครื่องยา
ได้จาก ใบสดและแห้ง
ชื่อพืชที่ให้เครื่องยา ชุมเห็ดเทศ
ชื่ออื่น (ของพืชที่ให้เครื่องยา) ชุมเห็ดใหญ่ ลับหมื่นหลวง ชี้คาก หมากกะลิงเทศ ส้มเห็ด
ชื่อวิทยาศาสตร์ Cassia alata L.
ชื่อพ้อง Senna alata (L.) Roxb., Cassia bracteata
ชื่อวงศ์ Leguminosae-Caesalpinoideae

ลักษณะภายนอกของเครื่องยา:
           ใบรูปวงรีแกมขอบขนาน หรือรูปไข่กลับ กว้าง 3-7 เซนติเมตร ยาว 6-15 เซนติเมตร โคนใบมน ปลายใบมน ฐานใบไม่เท่ากันทั้ง 2 ด้าน ขอบใบเรียบ ใบค่อนข้างหนา หยาบและเหนียว เมื่ออบแห้งแล้วมีสีน้ำตาลอมเขียวถึงสีน้ำตาล ผงมีสีน้ำตาลอมเขียว มีกลิ่นอ่อนๆ รสเบื่อเอียน ขมเล็กน้อย

 

เครื่องยา ชุมเห็ดเทศ

 

เครื่องยา ชุมเห็ดเทศ

 

เครื่องยา ชุมเห็ดเทศ

 


ลักษณะทางกายภาพและเคมีที่ดี:
           ปริมาณความชื้นไม่เกิน 11% w/w  ปริมาณสิ่งแปลกปลอมไม่เกิน 2% w/w  ปริมาณเถ้ารวมไม่เกิน 9% w/w  ปริมาณเถ้าที่ไม่ละลายในกรด ไม่เกิน 1.0% w/w  ปริมาณสารสกัดเอทานอล(50%) ไม่น้อยกว่า 21% w/w  สารสกัดน้ำ ไม่น้อยกว่า 18% w/w  ปริมาณอนุพันธ์ไฮดรอกซีแอนทราซีน โดยคำนวณเป็น rhein-8-glucoside ไม่น้อยกว่า 1% w/w  

สรรพคุณ:
           ตำรายาไทย: ใช้ภายในแก้อาการท้องผูก เป็นยาระบาย ไปกระตุ้นทำให้ลำไส้ใหญ่บีบตัวดีขึ้น สมานธาตุ รักษากระเพาะอาหารอักเสบ แก้กระษัยเส้น ทำหัวใจให้ปกติ ขับปัสสาวะ ขับพยาธิ ใช้ภายนอก รักษาฝี  และแผลพุพอง รักษากลาก เกลื้อน โรคผิวหนัง อมบ้วนปาก รักษาผิวหนังอักเสบเป็นผื่นคัน เส้นประสาทอักเสบ
           ตำรายาพื้นบ้าน: ใช้ใบตำพอก เพื่อเร่งให้หัวฝีออกเร็วขึ้น หรือจะใช้ใบผสมกับน้ำปูนใสหรือเกลือหรือน้ำมันตำพอก รักษากลาก แมลงสัตว์กัดต่อย โรคผิวหนัง นอกจากนี้ยังใช้ใบตำพอกหรือคั้นเอาน้ำผสมน้ำปูนใสทาหรือผสมวาสลิน ใช้ทำเป็นยาขี้ผึ้งทา

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา:
           อาการท้องผูก              
                ใช้ใบจำนวน  12-15  ใบย่อย  ตากแห้ง  คั่ว  (ใบชุมเห็ดเทศถ้าไม่คั่วเสียก่อน  จะเกิดอาการข้างเคียง   คืออาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียน  เมื่อคั่วความร้อนจะช่วยให้สารที่ออกฤทธิ์ทำให้คลื่นไส้อาเจียนสลายไป) แล้วนำไปต้มกับน้ำพอควร  ดื่มครั้งเดียวก่อนอาหารตอนเช้ามืด  หรือก่อนนอน หรือใช้ผงใบ 3-6 กรัม ชงน้ำเดือด 120 มิลลิลิตร เป็นเวลา 10 นาที ดื่มก่อนนอน อาจทำเป็นยาลูกกลอนก็ได้ หรือใช้ช่อดอกสด  1-3  ช่อดอก  ลวก  จิ้มน้ำพริก
           รักษาฝีแผลพุพอง         
                ใช้ใบชุมเห็ดเทศ  1  กำมือ  ต้มกับน้ำพอท่วม  เคี่ยวให้เหลือ  1  ใน  3  นำมาชะล้างฝีที่แตกแล้ว  หรือแผลพุพอง  วันละ  2  ครั้ง  เช้า  เย็น  ถ้าบริเวณที่เป็นกว้างมากใช้สมุนไพร  10-12  กำมือ  ต้มกับน้ำใช้อาบเช้าเย็น  จนกว่าจะหาย
           กลากเกลื้อน          
                ใช้ใบสด  4-5  ใบ  ตำรวมกับกระเทียม  4-5  กลีบ  แล้วเติมปูนแดงเล็กน้อย  ทาบริเวณที่เป็นซึ่งได้ใช้ไม้ไผ่บาง ๆ ฆ่าเชื้อแล้วขูดผิวบริเวณที่นั้นให้มีสีแดง(กรณีกลาก)  ทาวันละ  3-4 ครั้ง จนกว่าจะหาย  และเมื่อหายแล้วให้ทาไปอีก 1  สัปดาห์ หรือจะใช้ใบสดตำแช่เหล้า เอาส่วนเหล้าทาบริเวณที่เป็นวันละ 2-3 ครั้ง จนกว่าจะหาย พบว่าได้ผลดี แต่ไม่ค่อยได้ผลในกลากที่ผมและเล็บ
           ขับพยาธิ    
                ใบสดประมาณ 1 กำมือ (ประมาณ 20 กรัม) ต้มเอาน้ำดื่ม เหมาะใช้ถ่ายพยาธิตัวตืด

องค์ประกอบทางเคมี:
           ใบมีสารแอนทราควิโนนหลายชนิด  เช่น  aloe – emodin , chrysophanol , emodin , rhein  และสารกลุ่มแทนนิน สารฟลาโวนอยด์ เช่น kaemferol เป็นต้น ชุมเห็ดเทศเป็นยาระบายที่ดี เนื่องจากมีทั้งแอนทราควิโนน ซึ่งเป็นยาระบาย และแทนนิน ซึ่งเป็นยาฝาดสมาน จึงเป็นยาระบายที่สมานธาตุในตัว

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:
           กระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ใหญ่ ลำไส้เล็ก  ช่วยระบาย ต้านเชื้อราที่เป็นสาเหตุโรคกลากเกลื้อน ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ขับปัสสาวะ

การศึกษาทางคลินิก:
           รักษาอาการท้องผูก รักษาโรคกลากและเกลื้อนได้

การศึกษาทางพิษวิทยา:
           การทดสอบพิษเฉียบพลันของสารสกัดใบด้วยเอทานอล 50% โดยให้หนูกินในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม (คิดเป็น 3,333 เท่า เปรียบเทียบกับขนาดรักษาในคน) และให้โดยการฉีดเข้าใต้ผิวหนังหนู ในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ตรวจไม่พบอาการเป็นพิษ

อาการไม่พึงประสงค์:
           อาจทำให้เกิดอาการปวดมวนท้อง เนื่องจากการบีบตัวของลำไส้ใหญ่ อาจมีอาการคลื่นไส้ อาหารไม่ย่อย และปวดท้องได้

ข้อห้ามใช้:    
           ห้ามใช้ในผู้ป่วยที่มีภาวะทางเดินอาหารอุดตัน ไม่ควรใช้เป็นยาระบายในสตรีมีครรภ์หรือให้นมบุตร (มีรายงานว่าสาร rhein ผ่านทางน้ำนมได้)

ข้อควรระวัง:
           1.ระมัดระวังการใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี
           2.การกินในขนาดสูงอาจทำให้เกิดไตอักเสบ
           3.ไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานเพราะส่งผลให้มีการสูญเสียน้ำและเกลือแร่มากเกินไป และเนื่องจากการใช้ติดต่อกันนานจะทำให้ลำไส้ใหญ่ชินต่อยา ถ้าไม่ใช้จะไม่ถ่าย ดังนั้น จึงควรแก้ไข้ที่สาเหตุเช่นฝึกการขับถ่ายให้เป็นเวลา รับประทานผักผลไม้ที่มีเส้นใย ดื่มน้ำมากพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อช่วยให้การขับถ่ายดีขึ้น

 

ค้นหาข้อมูลพืชที่ให้เครื่องยา : phar.ubu.ac.th/herb-phargarden/

ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง :  phar.ubu.ac.th/herb-thaiherbarium/

จำนวนครั้งที่มีการอ้างอิงหน้าเว็บไซต์นี้: 0
เกี่ยวกับระบบ:

ระบบนี้ถูกพัฒนาต่อยอดมาจาก ระบบฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐาน โดยผู้พัฒนาได้ดำเนินการสร้างหน้า UX/UI ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เป็นรูปแบบเดียวกันกับเว็บไซต์ของคณะเภสัชศาสตร์ มอบ. แต่ยังคงใช้ฐานข้อมูล Database ของฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐานเดิมอยู่